ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ

ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมเขียนถึงคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (Federal Open Market Committee)

เพราะ FOMC เป็นผู้มีอำนาจเต็มในการกำหนดการลดทอนการพิมพ์เงินเพื่อซื้อพันธบัตรหรือคิวอี ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมองว่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับราคาสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นราคาหุ้นหรือราคาพันธบัตร เราจะจำกันได้ว่าครั้งแรกที่นายเบอร์นันเก้ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐพูดถึงการลดทอนคิวอีตอนปลายเดือนพฤษภาคมนั้น ราคาหุ้นปรับลดลงอย่างมากทั่วโลกพร้อมกับการปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของดอกเบี้ยระยะยาวทั่วโลกพันธบัตรรัฐบาลไทย 10 ปีนั้น ดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณ 3.2% ไปถึง 4% ในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์

การจะประเมินกระบวนการลดทอนคิวอีของสหรัฐ หมายความว่าจะเริ่มทำเมื่อไหร่ จะทำอย่างรวดเร็วหรือค่อยเป็นค่อยไปและหลังจากทำเสร็จแล้วจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่และรวดเร็วเพียงใดนั้น อาจประเมินได้จากการดูข้อมูลทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวดีขึ้น FOMC ก็ย่อมจะลดทอนคิวอีลง ทั้งนี้ นายเบอร์นันเก้ได้ให้กรอบการพิจารณาเอาไว้ว่าการลดทอนคิวอีจะทำเมื่อการว่างงานปรับลดลงมาที่ 6.5% (จาก 7.5% ในปัจจุบัน) และหากเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นเกิน 2.5% แต่นายเบอร์นันเก้ก็กล่าวว่า เงื่อนไขดังกล่าวไม่ใช่เงื่อนที่ตายตัว เช่น หากการว่างงานปรับลดลงมาที่ 6.5% แต่เป็นเพราะคนงานท้อแท้จึงเลิกหางานก็จะเป็นประเด็นที่ FOMC จะต้องนำมาพิจารณา เป็นต้น ในส่วนของเงินเฟ้อนั้นแม้ว่าจะเกิน 2.5% แต่หาก FOMC มองว่าเดี๋ยวจะปรับลงได้ (เพราะเกิดจากปัญหาระยะสั้นเช่นเกิดของภัยแล้งทำให้อาหารแพง) และเศรษฐกิจยังอ่อนแออยู่ FOMC ก็จะยังไม่เริ่มลดทอนคิวอี เป็นต้น

ประเด็นคือการจะริเริ่มและดำเนินการลดทอนคิวอีนั้น ผมมองว่าเงื่อนไขสำคัญคือความคิดเห็นของสมาชิก FOMC ทั้ง 12 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานของ FOMC ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งจะต้องเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่นายเบน เบอร์นันเก้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2014 เป็นต้นไป นอกจากนั้นในครั้งที่แล้วผมได้สรุปข้อสังเกตของแบงก์ออฟอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ พันธมิตรของภัทรว่าประธานสาขาธนาคารกลางในภูมิภาคที่มีสิทธิออกเสียงใน FOMC ในปี 2014 (จากการที่มี การหมุนเวียนผู้มีสิทธิออกเสียง 5 คนจากทั้งหมด 12 คน) นั้นจะมีบุคคลที่มีทัศนะคติที่เป็น “เหยี่ยว” (ต้องการเร่งการลดทอนคิวอีเพื่อรักษาวินัยทางการเงิน) มากกว่าในปี 2013 ซึ่งส่วนใหญ่มีความเป็น “พิราบ” (ชะลอการลดทอนคิวอีเพราะอยากให้เศรษฐกิจฟื้นและไม่กลัวเงินเฟ้อ) และรายละเอียดของจุดยืนของบุคคลต่างๆ ที่เป็นประธานสาขาธนาคารกลางในแต่ละภูมิภาค 12 คน ตลอดจนคณะกรรมการธนาคารกลาง (Federal Reserve Board) ทั้ง 7 คนที่คุมเสียงข้างมากใน FOMC

