360 องศา  ตามหาคนติด“ถ้ำ”

360 องศา  ตามหาคนติด“ถ้ำ”

พิกัดภูมิศาสตร์ หนึ่งในสรรพวิชาที่นำมาใช้ค้นหา 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง ซึ่งวิชาเหล่านี้สามารถช่วยค้นหาตำแหน่งคนที่สูญหายจากภัยพิบัติบนโลกนี้ได้ 

 

“ถ้าเราศึกษาได้เร็ว โอกาสรอดของเด็กๆ ก็เยอะ ตอนนั้นทรัพยากรทุกอย่างในการศึกษา รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญมือหนึ่งของเมืองไทยถูกระดมมาอย่างไม่มีข้อจำกัด ทำให้เราร่นระยะเวลาในการศึกษาถ้ำ เพื่อดูว่า ต้นน้ำมาจากไหน” อนุกูล สอนเอก นักภูมิศาสตร์ และนักสำรวจถ้ำ เล่าถึงการค้นหาทีมหมูป่าอะคาเดมี่ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง ที่ผ่านมา

และไม่ใช่ภูมิศาสตร์อย่างเดียว ยังต้องมีศาสตร์อื่นๆ เข้ามาเกีี่ยวข้อง ไม่ว่าการพยากรณ์อากาศ การศึกษาชั้นหิน ฯลฯ โดยทำงานแบบบูรณาการร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน เนื่องจากเป็นสถานการณ์เร่งด่วน และทุกคนต้องทำงานแข่งกับเวลา ใช้ความรู้ความสามารถเต็มที่ เพื่อที่จะช่วยเด็กๆ ออกมา

แม้ทีมธรณีวิทยา ทีมสำรวจบนภูเขา ทีมภูมิศาสตร์ ทีมสำรวจทางน้ำ จะไม่ใช่แนวหน้าเฉกเช่น นักดำน้ำหรือหน่วยซีล แต่พวกเขามีบทบาทไม่น้อยในการช่วยเหลือ 13 ชีวิตติดถ้ำ ทั้งในเรื่องการทำแผนผังถ้ำ และภาพรวมทางกายภาพของถ้ำหลวง ที่ทำให้หน่วยซีลทำงานภาคสนามได้ง่ายขึ้น

เพราะสภาพความซับซ้อนของถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เทคโนโลยีไฮเทคบางอย่างก็ไม่เหมาะกับการช่วยเหลือชีวิตเด็กๆ ติดถ้ำ แต่สิ่งสำคัญคือ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อประมวลความน่าจะเป็นในการช่วยเหลือเด็กๆ  ไม่ว่าการคำนวณปริมาณน้ำเข้าถ้ำ การทำแผนที่ การดำน้ำที่ต้องใช้ทักษะพิเศษ การหาวิธีเบี่ยงทางน้ำ รวมถึงเครื่องสูบน้ำท่อซิ่งพญานาค ภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนไทย

-1-

เพื่อเป็นบทเรียนให้นักศึกษาคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าใจและเรียนรู้ว่า สิ่งที่พวกเขาเรียนในปัจจุบันจะเป็นพลังสำคัญสำหรับการช่วยชีวิตผู้คนยามฉุกเฉิน เมื่อเกิดภัยพิบัติในโลกใบนี้ ล่าสุดจึงเกิดวงเสวนาเล็กๆ ขึ้น เรื่อง ถ้ำหลวง หลากมิติ จากหลายประสบการณ์

อนุกูล นักภูมิศาสตร์ ที่มีส่วนในการทำแผนที่ถ้ำให้หน่วยซีลทำงานได้ง่ายขึ้น และทำงานประสานข้อมูลกับหลายทีม ทั้งทีมนักธรณีวิทยา ทหารและหน่วยซีล บอกว่า   เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ในยุคที่เครื่องไม้เครื่องมือการสำรวจถ้ำไม่ทันสมัยและไม่พร้อมในทุกๆ เรื่อง เขาออกแบบเครื่องมือเพื่อใช้สำรวจถ้ำเอง 

ครั้งแรกเขาเข้าไปสำรวจถ้ำหลวง ระยะทาง 1 กิโลเมตร และ10 ปีที่แล้วกลับไปสำรวจอีกครั้งระยะทางในการสำรวจ 6 กิโลเมตร

