รู้หน้า...ไม่รู้'จีน' ย้อนเกล็ดมังกร กับ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ

รู้หน้า...ไม่รู้'จีน' ย้อนเกล็ดมังกร กับ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ

มองไปทางไหนก็เห็นแต่คนจีน ทัวร์จีน ธุรกิจจีน สังคมไทยพร้อมรับมือกับการแผ่อิทธิพลของมังกรหลากสีเหล่านี้แค่ไหน อ่านทัศนะจากผู้เชี่ยวชาญอุษาคเนย์

ดังคำกล่าวของซุนวู “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”

แม้จะไม่ได้กางตำราพิชัยสงคราม แต่ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็จับตามองจีนมาตลอดหลายทศวรรษ ทั้งจากความตั้งใจที่จะ ‘รู้เขา’ และสิ่งที่เรียกว่า ‘กับดัก’ ทางวิชาการ

คลุกวงในแดนมังกรจนมีผลงานออกมามากมายทั้งในประเด็นเศรษฐกิจทุนนิยมจีน และความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศลุ่มน้ำโขง ก่อนจะมารับหน้าที่หัวหน้าโครงการวิจัยระดับนานาชาติ ในชื่อ ‘มังกรหลากสี : การขยายอิทธิพลเหนือดินแดนและพันธกิจเผยแผ่อารยธรรมในอุษาคเนย์’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว กระทั่งปัจจุบันกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของโลก การพัฒนาและขยายตัวทางเศรษฐกิจภายใต้นโยบาย‘ออกไปข้างนอก’นี้ ส่งผลต่อประเทศต่างๆ ในอุษาคเนย์ ซึ่งหมายถึง เมียนมา ลาว เขมร เวียดนาม และไทยอย่างมีนัยสำคัญ คำถามก็คือ เรามีความรู้เกี่ยวกับจีนมากพอที่จะ ‘ตั้งรับ’ หรือแม้แต่ ‘รุกกลับ’ แล้วหรือ หรือเรายังมีแต่ ‘อคติ’ และ ‘ความไม่รู้’ กับการต่อสู้อย่างไร้กระบวนท่าในสมรภูมินี้

40337356_730933227248049_2469345202922323968_n

อาจารย์เริ่มสนใจศึกษาเรื่องจีนตั้งแต่เมื่อไหร่

ผมสนใจจีนมาตั้งแต่ ค.ศ. 1980 ตอนนั้นเรียนปริญญาเอก แล้วผมจะไปทำวิจัยที่เมืองจีน ซึ่งจริงๆ ผมไม่ได้สนใจเรื่องจีน สนใจเรื่องชนกลุ่มน้อยในจีน เพราะว่าอยากจะเปรียบเทียบว่าในประเทศคอมมิวนิสต์ เขาปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยอย่างไร เพราะบ้านเราเดี๋ยวก็ไล่ เดี๋ยวก็กล่าวโทษว่าตัดป่า ปลูกฝิ่น อยากไปดูว่าจีนเขามีนโยบายเรื่องชนกลุ่มน้อยอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกไทใหญ่ ไทลื้อ ที่อยู่ในจีนตั้งหลายล้านคน แต่ตอนนั้นถ้าจะไปก็ต้องรู้ภาษาจีนบ้าง รู้ประวัติศาสตร์จีนด้วย ก็เลยไปเรียนอยู่สักพัก จนกระทั่งมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดไปเขียนบทความเกี่ยวกับการทำแท้งของจีน จีนโกรธ แล้วก็ขับคนอเมริกันออก ผมก็ไปไม่ได้ เพราะผมเรียนอยู่ที่อเมริกา ได้ทุนจากมูลนิธิในอเมริกา

แล้วก็มาสนใจอีกทีตอนไปทำงานกับอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อาจารย์ทำเรื่องเกี่ยวกับคนไทยนอกบ้าน ผมไปทำวิจัยที่จีนอยู่ 2 ซัมเมอร์ ตอนนั้นยังไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนอะไร ประเด็นที่เราสนใจส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของการเมืองภายใน ปัญหาชนกลุ่มน้อยเป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนหลังพอมาอยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วเราเริ่มทำโครงการสอนเป็นภาษาอังกฤษ เป็นอินเตอร์เนชั่นแนลโปรแกรม ก็มีนักศึกษาจากจีนตอนใต้ จากเวียดนาม พม่า ไทยมาเรียน เวลานักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ อาจารย์ที่ปรึกษาต้องไปดูพื้นที่ เราก็ได้ไปเรียนรู้แล้วก็เห็นมาโดยตลอดว่า จีนเริ่มลงมาในเวียดนาม ลงมาในพม่า ในลาว ใกล้บ้านเรามาก เริ่มมีคนเข้ามาลงทุน ส่งเสริมให้คนลาวปลูกยาง 

