Eyes on Tibet อีกครั้งบนดินแดนหลังคาโลก

Eyes on Tibet อีกครั้งบนดินแดนหลังคาโลก

อีกครั้งกับการมาเยือน “ทิเบต” ดินแดนหลังคาโลกบนเทือกเขาหิมาลัยตามคำเชิญของรัฐบาลจีน

หลังจากที่ดิฉันได้เคยเดินทางไปย่ำเท้าในทิเบตเยือนนครลาซ่า ครั้งแรกในปี 2009 (ตีพิมพ์ในบทความ “ย่ำเท้า 31 มณฑลจีน” กรุงเทพธุรกิจ) แน่นอนว่า ทิเบตวันนี้ ย่อมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะในเชิงวัตถุด้านกายภาพ ตึกรามบ้านช่อง รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวทิเบตบนแผ่นดินจีนที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและการหลั่งไหลเข้ามาของนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว

“เขตปกครองตนเองทิเบต” (Tibet Autonomous Region) เป็นชื่อทางการของดินแดนทิเบตในปกครองของประเทศจีนตั้งแต่ปี 1965 มาจนถึงวันนี้ รัฐบาลกลางของจีนได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อพัฒนาและจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้เขตทิเบตฯ หรือ “ซีจ้าง” (Xizang) ในภาษาจีนกลาง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่คิดเป็น 1 ใน 8 ของพื้นที่ทั้งหมดบนจีนแผ่นดินใหญ่ และมีเนื้อที่มากเป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 31 มณฑลของประเทศจีน (รองจากซินเจียง)

ทิเบตมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับรัฐบาลจีน ด้วยพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านมากถึง 5 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย เนปาล ภูฏาน ปากีสถานและพม่า อีกทั้งยังเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุสำคัญต่างๆ

หลังจากที่ได้มีการเปิดให้บริการรถไฟสายชิงไห่-ทิเบต ในปี 2006 นักท่องเที่ยวต่างหลั่งไหลเข้าไปทิเบตมากขึ้น ช่วยทำให้เศรษฐกิจทิเบตคึกคักขยายตัวตามไปด้วย รถไฟสายนี้ถือเป็นรถไฟที่สูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะช่วงที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากที่สุดประมาณ 5,072 เมตร และยังเป็นรถไฟที่ยาวที่สุดในโลก ด้วยระยะทาง 1,956 กิโลเมตร

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นดินแดนกว้างใหญ่ที่บริสุทธิ์สวยงามตามธรรมชาติ แต่เขตฯ ทิเบตมีประชากรอาศัยอยู่น้อยมากมีเพียง 3 ล้านกว่าคน เนื่องด้วยอากาศที่หนาวเย็น และมีความกดอากาศต่ำมีปริมาณออกซิเจนในอากาศต่ำมาก

ดิฉันและผู้แทนต่างชาติอีก 40 กว่าคนจาก 30 ประเทศที่ได้รับเชิญให้บินไปเยือนทิเบตด้วยกันครั้งนี้ ก็มีปัญหาการปรับตัวกับสภาพอากาศของทิเบต หลายคนมีอาการป่วยจนต้องพบหมอ แม้ว่าเจ้าภาพฝ่ายจีนจะใจดีมีการจัดเตรียมสมุนไพรจีนชื่อดัง “หงจิ่งเทียน” มอบให้แขกรับเชิญต่างชาติทุกคน เพื่อรับประทานเตรียมปรับตัวกับสภาพความสูงเหนือระดับน้ำทะเล แต่ก็ “เอาไม่อยู่” ค่ะ ดิฉันเองต้องนอนซมปวดศีรษะในช่วง 1-2 วันแรกของการใช้ชีวิตบนดินแดนหลังคาโลกแห่งนี้

การไปเยือนทิเบตครั้งนี้ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่ง วช. ดิฉันได้รับเชิญให้ไปร่วมงาน Tibet Forum จัดโดยรัฐบาลกลางจีนร่วมกับรัฐบาลทิเบต เพื่อร่วมประชุมแสดงความเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อทิศทางการพัฒนาของทิเบต โดยสรุปจัดทำเอกสาร Lhasa Consensus ในช่วงวันที่ 11-17 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับช่วงเวลาเปิดให้บริการรถไฟสายใหม่เชื่อมต่อจากลาซ่า เมืองเอกของเขตทิเบตฯ ไปยังเมือง “ชิกัตเซ่” ทางทิศตะวันตก ระยะทางยาว 251 กิโลเมตร

