รู้จักคนไทยเจ้าของลายเซ็นสุดท้ายในสมุดเยี่ยมฮิตเลอร์ ก่อนที่จะยิงตัวตายเพียง 10 วัน

รู้จักคนไทยเจ้าของลายเซ็นสุดท้ายในสมุดเยี่ยมฮิตเลอร์ ก่อนที่จะยิงตัวตายเพียง 10 วัน

เจ้าของลายเซ็นที่แม้แต่หนังสารคดีเยอรมันยังสงสัยว่าเขาคือใคร

ข้อมูลสำคัญแต่คนไทยอาจไม่ค่อยรู้ ว่าลายเซ็นสุดท้ายที่ลงชื่อในสมุดเยี่ยมของฮิตเลอร์ (ลงวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1945) ก่อนที่ฮิตเลอร์จะทำอัตวินิบาตกรรมเพียง 10 วัน เป็นของชายไทย ที่แม้แต่สารคดีเรื่อง Inside Hitler’s Reich Chancellery (ภายในทำเนียบของฮิตเลอร์) ก็ยังตั้งปริศนาว่าชายไทยคนนี้เป็นใครและมาทำอะไรในเบอร์ลินในช่วงเวลานั้น

26195254_10213369764811673_320241469_o

งานจำลองสมุดเยี่ยมและหน้าสุดท้ายของสมุดเยี่ยมที่จัดแสดงในนิทรรศการ

เรารู้ข้อมูลนี้จากนิทรรศการศิลปะ 246247596248914102516… A nd then there were none ของอริญชย์ รุ่งแจ้ง ซึ่งไปดูหนังสารคดีเรื่องนี้ และพยายามสะกดชื่อจากลายเซ็นภาษาอังกฤษหวัดๆ เขาสะกดได้ว่า ประศาสน์ ชูถิ่น ซึ่งเมื่อค้นต่อก็ได้พบชื่อ “เนาว์ ชูถิ่น” จากหนังสืองานศพของเนาว์ ชูถิ่น โดยวัน ชูถิ่น ชื่อหนังสือ  “225 วันในคุกรัสเซีย” โดย พระประศาสน์พิทยายุทธ หรือวัน ชูถิ่น เขาจึงได้รู้ว่าพระประศาสน์พิทยายุทธ ก็คือประศาสน์ ชูถิ่นที่อยู่ในสมุดเยี่ยมนั่นเอง และเรื่องราวของพระประศาสน์พิทยายุทธก็กลายเป็น 1 ในต้นกำเนิดของนิทรรศการดังกล่าว

20171213204544646

ภาพเขียนพระประศาสน์พิทยายุทธ และนางประศาสน์พิทยายุทธ 

พระประศาสน์พิทยายุทธ คือ 1 ใน 4 ทหารเสือของคณะราษฎร์ หรือทหารยศสูงผู้นำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้แก่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา, พ.อ. พระยาฤทธิ์อัคเนย์, พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ และพันเอก พระยาทรงสุรเดช

พระประศาสน์พิทยายุทธ ถือเป็นนายทหารเสนาธิการ มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการทหาร เป็นผู้ช่วยคนสำคัญของพระยาทรงสุรเดช  เสนาธิการผู้วางแผนในการลวงเอากำลังทหารและยุทโธปกรณ์ออกมาใช้ในการปฏิวัติ

20171213204543652

ชื่อของพระประศาสน์พิทยายุทธถูกกล่าวถึงน้อยกว่าจนถูกลืมเลือนไป แต่ยังคงมีหลักฐานเป็นบันทึกต่างๆ ทั้งบล็อกและข้อมูลในเว็บต่างๆ ซึ่งอาจระบุจากมุมมองต่างกัน โดยเฉพาะบันทึกที่เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นทั้งผู้ส่งเสียเรื่องการศึกษาให้แก่พระประศาสน์พิทยายุทธ และพระประศาสน์พิทยายุทธเองก็ได้รับมอบหมายจากพระยาทรงสุรเดชมาควบคุมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ถึงวังบางขุนพรม

ภายหลังในรัฐบาลสมัยที่มีจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี พระประศาสน์พิทยายุทธได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำจักรวรรดิไรช์ที่ 3 ในซึ่งไปประจำที่เบอร์ลิน เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้ประสบกับชีวิตที่ยากลำบากยาวนาน ต้องแยกย้ายกระจัดพลัดพรายกับครอบครัวจนไม่คิดว่าจะได้กลับมาเจอกันอีก

26179738_10213370086899725_977474295_o

ซึ่งเหตุการณ์ที่เยอรมนีและการได้เข้าพบกับฮิตเลอร์.ในฐานะเอกอัครราชทูตประจำจักรวรรดิไรช์ที่ 3 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น พระประศาสน์พิทยายุทธได้บันทึกไว้ และสามารถอ่านได้ใน “225 วันในคุกรัสเซีย” ซึ่งสามารถตามไปอ่านเพิ่มเติมได้ในเอกสารประกอบการวิจัยในนิทรรศการนี้ และเป็นบทบรรยายของวีดิโอที่จัดแสดงอยู่ด้วย

ชมนิทรรศการ 246247596248914102516… And then there were none ได้ที่แกเลอรี่เวอร์ (Gallery VER) ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 22 ถึงวันที่ 21 มกราคม 2561