ร้อยพลังเบื้องหลัง “ก้าว” ฟังบางเสียงและเรื่องน่าประทับใจจากทีมงานก้าวคนละก้าว

ร้อยพลังเบื้องหลัง “ก้าว” ฟังบางเสียงและเรื่องน่าประทับใจจากทีมงานก้าวคนละก้าว

แม้ทุกสายตาจะจับอยู่ที่ “พี่ตูน” เป็นสำคัญ แต่ทุกครั้งที่มีใครยกย่องการวิ่งของเขา เขาจะผายมือไปที่ทีมงาน เพราะเขารู้ดีกว่าใครว่าทุกๆ แรงร่วมร้อยคนนั้น คือพลังที่ช่วยส่งเขาบรรลุทุกเป้าหมายของ “ก้าว”

ตูน บอดี้สแลม – อาทิวราห์ คงมาลัย กลายเป็นบุคคลแห่งปี 2560 จากโพลทุกสำนักด้วยโครงการ “ก้าว” ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ วิ่ง 2,190 กิโลเมตรจากเบตงถึงแม่สาย ใต้สุดถึงเหนือสุดประเทศไทย ระยะทาง 2,191 กิโลเมตร เป็นโครงการสเกลใหญ่ที่ต่อยอดจาก “ก้าวคนละก้าว” 400 กิโลเมตร จากบางสะพานถึงกรุงเทพ เพื่อโรงพยาบาลลางสะพาน เมื่อปี 2559 โครงกาลใหญ่ขนาดนี้ ต้องมีทีมงานจำนวนมากรองรับอยู่

แม้ว่าเลนส์กล้องและสปอตไลท์จะจับอยู่ที่ “พี่ตูน” เป็นสำคัญ แต่ทุกครั้งที่มีใครยกย่องการวิ่งของเขา เขาจะผายมือไปที่ทีมงาน อาทิวราห์รู้ดีกว่าใครว่าทุกๆ แรงร่วมร้อยคนนั้นคือพลังที่ช่วยส่งเขาบรรลุทุกเป้าหมายของ “ก้าว”

IMG_5757

รูปรวมทีมงานวันออกสตาร์ทที่เบตง

เราได้ไปร่วมวิ่งกับขบวนใน 2 วันสุดท้าย วันที่ 24 – 25 ธันวาคมที่ผ่านมา การติดตามข่าว การดู Live ในเพจ ก้าว ก็ว่าสนุกแล้ว แต่บรรยากาศในขบวนวิ่งยิ่งชวนตื่นเต้นและตื้นตันกว่านั้นมาก

เราเริ่มวิ่งในเซ็ทที่ 3 ของวันที่ 24 ธันวาคม ซึ่งปล่อยตัวจากวัดร่องขุ่น จ.เชียงราย บ่ายวันนั้นยอดบริจาคทะลุ 1 พันล้านบาทไปเรียบร้อย เส้นทางวิ่งผ่านตัวเมืองเชียงราย ซึ่งมีผู้คนมารอรับเป็นจำนวนมาก นี่เป็นการวิ่งที่ไม่เหมือนที่ไหน ความรู้สึกของทุกคนที่ส่งมาเต็มไปด้วยความสุขและกำลังใจ ทำให้รู้เลยว่านอกจากเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง พลังที่ได้รับจากทุกคนสองข้างทางใต้ขึ้นเหนือคือแรงส่งชั้นดีที่ทำให้พี่ตูนมีแรงวิ่งแม้ร่างกายจะบอบช้ำไปทุกส่วน

20171225122957308

แรงส่งที่สำคัญอีกแรงก็คือทีมงาน “ก้าว” ทุกคน ทั้งทีมนักวิ่งประกบเพื่อดูแลความปลอดภัย ทีมหมอ ทีมกายภาพ ทีมอาหาร ทีมกล้อง ทีมสารคดี ทีมกราฟิก ทีม On Ground ที่ดูแลเตรียมสถานที่อาหารเครื่องดื่มให้พร้อมทุกเช็คพอยท์ ทีมรถตู้ รถพยาบาล รถบ้าน ฯลฯ อีกมากมาย ที่ทำงานหนักประสานกันอย่างดี ให้ “ก้าว” ถึงจุดหมาย เราได้คุยกับทีมงานบางส่วน คนที่อาจอยู่นอกโฟกัส แต่คือกำลังเบื้องหลัง

