ถอดรหัส "City of Angels" กับ SABER ศิลปินกราฟฟิตี้ในตำนานแห่งแอลเอ

ถอดรหัส "City of Angels" กับ SABER ศิลปินกราฟฟิตี้ในตำนานแห่งแอลเอ

จากลอสแอนเจลิสถึงกรุงเทพฯ ถอดรหัสความเป็นเมืองแห่งเทวา ด้วยสายตาและสามารถของศิลปินกราฟฟิตี้ในตำนาน ซึ่งอาจสร้างความเคลื่อนไหวใหม่ให้แก่วงการศิลปะไทย

SABER ศิลปินกราฟิตี้แห่งลอสแอนเจลิสมาแสดงงานที่เมืองไทยเป็นครั้งแรกแล้ว เขาคือหนึ่งในศิลปินที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินที่น่านับถือที่สุดในวงการศิลปะ SABER เกิดและเติบโตในครอบครัวที่ทำงานศิลปะ ในลอสแอนเจลิส เมืองที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมแก๊งค์สเตอร์ เมืองเดียวที่ตำรวจต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไล่จับคนปีนตึกเพื่อพ่นสเปรย์ ใช้สุนัขตำรวจไล่ล่าราวกับเป็นเกมของชาวกราฟฟิตี้

Graffity_Saber

สิ่งเดียวที่เยียวยาเขาจากอาการชัก โรคประจำตัวที่เป็นมาตั้งแต่เด็กก็คือศิลปะ พ่อแม่สนับสนุนเขาเต็มที่ ในช่วงวัยรุ่นเขาได้รู้จักกับสเก็ตบอร์ดและผูกพันกับวัฒนธรรมสตรีท เขาจึงเลือกที่จะสร้างงานด้วยสเปรย์เป็นหลัก เขาพัฒนาทักษะขึ้นมาจากการเข้าร่วมกับกลุ่มกราฟฟิตี้ MSK: Mad Society King และยินดีเสี่ยงอันตรายการสร้างงานกราฟิตี้บนพื้นที่สาธารณะ การปีนป่ายไปยังที่สูง เขาบาดเจ็บเองก็หลายครั้ง บางครั้งเห็นความตายของเพื่อนศิลปิน แต่ก็ไม่เคยมีอะไรหยุดเขาอยู่

Graffitf_Saber2

เขาเลือกใช้ศิลปะที่เขาหลงใหลส่งสารเพื่ออุดมการณ์ไปถึงสังคม ผลงานสร้างชื่อให้เขามีหลายงาน เช่น ทั้งสตรีทอาร์ตขนาดใหญ่ที่สุดในแอลเอ ในปี 2540 นิทรรศการ Saber: Mad Society ในปี 2550 ที่ว่าด้วยการผจญภัยของการสร้างสตรีทอาร์ต ซึ่งมีหนังสือขายด้วย นิทรรศการและหนังสือเป็นที่นิยมถล่มทลายขายดี อีกผลงานที่คนจดจำได้ดีก็คืองานชุดธงชาติอเมริกัน ซึ่งเขาใช้เทคนิคสารพัดกระหน่ำลงไปบนธงชาติเพื่อต้องการสื่อถึงปัญหาของระบบสาธารณสุขในอเมริกา บางคนประณามว่าเป็นงานหมิ่นชาติ แต่สำหรับ SABER เขาทำงานนี้ขึ้นมาเพื่อพูดถึงการปฏิรูปการสาธารณสุขในอเมริกาต่างหาก เพราะด้วยประสบการณ์ตรงจากความเจ็บป่วยของเขา เขาก็ถือเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบ

20171108222406821

ผลงานชุดล่าสุดของเขาถูกสร้างขึ้นที่กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อ “Decoding City of Angels” ซึ่งกำลังจะมีงานแสดงกับชินส์ แกเลอรี่ (Chin’s Gallery) แกเลอรี่หน้าใหม่ที่นำเสนอศิลปะร่วมสมัยของคนเมือง ขอเปิดตัวด้วยงานของศิลปินระดับโลก เป็นความเชื่อมโยงอย่างบังเอิญที่บ้านเกิดของ SABER ก็ได้ชื่อว่าเป็น City of Angels เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ SABER เดินทางมาประเทศไทยราวกลางเดือนตุลาคม อยู่และใช้เวลาร่วม 1 เดือนสร้างผลงานกว่า 20 ชิ้นขึ้นที่นี่

การถอดรหัสเมืองแห่งเทวา

SABER ไม่รู้มาก่อนว่ากรุงเทพก็เป็น City of Angels เช่นเดียวกับลอสแอนเจลิส

“สำหรับผมนี่คือความเชื่อมโยงสำคัญ เพราะผมเคยคิดว่าลอสแอนเจลิสเท่านั้นคือ City of Angels แต่พวกคุณก็ City of Angels เช่นกัน"

