เทคนิคการฟังแบบโค้ช (ตอนที่ 1)

เทคนิคการฟังแบบโค้ช (ตอนที่ 1)

เมื่อปีก่อน ผู้เขียนเดินทางไปร่วมงานแข่งขันการพูดต่อหน้าสาธารณชนระดับภาคของ Toastmasters International ที่ประเทศสิงคโปร์

และอดใจไม่ได้ที่จะเยี่ยมชมมารีน่าเบย์แซนด์สศูนย์กลางแห่งสันทนาการ ความบันเทิงและธุรกิจแห่งใหม่ของสิงคโปร์ ที่ใครๆ ต่างกล่าวขวัญถึงระหว่างเดินชมสินค้าในศูนย์การค้า เหลือบไปพบป้ายโฆษณาที่น่าสนใจของ Dunhill แบรนด์ชั้นนำของอังกฤษติดไว้หน้าร้านว่า I came across a saying about how we  have one tongue but two ears because we should do more listening than talking


หากแปลความหมายกันแบบง่ายๆ คือ คนเรานั้นถูกสร้างมาให้ฟังมากกว่าพูด เพราะเหตุนี้เราจึงมีสองหู แต่หนึ่งปาก


หากว่าเราพบว่า คนส่วนใหญ่มักชอบพูดมากกว่าชอบฟัง การสื่อสารจึงมักนิยมใช้การพูดมากกว่าการฟัง ตลอดจนคนเราส่วนใหญ่ไม่อดทนต่อการฟัง บางครั้งถึงขนาดแย่งกันพูด   และเพราะการขาดทักษะในการฟังนี้เอง  จึงนำไปสู่การฟังไม่ครบถ้วนกระบวนความ หรือเป็นการฟังในระดับการได้ยินเท่านั้น  ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมายนานัปการ    


ผู้เขียนย้อนนึกถึงสมัยก่อนทียังทำงานเป็นผู้บริหารในองค์กรเอกชนเวลาเราสอนงานลูกทีม ส่วนใหญ่มักใช้การบอกการสั่ง จนบางครั้งมองข้ามทักษะในการฟังไปอย่างน่าเสียดาย  วันนี้ จึงเริ่มเข้าใจว่า ทำไม ลูกทีมจึงต้องวิ่งมาหาเราทุกครั้งที่มีปัญหา เพราะ เราไม่เคยฟังเขาหรือเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดเห็นว่า เขามีความคิดอย่างไร เราได้แต่ใส่หรือยัดเหยียดความคิดของเราให้เขา เราลืมฟังว่า เขาก็มีความคิดหรือวิธีของเขาเช่นกัน


เมื่อผู้เขียน มาศึกษาการโค้ชที่สถาบันการโค้ช แบบฝึกหัดแรกที่โค้ชหน้าใหม่ต้องเรียนรู้ คือ การฝึกฝนการฟัง  โดยฝึกฟังการโค้ชโดยโค้ชมืออาชีพเป็นจำนวนชั่วโมงไม่น้อยกว่า50 ชั่วโมง  ตนเองได้ค้นพบความจริงว่า ที่ผ่านมาตนเองยังมีทักษะการฟังอยู่ระดับประถมเท่านั้น  การโค้ชอาจเรียกว่าเป็นการฟังขั้นเทพ เนื่องจากเป็นการฟังที่ลึกซึ้ง เป็นการฟังที่ไม่เน้นเนื้อหา แต่เน้นบริบท เป็นการฟังเพื่อการค้นหา ฟังด้วยความสงสัยใคร่รู้ เป็นการฟังไปจนถึงขั้นเจาะลึกไปถึงสิ่งที่เขาไม่ได้พูดออกมา


หากท่านต้องการพัฒนาการฟังของท่านไปอีกระดับ  ผู้เขียนขอแนะนำให้ลองฝึกฝนและเรียนรู้การฟังแบบนี้ ท่านจะได้รับประโยชน์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน  สามารถนำไปใช้ในงานหรือเรื่องส่วนตัวได้เป็นอย่างดี ใช้ได้ตั้งแต่เจ้านาย ลูกน้อง ไปถึงลูกๆ ที่บ้าน  และท่านจะได้ฟังในสิ่งที่ท่านไม่เคยได้ฟังมาก่อน