กร พงศ์ไพบูลย์เวชย์ ช่างภาพของทีมก้าว

เราได้คุยกับกรตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม เขาบอกว่า “พรุ่งนี้วันสุดท้ายแล้ว รู้สึกใจหาย”

“ตั้งแต่ถ่ายรูปมาผมไม่เคยเห็นภาพแบบนี้มาก่อนเลย คนคนหนึ่งวิ่งแต่คนติดตามเป็นล้าน ได้เห็นโมเมนท์ที่คนออกมายืนรอหลายชั่วโมง เต็มใจที่จะบริจาค ทุกครั้งที่ได้เห็น เราจะคิดมีคนแบบนี้ด้วยเหรอ

"งานนี้ให้ประสบการณ์ผมเยอะมาก ไม่สามารถหาบรรยากาศแบบนี้ได้อีกแล้วในชีวิต ไม่รู้ว่าจะได้เห็นเมื่อไหร่ พี่ตูนพูดเสมอว่าให้เก็บความทรงจำ เก็บความรู้สึกดีๆ รอบตัวในปัจจุบันให้ได้มากที่สุด

"สิ่งที่พีคมากในวันนี้คือเราได้เจอคนไข้ HIV ระยะสุดท้าย เขาเอาเงินที่ได้จากเบี้ยคนป่วย เบี้ยสุดท้ายที่เขาได้เอามาให้ เขายืนแบบขาสั่นไปหมด พยาบาลก็บอกนี่คือระยะสุดท้าย ครั้งสุดท้ายที่เขาได้เจอพี่ตูนแล้ว”

20171225122958053

ศรัณยู มงคล นักกายภาพบำบัด โรงพยาบาลแม่จัน

นอกจากทีมกายภาพบำบัดที่ดูแลพี่ตูนแล้ว ยังมีทีมกายภาพมาดูแลนักวิ่งหลัก นักวิ่งรับเชิญ โดยเป็นทีมจากแผนกกายภาพบำบัดของหลายโรงพยาบาลตามจังหวัดต่างๆ ที่ขบวนวิ่งผ่าน มารับช่วงส่งต่อกันไปเรื่อยๆ ทีมกายภาพทีมนี้มาจากหลายโรงพยาบาลโซนภาคเหนือโดยเริ่มดูแลตั้งแต่เส้นทางจากลำปางถึงเชียงราย

“เราจะดูแลตั้งแต่การเตรียมก่อนการวิ่ง เตรียมยืดกล้ามเนื้อ มีการวอร์ม มีการติดไคเนซิโอเทป (Kinesio Tape) เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บมากขึ้น นี่เป็นการเตรียมร่างกายก่อน พอนักวิ่งกลับมาแล้ว มีอาการเหนื่อยล้า เราก็ยืดให้ รวมถึงดูแลถ้ามีการปวดต่างๆ มีเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า อัลตร้าซาวนด์ มีเทคนิคการรักษาต่างๆ ที่สำหรับลดอาการปวดด้วยครับ

"โครงการนี้ทำให้คนได้รู้ถึงความสำคัญของกายภาพบำบัดซึ่งหลากหลายกว่าที่คิด เมื่อก่อนคนอาจคิดว่ากายภาพบำบัดทำงานแต่กับผู้สูงอายุ ผู้พิการ แต่จริงๆ แล้วงานมีหลายแขนงมาก อย่างตรงนี้เป็นส่วนของ Sport Physical Therapist คือนักกายภาพบำบัดด้านกีฬา

“ทีมเราทำงานตั้งแต่วันที่ 22 ทุกคนได้นอนน้อย งานหนักช่วงนักวิ่งเข้าเช็คพอยท์ แต่ถือว่าทำเพื่อผู้ป่วยและวิชาชีพเรา เราทำแค่ไม่กี่วันยังเหนื่อย เห็นทีมงานก้าวเขาตั้งใจทำงานมาก ก็ยิ่งเหนื่อยกว่าเรา เราก็อยากช่วยให้เต็มที่ อยากเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนโครงการก้าวเพื่อให้สำเร็จครับ”