"ฉะนั้นต้องหาให้ได้ว่ามันหมายถึงอะไร อะไรที่ผมค้นพบที่นี่ ผมนำประสบการณ์มากับผมด้วย เมื่อถึงกรุงเทพฯ ก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ มีความรู้สึกและความคิดต่างๆ เกิดขึ้น แล้วผมก็เพนท์! ไม่มีอะไรเฉพาะเจาะจง ทุกอย่างออกมาจากข้างใน

"เป้าหมายของผมคือความเข้าใจที่ดีขึ้นถึงความหมายของ City of Angels ที่แอลเอเราเรียกตัวเองว่า Angelino ฉะนั้น พอมาถึงที่กรุงเทพฯ City of Angels อีกแห่ง ผมก็อยากเป็น Angelino ที่ดียิ่งขึ้น ทำความเข้าใจเมืองและวัฒนธรรมที่แตกต่าง จากมุมมองของคำว่า City of Angels ซึ่งมันสำคัญมาก เพราะผมมีอัตตาว่าเรานี่แหละ City of Angels หนึ่งเดียว มันจึงเป็นประสบการณ์ที่ดีมากที่ได้มาที่นี่ เรียนรู้วัฒนธรรมไทย ผมซึมซับทุกอย่างแล้วก็เพนท์ จริงๆ ผมก็ไม่ถึงกับรู้ว่าอะไรจะออกมาเหมือนกัน มันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างเมื่อวานผมรู้สึกไม่ค่อยสบาย แต่มาวันนี้ผมมาเพนท์ ผมก็รู้สึกดีขึ้น เมืองทำให้ผมเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร ผมทำงานตามอารมณ์ความรู้สึก สิ่งรอบตัวก็มีผลต่ออารมณ์ แล้วผมก็วาดออกมา”

สตรีทอาร์ตมีความเป็นอิสระสูง SABER จึงใช้เทคนิคหลากหลายในการสร้างงานขึ้นมา โดยไม่ได้จำกัด

20171108222123209

“เป็นการบรรยายความเป็น City of Angels ออกมาโดยไม่ได้วางแผนเรื่องการวาด การวาดวันนี้ก็ต่างจากเมื่อวานโดยสิ้นเชิง ซึ่งผมชอบแบบนี้ มันเป็นกระบวนการสร้าง ผมใช้ทั้งการพ่นสเปรย์ สีน้ำมัน มาร์คเกอร์ หลายอย่าง แต่ที่มีผลกับผมมากก็คือทองคำเปลว งานนี้ผมได้ช่างปิดทองระดับครูมาช่วยทำด้วย ผมก็ใช้ทองในงานผมมามาก แต่ทักษะผม ก็นะ ต่างกันเยอะ ที่นี่ทองคำมีความหมายในมุมด้านจิตวิญญาณ แผ่นทองคำเปลวก็เป็นสื่อส่วนหนึ่งเหมือนกัน แต่โดยพื้นฐานผมก็จะใช้สีสเปรย์เป็นหลัก”

เส้นทางของกราฟฟิตี้อาร์ต

วิกเตอร์ – เจริญ เพ็งสถาพร ภัณฑารักษ์ (Curator) ซึ่งรู้จักกับ SABER ตั้งแต่ตอนที่เขาอยู่อเมริกา เขาเลือกนำเสนอกราฟฟิตี้เพราะความเข้าถึงกับคนเมืองง่าย และเป็นความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่แข็งแรง

“ศิลปะผ่านยุคสมัยมามากมาย ศิลปะหลายแนวมาแล้วก็ผ่านไป แต่ความเคลื่อนไหวของศิลปะที่คงอยู่มายาวนานที่สุดก็คือกราฟฟิตี้อาร์ต ที่มีมาตั้งแต่ยุค 70s จนถึงทุกวันนี้ และไปต่อเรื่อยๆ ไม่ใช่แต่เด็กที่อเมริกาเท่านั้น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน แอฟริกาใต้ อียิปต์ อีกหลายประเทศทั่วโลกก็ทำ เพราะสีสเปรย์ทุกคนหยิบขึ้นมาทำได้ ผมไม่ได้สนับสนุนให้ทุกคนออกมาทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น แต่มันเป็นการระบายสิ่งที่อยู่ข้างใน ซึ่งบางทีพูดไม่ได้ออกมา”

วิกเตอร์ยกตัวอย่างซากปรักหักพังในสงคราม เช่น ที่อิรัก ตามซากตึกถล่มปรากฏการพ่นความอัดอั้นของคนที่สูญเสียจากสงคราม นี่คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งที่สื่อสารให้สาธารณะรับรู้ได้

