Chinnovation : เอกลักษณ์ของนวัตกรรมจีน

Chinnovation : เอกลักษณ์ของนวัตกรรมจีน

เศรษฐกิจยุคใหม่เป็นเศรษฐกิจแห่งนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) ประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง

(Middle Income Trap) พัฒนาขั้นต่อไปไม่ได้อีก ก็เพราะติดกับโมเดลการพัฒนาแบบเน้นการผลิตเพื่อส่งออก (ได้แต่ “ก๊อบปี้” วิธีการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านเขาคิดมาแล้ว และอาศัยแรงงานราคาถูกรับจ้างผลิตของส่งออก) ผู้ประกอบการในประเทศเหล่านี้ขาดการวิจัยพัฒนา (Research and Development) และขาดความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์สามารถแข่งขันในตลาดผู้บริโภคของโลกได้ ส่วนประเทศหรือเขตพื้นที่ที่สามารถยกระดับตนเองเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ล้วนเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในเรื่องนวัตกรรม ดังเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เป็นต้น

ท่านประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ก็ได้ย้ำอยู่ตลอดถึงนโยบายของรัฐบาลจีนในการส่งเสริมนวัตกรรม เพื่อให้เศรษฐกิจจีนยุคใหม่เป็นเศรษฐกิจคุณภาพ เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แทนที่จะเป็นเศรษฐกิจเน้นปริมาณผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งเริ่มไปต่อลำบากแล้ว เนื่องจากค่าแรงในประเทศจีนที่เริ่มปรับสูงขึ้นตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจ

เทรนด์ใหม่ในจีนที่กำลังเริ่มก่อตัวอย่างรวดเร็ว ชื่อว่าการสร้าง “นวัตกรรมแบบจีน” หรือมีชื่อเก๋ๆ ที่ฝรั่งเรียกว่า “Chinnovation” โดยนวัตกรรมแบบจีนนั้นมีเอกลักษณ์พิเศษที่ผมขอเรียกว่าเป็น “4 C” ของ Chinnovationอันได้แก่

1. การเลียนแบบทดลอง (Copy) ลักษณะของการพัฒนานวัตกรรมแบบจีนเริ่มจากการ “ก๊อบปี้” นวัตกรรมของฝรั่งก่อน แล้วนำมา “ทดลอง” ในตลาดจีน เพื่อ “พัฒนา” และ “ต่อยอด” นวัตกรรมนั้น หลี่ไคฝู อดีตผู้บริหารเครือไมโครซอฟท์ในจีนเคยให้สัมภาษณ์ว่า คนจีนเก่งเรื่องการ “ต่อยอด” ของเดิมมากกว่าการคิดค้นสร้างใหม่จากศูนย์ ดังที่ Weibo หรือไมโครบล็อคสุดฮิตของจีน ก็เป็นการต่อยอดไอเดียจาก Facebook และ Twitter จากฝรั่ง หรืออย่างบริษัทผลิตมือถือยักษ์ใหญ่ในจีนอย่าง Xiaomi ก็เป็นการต่อยอดการพัฒนาสมาร์ทโฟนจาก Apple

2. เน้นสนองผู้บริโภค (Consumer) การพัฒนานวัตกรรมของจีนเน้นการสนองความต้องการพิเศษของผู้บริโภคจีนเป็นหลัก ซึ่งทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ของฝรั่ง ตัวอย่างเช่น บริษัท Xiaomi ผู้ผลิตมือถือรายใหญ่และกำลังมาแรงของจีน มีระบบให้ลูกค้าชาวจีนเสนอไอเดียเพื่อรับมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ แตกต่างจากi-phoneซึ่ง Steve Jobs คิดเองทำเอง หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ Haier ที่ผลิตเครื่องซักผ้าซึ่งสามารถซักได้ทั้งเสื้อผ้าและยังเป็นเครื่องล้างผักผลไม้ได้ในตัวด้วย เพื่อตอบโจทย์เกษตรกรจีนที่ไม่สามารถซื้อทั้งเครื่องซักผ้าและเครื่องล้างผักได้ เพราะไม่มีเงินและไฟฟ้าเพียงพอ ส่งผลให้เครื่องซักผ้ารุ่นล้างผักดังกล่าวขายดิบขายดีในจีน

3. โชกโชนสนามแข่งขัน (Competition) ความกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงของจีน ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม และเกิดกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ต้องปรับตัวและตื่นตัวอยู่ตลอด การแข่งขันทำให้การ “ก๊อบปี้” ของฝรั่งและนำมาผลิตถูกๆ ไปไม่รอดในระยะยาว เพราะ “ใครๆ ก็ก๊อบปี้ได้” และมีคนก๊อบปี้และผลิตได้มากมายนับไม่ถ้วน ดังนั้นจึงเกิดแรงจูงใจที่จะสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริษัทของตัวเอง

