บทบาทนิสิตนักศึกษาไทยในรอบ 40 ปี

บทบาทนิสิตนักศึกษาไทยในรอบ 40 ปี

นักศึกษามหาวิทยาลัยในฐานะคนหนุ่มสาวระดับหัวกะทิ เคยมีบทบาทในการพัฒนาสังคมไทยมาตั้งแต่ช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

จนถึงการประท้วงการเลือกตั้งสกปรกในปี 2500 และหลังถูกทำให้ซบเซาไปในยุคเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ (2501-2506) ได้ค่อยๆ ก่อรูปขึ้นมาในยุคเผด็จการจอมพลถนอม-จอมพลประภาส (2506-2516) เพราะรัฐบาลเผด็จการทหารทุจริตฉ้อฉล ใช้อำนาจบาตรใหญ่ ทำให้การกระจายรายได้มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และประเทศเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมเพิ่มขึ้น

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 นักศึกษากลุ่มที่ช่างคิด เป็นนักอ่าน นักเขียน ได้จับกลุ่มทำกิจกรรมและแสวงหาสังคมที่ดีกว่าเป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมเพิ่มขึ้นตามลำดับ จากกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นนักคิด นักเขียน นักทำหนังสือ นักโต้วาที นักทำค่ายอาสาพัฒนา และอื่นๆ ได้ขยายตัวจนกลายเป็นกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งที่จุดประกายให้นักศึกษา นักเรียน ประชาชน ไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน เข้าร่วมการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยจากธรรมศาสตร์ไปรัฐสภาในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และการที่รัฐบาลเผด็จการกลุ่มถนอมถูกโค่นอำนาจมีรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง ส.ส. และรัฐบาลพลเรือน

หลังจาก 14 ตุลาคม 2516 นักศึกษารวมทั้งนักเรียนชั้นมัธยมปลายมีความตื่นตัวทางการเมืองและทางสังคมสูงมาก พวกเขาสนใจอ่านหนังสือ ชมนิทรรศการและเข้าร่วมฟังอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางการพัฒนาประเทศให้เป็นธรรม และเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างคึกคักมาก กลุ่มที่เป็นพวกหัวก้าวหน้าเป็นนักกิจกรรม ศึกษาปัญหาของชาวนา คนงาน และปัญหาด้านต่างๆ ของประเทศอย่างเอาจริงเอาจัง บางคนถึงกับหยุดพักการเรียน เป็นอาสาสมัครลงไปทำงานเพื่อศึกษาและจัดตั้งองค์กรในหมู่ชาวนาและคนงาน นักศึกษายังได้ร่วมกับประชาชนในเรื่องการเรียกร้องลดค่าเช่านา การเรียกร้องการเพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการของแรงงาน การร่วมประท้วงเจ้าหน้าที่รัฐที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม การเสนอให้มีการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมในด้านต่างๆ แม้แต่นักศึกษาอาชีวะ ซึ่งเคยชอบตีกันเพราะเป็นหนทางแสดงออกความสามารถทางหนึ่งที่เหลืออยู่ก็เลิกตีกัน เพราะพวกเขาได้รับการยอมรับจากสังคมและมีความเชื่อว่าพวกเขาก็สามารถมีบทบาทในการสร้างประเทศให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมขึ้นได้

แต่นักศึกษาเป็นแค่พลังบริสุทธิ์ของคนหนุ่มสาวที่ไม่ได้มีอำนาจ ความเข้มแข็งมากพอที่จะผลักดันการปฏิรูปประเทศได้อย่างแท้จริง อำนาจรัฐเปลี่ยนมือจากทหารไปอยู่ที่นักการเมือง ซึ่งแม้จะมาจากการเลือกตั้ง แต่พวกเขาก็เป็นตัวแทนของคนรวย คนชั้นกลาง ที่ยังเห็นแก่อำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าจะมีอุดมการณ์ก้าวหน้า รักความเป็นธรรมแบบอุดมคติเหมือนกับพวกนักศึกษา ดังนั้น หลัง 14 ตุลาคม 2516 ไปแล้ว พวกนักการเมืองรวมทั้งชนชั้นผู้ปกครองอื่น ทั้งเจ้าที่ดินใหญ่ ขุนนาง ข้าราชการ นายทหาร ที่เป็นพวกยึดมั่นในสถานะภาพเดิมที่จารีตนิยม ไม่ต้องการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม ที่จะลดอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเอง จึงกลายเป็นกลุ่มที่ต่อต้านขบวนการนักศึกษา ด้วยวิธีการโจมตีให้ร้ายว่านักศึกษาเป็นพวกเป็นพวกหัวรุนแรง เป็นคอมมิวนิสต์ จนนำไปสู่การปราบปรามเข่นฆ่านักศึกษาครั้งใหญ่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 (ขณะที่นักศึกษาชุมนุมโดยสันติ ประท้วงการกลับประเทศของจอมพลถนอม ซึ่งถูกบีบให้ออกไปอยู่นอกประเทศตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516)

การปราบปรามนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในทัศนะของชนชั้นผู้ปกครอง คือการตัดไฟต้นลม ไม่ให้ขบวนการนักศึกษาใหญ่โต จนเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงประเทศแบบปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมให้เป็นธรรมแก่คนส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้ว คือการทำลายโอกาสที่ประเทศไทยจะพัฒนาได้เจริญก้าวหน้าอย่างสำคัญ ไม่ใช่ขบวนการนักศึกษาเท่านั้นที่ถูกทำลาย คนที่เป็นสถาปนิกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่าง ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ และปัญญาชนเสรีนิยมอื่นๆ ถูกทำลายไปด้วยรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2516 ทำให้ประเทศไทยถอยหลังกลับไปปกครองแบบจารีตนิยม ทุนนิยมแบบสุดโต่ง แทนที่จะได้ปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมเพื่อให้ประเทศไทยได้ก้าวหน้าไปอย่างจริงจัง

การเข่นฆ่าปราบปรามนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คือการตัดสินที่ผิดพลาดอย่างเลวร้ายที่สุดของชนชั้นนำของไทย มันไม่ใช่เพียงการเข่นฆ่าปราบปรามคนหนุ่มสาวที่มีอุดมคติที่สุด ดีที่สุดของประเทศเท่านั้น มันคือการทำลายขบวนการนักศึกษาปัญญาชนและการปฏิรูปสังคมในแนวทางสันติวิธีที่มีผลเสียหายมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยหลัง 6 ตุลาคม 2519 จนถึงปัจจุบัน มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการแข่งขันและการบริโภคแบบตัวใครตัวมันอย่างสุดโต่ง นักศึกษา ปัญญาชนรุ่นหลังถูกกระแสอุดมการณ์ทุนนิยมเพื่อการบริโภคกล่อมเกลาให้พวกเขาเป็นปัจเจกชนที่สนใจเรื่องตนเองมากกว่าสังคมส่วนรวม เชื่อว่าทุนนิยมคือทางไปสู่ความเจริญก้าวหน้าเพียงเส้นทางเดียว

ปัจจุบันนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่สนใจการเมืองหรือเรื่องของสังคม ขณะที่นักศึกษาปัญญาชนและประชาชนที่สนใจการเมืองส่วนหนึ่งกลายเป็นพวกที่ตัดสินเลือกข้าง เลือกผู้นำหรือกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดอย่างสุดโต่ง โดยขาดการมองปัญหาของประชาชนแบบคิดวิเคราะห์เชิงโครงสร้างของประเทศอย่างจำแนกแยกแยะเป็นเรื่องๆ ไป ถึงวันนี้เราจะมีประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง แต่ประชาชนมีปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น นักศึกษาปัญญาชนส่วนที่ยังเป็นนักอุดมคติเพื่อประชาชนและยึดแนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองสังคมเพื่อความเป็นธรรมและประชาธิปไตยสำหรับคนส่วนใหญ่มีเหลือน้อยลง มีเวทีแสดงน้อย มีบทบาทน้อย เมื่อเทียบกับพวกเคลื่อนไหวการเมืองแบบสุดโต่งเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

การเมืองแบบแบ่งเป็น 2 ขั้วสุดโต่งในปัจจุบัน นอกจากจะทำให้เกิดความแตกแยก ขัดแย้ง และเกิดการประท้วงกันเรื้อรังแบบไม่มีใครเอาชนะใครได้ แล้วทั้ง 2 ขั้ว คือฝ่ายนายทุนข้ามชาติทุจริตฉ้อฉลและใช้เงินหาเสียงอย่างหลงทางและฝ่ายเจ้าที่ดินใหญ่ ขุนนาง นักการเมือง นายทุน จารีตนิยม ไม่ใช่กลุ่มที่จะแก้ปัญหาประเทศอย่างได้ผลด้วยกันทั้งคู่

มีแต่นักศึกษาประชาชนจะต้องตื่นตัวศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาประเทศจากล่างขึ้นบนยกระดับความรู้ ความเข้าใจ จิตสำนึก ประชาชน จัดตั้งกลุ่ม องค์กร ชุมชน ผลักดันการปฏิรูปการศึกษา สื่อมวลชน เศรษฐกิจ สังคม เพื่อช่วยให้ประชาชนฉลาด ได้รับความเป็นธรรม การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างมีความรู้ มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เน้นความสุขของประชาชนส่วนใหญ่และคำนึงถึงความยั่งยืนของธรรมชาติสภาพแวดล้อมเท่านั้นที่จะเป็นทางออกของประเทศไทย

(อ่านวิทยากร เชียงกูล, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, วิสาคัญทัพขบวนการนักศึกษาไทยจาก 2475-14 ตุลาคม 2516 สายธาร พิมพ์ครั้งที่ 3 2546)