"Change We Need" ..."เปลี่ยน" เพื่อชีวิต

"Change We Need" ..."เปลี่ยน" เพื่อชีวิต

เมื่อ 4 ปีก่อน Barack Obama ได้ใช้สโลแกน “Change We Need” ในการลงสนามแข่งขันประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกาจนได้รับชัยชนะ

สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการมีประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาอีกด้วย ถึงแม้ดิฉันไม่ได้เป็นคนอเมริกันและไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกตั้งประธานาธิบดีของอเมริกา แต่ดิฉันก็ชื่นชอบใน concept การหาเสียงครั้งนั้นของ Obama เพราะดิฉันเชื่อว่าชีวิตของเราทุกคนต้องการการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

การเปลี่ยนแปลงมีได้ในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่สามารถควบคุมได้เช่น ความแก่ที่ไม่ว่าเราจะยื้อด้วยครีมทาหน้าอันไหน เทคโนโลยีทางการแพทย์ชนิดใด ในที่สุดสังขารเราก็ไม่เที่ยงอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่ดิฉันชื่นชอบมากกว่าแบบแรกก็คือการเปลี่ยนแปลงที่เราเลือกได้ ควบคุมได้ และก็ทำให้สำเร็จได้ ด้วยหนึ่งสมองสองมือของเรานั่นเอง

ดิฉันขอยกตัวอย่างบุคคลท่านหนึ่งที่ใช้ความคิดแบบแตกต่างเข้ามา “เปลี่ยนแปลง” ผลงานของเขา จนเขาสามารถคว้ารางวัลไทยสร้างสรรค์ ประจำปี 2554 ซึ่งรางวัลนี้เป็นรางวัลพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในสาขางานฝีมือและหัตถกรรม ท่านผู้นี้คือ “คุณศรัณย์ อยู่คงดี” สุดยอดนักออกแบบไทยรุ่นใหม่ คุณศรันย์มีผลงานต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นการทำ “จิ๊กซอว์ใยกล้วย” และต่อยอดไปสู่ “ม่านใยกล้วย” “ฉากใยกล้วย” และอื่นๆ อีกมากมาย แรงบันดาลใจที่ได้นำพาคุณศรันย์ให้หันไปสนใจนำต้นกล้วยมาสร้างสรรค์ผลงานก็เริ่มมาจากปัญหาการถูกกดราคาของธุรกิจกระดาษของไทย โดยเฉพาะกระดาษสาซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องนำวัตถุบางอย่างมาจากต่างชาติ เขาจึงมองหาวัตถุดิบอื่นที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไทย หาได้ง่าย และมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการทำเป็นกระดาษ ที่สำคัญยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคุณศรันย์ก็ได้มาลงเอยกับต้นกล้วย คุณศรันย์สามารถใช้ต้นกล้วยได้ทั้งหมดจริงๆ แม้กระทั่งยางกล้วยก็ยังนำมาทาลงบนกระดาษใยกล้วยเพื่อช่วยกันน้ำ ทำให้สามารถทำความสะอาดได้ง่ายอีกด้วย

นอกจากการนำต้นกล้วยธรรมดาๆ มาทำเป็นกระดาษเพื่อแก้ปัญหาการกดราคาของธุรกิจกระดาษแล้ว คุณศรัณย์ยังได้เพิ่มมูลค่าและความโดดเด่นของผลงานโดยการนำความเป็นไทยเช่นลวดลายไทยไปประยุกต์ในลายม่านบ้าง ฉากกั้นห้องบ้าง หรือแม้กระทั่งในการทำโคมไฟชฎาที่เอาลายไทยที่อยู่บนชฎามาทำเป็นลวดลายของโคมไฟ และด้วยความคิดที่นอกกรอบและแตกต่างเนี่ยเองที่ทำให้ผลงานของคุณศรันย์แบบไทยสไตล์โมเดิร์นกลายเป็นจุดขายที่สำคัญและกลายเป็นเอกลักษณ์ของเขา ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้ ลูกค้าต่างชาติก็นิยมเพราะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองที่ไม่สามารถหาซื้อจากที่ใดในโลกได้ เนี่ยก็เป็นอีกสิ่งที่ดิฉันยกย่องแนวความคิดของคุณศรันย์ที่ช่วยรักษาและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมที่สวยงามของพวกเราชาวไทยให้ทั่วโลกได้ตระหนักกัน

