ชี้วัดเศรษฐกิจจีนด้วย Keqiang Index

ชี้วัดเศรษฐกิจจีนด้วย Keqiang Index

หลังจากเข้ามารับตำแหน่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายหลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของจีนก็ได้นำนโยบายเศรษฐกิจ

ที่มีลักษณะโดดเด่นหลายด้านมาใช้บริหารประเทศ จนมีการกล่าวขานว่าเป็น “หลี่โคโนมิกส์” (Likonomics) (หากสนใจ สามารถย้อนไปอ่านบทความของดิฉัน “หลี่โคโนมิกส์...ยาขมเศรษฐกิจของนายกฯจีน” ได้ค่ะ)

ที่น่าสนใจ ท่านหลี่ เค่อเฉียง เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของจีนที่เรียนจบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยมีพื้นฐานการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก จากคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยปักกิ่งที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศจีนด้วยค่ะ

บทความในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจแนวทางใหม่ที่ริเริ่มโดยท่านหลี่ เค่อเฉียง คนเก่งของจีน จนถูกเรียกว่าเป็น “ดัชนีเค่อเฉียง” (Keqiang Index)

ที่จริงแล้ว นิตยสาร The Economist ได้เริ่มใช้คำว่า “ดัชนีเค่อเฉียง” มาตั้งแต่ปี 2010 เพื่อใช้ประเมินชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ว่ากันว่า มีการริเริ่มพูดถึงตัวชี้วัดเศรษฐกิจใหม่นี้เป็นครั้งแรกในปี 2007 โดยท่านหลี่ เค่อเฉียง เมื่อครั้งที่ท่านรับตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของมณฑลเหลียวหนิงทางภาคอีสานของจีน และเครื่องมือนี้ถูกนำมาใช้ประเมินชี้วัดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของมณฑลเหลียวหนิง ภายใต้การบริหารของท่านหลี่ เค่อเฉียง ในสมัยนั้น

เอกสารของวิกิลีกส์ เปิดเผยว่า มีคนเคยได้ยินคำกล่าวจากปากของท่านหลี่ เค่อเฉียง พูดกับท่านทูตสหรัฐฯ ว่า “ตัวเลข GDP ของเหลียวหนิงเชื่อถือไม่ได้ เป็นตัวเลข man-made” ตัวท่านเองจึงต้องหันไปใช้ดัชนีอื่นในการประเมินข้อมูลเศรษฐกิจเหลียวหนิง โดยดูจากตัวชี้วัดสำคัญ 3 ด้านรวมกัน คือ (1) ปริมาณของสินค้าขนส่งผ่านทางรถไฟ (2) การบริโภคกระแสไฟฟ้า และ (3) ปริมาณสินเชื่อรวมของธนาคาร

โดยเฉพาะตัวชี้วัดเกี่ยวกับปริมาณของสินค้าขนส่งผ่านทางรถไฟ น่าสนใจมากค่ะ เนื่องจากการขนส่งทางรถไฟเป็นรูปแบบการขนส่งหลักในแผ่นดินจีนซึ่งมีโครงข่ายเส้นทางรถไฟมากกว่า 98,000 กิโลเมตร มากเป็นอันดับ 3 ของโลก ยิ่งกว่านั้น จีนมีปริมาณขนส่งสินค้าทางรถไฟมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของโลกด้วยค่ะ

ที่ผ่านมา กระทรวงรถไฟเดิมของจีนเป็นผู้ผูกขาดในการขนส่งสินค้าทางรถไฟในจีน ก่อนที่จะถูกปรับยุบกระทรวงรถไฟ โดยดึงงานบางส่วนไปไว้ที่กระทรวงคมนาคมจีน และงานส่วนใหญ่ไปไว้กับหน่วยงาน China Railway Corporation ซึ่งเพิ่งจะตั้งขึ้นมาใหม่ในปี 2013 นี้ในสมัยของรัฐบาลท่านหลี่ เค่อเฉียง

ในภาพรวม “ดัชนีเค่อเฉียง” มีจุดเด่นหลายด้าน โดยเฉพาะในแง่ของความถูกต้องของข้อมูล และสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในจีนมากกว่าวิธีการแบบเดิม จึงสามารถสะท้อนภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนได้ดีกว่าวิธีการดั้งเดิมที่ทางการจีนเคยใช้มานาน ที่สำคัญ ตัวชี้วัดใหม่นี้จะไม่ถูกบิดเบือนโดยรัฐบาลท้องถิ่นจีน ซึ่งมักจะชอบปั้นตัวเลขทางเศรษฐกิจจนสวยงามเกินจริง