20171227191032894

อิทธิพล สมุทรทอง นักวิ่งโครงการก้าว

หรือพี่ป๊อก นักวิ่งที่อยู่เคียงข้างพี่ตูนมาตั้งแต่โครงการ “ก้าวคนละก้าว” เมื่อปีที่แล้ว ปีนี้เขาก็เป็นอีกหนึ่งนักวิ่งที่สามารถก้าวไปถึงแม่สายได้โดยไม่ตกหล่นสักกิโลเมตร

“การวิ่งแบบนี้ ย้อนไปเมื่อ 3 ปีที่แล้วมีเพื่อนฝรั่งชวนวิ่งจากใต้ไปเหนือ แต่ไม่ได้วิ่งเต็มช่วงขนาดนี้ หนึ่งมันจึงเป็นการยากมากที่จะวิ่งแบบนี้ สองคือไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อคนอื่น และสามสำคัญมาก คือผมมาเซอร์วิซเฮีย ทำยังไงก็ได้ให้ไปถึงเป้าหมาย บาดเจ็บสารพัด แต่ทั้งหมดคือต้องส่งเฮียให้ถึงที่นี่ ต้องดูแลเฮียให้ถึงที่สุด

“ความสำเร็จที่คนเห็นคือนักวิ่งที่อยู่ข้างหน้า แต่จริงๆ แล้วข้างหลังมีคนมากมาย สิ่งที่เราทำเองในปีแรกที่บางสะพาน ถูกแยกไปเป็นแต่ละฝ่าย เพราะงานมันเยอะมาก โครงการนี้เป็นทีมจริงๆ ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง

น้องที่อยู่ออนกราวด์ น้องที่ตักข้าว น้องที่เซอร์เวย์เส้นทาง ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้เพราะเป็นทีม แต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเอง ผมทำเรื่องวิ่ง บริหารเรื่องวิ่งให้ดีที่สุด ได้รับคำสั่งอะไรมาก็ทำ รับผิดชอบนักวิ่ง 27 ชีวิตที่เชิญมา ระหว่างทางจะมีนักวิ่งประกอบป้องกัน คนนี้เป็นบล็อกเกอร์ คนนี้เป็นกันหลังหมุนเวียนกันตลอด”

แม้มีเสียงวิจารณ์โครงการว่าไม่อาจแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของการสาธารณสุขไทยได้ เรื่องนี้พี่ป๊อกบอกว่า

“ผมไม่มีความเห็นเรื่องระดับนโยบาย แต่อยู่ที่เราเลือกมอง เหมือนผมถามพี่ตูนว่า คุณยายที่นั่งอยู่ที่เก้าอี้เนี่ย เป็นคุณยายที่ไม่แก่จริง เขาอยากให้พี่ตูนมาหา ก็เลยเอาเก้าอี้มานั่ง พี่ตูนตอบว่า

‘ไม่เป็นไร ขณะที่ผมเจอเขาตอนนั้น เขายิ้มให้ผม ผมดูแต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้า’

ผมคิดเลยเฮียใจใหญ่มาก ไม่สนใจเรื่องอื่น แค่ทำเท่านั้น รู้สึกดีก็ทำ พี่ตูนที่เราเห็นเรารู้จักก็นิสัยดีเหมือนที่ทุกคนเห็นนั่นแหละ วิ่งๆ อยู่มีคนเข้ามาทั้งเหยียบ ทั้งดึง ทั้งดัน ไม่เคยบ่น ไม่เคยว่าใครเลย”

20171225191736114

สราวุธ เดชาคุ้ม นักวิ่งโครงการก้าว เชฟร้านสยามนารา ร้านอาหารไทย ในซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา

หรือพี่เอส นักวิ่งอีกคนที่ตามประกบหลังพี่ตูนตลอดตั้งแต่เบตงถึงแม่สาย นักวิ่งผมสีเงินที่หลายคนจดจำได้ พี่เอสบินมาจากอเมริกาเพื่อเข้าร่วมโครงการนี้โดยเฉพาะ ไม่แม้แต่จะแวะกลับบ้านหรือโทรหาใคร เพราะเขารู้ว่าโครงการนี้มีอะไรรออยู่

  “ผมรู้จักกับพี่ตูนมาก่อน และติดตามตั้งแต่โครงการครั้งที่แล้ว ด้วยระยะทางก็ทำให้เราคิดเรื่องลางาน เพราะใช้เวลาเกือบ 3 เดือน โชคทางดีเจ้าของร้านเขาสนับสนุน ซื้อตั๋วเครื่องบินให้ ให้พ็อกเก็ตมันนี่ด้วย

