ดรีมทีมเศรษฐกิจจีน

ดรีมทีมเศรษฐกิจจีน

คุณภาพทีมงานเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จครับ นี่จึงเป็นเหตุผลที่การตั้งหรือการปรับครม.ควรเป็นเรื่องสำคัญของชาติ

แต่ผมเห็นพวกเราไทยเฉยล้วนตายด้านไปแล้วที่จะใส่ใจว่าใครจะมารับตำแหน่งอะไร เพราะหลายปีที่ผ่านมาตำแหน่งรัฐมนตรีในประเทศไทยกลายเป็นตำแหน่งนอมินีเป็นสมบัติผลัดกันชมหรือเป็นรางวัลตอบแทนความดีความชอบ (ต่อนาย ไม่ใช่ต่อประเทศ)

ผมมิบังอาจวิจารณ์ท่านนายกฯปู และทีม รมต.ใหม่ เพราะคนเขาวิจารณ์กันทั่วบ้านทั่วเมืองแล้ว บ้างยินดีบ้างห่วงใยบ้างไว้ใจ บ้างงงงวย ผมขออนุญาตหยุดมองไทยชวนไปมองประเทศจีน ตอนนี้กระแสถาโถมมาว่าเศรษฐกิจจีนย่ำแย่ โตแค่ 7 เปอร์เซ็นต์ (ไม่แย่ได้อย่างไร ปกติต้องโตอย่างน้อยสัก 10-12 เปอร์เซ็นต์) ตลาดหุ้นจีนก็ตกแล้วตกอีกแล้ว นี่ตกลงอนาคตพญามังกรจะรุ่งโรจน์หรือรุ่งริ่ง ท่านผู้นำใหม่สีจิ้นผิงจะ “เอาอยู่” ไหม ?

คำตอบที่แน่ชัดที่สุดก็ต้องมาดูที่ดรีมทีมเศรษฐกิจที่ท่าน “ตั้งเองกับมือ” ว่ามือถึงขั้นไหมมีท่านใดที่ชาวบ้านเขาร้องยี้กันทั่วบ้านทั่วเมืองหรือเปล่า ผมขออนุญาตไล่เรียงไปทีละคนครับ

ท่านแรกคือท่านนายกฯหลี่เค่อเฉียง ท่านเป็นนายกฯคนแรกที่จบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ เรียกว่ามีพื้นเพเป็นเทคโนแครตเต็มตัวประสบการณ์ภาคสนามโชกโชน เพราะเคยบริหารทั้งมณฑลเกษตรอย่างเหอหนานและมณฑลอุตสาหกรรมสำคัญอย่างเหลียวหนิง เรียกว่าถูกเทรนมาสำหรับกุมบังเหียนเศรษฐกิจที่ส่วนหนึ่งยังเป็นภาคการเกษตรส่วนหนึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรม ที่น่าสนใจกว่านั้นคือท่านนายกฯ หลี่ ยังมีดีกรีปริญญาตรีนิติศาสตร์อีกด้วย คนเขาจึงคาดหวังว่าท่านจะคิดเป็นทั้งเชิงตัวเลขและเชิงโครงสร้างและท่านคงจะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับเศรษฐกิจ นั่นก็คือ กลไกทางกฎหมายที่ดีจะช่วยวางโครงสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งและยั่งยืน

ท่านที่สองคือท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโหลจี้เหว่ย ท่านเคยเป็นผู้บริหารกองทุนความมั่งคั่ง “China Investment Corporation” ของจีนซึ่งนำเอาเม็ดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอันมหาศาลของรัฐบาลจีนไปลงทุนทั่วโลกถือได้ว่ามีความเชี่ยวชาญและเข้าใจเรื่องตลาดทุนอย่างลึกซึ้งจึงเป็นที่คาดหมายว่าท่านจะมีบทบาทในการวางยุทธศาสตร์เชิงรุกในเรื่องการใช้เงินทุนสำรองของจีนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

มีรายงานว่าในการประชุมร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำที่ปักกิ่งเมื่อไม่นานมานี้ ท่านรัฐมนตรีคลังได้แสดงวิสัยทัศน์ว่าท่านไม่เห็นด้วยกับโมเดลยุโรปที่เก็บภาษีในอัตราสูงเพื่อสร้างระบบราชการที่ใหญ่โตไว้รองรับรัฐสวัสดิการ ขณะเดียวกันท่านก็ไม่เห็นด้วยกับโมเดลอเมริกาที่เก็บภาษีในอัตราต่ำและปล่อยให้เกิดการขาดดุลงบประมาณมหาศาล ท่านบอกว่าสำหรับจีนนั้นต้องรักษาการขาดดุลงบประมาณในระดับที่ควบคุมได้และเก็บภาษีที่มุ่งเป้าให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจเกิดแรงจูงใจในการสร้างโอกาสและคุณค่าทางธุรกิจ สิ่งที่น่าสนใจก็คือท่านรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับระบบภาษีซึ่งเป็นเรื่องยากและใหญ่แต่เป็นเรื่องที่ตรงจุดที่สุดสำหรับชาติใดก็ตามที่ต้องการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพที่ยั่งยืน

