กรอบ 2+7 ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนในยุคเพชร

กรอบ 2+7 ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนในยุคเพชร

“หนีฮ่าว” จากหนานหนิงค่ะ บทความนี้ส่งตรงมาจากเวทีการหารือ China-ASEAN Think Tank Strategic Dialogue Forum

รัฐบาลจีนเป็นเจ้าภาพเชิญดิฉันและบรรดานักวิชาการจากประเทศอาเซียนต่างๆ ให้บินมาร่วมหารือกันในฟอรั่มนี้ โดยฝ่ายจีนจัดขึ้นมาเป็นปีที่ 7 ณ นครหนานหนิงของกวางสี ดินแดนที่รัฐบาลจีนชูธงให้เป็น “ประตูสู่อาเซียน” และเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนว่า รัฐบาลจีนจริงจังกับการผลักดันและสานต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนอาเซียนมาโดยตลอด

ที่สำคัญ ผู้นำระดับสูงสุดของจีน ทั้งท่านประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียง ก็ได้เน้นย้ำผลักดันความสัมพันธ์จีน-อาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเสนอ “กรอบ 2+7 ในยุคเพชร” ของท่านนายกฯ หลี่เค่อเฉียง และหน่วยงานของจีนนำมาใช้เป็นแนวปฏิบัติอย่างจริงจังในการคบค้าและเจรจาพูดคุยกับเพื่อนอาเซียน

นายกฯ หลี่เค่อเฉียงของจีนได้กล่าวต่อที่ประชุมผู้นำจีน-อาเซียน เมื่อตุลาคม ปี 2013 และเสนอแนะว่า “จีนและอาเซียนควรส่งเสริมจุดร่วมทางการเมือง 2 ประการ และความร่วมมือใน 7 ด้าน เพื่ออนาคตของความสัมพันธ์จีน-อาเซียนในทศวรรษแห่งยุคเพชรต่อจากนี้” นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า “กรอบ 2+7 ในยุคเพชร” ซึ่งริเริ่มโดยผู้นำจีนท่านนี้แหละค่ะ

ท่านนายกฯ หลี่เค่อเฉียง ชี้ให้เห็นว่า “หากทบทวนอดีตที่ผ่านมาเป็นเสมือนสิบปีแห่งยุคทองของความสัมพันธ์จีน-อาเซียนที่ขยายตัวในด้านต่างๆ อย่างน่าพอใจ เมื่อมองไปในอนาคต เราจะมาร่วมกันพัฒนาสิบปีแห่งยุคเพชร เพื่อประโยชน์ของประชาชนในภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น”

หลายท่านอาจจะเริ่มสนใจใคร่รู้แล้วว่า “กรอบ 2+7 ในยุคเพชร” มีประเด็นใดบ้าง บทความวันนี้มีคำตอบค่ะ

เริ่มจาก 2 ประเด็นเป้าหมายทางการเมืองของ “กรอบ 2+7 ในยุคเพชร” คือ ประเด็นแรก การไว้เนื้อเชื่อใจกันในเชิงยุทธศาสตร์ (strategic mutual trust) เพื่อเร่งพัฒนาความสัมพันธ์เพื่อนบ้านที่ดี (good-neighborly friendship) และประเด็นที่สอง การพัฒนาเศรษฐกิจที่จะเอื้อประโยชน์ร่วมกัน (mutual benefit)

ในส่วนของความร่วมมือใน 7 ด้าน ได้แก่ ด้านแรก การเจรจาเพื่อลงนามจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศฉันมิตร ด้านที่สอง การยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China FTA) ด้านที่สาม การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม ด้านที่สี่ การส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินและการป้องกันความเสี่ยงในภูมิภาค ด้านที่ห้า ความร่วมมือทางทะเล ด้านที่หก ความร่วมมือด้านความมั่นคงและทหาร และด้านที่เจ็ด การแลกเปลี่ยนบุคลากรและวัฒนธรรม ในแต่ละด้านมีความสำคัญและน่าสนใจอย่างไรบ้าง เรามาไล่เรียงดูกันเลยค่ะ

ประการแรก จีนพยายามผลักดันให้มีการลงนามจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศฉันมิตร ก็เพื่อให้เป็นกลไกความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-อาเซียนและมีข้อผูกพันเชิงกฎหมาย โดยจีนอ้างว่า จะยึดหลักการเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สนิทแน่นแฟ้นและสร้างรากฐานการเมืองบนพื้นฐานความไว้วางใจต่อกัน เข้าทำนองว่า “อย่ากลัวนะ จีนจะไม่เป็นภัยคุกคามกับเพื่อนอาเซียนนะ”

