เส้นทางขรุขระสู่ดิจิทัลทีวี(4):TPBS เสาหลักโครงข่าย-ราหูอมอสมท.?

เส้นทางขรุขระสู่ดิจิทัลทีวี(4):TPBS เสาหลักโครงข่าย-ราหูอมอสมท.?

ทุกครั้งที่มีประชาพิจารณ์หรือ Focus Group หลักเกณฑ์การประมูลดิจิทัลทีวี

ผู้เข้าร่วมมักถามประเด็น "ต้นทุนโครงข่ายช่องดิจิทัลทีวี" กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) จะออกมาเมื่อไหร่ แต่แทบไม่เคยมีคำอธิบายชัดๆ ว่าหลักคิดค่าบริการโครงข่าย อยู่บนพื้นฐานอะไรบ้าง?

จนดูเหมือนว่ากสท.เองก็ยังไม่มีคำตอบ? หรือว่ายัง "ต่อรอง" ผลประโยชน์อัน "มิพึงได้" จากการ "ผูกขาด" โครงข่าย 15 ปี ยังไม่ลงตัว?

คำตอบเดียวที่เพิ่งรับทราบมาคือ กสท. บอกว่าก่อนการประมูลดิจิทัลทีวี 30 วัน จะมีการ "แจ้งเพื่อทราบ" ให้ผู้สนใจประมูลรู้ค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายว่าเท่าไหร่

ในมุมมองของผู้สนใจประมูล "ค่าบริการโครงข่าย" เป็นต้นทุนคงที่ 15 ปี ที่มีความสำคัญมากยิ่งกว่า "ค่าประมูลขั้นต่ำ" ของแต่ละประเภท และราคาประมูลสุดท้ายเท่าไหร่ ที่เกิดจากการแข่งขันการเสนอราคาของแต่ละรายที่มีแต่ละราย "หน้าตัก" ไว้แล้ว

แต่ "ค่าบริการโครงข่าย" เป็นค่าบริการที่ผู้สนใจประมูล "ไม่มีทางเลือก" เสมือนกำลังถูกมัดมือชก จะต้องยอมรับ "ค่าบริการ" ที่กำหนดมาจาก" ผู้เล่นรายเดิม" คือ ช่อง 5, ช่อง 9, กรมประชาสัมพันธ์ และ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ยากจะต่อรองให้ลดราคาลงมาได้ แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับ "ค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม" ของดาวเทียมไทยคม ที่มีอัตราค่าบริการ "ถูกลง" กว่าในอดีต แม้ว่าค่าเช่าดาวเทียมสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านก็เกิดขึ้นจากกลไกการตลาดปกติคือ ดีมานด์-ซัพพลาย

ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว "ค่าบริการโครงข่ายดิจิทัลทีวี" ภาคพื้นดินมีสินค้าที่ใช้ "ทดแทน" ได้คือการส่งผ่านดาวเทียม ค่าบริการควรจะเทียบเคียงกันในลักษณะแพงกว่าค่าเช่าสัญญาณดาวเทียม ไม่ควรจะเกินกว่าสัก 2-3 เท่า

แต่ตัวเลขเบื้องต้น ที่ดูเหมือนว่าจงใจหลุดออกมาจากผลศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เพื่อหยั่งกระแส คำนวณไว้สำหรับช่องดิจิทัลทีวีแบบ SD 60 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 5 เท่า ของช่องดาวเทียมและช่องดิจิทัลทีวีแบบ HD 240 ล้านบาทต่อปี โดยยังไม่รวมต้นทุน Must Carry บนดาวเทียมเพื่อให้ทุกโครงข่ายสอยไปต่อได้
บอกได้ว่าเป็นค่าบริการโครงข่ายที่หากบวกต้นทุน Must Carry จะแพงเข้าขั้น "ขูดรีด" ค่าโครงข่ายจะกลายเป็นต้นทุนหลักของการลงทุนช่องดิจิทัลทีวีเสียด้วยซ้ำ ช่องแบบ SD รวม 15 ปี 900 ล้านบาทและช่อง HD รวม 15 ปี 3,600 ล้านบาท