จะเห็นได้ว่าหลายๆ การเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเราเกิดจากตัวเราเองที่เป็นคนอยากเปลี่ยนให้ชีวิตดีขึ้น ไม่ว่าจะเปลี่ยนนิสัยให้ดีขึ้น หรือจะเปลี่ยนมุมมองให้คิดต่าง คิดนอกกรอบอย่างคุณศรันย์ ดิฉันเองเชื่อว่าทุกชีวิตต้องการการเปลี่ยนแปลงเพื่อที่เราจะได้ไม่ย่ำอยู่กับที่และไม่ทำอะไรจำเจไปวันๆ อย่างที่ฝรั่งมักจะบอกว่าเราต้องกล้าออกมาจาก Comfort Zone หรือออกจากพื้นที่ที่ไม่ท้าทายความสามารถและศักยภาพของตัวเอง แต่ต้องยอมรับว่าการที่จะออกจาก Comfort Zone นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยทีเดียว Dr. Jim Taylor (adjunct professor, the University of San Francisco, USA) ได้กล่าวไว้ว่า 4 อุปสรรคใหญ่ในการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองคือ Baggage, Habits, Emotions, Environments ถ้าจะอธิบายสั้นๆ Baggage ก็คือปมที่เรามีกันมาตั้งแต่เด็ก เช่นการขาดความมั่นใจในตัวเองเพราะเคยโดนเพื่อนล้อมาตั้งแต่เด็ก Habits หรือนิสัยเดิมๆ ที่ทำจนเคยชิน เช่นการเป็นคนทำงานแบบไฟลนก้นจนชิน ถ้าไม่ถึง deadline ไม่คิดจะทำ ส่วน Emotion หรืออารมณ์ ซึ่งส่วนใหญ่อารมณ์ที่ไม่ค่อยดีอย่างเช่นความขี้กลัวจะทำให้คุณไม่กล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนอะไรในชีวิตของตัวเอง และสุดท้ายก็คือ Environments ซึ่งก็คือสิ่งแวดล้อมเช่นถ้าคุณมีเพื่อนๆ ที่สนับสนุนและเป็นกำลังใจเวลาคุณคิดจะเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้น คุณก็จะมีความอยากและกล้าที่จะเริ่มเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเอง

ดิฉันขออนุญาตนำเรื่องส่วนตัวมายกตัวอย่างในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิต หรือการก้าวออกจาก Comfort Zone ของดิฉันเอง คือเมื่อสองปีที่แล้วดิฉันเองก็ถึงจุดที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงในอาชีพเช่นกัน ในขณะนั้นดิฉันทำงานมาเกือบ 7 ปี ทุกอย่างดำเนินไปอย่างสวยงาม เป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการทำงานที่คุ้นเคยกับทีมงานที่ยอดเยี่ยม แต่ดิฉันรู้สึกว่าถึงเวลาที่เราต้องพัฒนาตัวเอง ต้องท้าทายตัวเองเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการเป็นนักวิจัยมากขึ้น ดิฉันจึงตัดสินใจที่จะสมัครทุนวิจัยของสหภาพยุโรปเรียกว่า Marie Curie Fellowship เพื่อไปเปิดวิสัยทัศน์ทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ถึงแม้จะทราบว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับทุนนี้มาก่อน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ดิฉันกลัวที่จะสมัครแต่อย่างใด ลึกๆ ต้องยอมรับว่าก็กลัวอยู่เหมือนกันแต่เพราะดิฉันคิดแค่ว่าถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ ถ้าลองแล้วไม่ได้ก็ไม่เสียใจเท่ากับการไม่ได้ลอง ความกล้าที่จะสู้ และกล้าที่จะออกมาจาก Comfort Zone นี้ทำให้ในที่สุดดิฉันได้การรับเลือกให้ได้รับทุนวิจัยมาปฏิบัติงานวิจัยที่สหภาพยุโรปเป็นเวลาสองปีและยังได้รับทุนปีที่สามเพื่อกลับไปทำงานวิจัยตอบโจทย์ประเทศไทยอีกด้วย นอกจากนี้ดิฉันยังได้มีโอกาสที่คาดไม่ถึงที่จะได้ร่วมสร้างเครือข่ายงานวิจัยกับองค์กรและสถาบันการศึกษาชั้นนำเพื่อให้รุ่นน้องนักวิจัยไทยคนอื่นๆ ได้มีงานวิจัยร่วมอีกด้วย ดิฉันเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีและเป็นความภูมิใจเมื่อหันหลังกลับมาดูว่าเรากล้าที่จะวิ่งหาโอกาสในการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น

ถึงวันนี้ดิฉันก็ยังเชื่อใน Change We Need จริงๆ ค่ะ ดิฉันหวังว่าทุกท่านจะพยายามเดินออกมาจาก Comfort Zone เพื่อก้าวสู่การสร้างศักยภาพใหม่ๆ ให้กับตัวเอง ไม่ว่าอุปสรรคนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ถ้าคุณตั้งใจ คุณต้องทำได้ ดิฉันอยากเป็นกำลังใจให้ทุกท่านโอบกอดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เราอาจควบคุมไม่ได้ ถึงแม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยากจะรับได้ในบางครั้งก็ตาม และก็อยากให้ทุกท่านกล้าที่จะสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นกันเถอะค่ะ เพราะคุณคือเจ้าของชะตาชีวิตของตัวเองนะคะ