ทิศทางเศรษฐกิจจีนจะคึกคักใน "ปีม้า" หรือไม่

ทิศทางเศรษฐกิจจีนจะคึกคักใน "ปีม้า" หรือไม่

สวัสดีปีใหม่ค่ะ เศรษฐกิจจีนในกำมือท่านสีจิ้นผิงและคณะผู้นำจีนรุ่นที่ 5 จะคึกคักรับ“ปีม้า”หรือไม่ และทิศทางเศรษฐกิจจีนต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร

บทความวันนี้มีคำตอบค่ะ

ณ วินาทีนี้ จีนได้กลายมาเป็นคู่ค้าหลักของหลายประเทศทั่วโลก จนเกิดกระแส “เกาะจีนโต” และหลายประเทศต่างฝากความหวังไว้กับพญามังกรจีนที่จะมาช่วยฉุดดึงให้เศรษฐกิจของประเทศตนได้เติบโตตามไปด้วย

ไทยแลนด์แดนสยามของเราก็เช่นกัน ตอนนี้ เริ่มมีการพึ่งพาและ “เกาะจีนโต” ในสัดส่วนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะจีนได้กลายเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยและมีสัดส่วนส่งออกไปตลาดจีนสูงราวร้อยละ 12 ของการส่งออกไทยทั้งหมด

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตัวเลขและดัชนีเศรษฐกิจหลายด้านของจีนดูจะสวยงามน่าทึ่ง เช่น การมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากที่สุดในโลก หรือการเป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้ามากที่สุดในโลก หากแต่เศรษฐกิจภายในประเทศของจีน ยังคงมีสารพัดปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขใน “ปีม้า” นี้และปีต่อไป ตัวอย่างเช่น

ปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาลท้องถิ่นจีนที่สะสมเรื้อรังมานาน จนเกิดปัญหาขาดดุลการคลัง และเริ่มส่งผลต่อความมีเสถียรภาพทางการคลัง นักวิชาการหลายคนจึงเรียกร้องให้รัฐบาลจีนเร่งแก้ปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การทบทวนและปรับสัดส่วนการจัดสรรรายได้ภาษีระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจีน เพื่อให้เหมาะสมและเพียงพอต่อภาระรายจ่าย รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี เป็นต้น

ปัญหาสำคัญถัดมา คือ ความไร้เสถียรภาพในภาคการเงินของจีน โดยเฉพาะปัญหาธนาคารเงา (Shadow banking) ที่มีมูลค่ามหาศาลและอาจจะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินที่ยากจะยับยั้ง (หากสนใจ สามารถย้อนไปอ่านบทความของดิฉัน “ธนาคารเงาในแดนมังกร...เมื่อนักเศรษฐศาสตร์จีนมองต่างมุม”) จึงจำเป็นจะต้องปฏิรูปด้านการเงิน เพื่อแก้ปัญหาความบิดเบือนจากการแทรกแซงของทางการจีน และผ่อนผันมาตรการควบคุมด้านการเงินต่างๆ เช่น ปรับกฎเกณฑ์การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน การเคลื่อนย้ายเงินทุน และปล่อยให้เพดานอัตราดอกเบี้ยเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดมากขึ้น รวมไปถึงการขยายช่องทางการเข้าถึงตลาดทุนในจีนให้หลากหลายขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อปลายปี 2013 รัฐบาลจีนได้ตระหนักถึงข้อเรียกร้องเหล่านี้และเริ่มอนุญาตให้สถาบันรับฝากเงินต่างๆ ในจีนสามารถออกบัตรเงินฝาก (Negotiable Certificate of Deposits) ที่มีอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามกลไกตลาด เป็นต้น

ปัญหาสำคัญในเชิงโครงสร้างของจีนอีกด้าน คือ แนวโน้มที่จะเกิดข้อจำกัดด้านปัจจัยการผลิตในแผ่นดินจีน โดยเฉพาะภาวะการขาดแคลนแรงงานในหลายมณฑลและปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ล่าสุด จึงมีการเสนอให้ทางการจีนผ่อนผันระเบียบและเกณฑ์ในระบบ "หู่โข่ว" หรือระบบทะเบียนราษฎร์ เพื่อปลดปล่อยให้แรงงานอพยพจากต่างมณฑลสามารถได้รับสิทธิที่พึงได้จากรัฐบาลมณฑลที่ตนโยกย้ายเข้าไปทำงาน และเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานของบางมณฑลชายฝั่ง เป็นต้น