ฉะนั้นไอ้ความสนใจเรื่องจีน ผมสนใจอิทธิพลที่จีนมีต่อภูมิภาคของเราเป็นหลัก ไม่ได้สนใจจีนในตัวของจีนเอง แล้วผมก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจีน ถ้าจัดทางวิชาการเขาเรียกว่าเป็น Southeast Asianists ผู้เชี่ยวชาญเอเชียอาคเนย์ หรืออุษาคเนย์ 

มันก็เลยเหมือนกับคุณพลัดหลงเข้าไปในกับดักอะไรบางอย่าง ไปอยู่ใน maze (เขาวงกต) ที่มันหาทางออกไม่ได้ เพราะจีนนี่มันซับซ้อนมาก แล้วก็ติดกับดักนี้มาสิบกว่าปีแล้ว แต่ถ้าให้เริ่มใหม่ผมไม่ทำหรอก เพราะมันเหนื่อย... หนังสือปีนึงเป็นร้อยๆ เล่มที่คุณต้องตาม ไหนจะต้องทำวิจัย ซึ่งมีเรื่องให้ทำเยอะมาก มันหยุดไม่ได้ แล้วตอนนั้นผอ.สกว. ฝ่าย 1 เขาก็มาชวน ไอ้เราก็ติดกับอีกก็เลยทำมาเรื่อย

คำว่า มังกรหลากสี ในงานวิจัยชุดนี้กำหนดนิยามไว้อย่างไรคะ

สี คือ นโยบาย ประเด็นที่อยากจะบอกก็คือว่า จีนมีนโยบายหลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับว่าจีนดีลกับประเทศไหน นโยบายของจีนต่อลาว ไม่เหมือนกับนโยบายของจีนที่มีต่อกัมพูชา ไม่เหมือนกับพม่า ไม่เหมือนกับมาเลย์ ไม่เหมือนกับไทย เพราะฉะนั้นเราต้องทำการบ้าน จีนทำการบ้านเยอะมาก เราต้องเรียนรู้สิ่งที่ดีจากเขา แล้วเราก็ต้องเข้าใจวิธีคิดของจีน เพราะว่าเขากำลังจะเป็นมหาอำนาจของโลก เขากำลังจะมีอิทธิพลต่อภูมิภาคนี้ ขณะที่อเมริกาเริ่มเสื่อมลงๆ จีนจะผงาดขึ้นเรื่อยๆ แล้วอเมริกาสู้จีนไม่ได้หรอกในแง่ของเศรษฐกิจ ฉะนั้นคำว่า หลากสี หมายถึงนโยบายที่ค่อนข้างซับซ้อน แล้วผมก็พยายามจะชี้ชวนว่า เราจะเข้าใจจีนได้อย่างไร เราจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร หน้าที่ของนักวิชาการคือ การให้ข้อมูล ให้แง่คิดกับสาธารณชน

อาจารย์มองว่าทุนจีนหรือผู้ประกอบการจีนมีอัตลักษณ์แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ อย่างไร

คุณต้องเข้าใจว่าจีนเขาผ่านความเคี่ยวกรำมาตั้งแต่ปลายราชวงศ์ชิง ในยุคที่เราตั้งกรุงศรีอยุธยานั่นแหละ จนกระทั่งการเข้ามาของอาณานิคมที่ทำให้จีนตกเป็นเมืองขึ้นทั้งของอังกฤษและอีกหลายชาติในยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย จีนต้องเจอกับการล่มสลายของระบบราชวงศ์ เจอกับสงครามกลางเมือง เจอสงครามโลก 2 ครั้ง เจอสงครามกับญี่ปุ่น 2 ครั้ง เจอภัยพิบัติทางการเกษตร... พูดง่ายๆ คือตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึง ค.ศ.1949 ที่คอมมิวนิสต์ยึดประเทศได้ จีนระส่ำระสายมาตลอด เป็นเหมือนกับรัฐแห่งความตื่นตระหนก ประชากรไม่เคยมีความสุขเลย มีแต่สงคราม มีแต่ความอดอยาก เฉพาะสงครามกับญี่ปุ่นอย่างเดียว คนตายไปหลายสิบล้านคน เพราะฉะนั้นพอคอมมิวนิสต์ขึ้นมา สิ่งที่เขาพยายามจะทำก็คือ ตอบโจทย์แรกว่าทำอย่างไรให้จีนพออยู่พอกิน ไม่อดอยาก คนมีความสุข ทำอย่างไรจะพัฒนาตัวเองขึ้นมา มันเริ่มตั้งแต่ศูนย์ เริ่มตั้งแต่ฐานราก แล้วก็ไม่ค่อยจะพอกินนะ