ผมคิดว่าเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐคือการเปลี่ยนแปลงในบุคคลที่มีสิทธิออกเสียงใน FOMC โดยผู้ที่มีความสำคัญที่สุดคือผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่ที่จะมาแทนนายเบอร์นันเก้ ซึ่งเป็นอำนาจของประธานาธิบดีโอบามาที่จะนำเสนอให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ซึ่งปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าตัวเก็งมีอยู่ 2 คน คือ นายลอเร็นซ์ (แลรี่) ซัมเมอร์อดีตรัฐมนตรีคลังและที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโอบามาซึ่งเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับประธานาธิบดีโอบามาเป็นอย่างดีและเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและสาธารณชนคุ้นหน้าคุ้นตาอย่างมาก และนางแจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้ว่ารธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เคยเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคลินตันและรับตำแหน่งสำคัญๆ ในธนาคารกลางสหรัฐมาเกือบ 10 ปีจึงเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านนโยบายการเงินอย่างหาที่เปรียบได้ยาก แต่จะเป็นคนที่น้อยคนจะรู้จัก จึงเทียบไม่ติดกับนายซัมเมอร์ ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยของสื่อมวลชน แต่นางเยลเลนจะมีความได้เปรียบที่เป็นผู้หญิง หมายความว่าการแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลางคนแรกที่เป็นผู้หญิงจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มความนิยมทางการเมืองให้กับประธานาธิบดีโอบามา

แต่ประเด็นที่สำคัญสำหรับนักลงทุนคือ นางเยลเลนมีความเป็น “พิราบ” คือมีจุดยืนที่ต้องการคงคิวอีเอาไว้เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวได้อย่างมั่นคง และมีท่าทีไม่กลัวปัญหาเงินเฟ้อมากนัก กล่าวคือนางเยลเลนมีความเป็น “พิราบ” มากกว่านายเบอร์นันเก้อย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นหากประธานาธิบดีโอบามาเสนอชื่อนางเยลเลนให้รับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐก็เป็นไปได้ว่านักลงทุนจะตอบรับเป็นอย่างดี

แต่หากประธานาธิบดีโอบามาเสนอชื่อนายซัมเมอร์ นักลงทุนอาจจะยังไม่มีปฏิกิริยามากนัก เพราะไม่รู้จุดยืนของนายซัมเมอร์ นอกจากนั้นก็ยังมีการประเมินว่าหากนางเยลเลนไม่ได้รับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ เธอก็อาจขอลาออกจากตำแหน่งได้ ทำให้ประธานาธิบดีโอบามาจะต้องมีภาระที่จะต้องหารองผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่อีกด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงคือความแตกแยกในทางความคิดของกรรมการ FOMC ดังที่จะเห็นอยู่บ่อยครั้งว่าประธานสาขาธนาคารกลางในภูมิภาคต่างๆ นั้นปัจจุบันมีความแตกต่างกันอย่างสุดโต่งบางคน เช่น นาย Fisher และ Lacker ก็เป็น “เหยี่ยว” ที่ต้องการยุติคิวอีทันที ในขณะที่นาย Evan และ นาย Rosengren เตือนว่ายังเลิกคิวอีไม่ได้ไปอีกนาน เพราะเศรษฐกิจเปราะบางอย่างมาก ทั้งนี้ นักวิชาการ เช่น ศ. Alan Blinder ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของนางเยลเลนให้ความเห็นว่านางเยลเลนจะเป็นผู้ที่สามารถ “คุม” กรรมการที่มีความแตกแยกทางความคิดได้ เพราะเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด ศิลปะทางการทูตและความสามารถในการโน้มน้าว รวมทั้งความมีมนุษยสัมพันธ์ที่จะสามารถมีความเห็นที่แตกต่าง แต่จะไม่ทำให้เกิดความแตกแยก

ทั้งนี้ ศ. Blinder ซึ่งเคยเป็นผู้ร่วมงานกับนางเยลเลนที่ธนาคารกลางสหรัฐยังประเมินว่านางเยลเลนเป็นผู้ที่มีความเข้มงวดกับนายธนาคารที่มีแนวโน้มจะปล่อยเงินกู้อย่างหละหลวม ซึ่งอาจทำให้นางเยลเลนไม่ใช่คนที่นายธนาคารจะให้การสนับสนุนให้เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคนต่อไป (สามารถดูรายละเอียดการประเมินผลงานของนางเยลเลนโดย ศ. Bliner ได้ในบทความที่ลงใน Asian Wall Street Journal วันที่ 30 กรกฎาคม 2013)