‘คนเป่านกหวีด’

‘คนเป่านกหวีด’

มะกันเรียกคนแฉความลับที่ทางการต้องการปกปิด ให้สาธารณชนได้รับทราบว่า เป็นพวก “เป่านกหวีด” หรือ whistle-blower

เพราะต้องการจะส่งเสียงดังให้ได้ยินไปทั่ว ขณะที่ผู้กุมอำนาจต้องการจะเก็บไว้ให้เงียบงันที่สุด

แน่นอนว่า คนเปิดเผยความลับราชการอย่างนี้ต้องมีทั้งคนชื่นชมว่า เป็นวีรบุรุษหรือวีรสตรี และเห็นว่าเป็นผู้ทรยศต่อชาติที่อาจจะทำลายความมั่นคงได้

รายล่าสุดคือลูกจ้าง “สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ” หรือ National Security Agency (NSA) ที่ชื่อ “เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน” วัย 29 ที่เปิดโปงโครงการลับสุดยอดที่ชื่อ PRISM ซึ่งใช้เครื่องมือไซเบอร์ทั้งหลายเพื่อดูดข้อมูลส่วนตัวของคนที่เข้าไปในโลกเครือข่ายสังคม ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ค หรือยูทูบ

ฝ่ายความมั่นคงอ้างว่า การเกาะติดข้อมูลส่วนตัวของคนทั้งหลายก็เพื่อเฝ้าดูว่าใครกำลังวางแผนก่อเหตุร้ายที่มีผลต่อชีวิต และทรัพย์สินของรัฐบาล และคนอเมริกัน

เขาคุยว่าด้วยการเกาะติดข้อมูลของคนในโซเชียลมีเดีย นี่แหละทำให้สามารถสกัดกั้นความพยายามก่อการร้ายถึง 50 ครั้ง

แต่คนที่คัดค้านเรื่องนี้ยืนยันว่า การทำอย่างนี้เป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลของคนทั้งโลก เป็นเรื่องควรแก่การประณามอย่างยิ่ง

นายสโนว์เดน หนีจากวอชิงตัน มาฮ่องกง พร้อมเปิดเผยว่าฝ่ายข่าวกรองมะกันได้แอบสอดแนมข่าวเกี่ยวกับเมืองจีน และฮ่องกง มาหลายปีแล้ว

จีนต้อง “ไอ้หยา” เพราะสหรัฐฯ ได้กล่าวหาว่าจีน เป็นฝ่ายล้วงตับความลับทางทหารของมะกันผ่านทางไซเบอร์มาตลอด

คราวนี้ปักกิ่งได้ทีอัดกลับสหรัฐฯ ด้วยการอ้างข้อมูลของจอมแฉมะกันนี้เอง

ความจริงนายสโนว์เดน ไม่ใช่ “คนเป่านกหวีด” คนดังคนแรกของสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ที่โดดเด่นทำนองเดียวกันก็มีหลายคนที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองทีเดียว

ย้อนไปก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี พลทหาร Bradley Manning เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของกองทัพบกก็สร้างความเกรียวกราวด้วยการแอบส่งรายงานลับจากสถานทูตสหรัฐฯ ทั่วโลกที่ส่งกลับไปที่กระทรวงต่างประเทศให้กับนายจูเลียน อัสซันจ์ (Julian Assange) ซึ่งเอาไปเปิดโปงผ่านเว็บไซต์ Wikileaks จนปั่นป่วนไปทั่ว

นายแมนนิ่ง ถูกจับขึ้นศาลอยู่ขณะนี้ ส่วนนายอัสซันจ์ หลบหนีเข้าไปพำนักที่สถานทูตอีควาดอร์ ที่กรุงลอนดอน มาได้ครบหนึ่งปีแล้ว

“คนเป่านกหวีด” โด่งดังอีกคนคือ “Deep Throat” แห่งคดีวอเตอร์เกตที่นักข่าววอชิงตันโพสต์สองคนคือ Bob Woodward และ Carl Bernstein ไปแคะคุ้ยมาจนทำให้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ต้องลาออก สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก

จอมแฉในกรณีนี้มาเปิดเผยภายหลังว่าคือนาย Mark Felt ซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการเอฟบีไอ ขณะนั้น
ถือว่าเป็น “คนเป่านกหวีด” อาวุโสในแวดวงข่าวกรอง และสืบสวนสอบสวนที่สุด

อีกกรณีหนึ่งที่อื้อฉาวไม่น้อยกว่ากันคือ Pentagon Papers ซึ่งเป็นเอกสารลับของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่วิเคราะห์สถานการณ์สู้รบในเวียดนาม

นาย Daniel Ellsberg ซึ่งทำงานเป็นนักวิเคราะห์ทางทหารแอบเอาเอกสารฉบับนี้มาให้หนังสือพิมพ์ New York Times ตีพิมพ์ สร้างความปั่นป่วนให้กับรัฐบาลไปทั่วเพราะเป็นการเปิดโปงว่า ประธานาธิบดีลินดอน ยอห์นสัน และริชาร์ด นิกสัน ได้โกหกประชาชนคนอเมริกันมาตลอดว่า ทหารสหรัฐฯกำลังจะได้ชัยชนะในการสู้รบที่นั่น ทั้ง ๆ ที่เอกสารทางการนี้ยืนยันว่าสหรัฐฯ กำลังพ่ายแพ้ในทุกประตู

นิกสัน พยายามขอให้ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ระงับการตีพิมพ์ข้อความจากเอกสารลับเล่มนี้ แต่คำพิพากษายืนยันว่า “สิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชนอยู่เหนือคำกล่าวอ้างความมั่นคงของรัฐบาลในอันที่จะรักษาความลับจากประชาชน”

เจตนาของ “คนเป่านกหวีด” เกือบทุกคนเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง ตรงที่มีความสำนึกว่าผู้มีอำนาจทางการเมืองเก็บงำความจริงจากประชาชน และความจริงนั้นหากไม่เปิดเผยจะเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย ยิ่งกว่าการเก็บงำข้อเท็จจริงโดยอ้างกฎหมายความลับทางราชการ

ผู้มีอำนาจมักอ้าง “ความมั่นคงของประเทศ” ในการปกปิดความจริงจากประชาชน ทั้ง ๆ ที่พวกเขากำลังพยายามจะปกปักรักษา “ความมั่นคงของรัฐบาลเอง” ต่างหาก

ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือประเทศไหนนี่คือสัจธรรมการเมืองที่ไม่เคยเปลี่ยนและจะไม่มีวันเปลี่ยน
และ “คนเป่านกหวีด” ก็จะสืบทอดเจตนารมณ์โดยไม่ต้องนัดแนะหรือรู้จักกันด้วยซ้ำไป

ล่าสุด นายสโนว์เดน บินออกจากฮ่องกง บินไปมอสโกหลายวันแล้ว และขอลี้ภัยการเมืองจากอีควาดอร์ ประเทศเล็ก ๆ (ประชากร 14 ล้านคน) ทางตะวันตกของอเมริกาใต้, เหมือนที่นายอัสซันจ์ ได้รับความกรุณาจากประเทศนั้น ด้วยการพำนักอยู่ในสถานทูตของเขาที่กรุงลอนดอน มาหนึ่งปีเต็ม

รัฐบาลสหรัฐฯเดือดดาลที่ฮ่องกง ไม่ยอมจับตัวนายสโนว์เดน ส่งตัวกลับไปอเมริกา แต่รัฐบาลฮ่องกง บอกว่า คำขอตัวจากวอชิงตัน ยังไม่สมบูรณ์ จึงยังจับตัวผู้ต้องสงสัยคนนี้ไม่ได้

เมื่อ "คนเป่านกหวีด" สองคน ประสานเสียงกันอย่างนี้, ก็ได้รู้กันว่าอำนาจของตำรวจโลกอย่างสหรัฐฯ จะใหญ่โตพอที่จะจัดการกับ “จอมแฉ” ระดับโลกหรือไม่