21 ¾  หลากเรื่องหลายประสบการณ์ กับละครเพลงแนวใหม่

21 ¾  หลากเรื่องหลายประสบการณ์ กับละครเพลงแนวใหม่

จำ "Fascinating Four" จากเวทีไทยแลน์ก็อตทาเลนท์กันได้ไหม.. พวกเขากลับมาอีกครั้งกับการแสดงละครเวที "21 เศษ 3 ส่วน 4" เพื่อนำเสนอเรื่องราวช่วงวัยเปลี่ยนผ่านจากชีวิตการเรียนสู่ชีวิตการทำงานจริง

Untitled-1

ขณะที่ละครเวทีหรือการแสดงจากบรรดาศิลปินรุ่นใหม่มีให้เลือกได้แทบทุกสัปดาห์ ในช่วงหนึ่งอาจสะท้อนการเติบโตของวงการนี้  แต่มันอาจจะไม่เติบโตไปกว่านี้หากไม่มีรสชาติแนวทางที่แตกต่างจากเดิมให้กับผู้ชม

เหตุผลนี้เองจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การแสดง 21 ¾  ( 21 เศษ 3 ส่วน 4) น่าสนใจทั้งในฐานะของละครเพลงจากพลังของคนรุ่นใหม่ และแปลกใหม่ในเนื้อหาที่กำลังนำเสนออีกด้วย

5

21 เศษ 3 ส่วน 4 เปิดแสดงมาตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน -  1 ตุลาคม 2560 การแสดงนี้นำเสนอเรื่องราวสั้น ๆ ที่หลายคนต้องเคยเผชิญในช่วงวัยเปลี่ยนผ่านจากชีวิตการเรียนสู่ชีวิตการทำงานจริง  สื่อสารผ่านนักแสดง 4 คนในชื่อ Fascinating Four ที่หลายคนอาจคุ้นชื่อนี้จากรายการประกวดความสามารถชื่อดังอย่าง Thailand’s Got Talent โดยพวกเขาสามารถผ่านไปจนถึงรอบ 11 คนสุดท้าย

จากเวทีใหญ่ที่ใช้แสดงความสามารถสู่ละครโรงเล็กที่พิสูจน์ศักยภาพของพวกเขา เมื่อไฟดับลงดนตรีโหมบรรเลงเพลงเปิดเรื่องชวนตั้งคำถามให้กับผู้ชม

“อยู่บนเส้นทางที่สับสนไม่รู้จะไปทางไหน” เพียงขึ้นต้นด้วยคำถามง่าย ๆ แต่ตอบยากเช่นนี้จึงชวนให้ติดตามต่อว่าจะเลือกพาผู้ชมไปเส้นทางใด

หากผู้ชมเข้าไปนั่งดูโดยไม่ได้อ่านสารจากผู้กำกับหรือสารจากผู้ประพันธ์เพลงอาจสงสัยอยู่ไม่น้อยว่าทำไมแต่เพลงในเรื่องนี้ไม่ต่อเนื่องกันเลย  แต่คือวิธีการนำเสนอที่เรียกว่า Song Cycle  หรือการแต่งเพลงขึ้นมาโดยให้แต่ละเพลงพูดถึงและเล่าเรื่องราวที่ต่างกันไป โดยทุก ๆ เพลงจะสื่อสารความหมายและประเด็นของเรื่องนี้ในทิศทางเดียวกันอย่างเช่นในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องราวในหลาย ๆ ประสบการณ์ของช่วงวัยแห่งการเปลี่ยนผ่านเป็นต้น 

