ออกแบบชีวิตสำหรับปี 2556

ออกแบบชีวิตสำหรับปี 2556

พอถึงช่วงเวลาสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ทุกครั้งเรามักจะมีความตั้งใจ มุ่งมั่น ในการทำสิ่งต่างๆ ที่ดีขึ้นกับชีวิตของเรา อาทิเช่น ตั้งใจทำดีมากขึ้น

ตั้งใจทำงานให้หนักขึ้น เลิกสุรา กาแฟ ของมึนเมาต่างๆ หรือ แม้กระทั่งความตั้งใจที่จะลดความอ้วน น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงปีใหม่ ดังนั้นสัปดาห์นี้ผมเลยขอเสนออีกทางเลือกหนึ่งสำหรับท่านผู้อ่านครับ นั้นคือแนวคิดที่น่าสนใจในการออกแบบชีวิตให้ดี ให้เหมาะสมสำหรับปี 2556 นี้ โดยพยายามนำตามหลักการในเรื่องของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาปรับใช้สำหรับการคิดในปี 2556 แทนที่จะเป็นเพียงแค่การวางแผนชีวิตเหมือนในอดีต

การออกแบบชีวิตสำหรับปี 2556 นั้นเราสามารถที่จะเริ่มต้นจากการปรับวิธีการคิดของเราครับ ในยุคที่เราเผชิญกับแรงกดดันต่างๆ ทั้งในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว ดังนั้นจะออกแบบชีวิตให้ดีได้คงต้องเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนวิธีการในการคิดของเราครับ มีคำสามคำในภาษาอังกฤษที่น่าสนใจคือ Optimistic Collaborative และ Generative ที่เราน่าจะนำมาปรับใช้สำหรับการออกแบบชีวิตในปีใหม่นี้

เริ่มต้นจาก Optimistic หรือการคิดในเชิงบวก การมองโลกในแง่ดี ซึ่งถ้าเราปรับจิตใจเราให้มองหาสิ่งที่ดี สามารถมองเห็นสิ่งที่สวยงามหรือดีงามในความยากลำบากต่างๆ ก็จะทำให้ชีวิตเรามีความสุขเพิ่มขึ้น มีจิตใจที่ผ่องใสมากขึ้น เช่น รถติดทุกวันแทนที่จะอารมณ์เสีย หรือโทษนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้มีรถมากขึ้น เราอาจจะมองในอีกมุมใหม่ ว่าการที่รถติดนั้นเป็นโอกาสที่ได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น ได้ฟังเพลงที่ปกติไม่ได้ฟัง ได้มีโอกาสและเวลาคุยโทรศัพท์ หรือ แม้กระทั่งได้อ่านหนังสือจบเมื่อรถติด ฯลฯ

นอกจากนี้ในสังคมยุคใหม่ถึงแม้เราจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าชีวิตเราจะโดดเดี่ยว การทำงานหรือความร่วมมือกับผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญ (Collaborative) ข้อเท็จจริงในการทำงานและดำรงชีวิตในยุคใหม่คือ เราไม่สามารถประสบความสำเร็จและมีความสุขได้ด้วยตนเองเพียงลำพัง การร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกัน หรือ การดำรงตนในสังคมร่วมกับผู้อื่น กลายเป็นสิ่งสำคัญในทุกวงการ ปัจจุบันมีตัวอย่างมากมายที่คู่แข่งกลายเป็นคู่ค้าและก็กลับไปเป็นคู่แข่งในขณะเดียวกัน

สุดท้ายคือคำว่า Generative ครับ นั้นคือการคิดในลักษณะของการ "ให้" ที่พร้อมจะให้ผู้อื่น เนื่องจากในปัจจุบันสังคมสอนให้เราคิดแต่ "ได้" มากกว่า "ให้" แต่ในช่วงหลังเริ่มมีการคิดถึงการให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การ "ให้ เพื่อที่จะ ได้"

ประเด็นต่อมาจากการปรับวิธีการคิดก็คือ มีข้อแนะนำให้มองชีวิตใหม่ ว่าชีวิตเราไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่เป็นการเรียนรู้และการทดลองครับ ในอดีตเราพยายามทำให้ชีวิตสมบูรณ์ เป็นไปตามสูตรหรือความฝันที่ตั้งไว้ แต่ถ้าเรามองว่าชีวิตเราคือการเรียนรู้และการทดลองแล้ว เราจะพบว่ามีโอกาสต่างๆ เข้ามาในชีวิตมากมาย และเราสามารถที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ และเปลี่ยนแปลง พัฒนาชีวิตเราได้อย่างต่อเนื่อง เราอาจจะมองมุมใหม่ว่าทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นไม่ว่าดีหรือไม่ดี ถือเป็นประสบการณ์ในการเรียนรู้ ที่จะมีส่วนช่วยต่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงชีวิตเรา ซึ่งถ้าเราสามารถคิดว่าชีวิตคือการเรียนรู้และการทดลอง เราก็จะมองสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นการเรียนรู้และสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตเราทั้งสิ้น ทำให้เรามีความพร้อมในการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา และสุดท้ายสามารถดำรงตนได้อย่างมีความสุข และในขณะเดียวกันสามารถพัฒนาตนเองให้ทันต่อสภาวะแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ประเด็นที่สามคือเวลาคิดหรือเริ่มทำอะไรก็ตาม ขอให้เริ่มต้นด้วยคำว่า Why หรือทำไม แทนที่จะเริ่มต้นด้วยคำว่า What หรือ How ซึ่งในอดีต ในกระบวนการคิดของเรานั้น มักจะเริ่มต้นด้วยคำว่า "อะไร หรือ อย่างไร" มากกว่าคำว่า "ทำไม" ทำให้เรามีกรอบหรือข้อจำกัดต่างๆ ในการคิด แต่ถ้าเราเริ่มต้นจากการถามทุกอย่างว่า "ทำไม" จะเป็นการกระตุ้นให้กระบวนการคิดของเราหาสาเหตุที่แท้จริงของการทำสิ่งต่างๆ หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตเรา เราทำไปโดยอัตโนมัติหรือคิดว่าต้องทำ แต่ไม่เคยถามตนเองถึงสาเหตุว่าทำไมต้องทำ ผมเองมีโอกาสฟังผู้บริหารหลายท่านนำเสนอโครงการหรือสิ่งใหม่ๆ ที่จะทำ แต่ส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นด้วย What หรือ How ทำให้ผมเองต้องถามทุกครั้งครับว่าโครงการหรือแนวคิดดังกล่าว "ทำไปทำไม หรือ ทำไปเพื่ออะไร?" เพราะการคิดหรือนำเสนอแต่ What หรือ How จะทำให้เรารู้หรือคิดว่าจะทำอะไร แต่ไม่ทราบว่า "ทำไมต้องทำ?"

ขอฝากแนวคิดเกี่ยวกับการออกแบบชีวิตสำหรับปี 2556 ไว้สามประการข้างต้นครับ เผื่อท่านผู้อ่านได้ลองนำไปปรับใช้ครับ ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ผมก็ปรับมาจากแนวคิดของ Tim Brown ที่เป็นปรมาจารย์ในด้านของ Design Thinking