4. จัดสรรทรัพยากรทุน (Capital) นอกจากทรัพยากรทุนที่เป็นเม็ดเงินแล้ว ในประเทศจีนยังมีทรัพยากรทุนมนุษย์ (Human Capital) ปริมาณมหาศาล โดยที่จีนมีปริมาณนักวิทยาศาสตร์และนักวิศวกรรมศาสตร์จำนวนมากกว่า (และค่าแรงถูกกว่า) ประเทศใดๆ ในโลก ทำให้บริษัทจีนสามารถลงทุนในเรื่องการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ได้

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะเริ่มเห็นความก้าวหน้าของนวัตกรรมจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่มีบริษัทเทคโนโลยี ของจีนเกิดขึ้นใหม่ตลอด แต่ก็ยังมีนักวิเคราะห์หลายท่าน (ทั้งจีนและฝรั่ง) ที่เห็นว่าจีนยังมีอุปสรรคสำคัญในการพัฒนานวัตกรรม ได้แก่ 1) การไม่เคารพทรัพย์สินทางปัญญา 2) การที่รัฐจีนยังคงผูกขาดบางภาคธุรกิจไว้สำหรับรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันและ 3) การที่รัฐจีนใช้นโยบายส่งเสริมบางภาคธุรกิจเป็นพิเศษ โดยไม่สนใจกลไกตลาด จนบางทีอาจเป็นการส่งเสริมที่ผิดพลาด เพราะเข้าใจสัญญาณของตลาดผิด ดังเช่น ที่มีผู้เห็นว่าจีนส่งเสริมภาคธุรกิจพลังงานทดแทนมากเกินไป จนมีการผลิตแผงโซลาเซลล์เกินกว่าความต้องการของตลาดมาก และธุรกิจจีนในภาคธุรกิจนี้เริ่มขาดทุนอย่างหนัก

สำหรับสองปัญหาแรก ภายในจีนเองมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากในรอบสิบปีที่ผ่านมา และมีทิศทางการปฏิรูปที่ชัดเจน สถิติการฟ้องร้องคดีทรัพย์สินทางปัญญาสูงขึ้นมาก แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการชาวจีนเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และรัฐบาลจีนก็ย้ำเน้นนโยบายการปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อเปลี่ยนผ่านเป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาดอย่างสมบูรณ์ เพียงแต่ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและรอบคอบ เพื่อป้องกันปัญหารัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้เล่นเดิมล้มครืนเป็นแถบๆ จนอาจเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจดังในสหภาพโซเวียตในอดีต

ในส่วนของปัญหาที่สาม คือนโยบายส่งเสริมบางภาคธุรกิจของรัฐบาลจีนนั้น นักวิชาการจีนและฝรั่งบางส่วนกลับเห็นในทางกลับกันว่านี่คือไม้เด็ดของการพัฒนานวัตกรรมของจีน กล่าวคือรัฐบาลยอมลงทุนและขาดทุนเองก่อนในภาคธุรกิจที่สำคัญในอนาคตและในระยะยาว แต่อาจเป็นภาคธุรกิจที่ผู้ประกอบการภายในประเทศยังไม่มีความพร้อมในระยะสั้น สิ่งที่จะเป็นตัวตัดสินว่านโยบายทางยุทธศาสตร์เหล่านี้จะกลับกลายเป็นปัญหาหรือเป็นไม้เด็ด ก็คือการคอยปรับนโยบายของรัฐบาลจีนเองตามความเหมาะสมของตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด และคอยควบคุมไม่ให้รัฐวิสาหกิจหรือธุรกิจที่รัฐบาลสนับสนุนมีความเสี่ยงทางธุรกิจจนเกินตัว

สำหรับประเทศไทยเราพูดกันมานานแล้วเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่เรายังขาดนโยบายที่ชัดเจนและจริงจัง กล่าวคือ เราขาดทั้ง 4 C คือ ขาดการต่อยอดสิ่งที่เราก๊อบปี้มา, ขาดการให้ความสนใจผู้บริโภคไทย ซึ่งอาจมีความต้องการหรือวัฒนธรรมพิเศษแตกต่างจากฝรั่ง, ขาดสนามแข่งขันที่มีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวและไฟแรง และขาดทรัพยากรทุนมนุษย์ ดังที่เราส่งนักเรียนทุนไปเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเขียนตำราในห้องสมุด ยิ่งกว่าจะให้เขาได้ทำ R&D โดยแท้จริง

และที่สำคัญก็คือ ประเทศไทยเรายังคงมี “1 C” ที่แก้ไม่ตกและทำลายการพัฒนาทั้ง 4 C โดย “ยาพิษ” 1 C ของไทย นั่นก็คือ “Corruption” ที่ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจในประเทศไทยสูงลิ่ว จนผู้ประกอบการไม่เหลือเรี่ยวแรงจะคิดพัฒนานวัตกรรมอะไรอีก