เสวนาสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น

เสวนาสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น

ถึงเวลาปฏิวัติงานสร้างเสริมสุขภาพ รุดหน้าด้วยปัญญา-ข้อมูลของชุมชน

ความฝันที่จะพัฒนาประเทศไทย โดยให้ภาคประชาชนร่วมกำหนดกรอบและแนวทางให้หน่วยงานรัฐทำตาม เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน-นั้น หากมองในภาพของความเป็นจริงแล้ว การพัฒนาชาติ ต้องเริ่มที่การเพิ่มขีดความสามารถของคน ส่งเสริมให้เอาตัวรอดได้ด้วยสี่แผน ทั้งแผนชีวิต อาชีพ การเงิน และสุขภาพ ก่อนจะช่วยกันยกระดับสู่การมีส่วนร่วมกับชุมชนในการพัฒนา สร้างท้องถิ่นให้เข้มแข็งด้วยปัญญาและข้อมูลของชุมชน

            ที่เวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระ: ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เพิ่มปัจจัยเสริมสุขภาวะ ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 3-5 ตุลาคม 2561 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้มีการล้อมวงเสวนาว่าด้วย “ทศวรรษการสร้างเสริมสุขภาพโดยชุมชนท้องถิ่น” ซึ่งเป็นเวทีที่สะท้อนถึงศักยภาพของท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนทั้งอดีตและอนาคต

            นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม อธิบายถึงเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่า ต้องการทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม และฐานทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน ที่สำคัญคือแต่ละเป้าหมาย ยังมียุทธศาสตร์ย่อยที่จะพัฒนารายยุทธศาสตร์ไปสู่ความสำเร็จ

            โดยในยุทธศาสตร์ที่ 4 คือด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมที่ดูแลอยู่นั้น ได้เน้นสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม กระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกำลังของการพัฒนาประเทศในทุกระดับเพื่อความสมานฉันท์ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพึ่งตนเองและจัดการตนเอง เพื่อสร้างสังคมคุณภาพให้กับคนไทยทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป เด็กและสตรี กลุ่มเกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้สูงอายุและคนพิการ แรงงาน ผู้ประกอบการ คนด้อยโอกาส คนยากจน หากนั่นยังเป็นแค่กรอบแนวคิดกว้างๆ จึงอยากให้ผู้นำชุมชนที่มาร่วมกิจกรรมสุดยอดผู้นำของ สสส.สำนัก 3 นำประสบการณ์ ความรู้ จากการทำงานจริง มาเขียนแผน โครงการ แล้วส่งมาให้ภายในกลางเดือนตุลาคมนี้ เพื่อจะได้พิจารณาสู่แผนปฏิบัติการ

            “การพัฒนาประเทศชาติ จำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถของ “คน” หรือครัวเรือนก่อน เพื่อให้เอาตัวรอดได้ โดยจะใช้ 4 แผน ได้แก่ แผนชีวิต แผนอาชีพ แผนการเงิน และแผนสุขภาพ นั่นคือจำเป็นต้องมีการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของครัวเรือน การสร้างการมีส่วนร่วมและยกระดับการจัดการตนเองของชุมชน การสร้างผู้นำความเปลี่ยนแปลงและการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง มีการส่งเสริมบทบาท อปท.ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาควิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเชื่อมั่นว่าเมื่อชุมชนเข้มแข็ง สามารถเสริมสร้างพลังทางสังคมได้ แต่สังคมดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ก็ต้องร่วมกันสร้าง” นายเอ็นนู ย้ำ

