พรรค/กลุ่มการเมืองควรมีสื่อของตนเองหรือไม่ สื่อเลือกข้างได้ไหม ?

พรรค/กลุ่มการเมืองควรมีสื่อของตนเองหรือไม่ สื่อเลือกข้างได้ไหม ?

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดงานเสวนาระดมสมองกับผู้นำในวงการสื่อหลายคน

ในประเด็น “ปฏิรูปสื่อรอบใหม่ : สื่อไทยกับการสร้างต้นทุนใหม่ในการก้าวข้ามความขัดแย้ง” มีหลายประเด็นที่น่าสนใจถกเถียงกันในวงอภิปราย เรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ ประเด็นที่ว่า พรรคหรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองควรมีสื่อเป็นของตนเองหรือไม่ และสื่อเลือกข้างได้หรือไม่

ผู้เข้าเสวนาท่านหนึ่งคือ คุณบูรพา เล็กล้วนงาม บรรณาธิการข่าว สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เอเชียอัพเดทที่วิวัฒนาการมาจากสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีเพิล เทเลวิชั่นและสถานีดี-สเตชั่น (ซึ่งมีบทบาทในการระดมมวลชนเสื้อแดงในการเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ในปี 2553) ให้ทัศนะว่า พรรคการเมืองควรมีสื่อเป็นของตนเองได้ หากผู้กำกับดูแลอย่าง กสทช. เป็นห่วงเรื่องการครอบงำทางความคิดก็ให้ออกกฎห้ามถือหุ้นไขว้ในกิจการอื่น

ในทำนองเดียวกัน คุณเถกิง สมทรัพย์ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์บลูสกาย (อันมีความเกี่ยวพันชัดเจนกับพรรคประชาธิปัตย์) ซึ่งกำลังมีบทบาทโดดเด่นในการระดม “มวลมหาประชาชน” ที่มาเข้าร่วมการเคลื่อนไหวที่นำโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ก็มีความคิดคล้ายคลึงกัน แม้จะไม่ได้บอกออกมาตรงๆ ว่าพรรคการเมืองควรมีสื่อของตนเองได้ แต่ก็แสดงออกชัดเจนว่า การมีสื่อการเมือง (หมายถึง สื่อที่มีวาระและเป้าหมายทางการเมืองชัดเจนว่าสนับสนุนกลุ่มหรือพรรคการเมืองใด) เป็นสิ่งที่รับได้ โดยอ้างถึงความนิยมของสถานีโทรทัศน์บลูสกายว่า ปัจจุบันสูงเป็นอันดับสามรองจากช่องโทรทัศน์ฟรีทีวียอดนิยมอย่าง ช่อง 3 และ ช่อง 7 คุณเถกิงอ้างว่าข้อมูลตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคเป็นผู้ที่กำหนดเนื้อหาในสื่อ แสดงว่าเนื้อหาทางการเมืองอย่างที่บลูสกายนำเสนอต้องสอดรับกับความสนใจของประชาชนจำนวนมหาศาล และเมื่อมนุษย์ต้องการที่จะสื่อสารกันในประเด็นที่สนใจก็ควรจะต้องมีพื้นที่สื่อรองรับ

ขณะเดียวกัน ผู้เข้าเสวนาอีกท่านจากองค์กรกำกับดูแลคือ คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาเป็น คณะกรรมการในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในปัจจุบัน ก็เคยเป็น “คนแถวหน้า” ในวงการปฏิรูปสื่อมาก่อนโดยมีตำแหน่งเป็น เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) คุณสุภิญญาไม่ได้พูดเรื่อง พรรคการเมืองควรมีสื่อหรือไม่ แต่บอกว่า สื่อเลือกข้างได้ หากต้องทำหน้าที่ยึดโยงกับจรรยาบรรณวิชาชีพ

ในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน คุณฐากูร บุนปาน ผู้จัดการทั่วไปของเครือมติชน และ ที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์ข่าวสด/ประชาชาติธุรกิจ มองว่าปัญหาของสื่อที่ถูกตีตราว่าเลือกข้างแล้ว สามารถแก้ไขได้โดยสอง “สุ” คือ สุจริต และ สุภาพ กล่าวคือ ถึงจะมีอคติ แต่ก็ต้องรู้ตัวเองและพยายามจัดการกับอคตินั้นให้เหลือน้อยที่สุด โดยรายงานข่าวตามข้อเท็จจริงให้มากที่สุด หากเป็นความคิดเห็นก็ต้องแยกส่วนจากข่าวมาอยู่ในคอลัมน์ที่ปรากฏชื่อคนรับผิดชอบชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้น ก็ต้องรายงานด้วยความสุภาพ พยายามหลีกเลี่ยงคำหยาบคายหรือการสร้างความบาดหมาง เพราะจะก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวในสังคมที่แตกแยกกันอยู่แล้ว

ในส่วนของผู้เขียน คงต้องขอยืนยันจุดยืนเดิมซึ่งพูดเสมอมาว่า พรรคการเมืองไม่ควรมีสื่อเป็นของตนเอง เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนอันไม่จรรโลงประชาธิปไตยที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ อนึ่ง ระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนจะไม่เน้นแต่สิทธิเสรีภาพหากต้องมีกลไกของการตรวจสอบและสร้างสมดุลแห่งการใช้อำนาจด้วย หากเรามองระบบของอำนาจรัฐในระบอบประชาธิปไตยกันแบบง่ายๆ ว่าประกอบขึ้นจากอำนาจในสามสถาบันหลัก คือ นิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ พรรคการเมืองผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจมาจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ย่อมจะต้องใช้อำนาจอยู่ในส่วนของ นิติบัญญัติ และ บริหาร (หากพรรคนั้นอยู่ในรัฐบาลด้วย) อย่างไม่ต้องสงสัย

หน้าที่ของสื่อ ซึ่งในอดีตมักเรียกกันว่า เป็น “ฐานันดรที่สี่” ก็คือการตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าวว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักแห่งกฎหมาย และจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ อย่างใด หากพรรคการเมืองเป็นเจ้าของสื่อหรือมีความเกี่ยวพันกับโครงสร้างความเป็นเจ้าของสื่อเสียแล้ว กลไกตรงนี้ก็ย่อมเสียศูนย์ไปโดยปริยาย เพราะเจ้าของสื่อย่อมจะไม่ตรวจสอบตนเองและเผยแผ่ความจริงเกี่ยวกับตนเองสู่สาธารณชน ยิ่งเป็นสื่อการเมืองก็ยิ่งจะสร้างวาระข่าวสารที่เอื้อต่อการสร้างและรักษาของตนเองเป็นสำคัญเท่านั้น ประโยชน์สาธารณะที่ควรจะต้องยึดโยงก็ถูกมองข้ามไปอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ในบริบทของประเทศไทยที่ภาครัฐถือกรรมสิทธิ์ในสื่อวิทยุและโทรทัศน์มายาวนาน จนฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ค่อยได้พื้นที่สื่อสักเท่าใด ก็อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า รัฐครอบงำสื่อจึงจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ทางเลือกสื่อใหม่ๆ ให้ประชาชนที่สนับสนุนความคิดของตน ซึ่ง “กำนันสุเทพ” ผู้นำหลักของ กปปส. ก็คงคิดอย่างนี้ ตอนที่เข้าไปขอให้ช่องฟรีทีวีเชื่อมสัญญาณกับช่องบลูสกายเพื่อเผยแพร่เนื้อหาของกลุ่มตน

อย่างไรก็ดี ทางกำนันและพรรคประชาธิปัตย์คงต้องย้อนคิดบ้างเหมือนกันว่า หากท่าน “ปฏิรูป” สำเร็จจนพรรคประชาธิปัตย์ได้กลับมาเป็นรัฐบาลแล้ว ในวันหนึ่ง สถานีอย่างเอเชียอัพเดทก็อาจจะเคลื่อนไหวแบบเดียวกันเพื่อระดมมวลชนเสื้อแดงมา “ปฏิรูป” การเมืองอีกรอบและก็จะมีคำขอแบบเดียวกันกับสื่อมวลชน

หากเป็นฉะนั้นจริง การ “ปฏิรูปสื่อและการเมือง” ในประเทศไทยคงเป็นหนังม้วนยาวที่ฉายซ้ำๆ ด้วยตอนจบแบบเดียว เพียงแต่เปลี่ยนผู้แสดงนำ