ไอ้ความระส่ำระสายเนี่ยมันทำให้คนของเขาผ่านความเคี่ยวกรำ ผ่านความอดอยากมา แต่เขามีผู้นำที่เข้มแข็ง ประธานเหมาเป็นผู้นำที่เข้มแข็งมาก ทำอะไรเพื่อประเทศชาติจริงๆ ก็ปูพื้นฐานของการผลิตในพื้นที่

อย่างสิ่งที่เขาเรียกว่าการก้าวกระโดด เขาทำอย่างนี้ ทุกหมู่บ้านต้องถลุงเหล็กเป็น ต้องผลิตเครื่องมือเครื่องใช้เป็น อันนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้จีนก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม มันเป็นฐานการผลิตของประเทศ ซึ่งไม่ได้กระจุกตัวอยู่เฉพาะเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น เมื่อทุกเมืองทุกหมู่บ้านผลิตได้หมด คนก็พัฒนาขึ้นจากการผลิต แล้วพอมาถึงยุคหลังจากประธานเหมา จีนเปลี่ยนนโยบาย เพราะว่าการผลิตภายในมันอิ่มตัว มันไม่สามารถจะพัฒนาไปได้อีกแล้ว

ฉะนั้นพอเติ้งเสี่ยวผิงมา เปลี่ยนนโยบายเป็นเปิดประเทศ สวมกอดทุนนิยม ค้าขายกับต่างประเทศ มันบูมขึ้นมาทันทีเลย เพราะว่าภายในมันผลิตมาเกินอยู่แล้ว เราจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ค.ศ. 1978 เป็นต้นมา สินค้าจีนมันเริ่มทะลักออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศยากจน ประเทศที่ต้องการซื้อสินค้าราคาถูก จีนซัพพลายสิ่งเหล่านี้ เสื้อผ้าราคาถูก เครื่องมือเครื่องใช้เครื่องจักรราคาถูก กลายเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของโลก แล้วประกอบกับช่วงนั้นจีนก็ไปจีบคนจีนโพ้นทะเลที่ไปอยู่ในอุษาคเนย์ ในสิงคโปร์ มาเลเซีย เราจะเห็นว่าคนจีนนอกบ้านแห่กลับไปลงทุนกัน เพราะว่าได้เปรียบทางภาษี มีความช่วยเหลือจากรัฐบาล การลงทุนจากต่างประเทศก็ไหลเข้าอย่างมากมาย นี่ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญ ประกอบกับจีนมีต้นทุนที่ต่ำ ค่าแรงถูก ไม่ค่อยห่วงใยเรื่องมลภาวะเท่าไหร่ การผลิตมันก็ก้าวกระโดด เพราะว่าเน้นแต่เรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก 

กว่าจีนจะมารู้ตัวว่า สภาพแวดล้อมกูฉิบหายแล้ว ก็นานมาก แต่ตอนนี้คุณไปดูสิ ปักกิ่งเริ่มไล่แล้ว ถ่านหินไม่ให้ใช้ แต่บ้านเรายังใช้อยู่ เรายังจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จีนเขาเริ่มไม่ให้ใช้แล้ว เพราะเขารู้ว่ามันเสี่ยงต่อการสร้างมลภาวะ แต่เรานี่ไม่เคยเรียนรู้เลย

ถือว่าจีนค่อนข้างปรับตัวเร็ว?

