สื่อลาวในวัน "ยนตก"

สื่อลาวในวัน "ยนตก"

อุบัติเหตุเครื่องบินสายการบินลาว ตกกลางแม่น้ำโขง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 49 คน นับเป็นความสูญเสียครั้งที่ใหญ่ที่สุด

นับแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมื่อปลายปี 2518

ด้วยการสื่อสารสมัยใหม่ คนลาวส่วนใหญ่ได้รับข่าวสาร"ยนตก"ที่ปากเซ ( "ยน" หมายถึงเครื่องบิน) จากเครือข่ายโซเชียลมีเดียประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 16 ตุลาคม 2556

ภาพเศษซากเครื่องบิน และศพชาวต่างชาติ ปรากฏผ่านเพจ "มะหาซนแมกกาซีน" ก่อนที่จะแชร์ต่อๆ กันไป และกลายเป็นภาพข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ไทย 3-4 ฉบับในเช้าวันรุ่งขึ้น

แต่ธรรมชาติของโซเชียลมีเดีย ที่มีทั้งบวกและลบ อย่างเช่นกรณีมีบางคนได้แชร์ภาพ "ช้าง" อดีตนักร้องวงโอเวอร์แดนซ์ ที่เป็นสจ๊วตการบินลาวว่า "เสียชีวิตแล้ว" กระทั่งตอนดึก "ช้าง" ต้องทำคลิปออกมาแก้ข่าวว่า "ยังมีชีวิตอยู่"

แล้วสื่อโทรทัศน์ลาวทำอะไร ? ในวันวิกฤตที่คนลาวตกใจและเฝ้ารอคอยข่าวสาร ด้วยความกระวนกระวายใจ

สปป.ลาว มี"สถานีโทละพาบ"หรือสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม 6 ช่อง แยกเป็นของรัฐ 3 ช่องและภาคเอกชน 3 ช่อง

ประกอบโทละพาบแห่งชาติลาว (ทชล.) ช่อง LNTV 1 - ช่อง LNTV 3 และช่อง LAO PSTV สถานีโทรทัศน์ของกระทรวงป้องกันความสงบ

ช่อง Lao Star สถานีโทรทัศน์เอกชนช่องแรก, ช่อง MV LAO และช่อง TV LAO สถานีโทรทัศน์เอกชนน้องใหม่

ข่าวภาคค่ำวันเกิดเหตุ โทละพาบแห่งชาติลาว ทำได้แค่เสนอรายงานข่าวว่า มีเหตุการณ์ "ยนตก" ที่แขวงจำปาสัก และแจ้งว่าจะนำภาพข่าวอย่างเป็นทางการในข่าวภาคค่ำวันถัดไป

ตรงกันข้ามกับโทละพาบ"ทีวีลาว" (TV LAO)ที่เสนอข่าว "ยนตก" เป็นข่าวใหญ่ในรายการ "ลาวอัพเดท" ช่วง 18.00 น. ซึ่งเป็นโทละพาบลาวช่องแรกที่รายงานข่าวเที่ยวบินมรณะ

ในตอนดึก ช่องทีวีลาว ยังได้นำเสนอรายละเอียดในช่วง "รอบวันทันเหตุการณ์" มีภาพเคลื่อนไหวจุดเกิดเหตุ "ยนตก" ริมฝั่งแม่น้ำโขง ใกล้บ้านพะลิง เมืองโพนทอง แขวงจำปาสัก

ขณะที่เช้าวันที่ 17 ตุลาคม 2556 โทละพาบแห่งชาติลาว ก็เสนอข่าวโดยไม่มีภาพประกอบ พร้อมกับย้ำว่าในช่วงข่าวภาคค่ำ จึงจะมีการนำเสนอข่าวเครื่องบินตกอย่างเป็นทางการ

หากเข้าใจระบอบการเมืองของ สปป.ลาว ก็จะไม่แปลกใจในการทำหน้าที่สื่อของ "โทละพาบแห่งชาติ" เพราะทุกอย่างต้องขึ้นต่อการจัดตั้ง และขึ้นต่อการนำ อันหมายถึงกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมฯ ที่จะเป็นผู้กลั่นกรองว่าข่าวสารใด ควรนำเสนอหรือไม่นำเสนอ

สื่อของรัฐมีหน้าที่ปลุกระดมให้ผู้คนทำตามนโยบายของพรรครัฐ และรายงานข่าวของทางการ มิใช่สื่อในความหมายของสื่อเสรีทั่วไป

ความจริงที่รัฐบาลลาวปฏิเสธไม่ได้ คือคนลาวได้ติดตามข่าวสาร "ยนตก" จากฟรีทีวี และทีวีดาวเทียมของไทย ตั้งแต่คืนเกิดเหตุเครื่องบินตกแล้ว

สำหรับ "ช่องทีวีลาว" ของเอกชนลาว ที่ได้เริ่มแพร่ภาพออกอากาศอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค.2556 เป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีคำขวัญ "ก้าวไกล ว่องไว และทันสมัย" ซึ่งได้ทำหน้าที่สื่อสารมวลชน ตอบสนองความต้องการของมหาชนอย่างทันท่วงที

ข่าว "ยนตก" ครั้งที่ร้ายแรง กำลังให้ทีวีดาวเทียมเอกชนน้องใหม่ ได้รับความสนใจจากผู้ชมชาวลาวมากขึ้น

และนี่เป็นเรื่องเล่าเล็กๆ ในวันที่คนลาวเผชิญหน้ากับการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุด