“ความสำเร็จ”...จุดเริ่มต้นของความล้มเหลว

“ความสำเร็จ”...จุดเริ่มต้นของความล้มเหลว

ผมเคยได้กล่าวมาหลายครั้งแล้ว ว่า “ผู้นำ” เป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากต่อองค์กร องค์กรจะเจริญรุ่งเรืองหรือล้มเหลวนั้นล้วนเกิดจากผู้นำทั้งสิ้น

ผมเคยได้กล่าวมาหลายครั้งแล้ว ว่า “ผู้นำ” เป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากต่อองค์กร องค์กรจะเจริญรุ่งเรืองหรือล้มเหลวนั้นล้วนเกิดจากผู้นำทั้งสิ้น  และผู้นำที่ประสบความสำเร็จมาตลอดก็มิได้หมายความว่าจะต้องประสบความสำเร็จตลอดไป  “ขุนเขายังพังทลาย ไม้ใหญ่ยังรู้จักหักโค่น คนก็ย่อมร่วงหล่นไปตามธรรมชาติ”  ขงจื๊อนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่กล่าวไว้

 

 

มีองค์กรหลายองค์กรหรือตระกูลใหญ่ๆ หลายตระกูล ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ท้ายที่สุดมักจะลงเอยด้วยความล้มเหลว เพราะเกิดความคิดว่านี่คือจุดสูงสุดแล้ว พฤติกรรมต่างๆ ของทั้งผู้ที่เป็นผู้นำรวมถึงคนในองค์กรจึงเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยขยันขันแข็ง มีความอดทน มุ่งมั่น มีความวิริยะอุตสาหะ ดิ้นรนต่อสู้ เพื่อที่จะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แต่เมื่อมีคนยกย่องสรรเสริญ   และถึงจุดที่คิดว่าสำเร็จแล้ว ความมุมานะต่างๆ ก็เริ่มลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ หรือพูดง่ายๆ ว่า เกิดความสุขสบายจนไม่ต้องดิ้นรนอีกต่อไป ในที่สุด ก็จะมาถึง “จุดเสื่อม”  ซึ่งก็คือจุดเริ่มต้นของความ “ล้มเหลว” นั่นเอง

 

ตัวอย่างใกล้ๆ ตัวของผม ก็คือ “ตระกูลโชควัฒนา” ธุรกิจของตระกูลโชควัฒนาเริ่มมาตั้งแต่รุ่นก๋ง และสืบต่อมาเป็นคุณพ่อของผม จนตอนนี้ก็เป็นรุ่นผมซึ่งเป็นรุ่นที่สามแล้ว ในเรื่องความมุมานะ ขยัน อดทนผมเองก็ยังสู้รุ่นคุณพ่อผมไม่ได้เพราะผมเกิดมาก็มีชีวิตที่สบายกว่าท่านมาก แต่ตัวผมยังได้สืบทอดความมุ่งมั่น ขยัน อดทนจากคุณพ่อมาบ้าง ในขณะที่รุ่นลูกรุ่นหลานของผม ซึ่งเกิดมาในยุคที่ตระกูลของเราประสบความสำเร็จแล้ว จึงไม่ต้องมุ่งมั่น ไม่มีความทรหดอดทนและการดิ้นรนขวนขวาย ทุกคนจึงใช้ชีวิตกันค่อนข้างสุขสบาย ซึ่งทำให้ผมนึกถึงที่มีคนกล่าวไว้ว่า ในตระกูลหนึ่งๆ ที่ประกอบธุรกิจจนประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนาน ธุรกิจนั้นมักจะถดถอยลงหลังจากรุ่นที่สาม 

 

 