ประการที่สอง การยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน เพื่อเปิดเสรีให้มากขึ้น ผู้นำจีนยังได้หยอดยาหอมในเรื่องเป้าหมายตัวเลขและส่งสัญญาณว่า “คบกับจีนแล้วอาเซียนจะได้ประโยชน์นะ” โดยเฉพาะการขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ทะลุเป้าหมาย 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2020 และการขยายการลงทุนจีน-อาเซียนให้ทะลุมูลค่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประการที่สาม การเชื่อมโยง connectivity โดยผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม และฝ่ายจีนยังได้ริเริ่มและผลักดันการก่อตั้ง “ธนาคารการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย” (Asian Infrastructure Investment Bank :AIIB) เพื่อเป็นอีกทางเลือกของแหล่งเงินทุนที่ประเทศอาเซียนจะสามารถขอกู้มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อไป และล่าสุด คสช.ของไทยได้อนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้าร่วมกับสมาชิกอาเซียนในการหารือกับฝ่ายจีนถึงรายละเอียดการจัดตั้งธนาคาร AIIB ดังกล่าว

ประการที่สี่ ความร่วมมือด้านการเงิน เพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านการเงินในภูมิภาค ฝ่ายจีนได้เสนอให้ส่งเสริมการชำระเงินโดยใช้สกุลเงินท้องถิ่นของกันและกัน และเน้นความร่วมมือแบบพหุภาคีของกองทุนริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้) โดยนำเงินทุนสำรองฯของแต่ละประเทศมาร่วมลงขัน เพื่อสร้างระบบความร่วมมือทางการเงินให้แก่ประเทศสมาชิกที่อาจจะเผชิญกับปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินจนเกิดปัญหาสภาพคล่อง (ดังเช่นกรณีวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997) จึงเป็นความพยายามที่จะช่วยกันเองทางการเงินในระดับภูมิภาค

ประการที่ห้า ความร่วมมือทางทะเล ทั้งด้านการร่วมกันแสวงหาประโยชน์จาก “เศรษฐกิจทางทะเล” การเชื่อมโยงทางทะเล การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทางทะเล การกู้ภัยทางทะเล เป็นต้น ที่สำคัญ คือ ท่านสีจิ้นผิงได้เสนอแนวคิดเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (Maritime Silk Road in the 21st century) เพื่อความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค (สามารถย้อนอ่านรายละเอียดในบทความของดิฉันเรื่อง “เส้นทางสายไหมทางทะเลในยุคสีจิ้นผิง”)

ในการนี้ ฝ่ายจีนยังได้จัดตั้ง “กองทุนความร่วมมือทางทะเลจีน-อาเซียน” มูลค่า 3,000 ล้านหยวนเพื่อพัฒนาความร่วมมือกับเพื่อนอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทะเล

ประการที่หก ด้านความมั่นคงและการทหาร จีนเสนอให้ปรับปรุงกลไกการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมจีน-อาเซียน เน้นการเจรจาประเด็นความมั่นคงของภูมิภาค และส่งเสริมความร่วมมือด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต ปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ จีนเสนอสร้างกลไกแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทางทะเลจีน-อาเซียน เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น อบรมบุคลากร และร่วมลาดตระเวน

ประการที่เจ็ด การแลกเปลี่ยนด้านบุคลากรและวัฒนธรรม รวมทั้งด้านอื่นๆ ที่เป็น soft power เช่น วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกันกำหนด “แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับอาเซียน” เพื่อส่งเสริมการจัดกิจกรรมและแลกเปลี่ยนการเยือนทั้งในระดับประชาชน ระดับเยาวชน ระดับนักวิชาการ think tank ผู้เชี่ยวชาญ และสื่อมวลชนระหว่างทั้งสองประเทศ เป็นต้น

ดังนั้น การจัดเวที China-ASEAN Think Tank Strategic Dialogue Forum โดยการเชิญดิฉันและเพื่อนนักวิชาการจากอาเซียนมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ ก็เป็นอีกตัวอย่างของการผลักดันสานต่อความสัมพันธ์จีน-อาเซียนในด้านที่ 7 ของ “กรอบ 2+7 ในยุคเพชร” นั่นเองค่ะ

สำหรับผลการหารือ (ถกเถียง) กันในฟอรั่มนี้จะเป็นอย่างไร จะร้อนแรงแค่ไหน เอาไว้จะแวะมาเล่าสู่กันฟังในคอลัมน์นี้ต่อไปนะคะ