ถ้าค่าโครงข่ายแพงขนาดนี้ แล้วผู้เข้าประมูลต้องแบกภาระไปถึง 15 ปี การเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์แบบอนาล็อกไปสู่ดิจิทัลทีวี( Analog Switch Off/Digital Switch Over) ที่ทำให้ดิจิทัลทีวีเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ และผู้บริโภคมากที่สุดก็จะสูญเปล่า เพราะผู้ชนะประมูลจะต้องผลักภาระนี้ไปยังค่าโฆษณาที่ขายให้เอเจนซีโฆณา และผู้ลงโฆษณาในอัตราที่ไม่ลดลงจากเดิมสักเท่าไหร่

แล้วภาระต้นทุนทั้งหมดจะถูกผลักไปกลายเป็น "ราคาสินค้า" ที่มีค่าโฆษณาแฝงอยู่จำนวนมาก แบบเดียวกับระบบโทรทัศน์อนาล็อกเดิมที่มีสภาพ "กึ่งผูกขาด" ที่ผู้ลงโฆษณาจำใจต้องจ่ายเงินแพงๆ ซื้อโฆษณาที่ขึ้นราคาทุกปี

ผมสงสัยมากๆ ว่าทำไมกสท.ไม่เลือกวิธีทำให้ "ค่าบริการโครงข่าย" ต่ำที่สุดตามแนวคิดเดิมคือ One Network ที่เคยอยู่ในแผนงานแรกๆ แต่ตอนหลังกลับกลายมาจะแจก "ใบอนุญาต" โครงข่ายถึง 6 ใบ (Multiplex) โดยไม่ได้ใช้วิธีประมูลอีกด้วย ทั้งๆ ที่กิจการนี้ถือเป็นกิจการ "ผูกขาด" 15 ปี ที่ไม่มีคู่แข่งเข้ามาได้ และผู้ใช้บริการไม่ทางเลือก ซึ่งจริงๆ ควรจะเลือกวิธี "ประมูล" เพื่อให้ได้ "ค่าบริการต่ำ" และขยายโครงข่ายได้เร็วที่สุด

ยิ่งเกิดความสงสัยมากยิ่งขึ้นกับการเร่งรีบออกใบอนุญาต 4 ใบให้ช่อง 5, ช่อง 9, กรมประชาสัมพันธ์ และไทยพีบีเอสจาก 6 ใบอนุญาต โดยไม่ได้กำหนดราคาค่าบริการให้ชัดเจนก่อน ยอมให้แต่ละรายเสนอราคาค่าบริการมาเพื่อกสท. จะต่อรองให้ได้ราคาใกล้เคียงกัน ซึ่งค่อนข้างผิดวิสัยกลยุทธ์การเจรจาต่อรอง เมื่อปล่อย "อ้อยเข้าปากช้าง" แล้วจะคายออกมา ยอมลดราคาลงมาได้อย่างไร

"ตัวเลขค่าบริการ" ที่แต่ละช่องเสนอให้กสท.พิจารณา ทำให้มองเห็น "ความไม่ปกติ" ของกระบวนการพิจารณาให้ใบอนุญาตที่อาจจะทำให้เกิดผลเสียระยะยาวต่อประเทศและผู้บริโภค

ขอเลือกมาเฉพาะช่องแบบ SD เพื่อเปรียบเทียบกันที่น่าจะมาจากข้อกำหนดของกสท.ให้ผู้รับใบอนุญาตขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม "ประชากร" เริ่มจากปีแรก 50 %, ปีสอง 80%, ปีสาม 90% และ ปีที่สี่ 95%

ช่อง 5 เริ่มคิดค่าบริการจากปีแรก 1.5 ล้านบาทต่อเดือน, ปีสอง 2.5 ล้านบาทต่อเดือน, ปีสาม 4 ล้านบาทต่อเดือน และปีที่สี่ 5 ล้านบาทต่อเดือน

ช่อง 9 เริ่มจากปีแรก 5 ล้านบาทต่อเดือน, ปีสอง 5.15 ล้านบาทต่อเดือน, ปีสาม 5.3 ล้านบาทต่อเดือน และปีที่สี่ 5.46 ล้านบาทต่อเดือน

