อนาคตของฟุตบอลจีน

อนาคตของฟุตบอลจีน

เป็นเรื่องแปลกที่เจ้าเหรียญทองโอลิมปิกอย่างจีน ซึ่งลงทุนมหาศาลกับการพัฒนาศักยภาพด้านกีฬาของชาติ

(ตั้งแต่ใช้งบประมาณมหาศาลไปจนถึงวิธีการจับเด็กมาเข้าโรงเรียนฝึกเป็นนักกีฬาอาชีพตั้งแต่ตัวเล็กๆ) แต่กลับไม่สามารถสร้างทีมฟุตบอลที่แข็งแกร่งพอจะไปโลดแล่นบนเวที World Cup ได้

ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจกับความแข็งแกร่งของลำแข้งไม่มีความสัมพันธ์กัน ทีมสหรัฐอเมริกาแม้จะผ่านไปเล่นในเวที World Cup ได้ แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม คนอเมริกาก็ไม่ได้เป็นเดือดเป็นร้อนอะไร เพราะเวลาพูดถึง “ฟุตบอล” คนอเมริกันนึกถึง “อเมริกันฟุตบอล” มากกว่า ทั้งบาสเกตบอลและเบสบอลก็เป็นกีฬาที่ชาวอเมริกันนิยมยิ่งกว่าฟุตบอลเป็นไหนๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับจีน ที่มีปริมาณแฟนกีฬาฟุตบอลจำนวนมากที่สุดในโลกก็ว่าได้

ตามสถิติ ชาวจีนกว่า 19 ล้านคน ชมการแข่งขันนัดประเดิมสนาม World Cup ระหว่างบราซิลกับโครเอเชีย (เวลารุ่งสางตีสี่ของจีน) ขณะที่ชาวจีนกว่า 30 ล้านคน ชมการแข่งขันระหว่างสเปนกับเนเธอแลนด์ในวันถัดไป ผู้สื่อข่าวทุกสำนักรวมกันมากกว่า 500 คน เกาะติดทำข่าวที่บราซิล ในเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ชื่อดังของจีน ถึงกับมีการขายใบลาป่วยจากแพทย์ เพื่อให้แฟนๆ นักเตะสามารถลาป่วยอยู่บ้านเชียร์บอลได้

ความร้อนแรงของกระแส World Cup ในจีน ยังเห็นได้จากการที่รถไฟใต้ดินสายที่ 4 ของปักกิ่ง ซึ่งมีจำนวน 32 สถานี (เท่ากับจำนวนทีมฟุตบอลใน World Cup) ประกาศติดป้ายแต่ละสถานีเป็นชื่อทีมฟุตบอลแทน ก่อนที่จะถูกการรถไฟขอให้เอาป้ายออก (หลังติดได้เพียงสองวัน) เพราะกลัวคนงงลงรถผิดป้าย ส่วนสำนักข่าวซินหัว ก็วางแผนจะทำสกู๊ปใช้แพนดาทำนายผลการแข่งทุกแมทช์ ก่อนที่จะพับแผนไป เพราะกลัวว่าการแทงบอลออนไลน์จะยิ่งควบคุมไม่อยู่

ทั้งๆ ที่ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่วัยรุ่นจีนแต่ทีมชาติของจีนกลับอยู่ในอันดับที่ 103 ของโลกจากการจัดอันดับโดย FIFA ครั้งสุดท้ายที่จีนเข้าไปแข่ง World Cup ได้คือเมื่อปี คศ. 2002 ซึ่งจีนไม่สามารถทำประตูได้แม้แต่ประตูเดียว

เมื่อปีที่แล้ว ทีมชาติจีนลงทุนจ้างสุดยอดโค้ช Jose Antonio Camacho จากสเปน แต่กลับพ่ายแพ้ไม่เป็นท่าตลอดซีซั่นแม้กระทั่งเมื่อโคจรพบทีมชาติไทยในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ทีมจีนยังพ่ายแพ้ไม่เป็นกระบวน (ไทยชนะ 5-1) เล่นเอาแฟนฟุตบอลจีนช็อกไปตามๆ กัน เป็นข่าวใหญ่ให้ชาวจีนก่นด่าทีมชาติจีนไปนานเกือบเดือน

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทีมจีนไล่โค้ชสเปนออก เปลี่ยนไปใช้โค้ชฝรั่งเศส Alain Perrin แทน แต่กลับถูกวิจารณ์หนักกว่าเดิม เพราะเล่นเปลี่ยนโค้ชมาแล้ว 7 คน จาก 5 ประเทศ ภายในเวลาไม่กี่ปี นักวิจารณ์บอลคนหนึ่งถึงกับพูดว่า “วันนี้เปลี่ยนโค้ช พรุ่งนี้เปลี่ยนผู้จัดการทีม วันถัดไปเปลี่ยนวิธีการเล่น วันรุ่งขึ้นไล่นักฟุตบอลออก มีแต่แผนการสร้างภาพแก้ข่าว แต่ไม่มีแผนการระยะยาวเป็นชิ้นเป็นอัน”