จีนเป็นคนที่ฉลาด เขาปรับตัวเร็ว แล้วเขามีความรักชาติ ตั้งแต่ ค.ศ.1949 เป็นต้นมา เขาปูพื้นฐานการศึกษาใหม่ เขาสอนให้คนรักชาติ ให้คนยึดมั่นในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แต่พอ ค.ศ.1978 เขาเปลี่ยนอีกที ก็ทิ้งคอมมิวนิสต์แล้วหันมาสร้างชาตินิยมใหม่ ไปเอาขงจื้อกลับมา ที่จริงจีนไม่ได้สนใจหรอก แต่เอากลับมาเป็นเหมือนสัญลักษณ์ ปราชญ์จีนโบราณ แต่วิธีคิดมันไปไกลกว่านั้นเยอะแล้ว ฉะนั้นการก้าวกระโดดตรงนี้มันมีเงื่อนไขอยู่หลายอย่าง มีเงื่อนไขอยู่ที่ฐานการผลิต มีเงื่อนไขที่ตลาดขนาดใหญ่มาก พอคนเริ่มมีงานทำมันมีกำลังซื้อ ก็ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ประกอบกับส่งออกได้เยอะ ใครๆ ก็ซื้อสินค้าจีน ฉะนั้นมันก็โตเร็ว เศรษฐกิจก็เลยบูมขึ้นมา ปัญหาของจีนตอนนี้คือเงินเยอะไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยต้องออกไปลงทุนนอกประเทศ ตามนโยบายออกไปข้างนอก เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและวัตถุดิบ

จริงๆ การเคลื่อนย้ายของทุนจีนก็มีมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในไทย แต่ช่วงนี้เหมือนถูกจับตามองมากขึ้น ประเมินว่าเป็นเพราะอะไร

ตัวเลขมันกระโดดมาตั้งแต่ ค.ศ. 1997 ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ตอนนั้นจีนพลิกโฉมความสัมพันธ์ด้านต่างประเทศ ปีนั้นไม่มีใครช่วยเราเลย แต่จีนช่วย มันเปลี่ยนเลย ไมตรีจิตทำให้ความหวาดระแวงอะไรต่างๆ เริ่มละลายไป ฉะนั้นพอความสัมพันธ์ดีขึ้นปุ๊บ เงินก็ไหลมาในรูปของการค้าการลงทุน เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดเลย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจีนก็เลยกลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ประเทศหนึ่งในอาเซียนมาโดยตลอด ให้ความช่วยเหลือทั้งแบบมีเงื่อนไขและให้เปล่า

การเคลื่อนย้ายของทุนจีนมีมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ว่าคนเพิ่งจะมาเห็นหรือจับตามองในช่วงหลังๆ เพราะอย่างคุณไปแถวห้วยขวาง ไม่มีทางที่จะไม่เห็นหรอกว่าคนจีนมาเต็มไปหมด มหาวิทยาลัยอย่างมช.มีนักศึกษาจีน 2,000 กว่าคนนะ เดินไปไหนก็เจอ บางทีนักศึกษามาเรียนเป็นไซด์ไลน์ อาชีพหลักคือขายคอนโด เป็นอาชีพยอดฮิตเลย แล้วก็เป็นนอมินีคอยช่วยเหลือคนจีนมาลงทุน มันก็เลยทำให้ตอนหลังเราเห็นมากขึ้น คนก็เริ่มเฮ้ย...มันมาเยอะนะ จริงๆ มาตั้งนานแล้ว

จากการศึกษาของอาจารย์มีสัญญาณอย่างที่หลายคนกังวลมั้ยคะว่าจะเป็นการครอบงำทางเศรษฐกิจสังคม

คนไทยมันดราม่า คิดแบบนี้ผมอยากจะเรียกว่า สิ้นคิด มันไม่ได้ทำให้เกิดผลดีอะไรขึ้นมาเลย มองคนนี่ผมคิดว่าต้องมองหลายด้าน จริงๆ ต้องเน้นด้านบวกด้วยซ้ำไป คำถามก็คือจะเรียนรู้อะไรจากเขาได้ อะไรที่เราเอามาใช้ได้ อะไรที่เป็นประโยชน์กับเรา อะไรที่เขาทำไม่ดีเราก็ต้องมองให้เห็น

