ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในอาเซียน

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในอาเซียน

การทำประมงน้ำเย็นเชิงอนุรักษ์ที่เป็นหนึ่งเดียวในโลกของชาวประมงพื้นบ้านที่สะพานไม้อูเบนเมืองมัณฑะเลย์

นับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2553 สถาบันการเงินและสื่อต่างๆ เริ่มพูดถึงบทบาทและความสำคัญของไทยและกลุ่มประเทศ CLMV ในรายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ในประเด็น ศักยภาพการส่งออกของเวียดนาม โรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของลาว ก๊าซธรรมชาติของพม่า และการท่องเที่ยวของกัมพูชาโดยคาดหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงผลักในการขับเคลื่อนเสาหลักทางด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

การเร่งเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนทำให้ระบบความสัมพันธ์ของผู้คนกว่า 240 ล้านคนดูแปลกแยกและเปลี่ยนแปลงเร็วความซับซ้อนของประวัติศาสตร์ที่ถูกเก็บงำและระบบการเมืองการปกครองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงยิ่งเร่งให้เกิดการแสวงหาความมั่งคั่งจากตลาดการค้าชายแดน ตลาดแรงงานต่างด้าว ตลาดค้ามนุษย์ และบ่อนการพนัน เร่งการกอบโกยทรัพยากรในห่วงโซ่อาหารและพลังงานจากแม่น้ำโขง อีกทั้งการแสวงหาความรู้และความเป็นสมัยใหม่จากรายการโทรทัศน์ของไทยยังเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของคนทั้ง 5 ประเทศโดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มชูกำลัง รวมทั้งธุรกิจความงามและผิวพรรณของไทยกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในชนชั้นแรงงานไปจนถึงผู้มีอันจะกิน

แม้ความสัมพันธ์ของไทยและกลุ่มประเทศ CLMV จะหลากหลาย แต่ก็ยังเป็นเหมือนคนแปลกหน้าหากยังเข้าไม่ถึงปรัชญาในการดำเนินชีวิตของคน และความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมที่กำกับสังคมนั้นๆ เพราะธรรมจะทำให้ความหลากหลายนี้รวมเป็นหนึ่งเดียวอย่างแท้จริง (Unity in Diversity)(พระพรหมบัณฑิต (2008)1)

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงริเริ่มสร้าง “ต้นทาง” ในการสั่งสมความรู้ใหม่ร่วมกันด้วยการรวบรวมองค์ความรู้เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในประเทศต่างๆ ในมิติพุทธปรัชญาวัฒนธรรมและนวัตกรรมสังคม เพื่อขับเคลื่อนเสาหลักทางด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีรากฐานบางอย่างอยู่ในความคิดของคน เป็นสำนึกในการทำมาหากินตามหลักสัมมาอาชีวะ โดยเห็นว่า คนไม่จำเป็นต้องมีชีวิตเหมือนกันในเชิงโครงสร้างการทำมาหากิน เพราะมีความโลภ ความโกรธ ความหลงที่แตกต่างกันไป แต่ต่างดำรงอยู่บนความรู้ และคุณธรรมแห่งการพึ่งตนเอง ในรูปของความเชื่อ ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีปฏิบัติและการแบ่งปันทรัพยากร ซึ่งล้วนมีความหมายต่อการดำเนินชีวิตที่ดีงามและทำให้คนอยู่ดีมีสุขโดยมีชีวิตเป็นความหมาย (พระราชวรเมธี (ประสิทธิ์ พฺรหฺมรํสี), ดร., 2557)2

การศึกษาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในอาเซียนจะทำให้เห็นอำนาจที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจ 3 ประการ กล่าวคือ (1) การสร้างนวัตกรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของสังคม เพื่อเพิ่มผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจ (2) สร้างพื้นที่เศรษฐกิจชุมชนที่ทำให้คนสร้างสรรค์พื้นที่เศรษฐกิจของตนเองเพื่อการหลุดพ้นจากทุกข์ส่วนตัว (อัตตหิตสมบัติที่เกิดจากพระปัญญาคุณ) และการหลุดพ้นทุกข์ของผู้อื่น (ปรหิตปฏิบัติที่เกิดจากพระกรุณาคุณ) และ (3) สร้างความหลากหลายทางวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม เพื่อเข้าถึงพลังแห่งธรรมชาติและความสุขที่แท้จริง

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะเผยอัตลักษณ์ของนวัตกรรมและการทำธุรกิจเพื่อสังคมที่ทำให้เมืองเสียมราฐของกัมพูชา เป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวอันดับ 9 ของโลกสมกับชื่อเดิมของเขมร ที่มาจากคำว่า “เขมะระ” ในภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า “เกษม”

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทำให้เห็นพื้นที่เศรษฐกิจชุมชนของลาว ที่ซ่อนเร้นอยู่ในสังคมแห่งศาสนาและความเชื่อมากกว่า 80 ชุดผู้หญิงลาวจึงไม่นิยมไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล แต่ต้องการให้อยู่ “นำมือ” หมอตำแย แม้จะเป็นหมอผู้ชายกระทั่งเมื่อต้นปี 2557 รัฐต้องออกนโยบายให้โรงพยาบาลจ่าย “ค่าจ้างคลอด” ให้กับผู้มาคลอดที่โรงพยาบาล ประมาณ 4,000 - 5,000 บาทต่อคน

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังทำให้รู้จักความหลากหลายทางวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมของพม่า ที่มีทะเลสาบเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ทะเลสาบอูเบนที่เมืองมัณฑะเลย์เป็นทั้งแหล่งอาหารและน้ำสะอาดของเมือง ดังนั้น การดูแลรักษาจึงมีทั้งการให้สัมปทานการจับปลาแก่เอกชนการเฝ้าระวังโดยชุมชนและผู้มาใช้ประโยชน์รวมทั้งการทำประมงน้ำเย็นเชิงอนุรักษ์ที่เป็นหนึ่งเดียวในโลกของชาวประมงพื้นบ้านที่นั่น ทะเลสาบยังมีวัด ผีและความเชื่อมากมายคุ้มครอง ปริมาณปลาในทะเลสาบจึงเพิ่มขึ้นทุกปี

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทำให้เข้าใจนโยบายการพัฒนาของเวียดนามในมิติที่ลึกซึ้งพระสงฆ์ที่เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิกายมหายานมีบทบาทในรัฐสภาและการบริหารประเทศเพื่อยกระดับการศึกษาและส่งเสริมการท่องเที่ยว

นับเป็นครั้งแรกที่มีการรวบรวมองค์ความรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจาก 40 ชุมชน 15 เมือง ใน 5 ประเทศโดยพระสงฆ์ วัดและชุมชน เพื่อสร้างปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในความหมายของประชาชน และขยายพรมแดนความรู้เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันให้กว้างไกลออกไป

การปรากฏตัวของเศรษฐกิจพอเพียงในแต่ละประเทศท่ามกลางปัญหาและเงื่อนงำใหม่ๆ ในการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาคมอาเซียนจึงเป็นสิ่งที่ชวนค้นหา ซึ่งต้องติดตามกันในตอนต่อไป....

---------------

1ในหนังสือเรื่องศีลธรรมของชาวพุทธ (Buddhist Morality) โดย Professor Dr. PhraPrombundit(PhraDhammakosajarn (PrayoonMererk), 2008).

2พระราชวรเมธี (ประสิทธิ์ พฺรหฺมรํสี), ดร., 2557.วิพากษ์พุทธปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในกระแสอาเซียน. สารนิพนธ์พุทธศาสตรบัณฑิต ประจำปี 2557. กรุงเทพ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.