ช่อง11เ ริ่มจากปีแรก 2.4 ล้านบาทต่อเดือน, ปีสอง 3.2 ล้านบาทต่อเดือน, ปีสาม และ ปีที่สี่เท่ากัน 4 ล้านบาทต่อเดือน

ไทยพีบีเอส เริ่มจากปีแรก 2 ล้านบาทต่อเดือน, ปีสอง 3.2 ล้านบาทต่อเดือน, ปีสาม 3.6 ล้านบาทต่อเดือนและปีที่สี่ 4 ล้านบาทต่อเดือน

สรุปแล้ว ไทยพีบีเอสเสนอราคาต่ำสุดเฉลี่ยเดือนละ 3.1 ล้านบาท ในช่วง 4 ปีแรก ที่โครงข่ายยังไม่ครอบคลุม 95% และหลังจากปีที่สี่คิดเดือนละ 4 ล้านบาท ช่อง 5 รองลงมาเฉลี่ยเดือนละ 3.25 ล้านบาทและเดือนละ 5 ล้านบาท อันดับสามช่อง 11 เฉลี่ยเดือนละ 3.4 ล้านบาท และหลังจากนั้น ปีละ 4 ล้านบาท แต่ช่อง 9 กลับเสนอราคาแพงโด่งกว่าเฉลี่ยเดือนละ 5.23 ล้านบาท แล้วคิดแพงสุดถึง 5.46 ล้านบาท

ข้อเสนอด้านค่าบริการของไทยพีบีเอสต่ำสุดน่าจะมาจากผลการศึกษาทางเทคนิคด้านโครงข่ายที่จะต้องใช้ "เสาส่งหลัก" ทั่วประเทศ 39 แห่ง ไทยพีบีเอสกลายเป็นช่องที่มีความพร้อมมากที่สุด เพราะเสาส่งเกือบทั้งหมดถูกเลือกตำแหน่งสำหรับคลื่นความถี่ย่าน UHF สอดคล้องกับการแพร่ภาพโทรทัศน์ระบบดิจิทัลทีวีที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน UHF แต่สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นปักเสาส่งสำหรับคลื่นความถี่ย่าน VHF

จำนวนเสาส่งหลัก 39 แห่ง สำหรับโครงข่ายดิจิทัลทีวีเป็นของไทยพีบีเอสถึง 35 แห่งและอสมท. 4 แห่ง เสาส่งของกรมประชาสัมพันธ์กับกองทัพบกช่อง 5 ไม่สามารถนำมาใช้ได้ แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้สำคัญเท่าไหร่ หากทุกช่องยอมไปเช่าใช้ "เสาส่ง" 35 แห่งของไทยพีบีเอสที่เป็นกิจการสาธารณะที่ไม่ควรค้ากำไรมากเกินไป ซึ่งดูเหมือนว่าผู้บริหารช่อง 5 กับช่อง 11 ไม่มีปัญหาในการไปเช่าใช้เสาส่งไทยพีบีเอสเพื่อประหยัดเงินลงทุนใหม่

แต่ผู้บริหารอสมท.กลับยังไม่ยินยอมไปเช่าใช้ของไทยพีบีเอสที่ประหยัดเงินลงทุนมากกว่าการสร้างเสาส่งเอง แล้วยังเสนอค่าบริการแพงกว่าช่องอื่นเกือบเท่าตัว จนทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า อสมท. ลงทุนโครงข่ายแพงกว่าช่องอื่นหรืออย่างไร อุปกรณ์เครื่องส่ง"ราคาแพง"มากกว่าช่องอื่น? หรือ "ไอ้โม่ง" คนไหนกำลังจ้องจะเขมือบผลประโยชน์จากการจัดซื้อลงทุนอุปกรณ์โครงข่ายดิจิทัลทีวีที่มีมูลค่าประมาณ 2-3 พันล้านบาท