เขาเสริมว่าเส้นทางของศิลปินกราฟฟิตี้ไม่ง่าย ต้องเสี่ยงภัยเพื่อสร้างงานที่ “เท่”

ซึ่งความเท่นั้นจะดึงสายตาของคนหมู่มากให้จับจ้องไปที่ศิลปะของพวกเขา และเมื่อนั้นอุดมการณ์ก็จะเปล่งเสียงออกมา

โดยงานนั้นต้องมีเรื่องราว มีประเด็นที่น่าสนใจ และจับใจผู้คน มีศิลปินไม่มากที่สามารถผันตัวเองจากพื้นที่สตรีทอาร์ตมาสู่ศิลปะในสตูดิโอและแกเลอรี่ “ต้องสร้างงานจนได้รับการยอมรับสูง” เมื่อถึงวัยหนึ่งซึ่งศิลปินไม่สามารถปีนตึกขึ้นไปสร้างสเตทเมนท์ แต่ได้ส่งต่อแรงบันดาลใจต่อไปยังเด็กรุ่นใหม่ ว่าสตรีทอาร์ตคืออะไร แล้วคนที่มีฝีมือจริงก็จะเปลี่ยนงานไปสู่แพลทฟอร์มอื่นๆ และอยู่ในวงการศิลปะต่อไปได้ SABER ก็คือไม่กี่คนที่ทำได้อย่างนั้น เขาอยู่ในระดับเดียวกับ Shepard Fairey ผู้เปลี่ยนผ่านจากสตรีทอาร์ตสู่โลกของแกเลอรี่ และการทำงานคอลาบอเรชั่นร่วมกับศิลปินอื่นๆ และโครงการต่างๆ

ประเทศกว้างใหญ่อย่างอเมริกา แต่ละรัฐแต่ละเมืองมีความภูมิใจในตัวเองและมีอิสระสูง สไตล์การทำสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้ก็ต่างกัน วิกเตอร์เล่าว่าลอสแอนเจลิสกราฟฟิตี้นั้นได้รับอิทธิพลจากความเป็นแก๊งค์สเตอร์ วัฒนธรรมของชาวแก๊งค์ที่ดิบเถื่อนอันตราย สร้างลายเซ็นของตัวเองด้วยการพ่นตัวอักษรบนกำแพงไปทั่ว ศิลปินแอลเอที่สนใจวัฒนธรรมสตรีท เช่น SABER

20171108222110760

“เขาเติบโตมากับแอลเอแก๊งค์สไตล์” วิกเตอร์บอก SABER ซึมซับสไตล์แบบนั้นมา ปรับเปลี่ยนและค้นหาแนวของตัวเอง กราฟฟิตี้ของแต่ละย่านแต่ละเมืองมีเอกลักษณ์ต่างกัน แต่ในยุคหนึ่งช่วงกลางยุค 90 จนถึงราวปี 2000 แอลเอสไตล์จะได้รับความนิยมสูงมาก และมีอิทธิพลต่อเมืองอื่นๆ ไปจนถึงยุโรป สตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้มีเรื่องราวมากกว่าที่ตาเห็น การจะทำความรู้จักกับสตรีทอาร์ตของแต่ละแห่ง ก็ต้องเข้าใจความเป็นเมืองนั้นๆ และกระแสความนิยมที่มีอิทธิพลต่อที่อื่นๆ ด้วย

ผลักดันความเคลื่อนไหวของศิลปะร่วมสมัย

นี่คือหนึ่งเหตุผลที่ทางชินส์ แกเลอรี่ เลือกสตรีทอาร์ตมาแสดงเพื่อเปิดตัวแกเลอรี่  “Decoding City of Angels” ไผ่ – อรศิรี ชินกำธรวงศ์ Director & Founder บอกว่าแนวคิดของชินส์ แกเลอรี่คือ “Urban Contemporary”

อรศิรี ค้นพบความรักในงานศิลปะ เธอบอกว่าเธอชอบงานหลายยุคแต่หากจะซื้อเก็บเป็นเจ้าของ งานศิลปะร่วมสมัยคือสิ่งที่เข้าถึงจับต้องได้มากที่สุด และงานศิลปะก็มีคุณค่าในตัวเอง สามารถเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มมูลค่าได้ในอนาคต นี่อาจเป็นข้ออ้างหนึ่งที่เธอใช้เพื่อซื้องานศิลปะเก็บนอกเหนือจากความชอบส่วนตัว ทั้งนี้ทั้งนั้นมีสถิติว่า 35 – 45 เปอร์เซ็นต์ของนักสะสมศิลปะคือผู้ที่อยู่ในวงการการเงิน อรศิรีบอกว่าเธอเป็นคนรักศิลปะ ไม่ถึงขั้นนักสะสม เธอเลือกทำแกเลอรี่ในฐานะผู้เสพงาน