นิตยสาร The Econonomist เคยลองเก็บข้อมูลตามแนวทาง “ดัชนีเค่อเฉียง” ด้วยตัวชี้วัด 3 ด้านดังกล่าว พบว่า แม้ว่าดัชนีใหม่นี้จะสะท้อนการมีพลวัตของเศรษฐกิจจีนได้ไม่แตกต่างกับดัชนีแบบเดิม แต่ก็สามารถชี้ให้เห็นภาวะการผันผวนของเศรษฐกิจได้ชัดเจนกว่า โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2008 และต้นปี 2009 มีการหดตัวของการปริมาณสินค้าที่ขนส่งผ่านทางรถไฟ และการลดลงของค่าใช้จ่ายบริโภคกระแสไฟฟ้าอย่างชัดเจน สะท้อนว่า เศรษฐกิจจีนถูกกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก มากกว่าที่เห็นจากตัวเลขในรายงานของทางการจีนที่ใช้การประเมินด้วยดัชนีแบบเดิม

นอกจากนี้ ตัวเลขในปี 2009 ยังสามารถสะท้อนให้เห็นการฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนกว่าดัชนีของทางการ โดยวัดดูจากปริมาณสินเชื่อรวมของธนาคารในจีนที่เพิ่มขึ้นมากและรวดเร็ว เป็นต้น

เหนือสิ่งอื่นใด “ดัชนีเค่อเฉียง” ช่วยยืนยันในสิ่งที่มีคนสงสัยและตั้งคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของตัวเลขสถิติที่รายงานโดยทางการจีน เพราะอย่างน้อยผู้บริหารกุมบังเหียนเศรษฐกิจจีนเองก็ยังไม่เชื่อใจในตัวเลขที่รายงานโดยบรรดาหน่วยงานราชการจีนทั้งหลายเช่นกัน

แน่นอนว่า เมื่อเริ่มมีการพูดถึง “ดัชนีเค่อเฉียง” ในแวดวงวิชาการของประเทศต่างๆ มากขึ้น ก็ย่อมจะมีการวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ตามมา รวมทั้งการชี้ถึงจุดอ่อนของตัวชี้วัดแต่ละด้านของ “ดัชนีเค่อเฉียง” ตัวอย่างเช่น

จุดอ่อนของข้อมูล “ค่าใช้จ่ายการบริโภคกระแสไฟฟ้า” ที่อาจจะไม่สะท้อนความจริง เนื่องจากรัฐบาลของมณฑลจีนหลายแห่งมักจะนิยมให้เงินอุดหนุนหรือให้ความช่วยเหลือกิจการภายในมณฑลของตนในช่วงขาดแคลนพลังงานหรือเกิดวิกฤตพลังงาน เพื่อให้สามารถควบคุมการใช้พลังงานได้ แต่กลับทำให้ไม่สามารถเห็นภาพการบริโภคกระแสไฟฟ้าในมณฑลจีนได้อย่างแท้จริง

ส่วนข้อมูล “ปริมาณของสินค้าที่ขนส่งผ่านทางรถไฟ” ก็มีจุดอ่อนเช่นกัน มีผู้วิจารณ์ว่า สินค้าที่นิยมขนส่งทางรถไฟในจีนเป็นเพียงสินค้าในภาคการผลิตราวร้อยละ 40 ของเศรษฐกิจจีนทั้งหมด

ในกรณีข้อมูล “ปริมาณสินเชื่อรวมของธนาคาร” ก็เช่นกัน แม้จะสามารถสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทจีนหรือโรงงานจีนได้ใช้เงินสินเชื่อเพื่อไปลงทุนทางธุรกิจ แต่ก็อาจจะมีบางส่วนของสินเชื่อจากภาคธนาคารที่ถูกใช้ไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน โดยเฉพาะการกู้เงินไปทำสารพัดโครงการอสังหาริมทรัพย์ในเมืองต่างๆ จนเกิดอุปทานล้นเกิน และกลายเป็นการสร้างเมืองร้าง ด้วยภาพตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สูงเกินจริง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แม้จะมีจุดอ่อนอยู่บ้าง แต่ดิฉันก็คิดว่า “ดัชนีเค่อเฉียง” ยังคงมีประโยชน์และเป็นอีกตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการนำมาใช้เป็นอีกทางเลือกเพื่อประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจจีนตามแนวทาง “หลี่โคโนมิกส์” ของนายกฯ จีนคนนี้ ซึ่งท่านตั้งใจที่จะปฏิรูปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนโดยหันมาเน้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้มากขึ้น จึงจะต้องติดตามประเมินกันต่อไปว่า ภารกิจนี้ของท่านหลี่ เค่อเฉียง จะสำเร็จได้จริงหรือไม่โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจที่หลากหลายค่ะ