วันที่จีนไม่มีชนบท

วันที่จีนไม่มีชนบท

ความหมาย (อย่างคับแคบ) ของการพัฒนา ที่ใช้กันแพร่หลายในจีนตลอดมา คือ การแปลง “ชนบท” ให้เป็น “เมือง”

ตลอดระยะเวลากว่าสามสิบปีที่ผ่านมาจีนใช้สโลแกน “สร้างก่อนไม่ต้องกลัวร้าง” โดยเน้นเทคอนกรีตก่อร่างแปลงเมืองขึ้นจากทุ่งนารกร้างว่างเปล่า จนเมืองใหม่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดถนนทุกสายจากชนบทก็มุ่งเข้าสู่เมือง จากที่ในปี ค.ศ. 1980 มีประชากรเพียง 20% อาศัยในเขตเมือง ปัจจุบันมีประชากรราว 700 ล้านคนหรือกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดอาศัยในเขตเมือง

ในรอบสามสิบปีที่ผ่านมา เกิดเมืองใหม่จำนวนมากในแถบชายฝั่งภาคตะวันออกของจีน โดยเฉพาะในแถบมณฑลเซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เจ๋อเจียง และเจียงซู ความเจริญมั่งคั่งก็กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่แถบนี้ สำหรับรอบการพัฒนาถัดไป รัฐบาลจีนประกาศมุ่งพัฒนาเมืองในพื้นที่ตอนในของประเทศจีน ปัจจุบันยังมีคนจีนมากกว่า 100 ล้านคน เป็นชาวชนบทที่มีรายได้ในระดับต่ำมาก และมีชาวชนบทอีกกว่า 200 ล้านคน ที่มีรายได้ในระดับต่ำ หากสามารถยกระดับรายได้ของชาวชนบทเหล่านี้ ก็จะสามารถปลดปล่อยพลังการบริโภคอีกมหาศาล เรียกว่าเป็นเชื้อเพลิงให้เศรษฐกิจจีนเติบโตต่อไปได้ในอัตราที่สูงอีกหลายสิบปี

การสร้างเมืองจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ เมืองใหม่มาพร้อมโอกาสและปริมาณงานจำนวนมากที่ให้ค่าตอบแทนที่ดีขึ้น ทั้งสร้างความกดดันให้แรงงานจำนวนน้อยที่เหลือในชนบทพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตและเพิ่มรายได้จากภาคการเกษตรผลคือกระจายความเจริญ กระจายรายได้ สร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาพื้นที่ตอนในของประเทศกับพื้นที่ชายฝั่ง การสร้างเมืองยังเป็นวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจีนใช้มาโดยตลอด เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สร้างปริมาณงานมหาศาล (ในภาคการก่อสร้าง) นอกจากนั้น สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่สร้างขึ้นก็เป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม มีนักวิจารณ์เห็นว่าการกำหนดยุทธศาสตร์สร้าง “เมือง” นั้น เป็นนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลจีนซึ่งไม่รู้จักเข็ดหลาบเสียที เพราะเป็นการเน้นเศรษฐกิจปริมาณ แทนที่จะเปลี่ยนไปเน้นเศรษฐกิจคุณภาพ โมเดลเศรษฐกิจที่ทุ่มเงินเทคอนกรีต “สร้างก่อน ไม่ต้องกลัวร้าง” นั้นไม่มีความยั่งยืน บิดเบี้ยวกลไกตลาด และสร้างต้นทุนสิ่งแวดล้อมมหาศาลเกินคาดคิด

รัฐบาลจีนก็เหมือนจะรับฟังความเห็นของนักวิจารณ์เหล่านี้ และนำมาปรับให้เข้ากับแผนพัฒนาของตน โดยย้ำเน้นว่า คำถามไม่ใช่ว่าจะสร้างเมืองหรือไม่ เมืองนั้นอย่างไรก็ต้องสร้าง เพียงแต่จะสร้างอย่างไรต่างหาก ในการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จึงประกาศวิสัยทัศน์สร้างเมืองโฉมใหม่ ยึดคนเป็นศูนย์กลาง ตอบรับความท้าทายสามข้อ

ข้อแรก คือ ความท้าทายเรื่องสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรในการก่อสร้างอย่างสิ้นเปลือง สาเหตุหลัก เพราะแต่เดิม ผู้นำในท้องถิ่นจะต้องถูกประเมินผลงานด้วยตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ต่างคนจึงต่างแข่งกันผลาญงบสร้างเมือง อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพิ่มปริมาณตัวเลข GDP เอาความดีความชอบ โดยไม่สนใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สนใจคุณภาพการก่อสร้างหรือความสิ้นเปลือง ดังที่เราเห็นปัญหาสภาพมลพิษทางอากาศตามเมืองใหญ่ๆ ของจีน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการก่อสร้างที่ไม่มีมาตรฐานและไม่มีมาตรการทางสิ่งแวดล้อม

