หวู่ วั่น ทง “ปั้น” ธนาคารสัญชาติไทยรุกจีนตะวันตก

หวู่ วั่น ทง “ปั้น” ธนาคารสัญชาติไทยรุกจีนตะวันตก

เมื่อ 10 ปีก่อน นักธุรกิจนายธนาคารไทยระดับชาติคนหนึ่งเริ่มหันมาให้ความสนใจแผ่นดินจีนที่แสนยิ่งใหญ่

ด้วยความคิดว่า "วันหนึ่งก็ตื่นมาคิดดูว่า เอ๊ะ...เราขาดอะไรบางอย่างในชีวิต... ประเทศที่อยู่ทางเหนือของไทยผมยังไม่รู้จักเลยว่าเป็นอย่างไร ...ไม่รู้ว่า มีโอกาสหรือความน่าสนใจอะไรอย่างไร... ทั้งที่คนไทยส่วนมาก รวมทั้งผมเองก็มีเลือดจีนด้วยกันทั้งนั้น"

จากความคิดที่จุดประกายขึ้นมาในปี 2546 ทำให้นายธนาคารมือโปรของเมืองไทยคนนี้หันมาให้ความสนใจจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเริ่มต้นเรียนภาษาจีนกลางอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เป็นถึงเจ้าสัวหนุ่มใหญ่เข้าสู่วัยเลข 5 แล้ว

ยิ่งย้อนไปดูประวัติพื้นฐานครอบครัวและการศึกษา ยิ่งน่าสนใจว่า อะไรทำให้เกิดการพลิกผันหันมาให้ความสนใจแดนมังกรอย่างทุ่มสุดตัวในช่วงวัยกลางคนเช่นนี้ได้อย่างไร นักธุรกิจแถวหน้าของไทยคนนี้เป็นถึงลูกชายมหาเศรษฐีนายธนาคารใหญ่และมีมารดาเป็นหม่อมราชวงศ์ รวมทั้งการเป็นนักเรียนนอกใช้เวลาในวัยเรียนส่วนใหญ่อยู่ในประเทศฝรั่งตะวันตก ตั้งแต่ระดับมัธยมจนเรียนจบปริญญาโท แต่เหตุอันใดกลับหันมามุ่งมั่นฝึกฝนเรียนภาษาจีนกลางทั้งด้านการพูดอ่านและเขียนอย่างแน่วแน่ จนทำให้ในขณะนี้ เขาผู้นี้สามารถขึ้นเวทีกล่าวปาฐกถาด้วยภาษาจีนกลางได้อย่างน่าทึ่ง

จะด้วย “ฟ้าสั่งมา” หรืออย่างไร วันดีคืนดี ซีอีโอชื่อดังของไทยคนนี้กลับลุกขึ้นมาให้ความสนใจเรียนรู้เกี่ยวกับดินแดนจีนแผ่นดินใหญ่อย่างจริงจังในทุกมิติ แถมซุ่มเงียบออกเดินทางไปตระเวนเยือนมณฑลจีนเกือบจะทุกเดือน โดยใช้ชื่อแซ่ภาษาจีนกลางในนามบัตรว่า "หวู่ วั่น ทง" (Wu Wantong)

จากวันนั้นถึงวันนี้ร่วม 10 ปี "หวู่ วั่น ทง" ค่อยๆ เรียนรู้และรุกคืบนำทัพทีมงานธนาคารไทยสีเขียวเพื่อไปปักธงในแผ่นดินจีน ทั้งๆ ที่เกือบจะเริ่มต้นจากศูนย์ "…ก็ไม่ต่างอะไรกับเสื่อผืนหมอนใบ ไม่รู้จักใครสักคนเดียว ตอนนั้น ภาษาจีนก็พูดไม่ได้สักคำ ไม่รู้ด้วยว่าจะไปทำอะไร แต่ขอไปหน่อยเถิด ไปแล้วก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของส่วนสำคัญของทั้งชีวิต ทั้งธุรกิจและทั้งส่วนตัวและทั้งเครือธนาคารกสิกรไทย"