นอกจากจะมีปัญหาเรื้อรังของเศรษฐกิจภายในจีน ในขณะนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจจีนก็ยังคงผูกติดกับเศรษฐกิจโลกและยังต้องพึ่งพาภาคการส่งออกไปตลาดโลก (แม้ว่าจะมีสัดส่วนลดลงเรื่อยๆ) ดังนั้น เมื่อทิศทางเศรษฐกิจจีนดูจะไม่ค่อยคึกคักใน "ปีม้า" แล้วจะมีนัยต่อไทยอย่างไรบ้าง

เริ่มจากภาคการส่งออกของไทยไปจีน ทิศทางจากนี้ คงจะยากที่จะไปคาดหวังพึ่งเพียงแค่การส่งออกสินค้าวัตถุดิบหรือสินค้าเกษตรไทย เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง เพื่อไปป้อนภาคผลิตและภาคส่งออกของจีนเป็นหลักเหมือนที่ผ่านมา และจะต้องเลี่ยงการแข่งขันกับผู้ผลิตจีนในตลาดสินค้าระดับล่าง โดยหันมาเน้นการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพเพื่อเจาะตลาดบนป้อนผู้บริโภคกลุ่มชนชั้นกลางจีน

ทั้งนี้ ด้วยนโยบายสร้างความเป็นเมือง (urbanization) ของรัฐบาลจีนชุดนี้ที่มุ่งเพื่อกระจายรายได้และยกระดับรายได้ของชาวจีน คาดว่าจะทำให้อุปสงค์ของชนชั้นกลางจีนเพิ่มสูงขึ้น และจะมีชาวจีนชนบทขยับขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อมากขึ้นกว่า 400 ล้านคน

สำหรับภาคบริการ คาดว่า จะยังคงมีนักท่องเที่ยวจีนหลั่งไหลเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น (หากไม่มีปัญหาทางการเมืองที่รุนแรงบนแผ่นดินไทย) โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีนที่เดินทางไปทัวร์ต่างประเทศเป็นครั้งแรกต่างก็สนใจเมืองไทย นอกจากจะมาตามกระแสหนังจีนที่ถ่ายทำในไทยแล้ว ค่าทัวร์มาเที่ยวไทยก็ไม่สูงมากและทำเลที่ตั้งไม่ห่างไกลกัน

ในด้านการลงทุน คาดว่า กระแสทุนจีนรุกอาเซียน รวมทั้งไทยคงจะขยายตัวต่อไปใน “ปีม้า” โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่การผลิตของจีน เช่น ผลิตภัณฑ์ยางพารา เป็นต้น และทิศทางจากนี้ รัฐบาลจีนยังคงเน้นนโยบายส่งเสริมให้ทุนจีน “เดินออกไป” ลงทุนในต่างประเทศ พร้อมการทยอยผ่อนผันเกณฑ์และมาตรการควบคุมด้านการเงินและด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย เป็นต้น

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจจีนในระยะยาว จากมติที่ประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ก็ได้ยืนยันที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจจีนในเชิงลึกต่อไป และย้ำการปฏิรูปเพื่อให้กลไกตลาดมีบทบาทในการกำหนดราคาปัจจัยที่ใช้ในการผลิตมากขึ้น

ที่สำคัญ ที่ประชุมพรรคฯ ในครั้งนี้ได้ประกาศมุ่งมั่นที่จะ “ก้าวข้ามกับดักของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) ให้ได้ภายในปี 2030 เพื่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว จึงนับเป็นภารกิจท้าทายผู้นำจีนชุดนี้ที่จะต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ไม่ใช่เฉพาะใน “ปีม้า” นี้เท่านั้นนะคะ แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องและไม่ย่อท้อต่อไปอีกหลายปีทีเดียวค่ะ