“ตอนที่เกิดเหตุ ผมรู้สึกว่าภาระกิจนี้ไม่เหมาะกับเรา แม้จะมีประสบการณ์สำรวจถ้ำ 27-28 ปี เรารู้ว่า เมื่อไหร่ที่ฝนตกลงมา โถงถ้ำทั้งหมดจะเต็มไปด้วยน้ำ นั่นหมายความว่า นักสำรวจถ้ำที่มีทักษะธรรมดาจะไม่สามารถเข้าไปช่วยได้ ตอนนั้นทีมกู้ภัยมีอยู่เป็นพันคน เราเองก็ไม่รู้จะไปช่วยตรงไหน” อนุกูล เล่า 

แต่ที่สุดแล้ว ความรู้ที่เขาคิดว่า ไม่น่าจะมีประโยชน์ กลับมีประโยชน์มหาศาล ทั้งในเรื่องการทำแผนที่และทำให้ทุกทีมใช้องค์ความรู้ต่อจิกซอว์เข้าหากันได้

นักภูมิศาสตร์ เล่าให้ น้องๆ นักศึกษาฟังว่า ทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติ เขาจะถูกเรียกตัวไปช่วยในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ว่าสถานการณ์ที่รัฐบาลไทยให้ไปร่วมสำรวจพื้นที่กับหน่วยแพทย์ เพื่อช่วยเหลือคนจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่เนปาล ตามหาพิกัดที่เครื่องบินตกที่เขาใหญ่ เขาใช้พื้นฐานการเรียนรู้เรื่องแผนที่ เพื่อประเมินข้อมูลในการเดินทางแต่ละจุด 

“ผมคิดว่า ในเมืองไทยยังต้องการคนที่มีความรู้เรื่องพิกัดทางภูมิศาสตร์เยอะมาก เพราะเมื่อใดที่เกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน ทีมนี้ต้องเข้าไปสำรวจบอกพิกัดให้ทีมค้นหากู้ภัยทำงานได้ ซึ่งเรายังต้องการอาสาสมัครแบบนี้อีกเยอะ และต้องเป็นบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษ”

จากประสบการณ์การช่วยเหลือ 13 หมูป่าติดถ้ำหลวง แม้จะระดมเครื่องไม้เครื่องมือทั้งในประเทศและต่างประเทศมาช่วยโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ แต่น่าเสียดายทรัพยากรบางอย่างก็ถูกใช้ไปอย่างไม่คุ้มค่า

“ตอนนั้นมีทีมกู้ภัยกว่าพันคนขึ้นไปสำรวจถ้ำต่างๆ บนภูเขา ในฐานะคนจัดการข้อมูลทุกอย่างในการสำรวจถ้ำ ผมถามว่า ทุกทีมสำรวจได้เก็บตำแหน่งปากถ้ำทุกแห่งที่เจอไหม คนบนภูเขาสามพันคนมีทั้งหมดสองร้อยทีม ในหนึ่งวัน ทีมเหล่านี้สำรวจถ้ำได้สิบโถง ฐานข้อมูลถ้ำในภูเขามหาศาลขนาดนั้น ผมฟันธงได้เลยว่า ถ้าบนเขามีสิบถ้ำจ ะมีทีมกู้ภัยไปสำรวจซ้ำ เพราะเขาไม่มีความรู้พิกัดทางภูมิศาสตร์ ถ้ามีความรู้ด้านนี้จะจัดการค้นหาได้ง่ายขึ้น เราจะรู้ว่า พื้นที่ตรงไหนทีมสำรวจทำงานไปแล้ว และวันถัดไปไม่ต้องไปสำรวจแล้ว" อนุกูล กล่าว และบอกว่านี่เป็นการเก็บข้อมูลในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งคนเหล่านั้นไม่ได้ถูกฝึกฝนมาเฉพาะทาง และเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย 

"ไม่ว่าคุณจะมีแผนขนาดไหน ถ้าผู้ปฎิบัติงาน ยังไม่สามารถถอดความรู้ทางด้านแผนที่ไปใช้ในการจัดการค้นหาได้ เมืองไทยจะมั่วไปอีก 10-20 ปีข้างหน้า”