40388870_916229395241559_5104188032769064960_n

สมัยก่อนคนจีนเข้ามาในมช.กันเยอะมาก มันเป็นหนึ่งใน agenda ว่าถ้ามาเชียงใหม่แล้วต้องมาใส่ชุดนักศึกษา มาถ่ายรูป บางทีมาจูบกันแล้วก็ถ่ายรูปพรีเวดดิ้ง สมัยนู้นผมสอนๆ อยู่บางทีเดินเข้ามาในห้องเรียนเลยนะ มากินข้าวในโรงอาหารนักศึกษา เด็กบ่นเลยไม่มีที่กิน เราก็ให้ยามปิดเลย ถ้าคนจีนเข้ามาปุ๊บ พูดไทยไม่ได้ให้นั่งรถเลย เก็บหัวละ 50 บาท แล้วก็บริหารจัดการไป เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร เขาโอเค ในทางตรงกันข้าม ผมคิดว่าคนจีนค่อนข้างจะมีระเบียบ ถ้าเราบอกเขาว่ากฎมีอย่างนี้นะ เขาจะทำตาม เพราะเขาเคยชินกับการต้องทำตามกฎอยู่แล้ว

ปัญหาคือบ้านเรายังตั้งกฎไม่ทัน?

เหมือนกับการขับรถเข้ามาเหมือนกัน ช่วงนึงเราก็ปล่อยให้เข้ามา อยากได้เงิน ทีนี้เข้ามากันเป็นหมื่นๆ คันเลย ยุ่งเลย รถติดรถชนกันวุ่นวาย พอจัดระเบียบเขาก็ไม่มา พอมายากเขาก็ไม่มา มันอยู่ที่เรา เราต้องจัดระเบียบของเราเองก่อน เราดูแลพอหรือยัง...ต้องถามตัวเอง นอมินีเหมือนกัน บ่นจังเลย นอมินีที่ไหนก็มี ทำไมคุณไม่คุม

เท่าที่ติดตามสถานการณ์มาตลอด อะไรคือความท้าทายในกรณีการหลั่งไหลเข้ามาของคนจีน-ทุนจีนคะ

ความท้าทายก็คือ ความวิตกจริตของคนไทยนี่แหละ ความไม่ตระหนักของไทยว่าตัวเองไม่มีความรู้เกี่ยวกับเขา แต่ด่าเขาตลอด ความท้าทายไม่ได้อยู่ที่จีน คุณลองนึกภาพสิว่าการมาค้าขายนอกบ้านมันเสี่ยงแค่ไหน พูดง่ายมากว่ามาแต่งงานกับคนไทย โดนโกงง่ายมากนะ คือพูดกันแบบเหมือนละครน่ะ ไอ้ฝรั่งที่ว่าฉลาดๆ หมดตัวไปเท่าไหร่แล้ว เขามาอยู่ในสถานะของคนที่อพยพออกมา ไม่ว่าจะชาติไหน ปีไหน มันมีลักษณะร่วมกันก็คือ ต้องขยัน อย่างคนอีสานบ้านเราเหมือนกัน พออพยพไปอยู่เมืองนอก โอ้โห ขยันโคตร เราชอบมองคนอีสานขี้เกียจ ซึ่งอันนี้เป็นความคิดที่เลวร้ายมากนะ

ตอนนี้ในโลกไม่มีประเทศไหนเกินจีนในเรื่องศักยภาพการแข่งขัน เราต้องมองด้านบวก ฉะนั้นการที่มีคนจีนอยู่ในเมืองไทยมันก็เป็นโอกาสดี แทนที่จะไปเกลียดเขา ไปด่าเขา ไปถ่ายคลิปคนจีนตักกับข้าว คนจีนกินบุฟเฟ่ต์ บอกโอ๊ย...น่าเกลียด เรียนรู้สิ่งดีๆ ของเขาสิ ชวนเขามาลงทุน ชวนเขามาทำธุรกิจ อันนี้จีนชอบนะ

อะไรคือสิ่งที่คนไทยควรเรียนรู้จากจีนเป็นอันดับต้นๆ

ถ้าคุณไปดูคนจีนดีๆ คนจีนรักชาติ รักพวกพ้อง คนจีนไม่ค่อยทะเลาะกันนะ เห็นเขาคุยกันโขมงโฉงเฉง เขาไม่ได้ทะเลาะกันนะ ไปไหนเขาช่วยกัน คนไทยนี่ไม่ค่อยรักกันหรอก ทำอย่างไรเราถึงจะมีชาตินิยมด้านบวก อันนี้คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากจีน ชาตินิยมจีนนี่แรงมาก คุณไปด่าคนจีน ไปด่าชาติจีน เขาเถียงแทนเลย แล้วเขาเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ประเทศมีปัญหาคนจีนช่วยทันที อีกอย่างคนจีนให้ความสำคัญกับการศึกษา สังคม เรานี่นะอะไรก็ให้วัด พอสักทีเถอะมันเยอะมาก คุณสร้างพิพิธภัณฑ์ดีมั้ย สร้างโรงเรียนมั้ย สร้างห้องสมุดมั้ย

ในมุมของอาจารย์ ทุนจีนก็ไม่ได้น่ากลัวกว่าทุนอื่น?

