รัฐธรรมนูญ และคนดี: ข้อคิดจากจีน

รัฐธรรมนูญ และคนดี: ข้อคิดจากจีน

ไม่ใช่คนไทยเท่านั้นที่แบ่งเป็นสองฝ่าย คนจีนเองก็แบ่งเป็นสองฝ่าย

คนไทยตอนนี้แตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกหา “คนดี” ส่วนอีกฝ่ายเรียกร้องให้แก้ไข “รัฐธรรมนูญ”

ฝ่ายที่เรียกหา “คนดี” มองว่าเราต้องการคนดีมาบริหารบ้านเมือง รัฐธรรมนูญและระบบสถาบันการเมืองนั้นเป็นเรื่องรอง เพราะต่อให้ระบบดีเพียงไร ถ้าคนในระบบเลวก็เป็นอันจบกัน ฝ่ายนี้เห็นว่าการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเพียงวาทกรรม ซึ่งมีจุดหมายแอบแฝงเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง

ส่วนฝ่ายที่เรียกร้องให้แก้ไข “รัฐธรรมนูญ” กลับเห็นตรงกันข้ามว่า การเรียกหา “คนดี” และ “ความดี” ต่างหากที่เป็นวาทกรรม อันมีจุดหมายแอบแฝงเพื่อให้คนที่อ้างตนเป็นคนดียึดอำนาจไปจากมติประชาชน ฝ่ายนี้เห็นว่าคนเราทุกคนล้วนเป็นปุถุชนธรรมดา ไม่มีขาว ไม่มีดำ มีแต่สีเทา ดังนั้น เราจึงไม่ควรสนใจ “คนดี” และ“ความดี” ที่จับต้องไม่ได้ หากควรมุ่งความสนใจไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญและสร้างสถาบันการเมืองที่เป็นเข็มแข็งจะดีกว่า

ไม่ใช่คนไทยเท่านั้นหรอกครับที่แบ่งเป็นสองฝ่าย คนจีนเองก็แบ่งเป็นสองฝ่ายเช่นนี้่เหมือนกัน และหากเราพิจารณาการโต้เถียงของปัญญาชนจีนในเรื่องนี้ บางทีอาจช่วยให้เราได้หันกลับมามองปัญหาของไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ปัญญาชนจีนกลุ่มหนึ่งเรียกร้องการปลุกกระแสศีลธรรม เขาเห็นว่าปัญหาของจีนไม่ได้อยู่ที่ระบบการเมือง แต่อยู่ที่มาตรฐานทางศีลธรรมที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ จนไม่รู้ว่าเส้นจิตสำนึกพื้นฐานอยู่ตรงไหนกันแน่ จากเดิมบอกต้องไม่โกงเลย ตอนนี้กลายเป็นโกงสักหนึ่งสองเปอร์เซ็นต์ยังพอรับได้ แต่ถ้าจะขอเอี่ยวหน้าด้านๆ ทุกโครงการอย่างหลิวจื้อจุน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงรถไฟ ที่คนจีนเรียกกันว่า "มิสเตอร์สี่เปอร์เซนต์" ก็สมควรไปนอนในคุก

ผู้นำรุ่นก่อน เช่น เหมาเจ๋อตง ถึงจะบริหารผิดพลาดอย่างไร แต่ท่านก็ใช้ชีวิตสมถะตลอดชีวิต ไม่มีหลักฐานว่าท่านหาประโยชน์เข้าตัวหรือร่ำรวยผิดปกติแต่อย่างใด แต่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนรุ่นใหม่และบรรดาญาติมิตรบริวารกลับใช้ชีวิตหรูหรายิ่งกว่านายทุนอเมริกัน ดังเช่น ป๋อซีหลาย ผู้นำพรรคคนหนึ่งที่เพิ่งถูกปลดจากตำแหน่งไป เอาเงินที่ไหนมาซื้อรถเฟอรารี่ให้ลูกขับโชว์สาวๆ

เมื่อปีที่แล้ว เกิดกระแสโด่งดังในโลกไซเบอร์ของจีน จากคลิปวิดีโอสั้นๆ ที่ถ่ายทำโดยสื่อสิ่งพิมพ์ชั้นนำแห่งหนึ่ง เป็นคลิปที่นักข่าวสัมภาษณ์เด็กประถมแสนน่ารักราวสิบคนว่าโตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร คำตอบมีตั้งแต่อยากเป็นครู นักดับเพลิง นักบินอวกาศ นักธุรกิจ... จนไปถึงเด็กชายคนหนึ่งเขาตอบว่า “ผมอยากเป็นข้าราชการ” พอถามต่อว่าอยากเป็นข้าราชการอะไร เขาตอบทันทีว่าอยากเป็นข้าราชการโกงกิน ("ทานกวน" ในภาษาจีน) เพราะ “ได้เงินเยอะดีครับ”

