การ “บิด” และ “พลิก” ของ สแตนดาร์ดแจ๊ส

การ “บิด” และ “พลิก” ของ สแตนดาร์ดแจ๊ส

มองบทเพลงสแตนดาร์ดที่กลายมาเป็น “วัตถุดิบชั้นดี” ของนักดนตรีแจ๊สในการนำมาตีความใหม่ และสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของดนตรีแจ๊ส

นับจาก หลุยส์ อาร์มสตรอง เป็นต้นมา บทเพลงสแตนดาร์ดได้กลายมาเป็น “วัตถุดิบชั้นดี” ของนักดนตรีแจ๊สในการนำมาตีความใหม่ เป็นการ “บิด” และ “พลิก” วิธีการร้องบรรเลง เพื่อให้แตกต่างจากต้นฉบับดั้งเดิม และแน่นอนว่าต้องสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของดนตรีแจ๊สด้วย

479

“วัตถุดิบ” ที่ว่านี้ มีมากมายเหลือคณานับพันๆ เพลง เพราะในช่วงทศวรรษ 1920-50s อันยาวนานนี้ พื้นที่ของเพลงสแตนดาร์ด ในรูปแบบเพลงป๊อปปูลาร์ ครอบคลุมทั้งกลุ่มเพลงเต้นรำ เพลงจากนักแต่งเพลงในย่าน ทิน แพน อัลลีย์ (Tin Pan Alley อยู่บนถนนสาย 28 ตะวันตก ในแมนฮัตตัน ศูนย์รวมพับบลิเชอร์อันเป็นรากฐานของวงการนักแต่งเพลงอเมริกันในเวลาต่อมา) เพลงที่ใช้ในละครบรอดเวย์ การแสดงมิวสิคัล กระทั่งถึงภาพยนตร์ฮอลลีวูด

บทเพลงเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ในห้วงเวลาที่ดนตรีแจ๊สจำเป็นต้องเจียมเนื้อเจียมตัว เพราะต้องการเรียกความสนใจจากผู้ฟัง การหยิบบทเพลงเหล่านี้มาถ่ายทอดใหม่ จึงเป็นทางเลือกที่เปิดกว้าง เป็นเสมือนถนนสายไฮเวย์ที่พร้อมสำหรับการขับเคลื่อนไปข้างหน้า

จาก “สไตล์นิวออร์ลีนส์/ดิกซีแลนด์” ในช่วงทศวรรษ 1920s แจ๊สขยับไปสู่ “สไตล์สวิง/บิ๊กแบนด์” ในช่วงทศวรรษ 1930s ที่ผู้คนเปิดรับแจ๊สมากยิ่งขึ้น ด้วยจังหวะอันเร่งเร้า สนุกสนาน ชวนให้เต้นรำ สวิงกลายเป็นเพลงยอดนิยมของคนหนุ่มสาวในยุคนั้นไปโดยปริยาย ก่อนจะเปลี่ยนผ่านสถานะทางศิลปะ มาเป็น “สไตล์บีบ็อพ” ในช่วงทศวรรษ 1940s ซึ่งถึงที่สุดแล้ว ทางเดินคอร์ด (Chord Progression) ของเพลงสแตนดาร์ด หรือที่คนแจ๊สเรียกสั้นๆ ว่า Changes ยังเป็นรากฐานของเพลงบีบ็อพอยู่ดี ดังที่คอร์ดเพลง I Got Rhythm ของ เกิร์ชวิน เป็น “สารตั้งต้น” ของเพลงแจ๊สแบบบีบ็อพจำนวนมาก

ต่อจากนี้ คือบางตัวอย่างของเพลงสแตนดาร์ดที่ศิลปินแจ๊สหยิบมาบรรเลง ถือเป็นแบบฉบับที่ต้องศึกษา !

หลุยส์ อาร์มสตรอง นำเสนอบทเพลง อย่าง Ain’t Misbehavin’ ซึ่งแต่งโดย แฟทส์ วอลเลอร์ และ แอนดี ราซาฟ ในปี 1929 โครงสร้างเพลงเป็น popular song form แบบ AABA

นักโซปราโนแซ็ก ซิดนีย์ บิเชต์ หยิบเพลง Summertime จากอุปรากร Porgy and Bess ที่แต่งโดย จอร์จ เกิร์ชวิน มาอิมโพรไวเซชั่นอย่างเข้มข้นถึง 5 คอรัส บนโครงสร้างเพลงแบบ ABAC ที่ท่วงทำนองวางอยู่บนสเกลเพนทาโทนิก เป็นงานบันทึกเสียงในปี 1939 ที่สร้างชื่อให้แก่ค่ายเพลง Blue Note ที่เพิ่งก่อตั้งในปีนั้น