เราต้องเรียนรู้ที่จะไม่ให้ผู้นำของเราคอร์รัป เพราะถ้าผู้นำคอร์รัปปุ๊บ ฉิบหายเลยนะ จีนจะรู้และใช้โอกาสตรงนี้ สัญญาเช่า 99 ปีอะไรเนี่ย วิธีคิดแบบนี้ต้องเลิก ประเทศไทยไม่ได้มีที่ดินมากมายขนาดนั้น คุณจะให้ต่างชาติเช่า 99 ปีได้ยังไง แล้วคนไทยอยู่ตรงไหน แค่นี้ที่ดินก็กระจุกตัวอยู่ในมือคนรวยพอแล้ว คุณยังแก้ไม่ได้เลย แล้วคุณเอาที่ดินไปให้เขาเช่า ใครได้ค่าเช่าล่ะ นโยบายแบบนี้มันไม่มีประโยชน์ เราต้องรู้เท่าทัน คนของเราจะต้องนึกถึงผลประโยชน์ของชาติ นึกถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งอันนี้ไปโทษจีนไม่ได้ ถ้าเขามีจังหวะ เขาได้เขาก็เอา...ใช่มั้ย สาธารณชนต้องจับตาดูว่า เซ็นต์โครงการนี้แล้วใครได้ประโยชน์ เราจะต้องตามข้อมูล สื่อต้องทำงาน ต้องบอกชาวบ้าน

ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้งหรือลากตั้ง ได้จากจีนหมดเลย ตั้งแต่สมัยแม้วแล้ว เอาใจจีนเยอะเกินไป เราจะต้องมีกรอบที่ชัดเจนว่าอะไรได้ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจีนก็จะใช้สิ่งที่เรียกว่า ซอฟพาวเวอร์ ไม่มีอะไรมาก วันนี้ไม่ให้ใช่มั้ย พรุ่งนี้มาใหม่ให้มากขึ้น จนกว่าจะเซย์เยส นั่นแหละซอฟพาวเวอร์ ตื้อ แล้วก็ให้ผลประโยชน์

คือตอนนี้สิ่งที่จีนต้องการที่สุดก็คือ ไม่ต้องการให้ใครมาปิดล้อมจีน เพราะฉะนั้นเขาต้องยึดมาให้หมด การขยายอิทธิพลเหนือดินแดนเป็นนโยบายหลักของจีน แต่สมัยนี้มันไม่ได้ยึดเป็นอาณานิคมเหมือนอย่างสมัยก่อน ยึดทางเศรษฐกิจ คุณปล่อยให้เขายึดได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ต้องถาม

ถ้าอย่างนั้นอะไรคือคำแนะนำสำหรับภาคเอกชนไทย รวมไปถึงภาครัฐในการรับมือจีน

เอกชนต้องมี social responsibility กับผลประโยชน์ของชาติมากขึ้น อย่ามองแต่กำไร จะต้องตอนแทนให้สังคมอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่มุ่งเอาแต่กำไรอย่างเดียว คนไทยด้วยกันเองก็อย่าฟันกันให้มากนัก กับรัฐบาลเนี่ย คำแนะนำของผมอันเดียวคือ ไปเหอะ...ไปได้แล้ว

โดยสรุปในงานวิจัยมังกรหลากสีฯ ต้องการบอกกล่าวอะไร

ชื่อก็บอกแล้ว การเผยแผ่อิทธิพลจีนเหนือดินแดนในอุษาคเนย์ นี่คือสิ่งที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ อิทธิพลจีนมาแน่ จริงๆ คือมาแล้ว เราจะรับมืออย่างไร จะปรับตัวอย่างไร มีนโยบายอะไรที่จะไปต่อรองกับเขา โลกนี้มันคือโลกของการต่อรอง คุณมีความรู้อะไรที่จะไปต่อรองกับเขา คุณรู้จักเขาไหม เรื่องพวกนี้เราศึกษาหมด มีรายละเอียดมีเคสให้ดู ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเอาไปใช้หรือเปล่า