            ด้าน น.พ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เล่าว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ผลักดันให้เกิดกองทุนระดับตำบลตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา จุดประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ก็สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ซึ่งถ้าระบบคิดยังเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจ และการสั่งการ ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากเมื่อใดที่มีการสร้างการมีส่วนร่วม กระจายอำนาจให้เป็นเรื่องเฉพาะในพื้นที่ โดยยอมรับว่าแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน พร้อมทั้งดึงภาคีเครือข่ายร่วมตั้งแต่ระดับนโยบายถึงระดับท้องที่ กระจายรายได้และสร้างรายได้ในชนบท เอาคนในชุมชนมาทำงานพัฒนาท้องถิ่น แล้วกองทุนตำบลที่ใช้งบแค่ปีละ 3-4 พันล้านบาท ก็จะช่วยแก้ปัญหาแต่ละชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีปริก อ.สะเดา จ.สงขลา อธิบายเสริมว่าในฐานะผู้ปฏิบัติ ตนคิดว่าผู้นำชุมชนท้องถิ่นที่ดีต้องมีคุณสมบัติ 10 ข้อ คือ 1.สามารถทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว แล้วการยอมรับก็จะตามมา 2.มีความเสียสละ ทำหน้าที่ บทบาทที่ตนได้รับอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์การสร้างพลังชุมชน ช่วยให้สังคมอยู่ดีมีสุขตั้งแต่เด็กเล็ก-ผู้สูงวัย 3.มีความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ไม่กลัวการตรวจสอบ 4.มีคุณธรรมกำกับตัวเอง ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตว์ สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีวาระซ่อนเร้น สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคน 5.สร้างการยอมรับจากสังคมด้วยการทำหน้าที่ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม บนพื้นฐานของสัมมาชีพ

            6.รู้จักเรียนรู้ คิดค้น พัฒนา บนพื้นฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง 7.มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ต้องคิดเป็น อย่าคิดตามผู้อื่น โดยใช้ข้อมูล องค์ความรู้ เทคโนโลยี มีการวิเคราะห์สังเคราะห์ และจินตนาการเพื่อให้มีคิดนอกกรอบได้ และมีทางออกในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น 8.สร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชนให้ได้ ซึ่งในจุดนี้ ทาง สสส.ได้ให้โอกาสและกลไกที่จะทะลวงไปสู่การทำงานร่วมกันในท้องถิ่นอยู่แล้ว 9.การเชื่อมองค์กรกับภาคีเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนงาน และขยายขอบเขตของงาน และ 10.มีรูปแบบ เครื่องมือ ในการออกแบบ วางแผน รวมถึงมีเทคนิค วิธีการที่จะเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ ดังนั้นผู้นำชุมชนท้องถิ่นจึงจำเป็นต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย

IMG_2475

            ขณะที่ นายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 (สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน) สสส. ย้ำว่า การบริหารราชการที่เอาส่วนกลางเป็นตัวตั้งแทนพื้นที่ ทำให้ล้มเหลวมาตลอด ขณะนี้จึงเริ่มมีการเอาท้องถิ่น พื้นที่ เป็นตัวตั้ง เช่น ในเรื่องกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่น ที่ น.พ.จักรกริช กล่าวถึง ก็เป็นการยกระดับเรื่องสุขภาพ ไม่ว่าบำบัด ฟื้นฟู รักษาพยาบาลเบื้องต้น โดยองค์กรภาคประชาชน

            “ตอนนี้ สสส.มีชุมชนผู้นำระดับเข้มข้น 789 แห่ง ที่กำลังจะยกเป็นชุมชนสุขภาวะ ลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยเสริม ซึ่งเชื่อว่าแต่ละแห่งจะสามารถขยายได้อีก เมื่อในอนาคตระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยความเข้มแข็งของชุมชน มีกองทุนพัฒนาพื้นที่เป็นตำบลๆ ละ 5 แสนบาท เนื่องจากเล็งเห็นว่าแผ่นดิน 29.5% ที่ลงไปในการพัฒนาท้องถิ่น ยังประสบปัญหาอยู่ ไม่ช่วยให้สุขภาวะและคุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้นอย่างที่ต้องการ ฉะนั้นการสร้างเสริมสุขภาพโดยชุมชนท้องถิ่น จึงเป็นทางออก เพราะไม่มีใครรู้ปัญญา ข้อมูลของชุมชน เท่ากับคนในชุมชนท้องถิ่นเอง” ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 กล่าว

IMG_6134