ใครกุมบังเหียนพญามังกร?

ใครกุมบังเหียนพญามังกร?

ขณะนี้จีนกำลังมีการประชุมสามัญประจำปีของสองสภา คือ สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีน ระสำคัญที่ทั่วโลกจับจ้องก็คือ

การเลือกผู้นำคนใหม่ในองค์กรของรัฐอย่างเป็นทางการจีนกำลังจะได้ “สีจิ้นผิง” เป็นประธานาธิบดี และ “หลี่เค่อเฉียง” เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

มีคนถามผมอย่างงงๆ ว่า อ้าว ก็ไหนเมื่อปลายปีที่แล้ว เคยประโคมข่าวเลือกผู้นำใหม่ของเมืองจีนกันไปแล้วยกใหญ่ ทำไมสุดท้ายยังไม่ได้เลือกหรือยังเลือกไม่เสร็จเสียที ช่างผิดวิสัยความฉับไวไฮสปีดของพญามังกรเสียจริง

จึงต้องเรียนชี้แจงครับว่า ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์นั้นได้รับการคัดเลือกเสร็จเรียบร้อยโรงเรียนจีนไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งไม่พลิกโผ เมื่อสีจิ้นผิงได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ ในตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ และกรรมการประจำกรมการเมืองลำดับที่ 1 ส่วนหลี่เค่อเฉียงตามมาติดๆ ได้ขึ้นเป็นกรรมการประจำกรมการเมืองลำดับที่ 2

หลายท่านงงต่อก็แล้วตกลงเมืองจีนใครใหญ่ที่สุดกันแน่ ประธานาธิบดีหรือนายกฯ หรือประธานสภาผู้แทนประชาชน หรือเลขาพรรคคอมมิวนิสต์??

จีนยุคใหม่ไม่ได้ปกครองแบบเผด็จการโดยบุคคลคนเดียวเหมือนสมัยเหมาเจ๋อตงแล้วครับ จีนปกครองแบบเผด็จการโดยคณะบุคคลคณะเดียวคณะบุคคลที่กุมอำนาจสูงสุด ก็คือ คณะกรรมการประจำกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ (Politburo) ซึ่งมีทั้งหมด 7 คน อย่างไรก็ตาม พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ถือเป็นองค์กรทางการของรัฐตามรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงศูนย์กลางอำนาจที่ชักใยองค์กรของรัฐอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น กรรมการสูงสุดทั้ง 7 คนนี้จะเข้าไปกินตำแหน่งสำคัญต่างๆ ในองค์กรทางการของรัฐ เช่น กรรมการเบอร์ 1 ซึ่งก็คือเลขาฯ พรรคคอมมิวนิสต์จะเป็นประธานาธิบดี เบอร์ 2 เป็นนายกฯ เบอร์ 3 เป็นประธานสภาประชาชน ไล่ตำแหน่งกันไปเรื่อยๆ

ตัวนโยบายและทิศทางสำคัญของประเทศนั้น กรรมการ 7 คนนี้ จะประชุมกำหนดร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ จากนั้นผู้รับผิดชอบในองค์กรทางการของรัฐต้องรับไปขับเคลื่อนตามตำแหน่งหน้าที่ของตน

ตำแหน่งประธานาธิบดีทำหน้าที่เป็นประมุขของรัฐ เป็นผู้ลงนามประกาศใช้กฎหมาย ประกาศสงคราม ประกาศภาวะฉุกเฉิน รับรองทูตานุทูตในนามของประเทศ ถ้าเป็นสมัยก่อนก็คล้ายๆ กับฮ่องเต้ เป็นสัญลักษณ์และเป็นหน้าตาแห่งยุคสมัย ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็คล้ายๆ ตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี เป็นผู้บริหารประเทศที่เข้าคลุกฝุ่นลุยโคลนของจริง เป็นผู้นำสูงสุดของคณะรัฐมนตรี ดำเนินการบริหารราชการแผ่นดิน

เกร็ดความรู้ที่น่าสนใจคือ จีนไม่ได้มีพรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคการเมืองเดียว จีนยังมีพรรคการเมืองอื่นๆ ที่โดดเด่นอีกจำนวน 8 พรรค ฟังดูก็คล้ายๆ ไทยเพียงแต่เขาไม่อนุญาตให้พรรคเหล่านี้ออกมาตีรวนทำสงครามน้ำลายไม่เว้นวันอย่างบ้านเรา เขากำหนดเรียบร้อยโรงเรียนจีนเลยว่าพรรคเหล่านี้ต้องเป็น “แนวร่วมและอยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์” โดยพรรคเหล่านี้จะมีที่นั่งและปากเสียงอยู่ในสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีนมีหน้าที่ให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาหารือแก่รัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์