หลังจากมีความชัดเจนในทิศทางที่จะเดินต่อไป ธนาคารกสิกรไทย KBank ภายใต้ชื่อจีนว่า Kai Tai Yin Hang ???? (ไคไท้อิ๋นหาง หมายถึง "จุดเริ่มต้นที่เป็นศิริมงคล") โดยการบริหารของ "หวู่ วั่น ทง" ก็เดินหน้าสะสมข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่อง

ดิฉันเองได้รับเชิญในฐานะนักวิชาการให้เข้าไปมีส่วนร่วมในหลายกิจกรรมที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนของทีมงานจีน KBank มาตั้งแต่ปี 2548 และเคยได้รับเชิญให้ร่วมเดินทางไปลงพื้นที่หลายมณฑลจีนร่วมกับผู้บริหารซีอีโอและทีมงาน KBank ที่ดูแลเรื่องจีน รวมทั้งการจัดตั้ง “ศูนย์ธุรกิจไทย-จีน” เพื่อให้บริการข้อมูลเศรษฐกิจจีนในเชิงลึกกับสาธารณชนทั่วไป เปิดให้บริการฟรีที่ชั้น 16 อาคารจัตุรัสจามจุรี

ล่าสุด ดิฉันเพิ่งได้รับเชิญให้ไปเข้าร่วมงานเปิดสาขา KBank ที่นครเฉิงตูด้วยความยินดียิ่งที่ธนาคารสัญชาติไทยของเรารายนี้ได้หันมาเน้นกลยุทธ์รุก “จีนตะวันตก” และเน้นบทบาทในการประสานเชื่อมโยงมณฑลจีนตะวันตกกับธุรกิจในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

เนิบช้าด้วยความลุ่มลึก คือ ลีลาของ "หวู่ วั่น ทง" ในการตัดสินใจขยายอาณาจักร KBank ในภูมิภาคจีนตะวันตก หลังจากค่อยๆ ใช้เวลาศึกษาและรวบรวมข้อมูลมานานด้วยความรอบคอบอย่างไม่เร่งรีบ

นครเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน เป็นตลาดจีนตะวันตกที่มีศักยภาพสูงด้วยจุดแข็งหลายด้าน ทั้งในแง่จำนวนประชากร การเป็นฐานผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการส่งออก และฐานผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปของจีน

ที่สำคัญ ด้วยอานิสงส์ของรัฐบาลกลางที่มุ่งเพื่อพัฒนาจีนตะวันตกภายใต้กลยุทธ์ Go-West Policy ตั้งแต่ต้นปี 2543 เศรษฐกิจมณฑลเสฉวนสามารถขยายตัวอย่างก้าวกระโดดจนมีขนาด GDP ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของจีน จากทั้งหมด 31 มณฑลจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งๆ ที่เสฉวนมีจุดอ่อนด้านทำเลที่ตั้งซึ่งห่างไกลจากชายฝั่งทะเลร่วม 2 พันกิโลเมตร

ในขณะนี้ เสฉวนมีประชากรกว่า 80.5 ล้านคน เป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดของจีนตะวันตก โดยเฉพาะในนครเฉิงตู มีประชากรมากกว่า 14 ล้านคนและมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีสูงถึง 49,438 หยวน ชนชั้นกลางและผู้บริโภคในเสฉวนมีรายได้สูงขึ้น โดยเฉพาะหนุ่มสาวคนจีนรุ่นใหม่ในนครเฉิงตู ต่างนิยมสินค้านำเข้าจากต่างประเทศและติดแบรนด์หรู จึงไม่น่าแปลกใจที่บรรดาร้านแบรนด์ดังระดับโลก เช่น หลุยส์ วิตตอง กุชชี่ และแบรนด์อื่นๆ ต่างตบเท้าเข้าไปตั้งสาขาเปิดร้านใหญ่โตอยู่กลางนครเฉิงตู