พรรคคอมมิวนิสต์จีนตอบรับความท้าทายดังกล่าว ด้วยการย้ำความสำคัญของปัญหาสภาพมลพิษทางอากาศ เปิดตัวสโลแกนใหม่เน้นสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ พร้อมออกมาตรการรับมือปัญหาโลกร้อน ด้วยการให้รัฐบาลตรวจสอบปริมาณคาร์บอนและน้ำเสียของโรงงานในเขตเมืองกว่า 15,000 แห่ง ทั่วประเทศ และให้โรงงานเหล่านี้ทำรายงานเสนอรัฐบาลท้องถิ่นเป็นประจำทุกปี นอกจากนั้น ยังเตรียมเพิ่มมาตรวัดเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการประเมินผลงานของผู้นำท้องถิ่น จากที่แต่เดิมวัดด้วยตัวเลข GDP แต่เพียงอย่างเดียว

ข้อสอง คือ ปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับคนในพื้นที่ การเวนคืนที่ดินโดยรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อนำมาสร้างเมือง ได้สร้างความไม่พอใจและนำไปสู่การประท้วงในหลายพื้นที่ในจีน ปัญหาดังกล่าวยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในยุคที่ข้อมูลข่าวสารส่งถึงกันอย่างรวดเร็วด้วยโซเชียลมีเดียและสื่อมวลชน หากไม่ตอบรับความท้าทายดังกล่าวอย่างทันท่วงที ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลกลางและพรรคคอมมิวนิสต์จีนบางหน่วยงานประเมินว่าในรอบยี่สิบปีของการเร่งสร้างเมือง รัฐบาลท้องถิ่นจ่ายค่าชดเชยในการเวนคืนที่ดินในชนบทต่ำกว่ามูลค่าจริงของที่ดินราว 2 ล้านล้านหยวน บางแห่งประเมินตัวเลขดังกล่าวสูงถึง 5 ล้านล้านหยวน ซึ่งเป็นต้นทุนมหาศาล

รัฐบาลกลางเพิ่งทำการสำเร็จโทษรองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลเสฉวน นายหลี่ชุนเฉิง ในข้อหาทุจริตเงินชดเชยการเวนคืนที่ดินของประชาชนเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกลางเอาจริงเอาจังกับปัญหาดังกล่าว ทั้งเตรียมออกกฎเกณฑ์ที่ระบุมาตรฐานการจ่ายค่าชดเชยในแต่ละพื้นที่ให้ละเอียดและชัดเจนยิ่งขึ้น

ข้อสาม คือ ปัญหาสำมะโนครัว รัฐบาลในแต่ละเมืองมักกังวลว่าแรงงานอพยพจะมาแย่งทรัพยากรจากคนเมือง จึงได้วางมาตรการข้อจำกัดต่างๆ นานา ทั้งในเรื่องสวัสดิการที่อยู่อาศัย การศึกษาของบุตรธิดา และการสาธารณสุข ทำให้เกิด “คนสองชนชั้น” ขึ้นภายในเมือง ว่ากันว่าในเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ฯลฯ มีคนอยู่อาศัยกว่าหนึ่งในสามที่ไม่มีสำมะโนครัวของเมือง ทำให้ไม่สามารถได้รับสวัสดิการต่างๆ ได้เท่าเทียมกับคนที่มีสำมะโนครัวของเมืองนั้น

รัฐบาลจีนเพิ่งประกาศปฏิรูประบบสำมะโนครัวโดยเริ่มจากเมืองเล็กๆ ก่อน ด้วยการให้สวัสดิการด้านการศึกษาและที่อยู่อาศัยแก่แรงงานอพยพในเมืองเล็กๆ เพื่อเป็นการทดลองทางนโยบาย ประเมินผลกระทบก่อนที่จะปรับใช้กับเมืองขนาดกลางและใหญ่ต่อไป นโยบายดังกล่าวยังจะช่วยส่งเสริมให้คนชนบทเลือกอพยพไปยังเมืองขนาดเล็กก่อน ลดปริมาณผู้อพยพไปยังเมืองขนาดใหญ่เช่น ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีประชากรหนาแน่นและทรัพยากรไม่พอเพียงกับจำนวนผู้อยู่อาศัย

ด้วยอัตราการสร้างเมืองในปัจจุบันอีกเพียง 10 ปี หรือภายในปี ค.ศ. 2025 ประชากรกว่า 70% ของจีนจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง วันที่จีนไม่มีชนบทจะเป็นเช่นไร จะเป็นจีนที่เจริญมั่งคั่ง หรือเป็นจีนสกปรกไม่น่าอยู่ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจีนสามารถตอบรับปัญหาและความท้าทายต่างๆ ข้างต้นได้ดีเพียงใดนั่นเอง