แต่เดิมนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ประกาศตนว่าเป็นตัวแทนของชนชั้นกรรมาชีพในประเทศจีน เป็นผู้นำการปฏิวัติล้มล้างชนชั้นนายทุนจนชนะสงครามกลางเมืองและก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่นับจากเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งเป็นผู้นำรุ่นที่สองทำการเปิดและปฏิรูปเศรษฐกิจ ปลดปล่อยพลังการผลิต โดยพญามังกรเติ้งประกาศว่า “สังคมนิยมไม่ได้แปลว่าต้องยากจน” จนปัจจุบัน หันไปทางไหนก็จะพบนายทุนนั่งเต็มพรรค พรรคคอมมิวนิสต์จึงได้พัฒนาคำอธิบายใหม่ที่เรียกว่าทฤษฎี “สามตัวแทน” โดยอดีตผู้นำรุ่นที่ 3 เจียงเจ๋อหมินอธิบายว่าพรรคคอมมิวนิสต์นั้นต้อง 1. เป็นตัวแทนแห่งความต้องการของพลังการผลิตที่ก้าวหน้า 2. เป็นตัวแทนแห่งการพัฒนาของวัฒนธรรมที่ก้าวหน้าและ 3. เป็นตัวแทนผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชนทั้งมวลเพราะฉะนั้น นายทุนที่นั่งเต็มพรรคนั้น จึงไม่ใช่ “นายทุน” ตามความหมายของท่านประธานเหมาอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นตัวแทนแห่งพลังการผลิตที่ก้าวหน้า วัฒนธรรมที่ก้าวหน้า และประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชนทั้งมวลนั่นเอง

ฝรั่งมักสอนว่าโดยทั่วไปที่ต้องมีพรรคการเมืองหลายๆ พรรคมาแข่งขันกันนั้น ก็เพราะพรรคพรรคหนึ่งย่อมเป็นตัวแทนของกลุ่มคนได้เฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น เนื่องจากผลประโยชน์ของคนในชาติมีหลากหลาย เช่น ผลประโยชน์ของชนชั้นกลางก็อย่างหนึ่ง ผลประโยชน์ของชนชั้นรากหญ้าอาจเป็นอีกอย่างหนึ่ง ฐานเสียงของพรรคหนึ่งอาจได้จากชนชั้นกลางถึงสูง ฐานเสียงของอีกพรรคหนึ่งอาจมาจากชนชั้นรากหญ้าดังนั้น ระบบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งจึงเปิดพื้นที่ให้แต่ละพรรคแข่งขันกัน ถ่วงดุลและคานอำนาจกันตามแนวคิดฝรั่งดังกล่าวนี้ จึงเกิดคำถามว่า การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศจะเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งมวล ตั้งแต่กรรมกรไปจนถึงนายทุน จึงเป็นเพียงวาทกรรมเพื่อยึดครองอำนาจ ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่มีทางเป็นไปได้ใช่หรือไม่

พรรคคอมมิวนิสต์บอกว่าเป็นไปได้ครับ หลักการก็คือเขาไม่เปิดโอกาสให้เลือกพ่อครัว แต่เปิดโอกาสให้เลือกหรือถกเถียงเรื่องเมนูอาหารที่พ่อครัวปรุงได้ ระบบฝรั่งนั้นเห็นว่าพ่อครัวแต่ละคนถนัดอาหารคนละแบบ เป็นตัวแทนคนละกลุ่มคนละรสนิยม จึงต้องเปิดโอกาสให้แข่งขันกันให้คนเลือกพ่อครัวแต่จีนยืนยันใช้ทีมพ่อครัวชุดเดียว นั่นคือ พรรคคอมมิวนิสต์ ไม่มีเปลี่ยนแปลง ส่วนในเรื่องไหน เวลาไหน สภาพร่างกายแบบไหน จึงจะปรุงอาหารแบบไหนนั้น เปิดพื้นที่ให้วิเคราะห์ ถกเถียงได้เต็มที่ ทำโพลสำรวจความคิดเห็น รับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและผลการศึกษาวิจัย ทีมพ่อครัวทีมเดียวพยายามเอาใจประชาชนทุกกลุ่มด้วยเมนูอาหารหลากหลาย พร้อมปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นตามสถานการณ์ คอยดูไม่ให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นหรือระหว่างกลุ่มถ่างกว้างเกินไป ไม่ให้คนลิ้มลองอาหารเผ็ดร้อนท้องไส้ปั่นป่วนจนรับไม่ได้

เป็นความจริงที่การเมืองจีนยังมีที่มืดอยู่มาก เต็มไปด้วยดราม่าและมือที่มองไม่เห็น แต่ในยามที่ประเทศไทยของเราเต็มไปด้วยการชี้นิ้ว คุณไม่เป็นพ่อครัวข้างหนึ่งก็ต้องเป็นพ่อครัวอีกข้าง ไม่อยู่ทีมเหลืองก็ต้องอยู่ทีมแดง ทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงคุณอาจชอบบางเมนูของเหลืองและบางเมนูของแดงก็ได้เราอาจได้ข้อคิดจากกรณีของจีนคนจีนไม่สนใจเลือกข้างว่าจะเอาทีมไหนเขาสนใจเลือกข้างว่าอยากได้เมนูไหนในแต่ละเรื่องและเวลามากกว่า