วิธีการแบบนี้แม้จะไม่เป็นที่พูดถึงในวงการละครเวที่เมืองไทยมากนัก แต่ นพีสี เรเยส ในฐานะผู้กำกับการแสดงและครูละครคนสำคัญท่านหนึ่งช่วยขยายความว่าสำหรับเด็กที่เรียนสาขาวิชาการแสดงละครเพลง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลจะคุ้นเคยเป็นอย่างดีเพราะเป็นส่วนหนึ่งในการใช้สอบ ขณะเดียวกันในวงการละครเพลงโลกถือเป็นแนวทางหนึ่งในการนำเสนอเช่นกัน และนักประพันธ์ส่วนใหญ่ก่อนจะก้าวเข้ามาร่วมงานกับบรอดเวย์มักจะเคยผ่านงานแสดงที่เป็น Song Cycle มาแล้วทั้งสิ้น

สำหรับในเมืองไทยที่ยังไม่เคยปรากฏมาก่อนแบบนี้จึงถือว่าเป็นวิธีการปรุงแต่งแบบใหม่ที่น่าสนใจ

ต่อไปจึงต้องมาพิจารณาที่วัตถุดิบที่มาใช้สรรค์สร้างการแสดงครั้งนี้..

4

เนื้อหาของแต่ละเพลงสะท้อนประสบการณ์ในชีวิตที่หลากหลายรูปแบบทั้งชีวิตที่เป็นเหมือนเด็กไม่ยอมโต  ชีวิตที่พ่ายแพ้กับการค้นหาตัวเอง  ชีวิตที่จมอยู่กับเรื่องราวความรักเก่า ๆ  หรือแม้แต่ชีวิตที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต   ชีวิตที่หลากหลายและเล่าเรื่องผ่านนักแสดง 4 คนคอยเปลี่ยนเสื้อผ้าแปลงบุคลิกเป็นตัวละครต่าง ๆ  จึงทำให้ภาพรวมของการแสดงจึงมีทั้งฉากที่ประทับใจ ฉากที่ผ่านไปแบบไม่ได้รู้สึกร่วม หรือแม้แต่ฉากที่รู้สึกใช่เลยนี่คือประสบการณ์ตรง

หนึ่งเพลงที่ใช้วิธีการเล่าช่วงเวลาตัดสินใจเลือกงานระหว่างงานประจำกับงานฟรีแลนซ์ด้วยสร้างโลกแฟนตาซีของตัวละครขึ้นมา จำลองว่าอยู่ในรายการเกมโชว์ที่ต้องเลือกคำตอบที่จะชี้ชะตาของเธอ

ฉากนี้ยังเพิ่มความสนุกสนานด้วยองค์ประกอบ 2 ส่วนคือการเรียบเรียงเพลงที่ใช้เพลงแร๊ปที่ช่วยให้ภาพรวมของฉากนี้กระชับ ชวนตื่นเต้นและคำร้องที่พรั่งพรูออกมาอย่างรวดเร็วจากตัวละครที่ทำงานประจำและงานฟรีแล๊นซ์ยังเปรียบเหมือนข้อมูลชุดความคิดในสมองที่โต้เถียงไปมาจนฟังไม่ทัน จับใจความไม่ได้และไม่ได้เวลาตกตะกอนข้อดีข้อเสียของงานแต่ละแบบอีกด้วย

อีกองค์ประกอบหนึ่งคือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม  แม้ว่าลูกเล่นนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อให้คล้ายคลึงกับรายการเกมโชว์  แต่ก็ทำให้ผู้ชมที่กำลังดูไปและคิดตามอยู่นั้นได้ลองหันมามองคำตอบเพื่อนรอบข้างและดึงความสนใจกลับไปที่ตัวละครดังเดิม ดังนั้นเมื่อเพลงเหมาะกับเรื่องและวิธีการนำเสนอยังน่าสนใจ  จึงทำให้เพลงกลายเป็นเพลงที่น่าจดจำมากที่สุด