“สูงสุดคืนสู่สามัญ”  / “What goes up must come down” คือ สัจธรรมอย่างหนึ่งของชีวิต เมื่อชีวิตดีจนถึงจุดสูงสุดแล้ว ถึงจุดหนึ่งก็จะต้องตกลงเป็นธรรมดา เช่นเดียวกับการที่เราโยนหินขึ้นฟ้า ยังไงหินก้อนนั้นก็ต้องตกลงมา ดังนั้น สิ่งที่อยากจะเตือนและแนะนำผู้นำองค์กร คือ ให้หันกลับมามองตัวเอง สำรวจสิ่งที่เรายังบกพร่องแล้วมาจัดทัพตัวเองเสียใหม่ ปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริหารและลูกหลานที่ช่วยเราบริหารงาน ให้เขาได้เห็นว่าความสำเร็จจะไม่ยั่งยืนอยู่กับเราไปตลอด หากเราไม่หันมาสนใจในหน้าที่ที่เราต้องทำ ในฐานะผู้นำองค์กรต้องมองเห็นภาพปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือและหาทางป้องกัน ผู้นำจะต้องไม่ประมาทและใช้ความรู้ความสามารถสร้างประโยชน์และการบริหารกิจการงานต่างๆ ต่อไปอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพราะส่วนใหญ่คนที่ประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนาน    จะเริ่มมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงจนกระทั่งไม่สนใจที่จะฟังคำพูดหรือคำเตือนของคนอื่น  ตัดสินใจทุกอย่างด้วยตัวเองโดยไม่ต้องฟังความคิดเห็นของใคร และผลสุดท้ายก็ต้องล้มเหลว ซึ่งหากตัดสินใจถูกก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่หากตัดสินใจผิดแม้เพียงครั้งเดียวก็อาจหมายถึงการล่มสลายขององค์กรธุรกิจและครอบครัวได้

 

 

ผู้นำควรหันมามองตัวเองว่า ณ วันนี้ เราอยู่ในสภาวะเสื่อมถอยแล้วหรือยัง และสาเหตุที่เสื่อมถอยเพราะอะไร เกิดขึ้นเพราะตัวผู้นำเองหรือไม่  ดังที่ผมได้เคยเขียนในฉบับก่อนๆ ว่า เมื่อมีความสำเร็จมากๆ ผู้นำบางคนก็เริ่มหันเหความสนใจไปที่เรื่องอื่นมากกว่าที่จะบริหารงานของตน หรือสนใจในธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักขององค์กร (non-core) นั่นคือ การที่ “เวลาของผู้นำถูกแชร์” แชร์จากเรื่องงานไปในเรื่องอื่นๆ เช่น การตีกอล์ฟ การซื้อวัตถุโบราณ ของสะสมต่างๆ การทำบุญสร้างบารมีให้กับตนเอง หรืออื่นๆ อีกมากมาย จนเหลือใจในการทำงานหลักน้อยเกินไป หากผู้บริหารขององค์กรใช้ความคิด ใช้สติปัญญาน้อยลงเรื่อยๆ ก็จะทำให้ถึงขั้นวิกฤติในที่สุด เพราะไม่มีองค์กรไหนที่สมบูรณ์แบบ ทุกองค์กรต้องได้รับการปรับปรุง ต่อเติม แก้ไข และมีความคิดใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมกับยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มีการแข่งขันสูงมากอย่างในปัจจุบัน “แค่หยุดอยู่กับที่ ก็กลายเป็นผู้ล้าหลัง” คำกล่าวของ ดร.เทียม โชควัฒนา

 

 

ดังนั้น ผู้นำต้องหมั่นเตือนตัวเองไม่ให้ประมาทและหลงละเลิงกับสิ่งที่มีอยู่ จะต้องคิดตลอดเวลาว่าเราจะต้องเติบโตและทำธุรกิจให้เจริญก้าวหน้า ปลูกฝังความคิดหรือหลักคิดที่ถูกต้องให้กับลูกหลานที่จะมาสืบทอดธุรกิจต่อไป ผมยังคงจำได้ดีถึงคำพูดของคุณพ่อผมก่อนที่ท่านจะจากไปท่านได้พูดไว้ว่า “อยากเห็นสหพัฒน์อยู่ได้เป็นร้อยปี”  คำพูดนี้เป็นคำพูดที่ติดอยู่ในใจของผม และนั่นเป็นเหตุผลที่ผมยังต้องทำงานหนัก ต้องบริหารองค์กรนี้ให้มั่นคงต่อไป  ปีนี้เป็นปีที่ 70 ของบริษัทสหพัฒนพิบูลแล้ว แต่เรายังจะต้องเติบโตยั่งยืนต่อไปอย่างมั่นคง  เพื่อให้สมกับเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งบริษัท

 

“เมื่อมีความประมาทก็เกิดความเสื่อม  เมื่อมีความเสื่อมก็เกิดโทษประดัง”  พุทธศาสนสุภาษิตขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า