“โครงการนี้ทำเพื่อคุณภาพชีวิตคนไทยจริงๆ ผมมีความสุขที่ได้มาร่วมโครงการ ทีมเราอยู่กันเป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ จุดประสงค์ของผมไม่ใช่เพื่อจะมีชื่อเสียงว่าเป็นคนที่วิ่งได้จากเบตงไปแม่สาย  ใครๆ ก็ทำได้ถ้ามีความมุ่งมั่น แต่งานนี้ ทำให้ผมเหมือนมีพลังแฝงทุกวัน แม้บางครั้งจะมีอาการเจ็บปวด แล้วสัปดาห์สุดท้ายนี่ผมป่วยหนักมาก ไข้ขึ้น 38 – 39 ทุกวัน ผมก็ยังคิดที่จะวิ่ง และผมมีปัญหาเรื่องเลือด เพราะเราออกกำลังกายมากๆ มันมีผลกับไต ทำให้ไตวายได้ เขาเรียกอาการกล้ามเนื้อสลาย ค่าเลือดตรงนี้ผมสูงมาก อาการนี้ทำให้ร่างกายไม่ปกติ ล้า และอ่อนเพลีย ประกอบกับเป็นไข้หวัดใหญ่ด้วย ทุกคนสั่งหยุด แต่ยังไงผมก็ต้องวิ่งต่อ ทุกคนจึงช่วยกัน ทำให้ผมไปจุดหมายได้ จะใช้คำว่าวิ่งไปด้วยพลังใจก็ได้

“ตำแหน่งที่ผมวิ่งคือวิ่งข้างหลังพี่ตูนตลอด เราวิ่งด้วยกันทุกวัน เพื่อป้องกันขาเขา กันคนมาด้านหลัง ซึ่งนี่ต้องมองหลายมุม

"คนที่เข้ามาหาพี่ตูน บางครั้งภาพก็ออกมาดูไม่สวยงาม แต่เราต้องเข้าใจว่าทุกคนต้องการเข้ามาแสดงความยินดี ทุกคนมีความสุข แต่การแสดงออกไม่เหมือนกัน แรกๆ ผมก็ไม่เข้าใจ พอวิ่งต่อไปเรื่อยๆ ผมก็เข้าใจ ทุกคนอยากมีส่วนร่วม อยากเข้ามาสัมผัสตรงนี้หนักบ้างเบาบ้าง บางครั้งที่ผมเข้าไปกัน มันก็รุนแรงไป เพราะผมต้องการเซฟหัวขบวนให้ปลอดภัย ไม่งั้นเขาอาจบาดเจ็บ ทุกอย่างก็จบ”

“เราไปกันเป็นทีม ไม่เฉพาะนักวิ่ง มีทีมออนกราวนด์ ทีมรถบ้าน ทีมตากล้อง ทีมกายภาพ ทีมคุณหมอ ทีมอาหาร หนักที่สุดคือออนกราวนด์ ต้องเซ็ทอัพทุกอย่าง ต้องไปสแตนด์บายก่อนทุกจุด ไปถึงพวกเราต้องมีที่พัก มีอาหาร มีน้ำ พอเราออกวิ่งปุ๊บ เขาก็ต้องเคลื่อนไปอีกที่หนึ่ง พวกนี้ตื่นก่อนนอนทีหลัง พอเราจบเซ็ทสุดท้าย เขาก็ต้องเคลียร์ของ และเตรียมตัวสำหรับพรุ่งนี้ เราออกวิ่งตี 3 พวกเขาต้องเตรียมตั้งแต่ตี 1 ทีมนั้นหนักที่สุด 

"แต่ทุกทีมก็ทำงานหนักกันหมด หนักต่างกัน พอหมดหน้าที่ของตัวเอง ใครช่วยเหลือตรงไหนได้ก็จะพุ่งเข้าไปช่วยกัน บางครั้งนักวิ่งในทีมบางคนเจ็บ ทีมกล้องก็เข้ามาช่วยวิ่งเสริม คอยกันคน ก็เลยเหมือนเป็นพี่น้องเป็นครอบครัวกัน”