แกเลอรี่นี้มีความตั้งใจที่จะผลักดันศิลปินไทยให้มีชื่อเสียงในระดับสากล เธอทำแกเลอรี่ไม่ใช่ด้วยความเป็นศิลปิน แต่ในฐานะผู้บริโภคงานศิลปะ มองจากหลากมุม งานศิลปะก็เป็นทรัพย์สินหนึ่งที่คนเลือกลงทุน การจะเพิ่มมูลค่าได้ก็ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของศิลปิน หากศิลปินโด่งดัง “กำไร” ของนักสะสมก็จะเพิ่มขึ้น และทำให้ความเคลื่อนไหวของทั้งระบบยั่งยืนขึ้น ไม่ใช่เป็น “ศิลปินไส้แห้ง” อย่างที่ในเมืองไทยชอบพูดกัน แม้ว่าวัฒนธรรมการชื่นชม สะสมงาน ไปจนถึงซื้อเพื่อเก็งกำไรในเมืองไทยยังไม่เบ่งบาน แต่ทั้งอรศิรีและวิกเตอร์ก็ยืนยันว่าสิ่งนี้กำลังค่อยๆ เกิดขึ้นในเมืองไทย

20171108222120533

การที่เธอนำตำนานแห่งกราฟฟิตี้มาสร้างสรรค์และแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในเมืองไทย ในรูปแบบใหม่ที่จะบทสนทนาให้เกิดขึ้นจากการชมงาน สตรีทอาร์ตที่บางคนเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงสิ่งที่วัยรุ่นมือบอนมาพ่นกัน แต่ที่จริงนั่นคือศิลปะ ศิลปินในตำนานจะถ่ายทอดความเป็นสตรีทอาร์ตที่มีสะพานเชื่อมไปถึงวงการศิลปะระดับโลกให้เราเห็นภาพมากขึ้น

ภายใต้การตีความ “เมืองแห่งเทวา”  ด้วยประสบการณ์เข้มข้นของศิลปินแอลเอที่มาซึมซับความเป็นกรุงเทพฯ และถ่ายทอดออกมาในมุมที่คนไทยอาจมองข้ามไป “หลายๆ อย่างที่เขาหยิบมาทำ มันอยู่ข้างๆ ตัวเรานี่แหละ แต่เราลืมและมองข้ามไป” วิกเตอร์บอก อรศิรีเสริมว่า “เราจะได้เห็นสีสันของกรุงเทพฯ ซึ่งเราลืมคิดว่าเมืองของเราเป็นสีอย่างนั้นจริงๆ เราไม่คุมโทน เราวิบวับไปหมด ถ้าให้เขาทำงานหัวข้อนี้ที่แอลเอก็คงจะเป็นสีที่ดาร์คกว่านี้มาก” เธอตั้งข้อสังเกต

แม้ SABER จะอยู่ทำงานที่เมืองไทยไม่นาน แต่เป็นช่วงเวลาที่พิเศษมาก เขาเดินทางมาถึงในช่วงที่กำลังจะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 พอดี

สำหรับ SABER กรุงเทพฯ ที่ไม่เคยพบ มีตึกสูงและความเป็นเมืองใหญ่มากกว่าที่คิด ท่ามกลางเมืองใหม่ยังเต็มไปด้วยเมืองเก่าและความดั้งเดิมแทรกอยู่เป็นระยะ เมืองที่วุ่นวายกลับดูเงียบงันในวาระนั้น SABER เขาก็พยายามทำความเข้าใจในฐานะผู้สังเกตการณ์

20171108222411057

“สำหรับผม ผมเป็นคนนอก จึงเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ผมเห็นความรักที่คนไทยมีต่อคนที่พวกเขารัก แสดงออกอย่างเป็นหนึ่งเดียว นี่เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ที่อเมริกา เราค่อนข้างจะแบ่งแยกกัน ฉันไม่ชอบเธอ เราไม่ชอบกัน เป็นอย่างนี้ไปหมด การที่เห็นทุกคนมารวมตัวกันนั้นน่าประทับใจมากสำหรับผม ทำให้ผมเห็นว่าคนไทยมีบางสิ่งที่ลึกซึ้งกว่าเกี่ยวกับวัฒนธรรม บางทีผมอาจไม่สามารถเข้าใจได้ แต่เป็นสิ่งที่พิเศษมาก ที่ได้เห็นทุกคนแต่งสีดำ ท้องถนนมีแต่ความเงียบไปหมด เราไม่มี เราไม่ทำแบบนี้ที่บ้านเรา เรามีแต่ปืนทุกหนทุกแห่ง ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้มาที่นี่ ได้เป็นผู้สังเกตการณ์ช่วงเวลาพิเศษแบบนี้”

ชมนิทรรศการ Decoding City of Angels ได้ที่ Aetas Bangkok ซอยร่วมฤดี ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2560