ไป๋เหยียนซง นักวิจารณ์ข่าวชื่อดังของจีน กล่าวว่า "ภายหลังจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่พลิกโฉมประเทศจีน ขณะนี้จีนกำลังเข้าสู่ยุคการพัฒนาทางจิตวิญญาณ" จีนกำลังเข้าสู่ยุคที่หวนหาคนดีและความดี ดังจะพบว่าละครจีนมีเนื้อหาการต่อสู้ระหว่างขุนนางตงฉินและกังฉินเต็มจอ (แต่ละเรื่องล้วนเป็นเรื่องราวสมัยราชวงศ์จีนโบราณ ยังไม่มีการทำละครโทรทัศน์เกี่ยวกับข้าราชการตงฉินหรือกังฉินร่วมสมัย จึงสุดจะทราบได้ว่าหากมีจะถูกรัฐจีนแบนแบบเหนือเมฆหรือไม่)

แต่การเรียกหาคนดี และความดี ก็ดูจะแสลงใจปัญญาชนหัวก้าวหน้าในจีนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เห็นว่า "คนดี" กลับกลายเป็นเพียงวาทกรรมเพื่อรักษาอำนาจของกลุ่มผู้นำระดับสูง และเป็นเพียง "มายาคติ" จากการโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าความเป็นจริง ดังที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ของสหรัฐฯ เพิ่งรายงานถึงสินทรัพย์ปริมาณมหาศาลของนายกฯ เวินเจียเป่า ซึ่งคนจีนโดยทั่วไปต่างรักและนับถือภาพความเป็นคนดีและสมถะของท่าน จนรัฐบาลจีนแทบบล็อกข่าวในอินเตอร์เน็ตไม่ทัน

กลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้าเห็นว่าแทนที่จะหลงติดกับ “คนดี” และ “ความดี” ประเทศจีนควรพยายามก้าวไปสู่สังคมสมัยใหม่ แทนที่จะกลับไปเรียกหา "ศีลธรรม" ที่ไม่รู้ว่าคืออะไรกันแน่ สิ่งที่จีนในยุคปัจจุบันต้องการน่าจะเป็น “นิติธรรม" ที่มีมาตรฐานเดียว และระบบรัฐธรรมนูญที่จำกัดอำนาจรัฐไม่ให้ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเสียมากกว่า

ศ.ช่ายติ้งเจี้ยน ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาวิจัยเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญในประเทศจีน ได้กล่าวคำสั่งเสียไว้ก่อนที่ท่านจะจากไปด้วยโรคมะเร็งเมื่อสองปีที่แล้วว่า “การพัฒนาระบบรัฐธรรมนูญถือเป็นภารกิจประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุด ซึ่งคนจีนร่วมสมัยจะต้องช่วยกันผลักดัน" เพราะหากทำไม่สำเร็จ มะเร็งร้ายในสังคมจีนอาจลุกลามจนหมดทางเยียวยา

ปัญหาสำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญจีนคือ ขาดกลไกการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พูดง่ายๆ คือจีนไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐธรรมนูญจีนกลายเป็นคำประกาศสวยหรู แต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่ปัญหามากมาย อาทิ การเวนคืนที่ดิน โดยไม่จ่ายเงินชดเชยอย่างเหมาะสม, การที่รัฐแทรกแซงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน, การใช้กำลังสลายการชุมนุม ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่อาจเข้าข่ายละเมิดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

ท่ามกลางกระแสการต่อสู้ทางความคิดระหว่างปัญญาชนสองฝ่ายในจีน เป็นที่น่าสนใจว่ากำลังเกิดปัญญาชนกลุ่มที่สาม เช่น ความเห็นของ ศ.จางเชียนฟาน แห่งคณะนิติศาสตร์ ม.ปักกิ่ง ซึ่งมองว่าจริงๆ แล้วทั้งสองฝ่ายต่างต้องเดินหน้าไปด้วยกัน รัฐธรรมนูญจีนที่เป็นปัญหาก็เพราะเรามีเพียงถ้อยคำ แต่ปราศจากความเข้าใจในหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจริงๆ ก็มีรากฐานมาจากความดีและศีลธรรมอันเป็นธรรมชาติมนุษย์ อาทิ การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เคารพความเห็นที่แตกต่าง การจำกัดอำนาจรัฐ การรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิพื้นฐานของตน ฯลฯ

การเห็นว่า "โลกนี้เป็นสีเทา" จึงไม่ควรเป็นการปฏิเสธว่า "ความดี" หรือ "คนดี" ไม่มีอยู่จริง แต่เป็นการตระหนักว่าในตัวเราแต่ละคนนั้น ล้วนมีทั้งส่วนที่ดีและชั่ว ระบบและกลไกที่ดีในสังคมต้องเป็นระบบที่น้อมนำให้คนมุ่งแสดงออกส่วนที่ดี ขณะเดียวกันก็ยับยั้งและละอายในส่วนที่ชั่ว สังคมที่ดีย่อมไม่ใช่การชี้หน้าเอาว่าคนนี้ดีคนนี้ชั่ว โดยไม่สนใจระบบ ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่การหวังพึ่งพิงระบบที่มีแต่ถ้อยคำสวยหรูนำเข้า แต่ขาดความศรัทธาในคุณค่าความดีและศีลธรรมอันควรเป็นพื้นฐานของระบบนั้น

เพราะฉะนั้น การพัฒนาทางจิตวิญญาณ และการพัฒนาระบบรัฐธรรมนูญอย่างยั่งยืน มองให้ดี จึงเป็นเรื่องเดียวกันนั่นเอง