แรงงานฝีมือไอทีขาด ดับฝันผู้นำอาเซียน

แรงงานฝีมือไอทีขาด ดับฝันผู้นำอาเซียน

สถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) จับมือสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ออกผลวิจัย

เช็คความพร้อม วงการไอทีไทยรับมือ 4 เทคโนโลยีใหม่สำคัญ สำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจในสถานการณ์เดินหน้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) งานสำรวจที่มีชื่อว่า โครงการวิจัยเชิงสำรวจในหัวข้อ “Emerging Technology: Thai IT Professional Readiness Survey” มีขึ้นเพื่อเตรียมรับความเปลี่ยนแปลง ในกลุ่มของบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านเทคโนโลยีก่อกำเนิดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Emerging Technology) โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กำลังจะเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ในปี 2558

การสำรวจครั้งนี้เจาะลึก 4 ด้านในรายละเอียดภาพรวม ศึกษาความพร้อมของบุคลากรทางด้านซอฟต์แวร์ของหน่วยงาน/องค์กร ในประเด็นต่างที่น่าสนใจ อันได้แก่ ทักษะของบุคลากรด้านภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม, ด้านการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่น, ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์บนคลาวด์เทคโนโลยี และด้านการพัฒนาเทคโนโลยีก่อกำเนิดอื่นๆ โดยการศึกษามีขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2556 ด้วยจำนวนกลุ่มตัวอย่างกว่า 100 บริษัทในประเทศไทย จากผลสำรวจเห็นว่าองค์กรต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าว เพราะเห็นโอกาสทางการตลาด แต่ปัญหาสำคัญคือขาดบุคลากรที่มีความเข้าใจทางด้านนี้พียงพอ

ผลการสำรวจในด้านภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม (Computer Programming Language) พบว่า ยังนิยมใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ PHP, Java และ .NET โดยภาษาทั้งสามได้รับความนิยมเป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างนั้น ได้แก่ PHP 65.17%, Java 62.92% และ .NET 61.80% ขณะเดียวกันก็พบว่าจำนวนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในแต่ละบริษัท หรือองค์กรยังมีน้อย โดยมากน้อยกว่า 10 คน และมีเพียงไม่กี่รายที่ระบุว่ามีมากกว่า 20 คน ส่วนผลสำรวจด้านพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่น ชี้ว่าส่วนใหญ่ระบบไอโอเอส (iOS) และแอนดรอยด์ในจำนวนที่เท่ากัน คือ 51.69% ตามมาด้วยวินโดว์ส 24.72% แต่กระแสใหม่คือ เริ่มสนใจพัฒนา HTML5 เป็นแอพพลิเคชั่นแบบ Cross Platform ในจำนวนถึง 50.56% และมีแนวโน้มขยายตัว เพิ่มบุคลากรพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นมากกว่าเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ที่สำรวจวิจัยในคราวนี้ และเน้นความสนใจที่ขยายตัวด้านไอโอเอสมากที่สุด แต่จำนวนบุคลากรซอฟต์แวร์ในแต่ละองค์กรยังมีน้อย ส่วนใหญ่มีน้อยกว่า 10 คน

ส่วนคลาวด์คอมพิวติ้งเทคโนโลยี ถือเป็นเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่สนใจกันอย่างกว้างขวางนักในกลุ่มบริษัท หรือหน่วยงานไทย แต่เมื่อสำรวจแนวโน้มการพัฒนาซอฟต์แวร์บนคลาวด์ แพลตฟอร์มยังจัดว่ามีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย โดยแพลตฟอร์มที่หน่วยงาน/บริษัทมีบุคลากรที่มีทักษะพัฒนามากที่สุดคือ Google App Engine เพียง 22.47% และ Microsoft Azure จำนวน 19.10% ตามด้วย Amazon Web Services 13.48% และ Heroku 5.62%นอกจากแต่ละองค์กรจะมีบุคลากรที่พัฒนาซอฟต์แวร์บนคลาวด์ คอมพิวติ้งน้อยกว่า 10 คนแล้ว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังไม่มีแผนงานขยายบุคลากรซอฟต์แวร์อย่างชัดเจนนัก และน้อยมากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ

ปัญหาในการพัฒนาเทคโนโลยีก่อกำเนิดที่พบมากที่สุดคือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความสามารถซึ่งมีจำนวนผู้ตอบถึง 76.40% ตามมาด้วยปัญหาการขาดแคลนแหล่งความรู้/การฝึกอบรม 49.44%, ขาดงบประมาณ 42.70%, เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถก้าวตามได้ทัน 31.46%, ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ 25.84% ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปัญหาสะสมเรื่องการผลิตบุคลากรคุณภาพ ที่จะตามให้ทันเทคโนโลยี แต่ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมากลายเป็นตัวฉุดรั้งการก้าวไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา อาจดับฝันเมื่อสิบปีก่อนที่จะก้าวสู่การเป็นฮับไอซีทีภูมิภาคลงได้หากรัฐและเอกชนไม่ร่วมมือกันอย่างเต็มที่และถูกทิศทาง