สมองแห่ง 'ความหวัง'

สมองแห่ง 'ความหวัง'

เมื่อปี 1953 นักวิทยาศาสตร์สองคนสังเกตเห็นพฤติกรรมบางอย่างจากหนูทดลองในกรง มันดูมีความสุขเมื่อได้รับ "การกระตุ้นสมองบริเวณหนึ่ง"

เจ้าหนูตัวนี้ยอมอดข้าวอดน้ำ ยอมกระทั่งการเดินผ่านความเจ็บปวดจากการถูกช้อตด้วยไฟฟ้า เพื่อไปกดปุ่มที่จะส่งสัญญานกระตุ้นสมองส่วนนี้ของมัน สามารถกดได้ทั้งวันทั้งคืนจนมันหมดแรงไปเองนักวิจัยทั้งคู่ตั้งชื่อสมองส่วนนี้ว่า "สมองแห่งความสุข" (Bliss Center) ในเมื่ออะไรจะอธิบายเหตุผลที่เรายอมหิว ยอมเหนื่อย และยอมเจ็บ หากไม่ใช่เพื่อความสุข
แต่หลังจากเวลาผ่านไปหลายสิบปี เราได้ข้อสรุปใหม่ว่าแม้การทดลองของพวกเขาจะ "ถูก" แต่การตั้งชื่อนั้น "ผิด"
สิ่งที่เรารู้กันในวันนี้คือ จริงๆ แล้วสมองมนุษย์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ "ความสุข" ขนาดนั้น เพราะความสุขไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อการบรรลุ KPI ของมัน สิ่งที่สมองใช้เป็นเครื่องมือคือ "ความหวัง" ต่างหาก สมองที่ถูกกระตุ้นของเจ้าหนูตัวนั้นไม่ได้ให้ความสุข แต่ให้ "ความหวังว่าจะสุข" สมองส่วนนี้จึงถูกตั้งชื่อใหม่ภายหลังว่า "สมองแห่งความหวัง" (Reward Center)
สำหรับมนุษย์ ลองคิดถึงตอนที่เราอยากได้อะไรสักอย่างสิครับ เช่น รถใหม่สักคัน เราตื่นเต้นตอนไหนมากที่สุด? หลายท่านอาจบอกว่าตอนเพิ่งได้มันมายังป้ายแดงหมาดๆ อยู่ ตอนนั้นล้างทั้งวัน ขัดสีลงแวกซ์ตลอด ใครเดินเฉียดไปใกล้เป็นอันกระวนกระวาย กลัวริ้นจะไต่กลัวไรจะตอม
เวลาผ่านไปหกเดือน เกิดอะไรขึ้นครับ? ยังล้างยังประคบประหงมมันอยู่อีกไหม?
หรือบางท่านอาจบอกว่าพีคสุดคือตอน "ก่อน" จะได้รถมาด้วยซ้ำ ตอนนอนกลิ้งกอดโบรชัวร์อยู่ที่บ้าน ตอนเฝ้าคำนวณว่าที่ไหนดอกเบี้ยถูกที่สุด จะดาวน์เท่าไหร่ดี จะเลือกสีอะไร ได้มาแล้วจะขับไปเที่ยวไหนให้คนมองเหลียวหลัง ตอนนั่งเบาะจะนุ่ม ตอนเหยียบเครื่องจะแรงหลังติดเบาะขนาดไหน
พอได้เป็นเจ้าของเข้าจริงๆ เกิดอะไรขึ้นครับ? ไม่นานรถรุ่นใหม่ของข้างบ้านทำไมดูสวยกว่าแรงกว่ารถเรา? ที่มีมือสองก็อยากได้มือหนึ่ง มีโตโยต้าก็อยากได้เบนซ์ มีเบนซ์อยากได้คาเยน เป็นต้น นั่นแหละครับคือการทำงานของสมองแห่งความหวังของคุณ เพื่อให้คุณมีพลังลุกขึ้นไปทำงานงกๆ มาผ่อนสิ่งเหล่านี้ต่อไป
KPI ของสมองคือการเอาตัวให้รอด ความสุขอาจทำให้เรารู้สึกว่าปัจจุบันดีพอ และอาจนำมาซึ่งความเฉื่อยชาที่เป็นความเสี่ยงต่อการเอาชีวิตให้รอด (Complacency) เช่นคิดว่าเดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยออกไปหากินก็ได้ไม่ต้องรีบร้อน แต่ความหวังทำให้ร่างกายกระตือรือร้น เกิดความกระฉับกระเฉงเพื่อผลักดันตนเองให้บรรลุเป้าหมายบางอย่าง (Sense of Urgency)
สำหรับสมอง "ความหวัง" ทำให้เรามีโอกาสอยู่รอดมากกว่า "ความสุข"
ข้อคิดจากสมองสู่องค์กรคือ เป็นไปได้ไหมว่าสิ่งที่เราควรสร้างไม่ใช่ "องค์กรแห่งความสุข" (Happy Workplace) แต่เป็น "องค์กรแห่งความหวัง" (Reward Workplace)? เพราะความหวังอาจช่วยทำให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าท่ามกลางการแข่งขันได้ดีกว่าความสุข ทำให้พร้อมรับมือกับโจทย์ที่ท้าทายด้วยความมุ่งมั่น ทำงานเชิงรุกมากกว่าการยอมรับข้อจำกัดที่เป็นอยู่โดยไม่ขวนขวาย เพราะตกกับดักความเชื่อว่าเท่าที่เป็นอยู่ก็ "สุขพอแล้ว?"
เช่นองค์กรอาจบอกพนักงานว่า "ที่นี่ เป้าหมายของเราไม่ใช่การทำให้พนักงานมีความสุข แต่เราจะทำให้ทุกคนรู้สึกว่าชีวิตมีความหวังและมีความฝัน ดัชนีชี้วัดของเราไม่ใช่การถามพนักงานว่า "คุณมีความสุขในการได้ทำงานที่นี่ไหม?" แต่จะเป็นการถามว่า "คุณมาทำงานด้วยความหวังไหม?" และ "ในทุกๆ วันที่นี่ คุณได้ทำอะไรบางอย่างที่ทำให้ความฝันของคุณใกล้เข้ามาหรือไม่?"
อาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจขายตรงรุ่งเรืองนัก เพราะเขา "ขายความหวัง" ให้กับตัวแทน
ส่วนข้อคิดจากหนูสู่มนุษย์ที่เป็นผู้นำก็คือ การหา "สมองแห่งความหวัง" ของคนในทีมให้เจอและฝึกกระตุ้นมันให้ชำนาญ เพราะเมื่อคุณทำได้สำเร็จ บรรดา "หนู" ของคุณจะยินดียอมหิว ยอมเหนื่อย และยอมเจ็บเพื่อบรรลุเป้าหมายของทีมครับ