ท่านที่สามคือท่านผู้ว่าแบงก์ชาติจีนโจวเสี่ยวชวน ซึ่งจะดำรงตำแหน่งต่อไปอีกวาระ ถือว่าพลิกความคาดหมายกับการที่ท่านยังรั้งตำแหน่งไว้ได้ เพราะหากดูจากอายุท่านที่ครบ 65 ปีและการที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ มาถึง 10 ปี แล้ว ก็นับว่าถึงคิวที่ควรเกษียณได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา รายชื่อของผู้ที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะมารับตำแหน่งต่อ ยังไม่มีชื่อที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเท่าท่านผู้ว่าโจวเลย ทั้งนี้เพราะท่านผู้ว่าโจวเป็นนักเศรษฐศาสตร์การเงินที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติโดยเฉพาะในเรื่องความซื่อตรงต่อหน้าที่ การไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโอกาสและความเสี่ยงของระบบการเงินของจีน

สิบปีนับแต่ท่านผู้ว่าโจวดำรงตำแหน่งมา ท่านได้ปรับนโยบายการเงินของจีนให้สอดคล้องกับกลไกตลาดมากขึ้นพยายามแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อและยังแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโอกาสที่ค่าเงินหยวนจะก้าวขึ้นมามีบทบาทในระดับนานาชาติ นโยบายหลายเรื่องของท่านขัดต่อกลุ่มผลประโยชน์ดั้งเดิมทำให้โดนแรงเสียดทานมาก การต่ออายุการทำงานให้กับท่านผู้ว่าฯในครั้งนี้แม้มีข่าวว่าคงต่อให้ท่านสักสองปีเพื่อเฟ้นหาตัวทายาทที่เหมาะสมก่อน แต่ก็นับเป็นการส่งสัญญาณจากผู้นำสูงสุดว่าให้การสนับสนุนนโยบายปัจจุบันของธนาคารกลางจีนเรียกความเชื่อมั่นและแสดงจุดยืนที่จะเดินหน้าปฏิรูปภาคการเงินต่อไป

ท่านสุดท้ายคือหลิวเฮ่อ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์วัยกลางคน ดาวรุ่งพุ่งแรง ซึ่งเพิ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ว่ากันว่าเขานี่แหละที่เป็นมันสมองเบื้องหลังการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 (ค.ศ. 2012-2017) ซึ่งมีเนื้อหาเน้นการส่งเสริมพลังการบริโภคและตลาดภายในประเทศ (แทนการส่งออกไปยังตลาดภายนอกประเทศ) เน้นการส่งเสริมภาคบริการและภาคการเงินเพื่อยกระดับรายได้ประชากร (แทนการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมค่าแรงต่ำ) และเน้นการส่งเสริมการยกระดับเทคโนโลยีและการเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า (แทนการลอกเลียนแบบหรืออาศัยเทคโนโลยีจากต่างประเทศ) ทำให้เชื่อว่าแนวทางการปฏิรูปเชิงโครงสร้างดังกล่าวยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้นำจีนชุดใหม่

ในขณะนี้ รัฐบาลจีนพยายามส่งสัญญาณว่าพอใจที่เศรษฐกิจโตที่ 7 เปอร์เซ็นต์ เพราะการโตนี้จะเป็นการโตที่มีคุณภาพมากขึ้น กล่าวคือเป็นการเติบโตไปพร้อมกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แน่นอนใครๆ ก็รู้ว่างานนี้ทั้งโหดทั้งหินเป็นงานระดับ "โคตรยาก" เปรียบเทียบเหมือนกับคนเคยฉีดสเตอรอยด์มานาน อยู่ๆ จะให้ค่อยๆ เลิกเปลี่ยนมาออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรงโตอย่างเป็นธรรมชาติจะเป็นไปได้หรือ ?

อย่างน้อยในวันนี้ผู้นำรุ่นใหม่ของจีนก็ได้แสดง “กึ๋น” ด้วยการตั้งดรีมทีมเศรษฐกิจระดับมือพระกาฬแถมเป็นทีมงานที่ชอบ "พูด" เรื่องยากๆ เชิงโครงสร้างทั้งนั้น สิ่งที่ต้องรอดูด้วยใจระทึกก็คือพวกเขาจะสามารถ "ทำ" ได้อย่างที่พูดหรือไม่ คิดๆ แล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะหันกลับมามองทีมงานประเทศไทย ได้แต่ทอดถอนใจว่าทำไมท่าน รมต. ทั้งหลายจึงเลิกพูด (และคิด) เรื่องยากๆ เชิงโครงสร้างกันเสียแล้ว เหลือแต่คุยโวโอ้อวดว่าจะฉีดสเตอรอยด์กันต่อไปอย่างไรพร้อมๆ กับคิดหาทางไม่ให้ใครมาดึงเข็มไปก่อน เราชอบของง่ายของเร็วของดีของฟรีซึ่งจะมีก็แต่ของหลอกเด็กเท่านั้นครับ