รถไฟสายใหม่นี้เชื่อมต่อเข้าใกล้ยอดเขาเอเวอร์เรสต์มากขึ้น วิ่งด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและจะช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางจากลาซ่าไปชิกัตเซ่ จากเดิม 5 ชั่วโมงลดเหลือเพียงแค่ 2 ชั่วโมง ราคาค่าตั๋วคนละประมาณ 40.5 หยวนและเก้าอี้ดีที่สุดราคา 175.5 หยวน ทั้งนี้ เมือง “ชิกัตเซ่” ใหญ่อันดับ 2 ของทิเบต (รองจากลาซ่า) และอยู่ห่างจากพรมแดนของเนปาลเพียง 240 กิโลเมตร

ในการประชุม Tibet Forum ครั้งนี้ ยังได้มีการพูดถึงโครงการขยายเส้นทางรถไฟข้ามพรมแดน โดยจะเชื่อมโยงทิเบตต่อไปจนถึงพรมแดนเนปาล และอาจจะเชื่อมต่อไปจนถึงอินเดีย และภูฏาน ในอนาคต

นอกจากนี้ เจ้าภาพฝ่ายจีนยังได้จัดให้คณะของเราได้ไปพักค้างที่เมือง “หลินจื่อ” (Nyingchi) อยู่ห่างจากลาซ่าไปทางทิศตะวันออกประมาณ 400 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8-9 ชั่วโมง โดยรัฐบาลทิเบตพยายามชูจุดขายด้านการท่องเที่ยวให้เมืองหลินจื่อเป็นเสมือน “สวิตเซอร์แลนด์ของแดนบูรพา” (East Switzerland of Tibet) ด้วยความงดงามของเทือกเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะและทิวต้นสนสีเขียวสด และลำธารเล็กๆ ริมทุ่งข้าวบาร์เลย์ สวยงามมากค่ะ

ในระหว่างเดินทางจากลาซ่าไปหลินจื่อ ดิฉันสังเกตเห็น ขบวนนักปั่นจักรยานชาวจีนที่สุดแสนอดทนต่อความหนาว ลุยปั่นสองล้อคู่ชีพลัดเลาะตามแนวเทือกเขาไปจนถึงเมืองหลินจื่อ เท่าที่ได้พูดคุยสัมภาษณ์หนุ่มจีนหน้าหยกคนหนึ่ง แกเป็นนักศึกษาจากเมืองเฉิงตู ลุยปั่นจักรยานมาร่วม 2 พันกว่ากิโลเมตรใช้เวลารวม 25 วันกว่าจะปั่นตรงมาจากมณฑลเสฉวนจนถึงดินแดนทิเบตแห่งนี้

รัฐบาลเมืองหลินจื่อได้รับความช่วยเหลือด้านงบประมาณและคำแนะนำจากรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งและฝูเจี้ยน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมือง เช่น การจัดบริการที่พักโฮมสเตย์ การเยี่ยมชมวิถีชีวิตชาวทิเบต การดื่มชิมชานมจามรี เป็นต้น ล่าสุด รัฐบาลจีนมีโครงการขยายเส้นทางรถไฟจากลาซ่า เชื่อมต่อไปยังเมืองหลินจื่อด้วยเช่นกัน

หากมองในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างความเจริญโดยการพัฒนาเส้นทางคมนาคมใหม่ๆ การสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ ย่อมนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ เช่น การท่องเที่ยว การค้าชายแดน การลงทุน เป็นต้น แต่ในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งสภาพวิถีชีวิตชาวทิเบตย่อมจะต้องเปลี่ยนแปลงไป จากการไหลบ่าเข้ามาของนักธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างแดนต่างมณฑล ซึ่งอาจจะทำให้ความเป็น “ดินแดนแห่งศรัทธา” ของชาวทิเบตต้องถูกกระทบอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ในวันนี้ พระราชวังโปตาลาที่แสนศักดิ์สิทธิ์ต้องเนืองแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติ และรอบๆ วัดโจคัง บนถนนแปดเหลี่ยมหรือบาร์กอร์ (Barkhor) กลับเต็มไปด้วยตึกร้านค้าสมัยใหม่ขายของที่ระลึกโดยพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนจากต่างมณฑล ที่สำคัญ ภาพของชาวทิเบตที่ก้มลงนอนราบกับพื้นถนนและใช้ 8 ส่วนสำคัญของร่างกาย "กราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์" ก็มีให้เห็นน้อยลงไปมาก

ใช่ค่ะ “ดินแดนแห่งกงล้อและมนตรา” แห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก จนยากจะหวนกลับดังเดิม นี่คือความท้าทายของทั้งรัฐบาลกลางจีนและรัฐบาลทิเบตในการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการรักษาเอกลักษณ์ของทิเบตให้คงอยู่ต่อไป