สำหรับการค้าเสฉวน-ไทย ตัวเลขล่าสุดในปี 2555 เสฉวนมีมูลค่าการค้ากับไทย 552.32 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 44.8 โดยแบ่งเป็นเสฉวนนำเข้าจากไทย 151 ล้านดอลลาร์ สินค้าที่เสฉวนซื้อจากไทยมากที่สุด ได้แก่ วงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ แร่ธาตุ ผลไม้ ธัญพืช ข้าวหอมมะลิ ยางพารา ส่วนการส่งออกจากเสฉวนมาไทยมูลค่า 401.32 ล้านดอลลาร์ เช่น วัสดุแม่เหล็ก เคมีอนินทรีย์ ส่วนประกอบและเครื่องจักรกลสำหรับขุดเจาะ ผลิตภัณฑ์เคมี วัสดุเหล็กกล้า เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในด้านการลงทุน ยังมีนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในเสฉวนไม่มากนัก ตัวอย่างธุรกิจไทยเท่าที่มี เช่น บริษัท ECI-Metro ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์รถตัก Caterpillar ในเครือซีพี บริษัทผลิตถ้วยกระดาษบะหมี่สำเร็จรูปของกลุ่มสหพัฒน์ และกลุ่มเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าชื่อดังของไทย เป็นต้น

การที่ KBank นำโดย"หวู่ วั่น ทง" ตัดสินใจมาเปิดสาขาในเฉิงตูจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการขยายธุรกิจการค้าการลงทุนระหว่างไทยและเสฉวน รวมทั้งมณฑลจีนตะวันตกอื่นๆ ให้มากขึ้น

"หวู่ วั่น ทง" ให้เหตุผลชัดเจนว่า “การเปิดสาขาเฉิงตู เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเครือข่ายการให้บริการ ภายใต้ยุทธศาสตร์การเป็นเอเชียนแบงก์ ที่มุ่งส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมจีนตะวันตกและอาเซียน สนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในภูมิภาคไทย-จีน-อาเซียน โดยเฉพาะการส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี ในมณฑลเสฉวน”

ก่อนจบขอปิดท้ายด้วยอีกเรื่องเบาๆ ที่น่าสนใจของ "หวู่ วั่น ทง" ซึ่งมีบรรพบุรุษเชื้อสายจีนฮากกาหรือจีนแคะ (มิใช่คนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋วดังเช่นเจ้าสัวเศรษฐีไทยส่วนใหญ่) ชาวฮากกามีลักษณะเด่นที่สำคัญในการใฝ่เรียนรู้และชอบขีดๆ เขียนๆ (ดังที่ระบุในหนังสือ “คือฮากกา คือจีนแคะ” ของอาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล) จึงไม่น่าแปลกใจที่หนุ่มใหญ่นายแบงก์เชื้อสายฮากกาคนนี้ นอกจากจะมากความสามารถในด้านการบริหารจัดการธุรกิจการเงินการธนาคารระดับมืออาชีพแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยหัวใจรักในงานเขียนและซุ่มผลิตผลงานเขียนของตัวเองมานานร่วมปี จนล่าสุด เพิ่งเปิดตัวหนังสือหนาร่วม 600 หน้า ภายใต้ชี่อ “สิเนหามนตาแห่งลานนา” เป็นนิยายรักแฝงธรรมะและมีบทรักที่เขียนโดยเจ้าสัวผู้มากฝีมือของไทยคนนี้ได้อย่างน่าทึ่ง จนสร้างความตะลึงไปทั่ววงการธุรกิจการเงินการธนาคารไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

มาถึงบรรทัดนี้ คุณผู้อ่านคงน่าจะทราบแล้วว่า "หวู่ วั่น ทง" คนนี้ ก็คือ บัณฑูร ล่ำซำ ผู้ชายที่ไม่ธรรมดาเลยนะคะ จนดิฉันอยากจะขอคารวะด้วยเหมาไถสัก 3 จอก กันเปย !!!