ปรากฏการณ์ Internet Financing ในยุคไอทีจีนเบ่งบาน

ปรากฏการณ์ Internet Financing ในยุคไอทีจีนเบ่งบาน

"ถ้ามีทางเลือกในการฝากเงินที่ค่อนข้างมั่นคงและสะดวกมาก เพียงแค่คลิก คุณก็จะได้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงราวร้อยละ 6

ในขณะที่ธนาคารทั่วไปให้ดอกเบี้ยเงินฝากแค่ร้อยละ 0.35 แถมต้องเสียเวลาเดินไปธนาคาร คุณจะฝากเงินไว้กับแหล่งไหนล่ะคะ” นี่คือคำตอบจากสาวปักกิ่งที่ดิฉันได้พูดคุยด้วย และเป็นคำอธิบายที่ชัดเจนว่า เหตุใดจึงเกิดกระแสแห่ใช้บริการ “อินเทอร์เน็ต ไฟแนนซิ่ง” (Internet Financing) ของชาวจีนรุ่นใหม่ในยุคที่จีนมีพลเมืองเน็ตมากถึง 618 ล้านคน

ชาวจีนเริ่มหันมาใช้บริการจัดการทางการเงินบนเน็ต หลังจากที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการอินเทอร์เน็ตจีนอย่างกลุ่มอาลีบาบา ได้สยายปีกออกมาทำธุรกิจ “อินเทอร์เน็ตไฟแนนซิ่ง” ผ่านแอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า “หยูเอ๋อ เป่า” (Yu’e Bao ???) โดยเริ่มให้บริการในเดือนมิถุนายนปี 2013 ที่ผ่านมา จนตอนนี้ ภายในเวลาไม่ถึงปี มีผู้เข้ามาเป็นลูกค้าของ “หยูเอ๋อ เป่า” สูงถึง 81 ล้านกว่าคน

ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดิฉันได้เดินทางไปร่วมงานแฟร์ด้านไอทีจีน งาน China (Beijing) International Technology Transfer Convention 2014 (China ITTC2014) ณ กรุงปักกิ่งและมณฑลกุ้ยโจว พรรคพวกคนจีนที่พูดคุยด้วยต่างหันมาใช้บริการจัดการทางการเงินบนเน็ต แถมในขณะนี้ เริ่มมีหลายค่ายออกมาให้บริการฯ จนกลายเป็นคู่แข่งของ “หยูเอ๋อเป่า” เช่น หลี่ฉายทง ??? หลิงเฉียนเป่า ??? เสยี่ยนจินเป่า ??? เป็นต้น

หลายคนที่เป็นลูกค้าธุรกิจ “อินเทอร์เน็ต ไฟแนนซิ่ง” ให้เหตุผลว่า “ก็เพราะเราได้รับผลตอบแทนดี ไม่มีเงื่อนไขขั้นต่ำในการลงทุนแค่ 1 หยวนก็เปิดบัญชีได้ แถมยังสามารถเบิกถอนเงินสดได้ 24 ชั่วโมงตามที่ต้องการ”

ปรากฏการณ์ “อินเทอร์เน็ต ไฟแนนซิ่ง” ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการระดมเงินฝากของธนาคารยักษ์ใหญ่หลายแห่งในจีน จากข้อมูลทางการจีน ณ วันที่ 15 เมษายน 2014 รายงานว่า ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนเมษายน ยอดเงินฝากของธนาคารรัฐขนาดใหญ่ 4 แห่งของจีนได้ลดลงราว 1.9 ล้านล้านหยวน (305.41 ล้านดอลลาร์) เนื่องจากลูกค้าหันไปฝากเงินผ่านกองทุนบนเน็ตกันมากขึ้น

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากจะรู้ว่า ทำไมชาวจีนถึงได้ไว้เนื้อเชื่อใจยอมนำเงินมาฝากไว้กับธุรกิจบนเน็ตของกลุ่มอาลีบาบานี้

ฐานธุรกิจของกลุ่มอาลีบาบา คือ Alibaba.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อตั้งในปี 1999 โดยหนุ่มจีนที่ชื่อว่า “แจ็ค หม่า” ต่อมา กลุ่มอาลีบาบาได้หันมาเน้นขยายตลาดขายปลีกสินค้าออนไลน์ในจีนโดยตั้งเว็บไซต์ “เถาเป่า” Taobao.com ในปี 2003 จนกลายเป็นเว็บไซต์ขายปลีกที่ใหญ่ที่สุดครองสัดส่วนการตลาดมากกว่าร้อยละ 70 ในจีน และมีสมาชิกมากถึง 370 ล้านคน นอกจากนี้ กลุ่มอาลีบาบายังได้ตั้งเว็บไซต์ Tmall.com เพื่อเป็นแหล่งรวมแบรนด์ดังของจีน เน้นจุดขายสินค้าที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้เป็นทางเลือกของผู้ซื้อสินค้ากลุ่มตลาดบนในจีน