ปรากฏการณ์แบบนี้คิดเป็นอื่นไม่ได้ว่าน่าจะเกิดจากเงามืดของ "การเมือง" กำลังปกคลุมเหนืออสมท.ให้กลับไปเป็นยิ่งกว่าแดนสนธยามากกว่าครั้งใดๆ ทำให้องคาพยพโครงสร้างการบริหารการตัดสินใจของอสมท.ในเรื่องใหญ่ๆ แบบนี้ ยิ่งสับสนอลหม่าน "คนรู้เทคนิคไม่ได้ทำ-คนทำไม่รู้เทคนิค"

บอกให้ก็ได้ว่าทั้ง 3 ช่องเสนอค่าบริการโครงข่ายทั้งแบบ SD และ HD แต่อสมท.มีความพร้อมน้อยที่สุดเสนอราคาค่าบริการแบบ SD เท่านั้น แต่แบบ HD ยังคำนวณเสร็จไม่ทันเสนอ !!

ฝากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจอสมท.ฯ เข้ามาจับตาเกาะติดเรื่องนี้อย่ากะพริบตาเป็นอันขาด อย่าให้เกิดกรณีซ้ำรอยข้อสงสัยซื้อลิขสิทธิ์จาก CTH ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก 3 ปี 480 ล้านบาท โดยไม่ต่อรองราคา

เท่าที่ดูจากการเสนอราคารอบแรกมาแล้วไทยพีบีเอสน่าจะเป็นตัวเลือกที่มีความพร้อมที่สุด,รองลงมาคือกองทัพที่มีทีมช่างเทคนิคของกองทัพกับเงินทุนพร้อม , ช่อง 11ยังไม่แน่ใจว่าตั้งงบประมาณไว้หรือยังและคนรู้เรื่องเทคนิคของช่อง 11มองหาไม่เห็นแล้วเมื่ออธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ยังต้องอิมพอร์ตมาจากผู้ว่าบุรีรัมย์

กสท.น่าจะลองใช้วิธีต่อรองราคาแบบกึ่งประมูลใหม่ ด้วยการเปิดโอกาสให้แต่ละรายเสนอ "ค่าบริการ" มาใหม่ กำหนดไม่เกินรายละ 2 โครงข่ายเพื่อพิจารณาความพร้อมของแต่ละรายที่อาจจะทำให้รายที่มีความพร้อมมากกว่าอย่างไทยพีบีเอสเสนอราคาค่าโครงข่ายที่ต่ำลงไปได้อีก

อันที่จริงแล้วกสท.ควรจะหาแต้มต่อให้ไทยพีบีเอสที่เป็นองค์กรสาธารณะไม่แสวงหากำไรในเชิงธุรกิจมากเกินไปมาเป็นหัวหอกการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ดิจิทัล ซึ่งไทยพีบีเอสได้แสดงความจำนงค์จะคืนคลื่นความถี่อนาล็อกในอีก 3 ปีข้างหน้าแล้วและสอบถามความพร้อมในเชิงเทคนิคสามารถติดตั้งเครื่องส่งดิจิทัลได้ครบถ้วน 39 แห่งภายใน 2 ปีเท่านั้น

ไทยพีบีเอสในฐานะองค์กรสื่อสาธารณะน่าจะได้รับมอบหมายภารกิจนี้ขยับไปอีกขั้นเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ เช่นเดียวกับภารกิจของสถานีโทรทัศน์สาธารณะบีบีซีของอังกฤษที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวขบวน ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิทัลทีวีของอังกฤษสำเร็จใน 6 ปีหลังจากล้มเหลวใน 4 ปีแรก

อยากให้ไทยพีบีเอสเสมือนเป็น "หัวรถจักรไฟฟ้าความเร็วสูง" เร่งให้ประเทศไทยไปสู่ดิจิทัลทีวี Digital Switch Over ภายใน 3 ปี โดยไม่จำเป็นจะต้องรอให้เป็นไปตามแผนแม่บท 5 ปี ยิ่งเปลี่ยนผ่านช้าออกไปก็จะเป็นประโยชน์กับ "ผู้เล่นรายเก่า" ที่ยังได้ประโยชน์มหาศาลจากการใช้คลื่นความถี่ที่เป็นสมบัติสาธารณะนานยิ่งขึ้น หลังจากครอบครองคลื่นความถี่ไว้ด้วยระบบสัมปทานมานานเกินกว่า 30-40 ปีแล้ว