“ผมประทับใจตลอดทาง ผมคิดว่านี่แหละคือสิ่งที่คนไทยควรมี คือการให้ ถ้าคนเรามีการให้มากกว่ารับ สังคมน่าอยู่ครับ ไม่ต้องทำอะไรที่ใหญ่โตขนาดนี้ ทำอะไรเล็กๆ ที่ตัวเองทำได้ แค่นี้ก็ทำให้สังคมดีแล้ว

"สิ่งที่ผมมองเห็นก็คือความเปลี่ยนแปลงของทุกคนในทีมงาน มาแรกๆ เราก็ต่ออะไรยังไม่ติด พอร่วมงานกันก็ได้รู้ว่าทุกคนมีแต่การให้แก่ผู้อื่น และสามารถนำไปต่อยอดในงานของแต่ละคนได้ สิ่งที่ได้มันมหาศาลมากในความรู้สึกของแต่ละคน ทุกคนเติบโตขึ้น ได้ประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้ ความรู้สึกแรกที่ผมตัดสินใจมาก็ยังเป็นความรู้สึกนั้นอยู่ และผมดีใจว่าโครงการนี้ได้บรรลุ 3 จุดประสงค์ที่เราตั้งเป้าไว้จริงๆ คือทุกคนปลอดภัย ตามกำหนดเวลา ยอดเงินที่ทุกคนบริจาคก็มากพอที่จะช่วย 11 โรงพยาบาล”

20171225205018643

ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับหนังสารคดี “ก้าว” (ยังไม่มีชื่อ)

1 ในทีมหนังสารคดีจาก GDH ที่ตามเก็บภาพและเรื่องราวร่วมกับทีมงานตลอดโครงการ เขาบอกว่า “เล่ายากนะครับ มันเหมือนออกรบเลย”

“ผมทำเหมือนทีมทุกอย่าง คือทีมผมคอยอยู่คอยตามทุกทีม แต่ส่วนใหญ่จะอยู่กับพี่ตูน เข้าถึงได้ทุกพื้นที่ เราทำทุกอย่างตามตารางของทีม โดยบวกหลังวิ่งด้วย คือพักก็ต้องถ่าย เพราะการพักก็เป็นส่วนหนึ่งของทีมด้วย

“การทำสารคดีในวิธีที่เราทำอยู่ เราตั้งธงได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถเขียนมันออกมาเป็นสคริปต์ เราไม่ได้ทำสารคดีที่เป็นการสรุปการวิ่งครั้งนี้ หรือว่าให้ความรู้อะไรแบบนั้น แต่อาจต้องดูว่าหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าน ทั้งกับตัวพี่ตูน คนที่มีส่วนร่วม และกับสังคม

"เบื้องต้นเรามองอยู่แล้วว่าเราจะไม่ได้เล่าเรื่องการวิ่ง 1 2 3 4 เพราะกว่าหนังจะฉาย ทุกคนรู้หมดแล้ว นี่คือโจทย์สำหรับเรา ว่าจะทำอย่างไรให้แตกต่างจากสิ่งที่คนรับรู้อยู่แล้ว ทำให้มีความหมายให้ลึกไปกว่าสื่ออีกมากมายที่ทำเรื่องนี้

“ความพีคนี่พีคทุกวัน พีคคนละแบบ แต่ผมรู้สึกว่ากราฟของการวิ่งมันพีคตั้งแต่ใต้มาถึงกรุงเทพ พีคสุดสำหรับผมคือช่วงกรุงเทพ มันตึงที่สุด บีบคั้นที่สุด การปรับตัวของทุกคนยังไม่ลงตัว แต่ว่าหลังจากกรุงเทพฯ เหมือนทุกคนเริ่มอยู่ตัวทั้งทางร่างกายและจิตใจหลังจากกรุงเทพกราฟก็ค่อยสโลปลงมา”

“ผมไม่ได้ร่วมวิ่งตลอด แต่อาการบาดเจ็บก็มี ผมเชื่อว่าทุกทีมมีอาการบาดเจ็บต่างกัน บางคนเจ็บกล้ามเนื้อ บางคนเจ็บสมอง ผมเจ็บมือเพราะถือกล้องตลอดทุกวัน น้องตากล้องอีกคนในทีม ตอนนี้ร้าวไปถึงสันหลังแล้ว ต้องทำกายภาพกันตลอดเพราะมันต่อเนื่องยาวนาน”