ที่สำคัญ บรรดาลูกค้าตลาดออนไลน์ของกลุ่มอาลีบาบาจะใช้บริการระบบการชำระเงินโดยผ่านAlipay.com ซึ่งการันตีความปลอดภัยในการชำระเงิน โดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ Alipay.com จึงเป็นระบบชำระเงินผ่านบุคคลที่ 3 โดยสามารถชำระเงินผ่านธนาคารเกือบจะทุกแห่งในจีน และสามารถชำระเงินผ่านสกุลเงินต่างๆ รวม 12 สกุลเงินด้วยกัน

ในขณะนี้ Alipay.com กลายเป็นช่องทางการชำระเงินทางอินเทอร์เน็ตที่ได้รับความนิยมสูงสุดในจีน มีผู้ลงทะเบียนใช้บริการมากกว่า 650 ล้านคนทั่วประเทศและมีคู่ค้าที่เป็นสถาบันการเงินมากกว่า 100 แห่ง ครอบคลุมการซื้อขายสินค้าออนไลน์ เกมส์ออนไลน์ รวมไปถึงการชำระบริการ เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น

จุดเริ่มต้นของธุรกิจ “อินเทอร์เน็ต ไฟแนนซิ่ง” ของกลุ่มอาลีบาบา จึงเกิดจากฐานลูกค้าที่ให้การยอมรับและเลือกใช้บริการ Alipay.com มาก่อนหน้านี้ โดยผู้ที่ใช้บริการ Alipay สามารถจะใช้เงินที่สะสมไว้ในบัญชีจือฟูเป่า ??? มาลงทุนต่อยอดโดยผ่านกองทุน “หยูเอ๋อเป่า” (แปลความหมายว่า “สมบัติที่เหลือกินเหลือใช้”)

ดังนั้น ด้วยความเหนือกว่าด้านเทคโนโลยีที่สามารถอำนวยความสะดวกและให้บริการอย่างรวดเร็ว พร้อมให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินฝากประจำของธนาคารจีน ทำให้กองทุน “หยูเอ๋อ เป่า” ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและมีวงเงินสูงถึง 5 แสนล้านหยวน ภายใต้การบริหารจัดการโดยบริษัท Tianhong Asset Management Co. ในเครืออาลีบาบา

ผู้บริหารของ Tianhong เคยให้สัมภาษณ์ว่า “มีการนำเงินราวร้อยละ 90 ของหยูเอ๋อ เป่า ไปลงทุนใน interbank deposits กับธนาคารใหญ่กว่า 29 แห่งรวมทั้งธนาคารรัฐของจีน จึงมีความมั่นคงปลอดภัย”

อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางการเงินของจีน จึงยังคงไม่ชัดเจนว่า หน่วยงานใดของจีนเป็นผู้กำกับดูแลโดยตรงในธุรกิจนี้ ซึ่งมีหลายหน่วยงานของจีนมาเกี่ยวข้อง เช่น ธุรกรรมของ Alipay อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลางของจีน ในขณะที่ บริษัท Tianhong อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจหลักทรัพย์จีน ในขณะเดียวกัน หน่วยงานกำกับดูแลกิจการธนาคารของจีนก็ต้องดูแลการลงทุนโดยใช้เงินจากกองทุน “หยูเอ๋อ เป่า” เป็นต้น

โดยสรุป “อินเทอร์เน็ต ไฟแนนซิ่ง” คือ นวัตกรรมทางการเงินของจีนที่เป็นผลพวงของยุคไอทีเบ่งบาน ในขณะนี้ ได้มีบทวิเคราะห์โดยนักวิชาการจีนและสื่อในต่างประเทศที่มองจากหลากหลายมุม บ้างก็ว่า นี่คือ พัฒนาการของตลาดการเงินของจีนที่เกิดจากจุดอ่อนของระบบธนาคารและสถาบันการเงินจีนที่ไม่สามารถให้ผลตอบแทนได้ดังใจลูกค้าจีนแถมให้บริการแบบล้าสมัย แต่อีกกลุ่มก็อาจจะมองว่า นี่คือ ความเสี่ยงเพราะเป็นการระดมทุนนอกระบบกำกับดูแลของทางการจีน ดังนั้น จึงต้องจับตาและติดตามปรากฏการณ์ “อินเทอร์เน็ต ไฟแนนซิ่ง” ในจีนกันต่อไปค่ะ