ปีเดียวกัน โคลแมน ฮอว์กินส์ นักเทเนอร์แซ็ก บันทึกเสียง Body and Soul บทเพลงของ จอห์นนี กรีน จากละครเพลงเรื่อง Three’s a Crowd ได้อย่างเหนือความคาดหมาย ด้วยแนวคิดทางฮาร์โมนีที่ลึกซึ้งและซับซ้อน จนได้รับการยกย่องว่านี่คือการประกาศศักดาของเครื่องดนตรีชิ้นนี้ในวงการแจ๊ส ว่า “เทเนอร์แซ็กโซโฟน” ทำอะไรได้มากกว่าที่ทุกคนคาดคิด ทุกวันนี้ Body and Soul ยังจัดเป็นเพลงสแตนดาร์ดอันดับหนึ่งที่ได้รับการบรรเลงซ้ำบ่อยครั้งที่สุด

นอกจากบทเพลงแต่งใหม่ (Original Composition) หรือ Jazz Tunes แล้ว เพลงสแตนดาร์ดยังเป็นเพลงที่ศิลปินแจ๊สโดยทั่วไป นิยมนำมาบรรเลงตราบจนทุกวันนี้

อย่างไรก็ดี นับจากทศวรรษ 1960s เป็นต้นมา ค่านิยมของคนหนุ่มสาวอเมริกันเปลี่ยนแปลงไปจากคนรุ่นพ่อแม่อย่างเห็นได้ชัด ภายใต้บริบทสังคมการเมืองแบบใหม่ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ตามด้วยคลื่นสงครามเย็นที่แผ่ขยายครอบคลุมทั้งโลก การเกิดขึ้นของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์มาพร้อมกับวิญญาณขบถ พวกเขาตั้งคำถามต่อจารีตและค่านิยมต่างๆ จนส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมและผลงานสร้างสรรค์ต่างๆ ในทางดนตรี ได้เกิดงานเพลงรูปแบบใหม่ๆ เช่น เพลงร็อคแอนด์โรลล์ , โฟล์คร็อค , ฮาร์ดร็อค, ไซคีเดลิกร็อค ฯ ตามมาแบบพรั่งพรู

ในบางมุมมอง บทเพลงสแตนดาร์ดที่ทรงคุณค่าของนักแต่งเพลงเดิมๆ อย่าง เกิร์ชวิน , เจอโรม เคิร์น, เออร์วิง เบอร์ลิน, โคล พอร์เทอร์, แฮโรลด์ อาร์เลน, ร็อดเจอร์สแอนด์ฮาร์ท ฯลฯ กลายเป็นสิ่งที่ “พ้นสมัย” ในสายตาของคนหนุ่มสาวยุคบุปผาชน ในเมื่อพวกเขามีเพลงประจำตัว อย่าง Blowin’ in the Wind ของ บ๊อบ ดีแลน , The Sound of Silence ของไซมอนแอนด์การ์ฟังเกิล, California Dreamin’ ของ เดอะมามาส์แอนด์เดอะปาปาส์, Break on Through ของ เดอะดอร์ส จนถึง Here Comes the Sun ของเดอะ บีเทิลส์ ที่สื่อถึงความรู้สึกของยุคสมัยได้มากกว่า ทั้งหมดนี้นับเป็นการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมงานเพลงอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ดี แจ๊สยังต้องดำเนินต่อไป นับจากไมล์ส เดวิส (Miles Davis) ที่ตัดสินใจหยิบเพลงป๊อป “นอกกลุ่มเพลงสแตนดาร์ด” มาบรรเลง เพื่อสื่อสารกับคนฟังรุ่นใหม่ เช่น เพลง Human Nature ของ ไมเคิล แจ็คสัน และ Time After Time ของ ซินดี ลอเปอร์ แล้ว อดีตนักเปียโนในวงของเดวิส อย่าง เฮอร์บี แฮนค็อก (Herbie Hancock) ก็พยายามหยิบเอาบทเพลงป๊อป “นอกกลุ่มเพลงสแตนดาร์ด” ในยุคหลังๆ มาตีความและจัดการเรียบเรียงเสียใหม่ (re-harmonization) เพื่อให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของแจ๊สด้วยเช่นกัน (รวมถึงศิลปินคนอื่นๆ อีกมาก)

เฮอร์บี แฮนค็อก เรียกเพลงกลุ่มนี้ว่า The New Standard โดยในอัลบั้มชื่อเดียวกันที่ออกวางขายในปี ค.ศ. 1996 มีเพลงอย่าง Norwegian Wood ของเดอะ บีเทิลส์, Thieves in the Temple ของพรินซ์ และแม้กระทั่ง All Apologies ของ เนอร์วานา วงกรันจ์ร็อคแห่งยุค 1980-90s ที่นำโดย เคิร์ต โคเบน

ทั้งหมดนี้ เสมือนคำบอกกล่าวให้เราเข้าใจว่า “แจ๊ส” หยิบเอา “วัตถุดิบ” แบบใดก็ได้มานำเสนอ เพื่อเป็น “สแตนดาร์ด” ในรูปรอยและครรลองของตัวเอง