-2-

หลังจากเหตุการณ์การช่วยเหลือ 13 หมูป่าติดถ้ำหลวงดังไปทั่วโลก คนทั้งประเทศที่ดูการรายงานข่าวอย่างต่อเนื่องทั้งอาทิตย์ ก็เข้าใจว่า ทำไมต้องมีผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ทั้งนักดำน้ำถ้ำ นักภูมิศาสตร์ นักธรณีวิทยา

“เรื่องการศึกษาถ้ำในเมืองไทยค่อนข้างล้าหลัง เมืองไทยยังไม่มีองค์กรและเครือข่ายนักสำรวจถ้ำ หลังจากถอดบทเรียนแล้ว แม้บ้านเราจะสร้างมาตรการหรือฐานข้อมูลดีแค่ไหน แต่การสำรวจถ้ำต้องเริ่มจากคนที่สนใจ แล้วพัฒนาเป็นนักสำรวจ ทำแผนที่เก็บข้อมูลออกมา  ใครเก่งด้านโบราณคดี ด้านสิ่งแวดล้อม หรือธรณีวิทยา ก็แชร์ข้อมูลกัน โดยมีองค์กรกลางเชื่อมโยงข้อมูลระบบการจัดการถ้ำก็จะมีประสิทธิภาพ”

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า แผนที่ถ้ำที่เผยแพร่ไปทั่วโลก ส่วนหนึ่งมาจากทีมนักภูมิศาสตร์ร่วมกับนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆ โดยการวิเคราะห์สังเคราะห์ออกมา หรือที่เรียกว่าบูรณาการความรู้ เพื่อทำให้ทีมภาคสนามทำงานในพื้นที่ได้ง่ายขึ้น

ย้อนไปถึงภาระกิจที่อนุกูลได้รับมอบหมายในครั้งนั้น ก็คือ หาตำแหน่งที่จะปิดเส้นทางน้ำทั้งหมดที่จะเข้าถ้ำ เพราะคนที่เรียนภูมิศาสตร์จะรู้วิธีสำรวจแหล่งน้ำ แต่เนื่องจากพื้นที่ตรงนั้นเป็นชั้นหินไม่ซึมน้ำ(หินแกรนิต) เวลาไปเดินสำรวจ แทบจะไม่รู้เลยว่า ตาน้ำอยู่ตรงนั้น

เขา เล่าว่า อาจารย์ที่เคยสอนผมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แนะนำว่า ต้องหาข้อมูลชั้นหิน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ละเอียดมากทางธรณีวิทยา เพื่อวิเคราะห์หาพื้นที่ต้องสงสัยที่น้ำไหลลงเยอะที่สุด แล้วค่อยเดินสำรวจ ซึ่งยากมากงานนี้ 

"ตอนนั้นผมถามทางกรมทรัพยาธรณี ก็บอกว่าไม่เคยมีแผนที่แบบนี้ สุดท้ายอาจารย์ชัยพร ศิริพรไพบูลย์ นักธรณีวิทยา ส่งแผนที่ชั้นหินปูนมาให้ ผมก็ขอทีมภาคสนามห้าคน เพื่อทำแผนที่ นี่คือบทบาทผม หน้าที่ผมคือ ทำแผนที่บล็อคตำแหน่งน้ำที่ไหลเข้าถ้ำ ทำข้อมูลทุกอย่างให้หัวหน้าหน่วยซีล และภาระกิจอีกอย่าง หาทางเข้าปลายของถ้ำ กิโลเมตรที่ 10 เพราะเป็นชั้นหินที่บางที่สุดของโครงสร้างถ้ำ 50-100 เมตร มีความเป็นไปได้ที่จะเจาะช่องทางเข้าไปช่วยเด็กๆ ซึ่งตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าเด็กอยู่ตรงไหน

จนกระทั่งนักดำน้ำชาวอังกฤษเจอเด็กๆ ผมก็กลับบ้าน เพราะภาระกิจเสร็จ แต่หัวหน้าหน่วยซีลตามตัวกลับมา เพราะสถานการณ์วิกฤติ เนื่องจากอากาศในถ้ำเหลือ 10 เปอร์เซ็นต์คนในถ้ำและหน่วยซีลต้องใช้ออกซิเจนตลอด เมื่อไหร่ที่เราไม่สามารถลดระดับน้ำ ให้อากาศเข้าไปก็ยังมีปัญหา จึงมีความพยายามต่อท่ออากาศและโทรศัพท์สนาม โดยใช้คนทำงานเป็นพันๆ แต่ปัญหาคือ ถ้าโถง 3 ยังมีน้ำท่วม ภาระกิจนี้ก็ไม่สำเร็จ และต้องทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้”