อีกหนึ่งเพลงที่น่าสนใจและผู้เขียนมองว่าเป็นเพลงหนึ่งที่พูดแทนความในใจของนักแสดงหรือคนละครหลายคน  คือเพลงที่พูดถึงจุดเริ่มต้นความฝันเมื่อได้สัมผัสมนต์เสน่ห์ของละครเวทีและกลิ่นอายในโรงละคร  จนเลือกที่จะทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ความฝันนั้นกลายเป็นความจริงแม้จะผิดหวังและท้อแท้ใจ  แต่อย่างไรมนต์เสน่ห์ของละครเวทีและกลิ่นอายในโรงละครยังคงย้ำเตือนให้เขาเดินตามฝันต่อไป  แม้ว่าเนื้อหาของเพลงอาจเล่าเรื่องเฉพาะของคนบางกลุ่ม  แต่จริง ๆ แล้วโครงเรื่องของเพลงนี้คือเส้นทางของคนมีฝัน  เพราะว่าไม่ว่าจะอาชีพใดก็ตามย่อมมีบางสิ่งเป็นแรงบันดาลใจที่จุดเชื้อไฟให้ลุกโชติและนำทางผู้คนไปสู่ปลายทางนั้น  แต่ระหว่างทางย่อมมีอุปสรรคที่ท้าทายด้วยกันทั้งสิ้น   ความแข็งแรงของโครงเรื่องนี้ผสานกับประสบการณ์ของนักแสดงที่ช่วยส่งให้สื่อสารอารมณ์และจุดมุ่งหมายของตัวละครออกมาอย่างชัดเจน  จนทำให้เพลงนี้คือเพลงที่ประทับใจมากที่สุด

อย่างไรก็ตามในบรรดาเพลงทั้งหลายที่น่าชื่นชม ชวนคิดไปตามเรื่องตามเหตุการณ์แต่ก็มีหลายเพลงที่เป็นประเด็นที่สื่อสารด้วยเพลง ๆ เดียวอาจจะยากเกินไป  หรือการถ่ายทอดความคิดตัวละครออกมาไม่ชัดเจนจึงทำให้เพลงดูน่าเบื่อจนทำได้เพียงรอให้จบไปโดยไม่ผ่านกระบวนการคิดร่วมกับการแสดง  ฉากเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นเพลงรักทั้งเพลงที่ถ่ายทอดช่วงเวลาการไม่ลืมรักเก่า หรือแม้แต่เพลงรักเมื่อครั้งวันวาน เป็นต้น

บางเพลงปรากฏชัดเจนว่านักแสดงยังไม่สามารถดึงเรื่องราวของตัวละครออกมาถ่ายทอดได้มากพอ จึงทำให้เนื้อเพลงกลายเป็นคำพรรณนาที่ดูไร้อารมณ์  แต่ก็มีบางเพลงที่เนื้อร้องเน้นบรรยายในขณะที่การเคลื่อนไหวของฉากและนักแสดงก็ทำอะไรไม่ได้มาก  จนทำให้ช่วงเวลานั้นไม่มีอะไรดึงดูดผู้ชมได้เลย

ภาพรวมของเนื้อหาในละครเรื่องนี้จึงมีทั้งสนุก เศร้า และชวนหาวปนกันไป  ไม่ต่างอะไรกับชีวิตในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสู่วัยทำงานนี้ซักไหร่นัก  เพราะหลังเรียนจบบางคนเพลิดเพลินกับชีวิตอิสระบางคนสนุกกับความท้าทายในงาน ก่อนที่พวกเขาจะจมความเศร้ากับไฟฝันที่ริบหรี่หรือเสียใจที่ปล่อยเวลาผ่านไปอย่างไรคุณค่า  และอาจต้องก้าวเดินต่อไปเมื่อชีวิตจะน่าเบื่อหน่ายก็ตาม

นี่จึงเป็นสิ่งที่ละครบอกกับผู้ชมผ่านการจัดเรียงเรื่องราวทั้งหมดในโชว์  ดังนั้นหากย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นที่ได้กล่าวถึง Song Cycle ไว้ก่อนจะมาพูดถึงเนื้อหาในบทเพลง ก็อาจกล่าวได้ว่าเนื้อหาของเรื่องครอบคลุมคอนเซ็ปต์ของชุดเพลงนี้ได้เป็นอย่างดี 

