หนี้เสียขนาดกลางและย่อม : รายละ 800-900 ล้าน?

หนี้เสียขนาดกลางและย่อม : รายละ 800-900 ล้าน?

ธนาคาร SME ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยธุรกิจขนาดกลางและย่อย ให้สามารถกู้เงินดอกเบี้ยสมเหตุสมผล

เพื่อความสามารถอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้น

เมื่อธนาคารแห่งนี้มีปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ non-performing loans (NPL) สูงจนต้องมีแผนฟื้นฟูจึงมีคำถามว่าธุรกิจรายกลางและรายย่อยจริง ๆ ได้ประโยชน์จากธนาคารรัฐแห่งนี้หรือเปล่า?

ข่าวบอกว่า ระยะ 3 ปีที่ผ่านมามีการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่เฉลี่ย 800-900 ล้านบาทต่อราย ส่งผลให้หนี้เสียพุ่งไปถึง 3.2 หมื่นล้านบาท

คุณภิญโญ ตั้นวิเศษ ที่ปรึกษา รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับและติดตามการพัฒนาคุณภาพสินเชื่อและแก้ปัญหาหนี้เสียของธนาคารแห่งนี้ บอกว่า เท่าที่เข้าไปตรวจดู พบว่าหนี้เสียที่เกิดขึ้นมาจากการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ในช่วงสามปีที่ผ่านมา

พบว่า 100 รายแรกมีหนี้เสียอยู่ที่หลัก 8,000-9000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ 800-900 ล้านบาทต่อราย
คุณนริศ ชัยสูตร ประธานคณะกรรมการธนาคาร ยอมรับว่า "หนี้เสีย" ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากโครงการ
"ตามนโยบายรัฐบาล" ที่ได้ทยอยดำเนินการมาหลายรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็น "หนี้ไม่มีหลักประกัน"

จึงพอจะสันนิษฐานได้ว่าคนที่ได้กู้จากธนาคารเอสเอ็มอีแห่งนี้ไม่ใช่เอสเอ็มอี หากแต่เป็นธุรกิจรายใหญ่กว่าระดับกลางและย่อย

ถ้าอย่างนั้นถามว่าทำไมแต่ละรายกู้ได้ถึง 800-900 ล้านบาท คำตอบก็คือกระบวนการปล่อยกู้ไม่มีการกำกับดูแลอย่างละเอียดรอบคอบเพียงพอ

แผนฟื้นฟูธนาคารแห่งนี้ตามข่าวที่ปลัดกระทรวงการคลัง คุณอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ให้กับสื่อมวลชนสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือจะจำกัดวงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาทส่วนลูกหนี้รายเก่าก็ยังดูแลในแง่เงินทุนหมุนเวียนไม่เกิน 200 ล้านบาท
และจะมีการตั้งหน่วยงานเพื่อดูแลด้านความเสี่ยงของสินเชื่อเป็นการเฉพาะด้วย

แผนฟื้นฟูอีกข้อหนึ่งคือการแก้ไขหนี้ให้ได้ราว 10,000 ล้านบาท ปีต่อไปประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาทและปีที่สามจะเหลือหนี้เสียไม่เกิน 10,000 ล้าน

ท่านปลัดคลัง บอกด้วยว่าข้อสามของแผนฟื้นฟูคือการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการของธนาคารในอนาคต และข้อสี่คือแผนปรับโครงสร้างการบริหารจัดการองค์กร

พูดง่าย ๆ คือต้องรื้อกันทั้งระบบหลังจากที่กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นเพิ่มทุนลงไปอีก 555 ล้านบาท อันเป็นภาษีของประชาชนนั่นเอง

ก่อนหน้านี้มีธนาคารของรัฐอีกสองสามแห่งที่ตกอยู่ในสภาพมีปัญหาสภาพคล่อง และทำท่าว่าจะมีปัญหาหนี้เสียในลักษณะเดียวกันนี้ โดยที่มีประเด็นที่เกี่ยวโยงกับนโยบายรัฐบาลและเพราะการบริหารธนาคารที่ขาดระบบการตรวจสอบที่เคร่งครัด

ธนาคารรัฐเฉพาะกิจเหล่านี้ไม่ได้อยู่ใต้การกำกับตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย หากแต่อยู่ใต้รัฐบาลเอง ซึ่งเปิดทางให้อิทธิพลของนโยบายการเมือง และนักการเมืองเข้ามามีบทบาททั้งทางตรง และทางอ้อม ในอันที่จะทำสิ่งที่ผิดไปจากสิ่งที่สถาบันการเงินควรจะต้องทำอย่างเคร่งครัด

ที่น่าแปลกคือธุรกิจรายกลาง และรายย่อย จำนวนไม่น้อยมักจะร้องเรียนว่าหาเงินกู้เพื่อประกอบธุรกิจได้ยากเย็นเหลือเกิน เพราะมีระเบียบกฎเกณฑ์หยุมหยิม และมีข่าวคราวเรื่องจะต้องมีการวิ่งเต้นเล่นเส้นสายกันเป็นประจำจนธุรกิจพยายามตั้งตัวทั้งหลายมีอันต้องล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนไม่น้อย

แต่ขณะเดียวกันเราก็รับทราบว่าหนี้เสียของธนาคารเอสเอ็มอีนั้น ส่วนใหญ่มาจากบริษัทที่สามารถกู้ได้แห่งละ 800-900 ล้านบาทกันทีเดียวทั้ง ๆ ที่ธุรกิจรายย่อยและกลางส่วนใหญ่จะหวังกู้เพียง 15-20 ล้านบาทก็ลำบากลำบนเหลือเกินแล้ว

แผนฟื้นฟูจะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากไม่มีคำตอบว่าจะป้องกันไม่ให้ความบิดเบือน ของระบบบริหารธนาคารรัฐเช่นว่านี้เกิดขึ้นอีกอย่างไร?