ในการพัฒนาทักษะการฟังแบบโค้ช  ก่อนอื่น เราคงต้องรู้จักแยกแยะระหว่างการฟังกับการได้ยิน การฟังและการได้ยินนั้นมีกระบวนการที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ได้รับข้อมูลแตกต่างกัน  การได้ยินเป็นกระบวนการทางร่างกายที่เกิดขึ้นจากการที่คลื่นเสียงมากระทบหู   ส่วนการฟังเป็นกระบวนการทางจิตใจนั่นคือข้อความได้รับจากคลื่นเสียงซึ่งส่งไปยังสมองและแปลความออกมาเพื่อทำให้เราสามารถตีความสิ่งที่ได้ยินมาได้  ดังนั้น การฟัง จึงจำเป็นต้องฝึกฝน เรียนรู้และพัฒนาทักษะในการฟัง


ตัวอย่างเช่น คุณสามารถได้ยินคนพูดภาษาญี่ปุ่นแต่คุณไม่สามารถฟังหรือเข้าใจได้นอกจากว่าคุณได้ศึกษา เรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นมาก่อน


ท่านผู้อ่าน  เคยได้ยินคำพูดนี้ไหม  “ฉันได้ยินที่คุณพูด”  ท่านผู้อ่านคิดว่าบ่อยครั้งแค่ไหนที่ข้อความข้างต้นเป็นความจริง เราได้ยินด้วยหูแต่เราเคยประเมินหรือไม่ว่า เราได้ฟังและเข้าใจคู่สนทนาในสิ่งที่เขาต้องการสื่อสารอย่างครบถ้วนหรือไม่ 


คราวนี้  เรามาทดสอบว่าท่านผู้อ่านมีทักษะในการฟังระดับใดแล้ว


๐ เวลาที่ท่านผู้อ่านฟังนั้น ท่านสังเกตตนเองหรือไม่ว่า เวลาไม่น้อยถูกใช้ไปกับการตอบคำถามในใจหรือจดจ่อต่อการแสวงหาคำตอบตลอดเวลาตัวอย่าง เช่น ท่านผู้อ่าน กำลังประชุมกับหัวหน้างาน หากท่านพบว่า หลายครั้งท่านแทบไม่ได้ยินว่าหัวหน้าท่านกำลังพูดอะไรอยู่เนื่องจากท่านมัวแต่ค้นหาคำตอบหรือคิดเรื่องอื่นๆ จนกระทั่งลืมฟังสิ่งที่หัวหน้างานท่านถามหรือพูด


๐ บางครั้ง ท่านมีคำถามหรือจะคิดอยู่ในหัวระหว่างการฟังว่า ทำไมถึงทำแบบนั้น หรือ คิดแบบนี้ อีกแล้วหรือ ช่างไม่จำบทเรียนครั้งก่อนเลย หรือ เล่นมุขแบบนี้อีกแล้วเหรอ เรื่องนี้ ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับฉัน ฉันไม่สนใจหรอก ฉันไม่ได้มีความสนใจเรื่องรถ ฟุตบอลหรือเรื่องของเธอ


๐ ท่านเคยหรือไม่ ที่ตัดบทการสนทนากับใครเพราะคิดว่าเคยได้ยินเค้าพูดมาแล้ว หรืออาจช่วยด่วนสรุปคำตอบ เพราะท่านคิดว่าท่านรู้คำตอบแล้ว ทั้งๆ ที่คู่สนทนายังพูดไม่จบประโยคด้วยซ้ำ


๐ ปกติ ท่านเริ่มพูดทันทีที่คู่สนทนา จบประโยค โดยไม่ได้รอฟังว่า คู่สนทนา จะพูดอะไรต่อหรือไม่


๐ ท่านจดจ่อแต่ถ้อยคำหรือเนื้อหาของการสนทนา โดยไม่ได้สังเกตน้ำสียงหรืออากัปกริยาของคู่สนทนาเลย


๐ ท่านไม่ได้ประสานสายตากับคู่สนทนา หรือ ท่านทำงานหรือกิจกรรมอื่น ไปพร้อมๆ กับการฟังการสนทนา


๐ ท่านไม่ได้สังเกตการเคลื่อนไหว หรือท่าทางที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างคำพูดหรือบทสนทนา


หากท่านพบว่า ท่านยังเข้าข่ายข้างต้นนี้ล่ะก็ ขอบอกว่า ทักษะการฟังของท่านยังไม่บรรลุขั้นเทพ ท่านอาจฟังอยู่ในระดับการได้ยินเท่านั้น


คราวหน้า เรามาพูดคุยกันต่อ เรื่องการฟังแบบโค้ชๆ กันนะคะ