เป็นปริศนาว่าเพราะเหตุใดจีนจึงล้มเหลวในกีฬาฟุตบอล ทั้งๆ ที่นักประวัติศาสตร์ชาตินิยมบางคนยังคงยืนยันด้วยความภาคภูมิใจว่ากีฬาฟุตบอลกำเนิดขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ฮั่นของจีน ก่อนจะแพร่ไปที่กรีซและอังกฤษ หรือว่าจีนจะเก่งแต่กีฬาลูกเล็กๆ เช่น ปิงปองหรือแบดมินตัน แต่พอเจอลูกใหญ่ๆ หน่อย อย่างบาสเกตบอลหรือฟุตบอลแล้วหนาว (กระทรวงกีฬาจีนแบ่งแผนกรับผิดชอบเป็นกีฬาลูกเล็ก (เสี่ยวฉิว) และกีฬาลูกใหญ่ (ต้าฉิว) จริงๆ)

หรือว่าจีนเล่นเป็นแต่กีฬาประเภทเดี่ยว ส่วนกีฬาที่ต้องใช้ทีมเวิร์คกลับเล่นไม่เป็น กีฬาที่จีนชนะขาดลอยคือกีฬาที่อาศัยการฝึกฝนและใช้ทักษะเฉพาะบุคคลเป็นหลัก เช่น ยิงปืน กระโดดน้ำ ยิมนาสติก แต่พออะไรที่มีทีมมากกว่าสองคนนักกีฬาจีนเริ่มเตะแข้งเตะขากันเองมากกว่าเตะบอล มีนักวิจารณ์บางคนถึงกับกล่าวโทษไปไกลถึงว่านี่อาจเป็นปัญหาจากนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลจีน ซึ่งทำให้เด็กจีนรุ่นใหม่ทำอะไรเป็นทีมไม่เป็น

แต่อนาคตฟุตบอลจีนก็ไม่ได้มืดมัวจนมองไม่เห็นทางสว่าง เพราะนอกจาก “ความฝันของจีน” ที่จะก้าวเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ประชาชนอยู่ดีกินดีพร้อมหน้าแล้ว ท่านประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ยังเคยให้สัมภาษณ์ถึง “ความฝันของจีน” ที่จะเข้าแข่งใน World Cup ชนะถ้วย World Cup และเป็นผู้จัด World Cup ใน “อนาคตอันใกล้” เรียกว่าท่านตั้งเป้า “ฝันให้ไกลไปให้ถึง” กันเลยทีเดียว ว่ากันว่าท่านประธานาธิบดีเองก็เป็นแฟนฟุตบอลตัวยง เช่นเดียวกับอดีตท่านผู้นำเหมาเจ๋อตุงและเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งก็เคยโปรดปรานกีฬานี้เช่นกัน

ทีมฟุตบอลลีกภายในประเทศของจีน เรียกว่ามีสีสันและฝีมือน่าติดตาม ทีมที่ใหญ่ที่สุดอย่าง Guangzhou Evergrande เพิ่งชนะ Asian Champions League เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และได้รับการจัดอันดับให้เป็นทีมฟุตบอลที่มีมูลค่าของทีมสูงเป็นอันดับที่ 16 ของโลก ทั้งยังเป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อมหาเศรษฐีใหญ่ของจีน Jack Ma แห่งค่าย Alibaba ทุ่มเงิน 193 ล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อหุ้น 50% ของทีมฟุตบอลนี้

ในบรรดามหาเศรษฐี 10 อันดับแรกของจีน มีถึง 3 คน ที่เป็นเจ้าของทีมฟุตบอล โดยเฉพาะนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มักนิยมเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลในพื้นที่ เพราะช่วยในการโฆษณาโปรโมทโปรเจคต่างๆ ของตน (เวลาการถ่ายทอดแมทช์ฟุตบอลคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของเวลาในการถ่ายทอดกีฬาของช่องกีฬาของประเทศจีน) ในบรรดาลีกฟุตบอลของจีน มีถึง 9 ทีม ที่มีเจ้าของเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งว่ากันว่าคุ้มเม็ดเงินลงทุนตามเทรนด์ธุรกิจสุขภาพและกีฬาที่กำลังมาแรง นอกจากได้ประโยชน์ในการสร้างภาพลักษณ์แล้ว ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลกลาง ซึ่งก็ใส่ใจสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลเพื่อสานฝัน World Cup ของจีน

แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่า ทีมฟุตบอลลีกของจีน ใช้วิธีซื้อตัวนักเตะชั้นนำจากต่างประเทศมาเล่นแทนที่จะพัฒนานักเตะจีนเอง แต่ทีมชื่อดังอย่าง Guangzhou Evergrande ก็เพิ่งประกาศตั้ง “โรงเรียนฝึกนักเตะ” ที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นที่กวางเจา โดยประกาศควานหาเด็กที่มีแววมาเข้าฝึกอย่างเข้มข้นตั้งแต่ยังเล็ก เรียกว่าใช้โมเดลเดียวกับที่ฝึกนักกีฬาเหรียญทองในกีฬาอื่นๆ ของจีน พร้อมลงทุนว่าจ้างโค้ชชั้นนำของสเปนมาสอนและวางแผนการฝึกของเด็กๆ เลยทีเดียว

ต้องรอลุ้นกันต่อไปว่า อนาคตของทีมชาติจีนจะเป็นอย่างไร จะไปถึงเป้าหมายปลายทาง World Cup ได้หรือไม่ และเร็วเพียงใดกันแน่