แม้ทีมสารคดีหลักจะมี 4 คน แต่จริงๆ ต้องนับรวมภาพจากทีมช่างภาพและวีดิโอซึ่งสื่อสารผ่านช่องทางของ “ก้าว” ด้วย เพราะพวกเขาแชร์ข้อมูลร่วมกัน ถ่ายทำไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน  ถึงตอนนี้โครงการจะถึงจุดหมายแล้ว แต่งานของสารคดีเดินมาถึงครึ่งทางแล้ว ยังมีงานที่พวกเขาต้องทำอีกมาก จนกว่าหนังจะฉายประมาณกลางปีหน้า

20171225191737866

ณฐพล คงมาลัย ครูสอนดำน้ำ เจ้าของร้าน Scuba Burger และน้องชายของพี่ตูน

คนทั่วประเทศเรียกพี่ตูนด้วยความหมายอย่างหนึ่ง แต่ ต๊อก เรียกพี่ตูนด้วยความหมายของพี่ชายจริงๆ

“จริงๆ ผมไม่ได้อยู่ในทีมงานเลยนะ ผมไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะ

"ผมมาใช้ชีวิตอยู่ในโครงการก้าวเพราะผมอยากจะมาอยู่เป็นเพื่อนพี่ตูน มาเป็นน้อง เป็นคนในครอบครัวพี่ตูน 

"จริงๆ เขามีคนมากมายอยู่ด้วย ทั้งพี่ก้อย ทั้งทีมงานก็อยู่ล้อมรอบเขา แต่บางทีถ้าเขาได้นั่งกินข้าวก๊อกๆ แก๊กๆ เหมือนอยู่ที่บ้าน อาจทำให้เขารู้สึกสบายใจขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย อยากทำอะไรทุกอย่างให้ที่เขาร้องขอ เช่น อยากกินนู่นกินนี่ ผมก็รู้ละ อยู่บ้านเขาชอบกินอะไร ก็พยายามหยิบจับอะไรมาให้

“ผมอยู่ด้วยแบบไปๆ มาๆ ก็เกินครึ่งของโครงการ พอมาก็วิ่งด้วย ลูปวิ่งจะเป็น 4 วันพัก 1 วัน ผมจะวิ่งวันแรกหลังจากวันพักเต็มวัน ตั้งแต่ตี 2 – 3 แล้วพอวันที่  2 – 3   ผมจะพักเซ็ทหนึ่ง นอกนั้นวิ่งหมด แล้วพอวันที่ 4 ผมจะเริ่มมีอาการบาดเจ็บบ้าง ผมจะวิ่งได้แค่เซ็ทแรกกับสุดท้าย ประมาณนี้ ตอนเช้าจะออกไปวิ่ง เพราะคนน้อย ผมเลยอยากอยู่เป็นเพื่อน คนที่ดูไลฟ์จะไม่ค่อยเห็นผม เพราะผมอยู่แถว 3 - 4

“ผมไม่ได้อยู่ในทีมไหนเลย จะเป็นตัวลอยๆ ผมพยายามไม่ให้ทำให้ตัวเอง ต้องมีใครมาดูแลผม ผมชอบเป็นกองหลังที่เติม มองว่าขาดอะไรก็เติมตรงนั้น อีกอย่างคือช่วยดูแลพ่อแม่ด้วย เพราะพ่อแม่อยู่ตลอดทริป

“ถามว่าโครงการนี้เปลี่ยนแปลงผมบ้างไหม ผมเป็นตัวของตัวเองนะ แต่ก็ได้รู้จัดคนเยอะขึ้นมหาศาล คนเก่งๆ ทั้งนักแสดง นักร้อง ทีมงานก็ทำงานกันเก่งมาก และผมได้เห็นการทำงาน การใช้ชีวิตของพี่ตูน

"ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดี และคิดว่าอยากจะทำอะไรให้ได้อย่างน้อยสักครึ่งหนึ่งของพี่ตูนก็ยังดี”

IMG_5756

รูปถ่ายรวมทีมงานในวันที่ 26 ธันวาคม 2560 บังเอิญถ่ายกับภูเขา ซึ่งเป็นความหมายหนึ่งของคีย์วิชวลรูปลูกศรของโครงการ "ก้าว"