-3-

ถ้าจะทำความรู้จักกับถ้ำหนึ่งถ้ำ สำหรับนักสำรวจถ้ำ คงไม่ใช่แค่หนึ่งปี ต้องใช้เวลาศึกษา 5-10 ปี และถ้ำหลวงก็เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากมีความซับซ้อน และต้องศึกษาแบบเร่งด่วน ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า น้ำในถ้ำมาจากไหน

หลังจากพบว่า เด็กๆ อยู่ในพื้นที่ส่วนไหนของถ้ำ ข้อมูลทุกอย่างก็ได้ใช้ในภาระกิจนี้ อย่างการคำนวณปริมาณน้ำฝน หลังจากควบคุมปริมาณน้ำได้ ทีมภาคสนามก็ประกาศดีเดย์ในการนำเด็กออกมา ทีมดำน้ำจากอังกฤษสี่คนเอาเด็กออกมาตัวต่อตัว โดยใช้ทีมหน่วยซีลอีก 70 คนช่วยตามเส้นทาง เนื่องจากทีมดำน้ำทั้งสี่คน สามารถดำน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยไม่โผล่เหนือน้ำเลย 7 ชั่วโมง ซึ่งเป็นระบบดำน้ำระบบปิด

“การช่วยเหลือทีมหมูป่าเป็นภาระกิจที่ยากที่สุดในโลก ซึ่งทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติ ผมก็ต้องไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย คนทำงานแบบนี้จึงต้องมีพื้นฐานแผนที่ เพื่อใช้ในการประเมินข้อมูลในการค้นหาแต่ละจุด ตอนผมไปทำงานที่เนปาล อาจารย์ที่เคยสอนผมที่ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนับสนุนให้ผมไปทำงานช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่เนปาลสองอาทิตย์ ตอนนั้นผมไปฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่สนับสนุนทีมแพทย์" 

      เขาบอกว่า ทุกการเดินทางต้องเตรียมพร้อม ไม่ว่าจะเดินป่า ล่องแก่ง เที่ยวถ้ำ สิ่งแรกที่ควรรู้ทำคือ หาความรู้พื้นฐาน ความรู้ทางกายภาพแหล่งที่เราจะไปให้ครบ ยกตัวอย่างเรื่องถ้ำ

       "ถ้าจะเที่ยว ก็ควรรู้ว่า อันตรายในถ้ำที่ต้องเจอคืออะไร ถ้าจะเดินทางป่า ก็ต้องถามตัวเองก่อนว่า พื้นที่ที่เราไปเดิน มีอันตรายตรงไหน ส่วนใหญ่จะคิดว่า อยากไปถ่ายรูป เซลฟี่ตรงไหนอย่างแรกที่ต้องถามตัวเองก็คือ พื้นที่ที่เราจะไปมีความเสี่ยงอย่างไร เมื่อมองเห็นความเสี่ยงแล้ว คุณจะสามารถจัดการกับความเสี่ยงได้ 

        ยกตัวอย่างจะไปเที่ยวถ้ำ ก็ต้องหาข้อมูลว่ามีลำห้วยด้านในไหม พอรู้แล้ว ก็จะรู้ว่า อาจเกิดน้ำท่วมในฤดูฝนได้ ถ้าไปเที่ยวถ้ำหน้าฝนต้องสังเกตว่า ผนังถ้ำมีเศษไม้แห้งไหม เพดานถ้ำด้านบนมีโคลนติดไหม นั่นหมายว่าจุดที่คุณยืนอยู่ เมื่อไหร่ที่น้ำมา อันตรายมาก"

         อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ เขาบอกว่า ไม่ว่าเดินป่า ขึ้นเขา ลงห้วย เดินตามแม่น้ำ ลำธาร หุบเขา และถ้ำ ทุกอย่างมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ให้เราสังเกต 

         “ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ เราจะเข้าใจความเสี่ยง และจะสามารถลดความเสี่ยงได้”

20180702163254446