ทางด้านองค์ประกอบอื่น ๆ ในเรื่องทั้งในเรื่องฉากและอุปกรณ์ประกอบในเรื่องแม้จะไม่ได้ใช้อะไรที่ดูหวือหวา  แต่การใช้บันไดวนก็ช่วยทั้งในแง่ของการจัดการพื้นที่และความหมายที่สอดคล้องไปละครได้เป็นอย่างดี  รวมถึงการใช้ภาพโปรเจ็คเตอร์ฉายแทนฉาก  แม้จะไม่ใช่วิธีการที่แปลกใหม่นักแต่ความน่าสนใจอยู่ที่การเลือกใช้ภาพในแต่ละฉากที่สื่อความหมายเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ เช่น เพลงไม่ยอมโตซึ่งเป็นเพลงแรกฉากที่ใช้กลับเป็นฉากลายเส้นที่วาดเหมือนบ้านในการ์ตูน  แม้จะดูย้อนแย้งกับการแสดงที่เน้นความสมจริง แต่การใช้ฉากแบบนี้ก็ชวนให้ผู้ชมตีความได้ว่าสื่อถึงโลกของตัวละครที่ขีดเขียนได้อย่างใจแต่งแต้มสีสันได้เหมือนดังภาพการ์ตูน  และยังมีอีกหลายฉากที่พอดูภาพรวมแล้วถือได้ว่ายักออกแบบทำการบ้านมาแล้วเป็นอย่างดี  หนึ่งเรื่องที่น่าห่วงคือระบบเสียงเพราะโรงละครไม่ได้ถูกออกแบบเรื่องเสียงมาอย่างสมบูรณ์ และตำแหน่งการติดไมโครโฟนอาจมีผลกับเสียงของนักแสดงคุณภาพตกไปบ้างในบางช่วง

เรื่องราวในแต่ละเพลงบรรเลงมาจนถึงตอนจบ  บทเพลงแรกเมื่อตอนเริ่มกลับมาอีกครั้งเป็นสัญญาณบอกให้ผู้ชมรู้ว่าการแสดงเดินทางมาถึงที่สิ้นสุดแล้ว  การแสดงจบลงผู้ชมแยกย้ายกันกลับไปพร้อมความคิดและความซาบซึ้งที่ต่างกันออกมาไป  แต่โดยส่วนตัวผู้เขียนกลับพบว่าตนเองรู้สึกต่างจากการชมละครเพลงทั่วไป  เพราะครั้งนี้ไม่ได้ตกตะกอนเรื่องของตัวละครหลักและองค์ประกอบอื่น ๆ ว่าให้แง่คิดและบทสรุปอะไรแก่ผู้ชม  แต่สำหรับเรื่องนี้กลับพบว่าแต่ละเรื่องไม่มีบทสรุป  มีเพียงการทบทวนในเรื่องที่ตรงกับชีวิตเราว่าอยู่ช่วงใดของเพลง  หรือเพลงของเราอาจจะเคยบรรเลงจนจบไปแล้วและรู้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่นั่นคือความรู้สึกใหม่ที่ไม่ค่อยได้เจอในการชมละครเพลงเรื่องอื่น ดังนั้นละครเพลงเรื่องนี้เสมือนพาผู้ชมไปเจอทางใหม่ที่อาจไม่คุ้นเคยผู้ชมบ้าง  แต่นำเรื่องราวและแนวดนตรีที่ใกล้เคียง เข้าถึงง่ายมาใช้ประกอบการแสดง  จึงเป็นสิ่งดี ๆ ที่ควรไปดูทั้งเพื่อเตรียมพร้อมชีวิตที่กำลังเผชิญ รวมถึงทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาแล้วอีกด้วย  และที่สำคัญคือการเติบพลังและไฟฝันให้กับนักแสดงและทีมงาน 21 ¾