ศิลปินแห่งก้อนดิน

ศิลปินแห่งก้อนดิน

ผลงานการออกแบบเซรามิกโดยนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการสำหรับศิษย์เก่าที่เรียนด้านการออกแบบเซรามิกเพื่อการประกอบอาชีพ

“เราต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับคนในสังคมเมือง ที่ทุกวันนี้ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ วุ่นวายอยู่แต่กับการทำงาน ซึ่งอาจนำไปสู่ความเครียดและปัญหาสุขภาพจิต เราอยากสร้างพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ให้แทรกเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนเมือง ด้วยเหตุนี้ จึงทำผลงานออกมาในรูปแบบของชุดเลี้ยงต้นไม้ในขวดโหลที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน” เป็นความคิดของ ณัฐพล สุขโข นักออกแบบเซรามิกและผู้ก่อตั้งแบรนด์ ดินเดิม บ้านช่างปั้น เจ้าของผลงานเซรามิกในรูปของกระถางใบเล็กสำหรับปลูกต้นกระบองเพชรและต้นไม้เล็กๆ ไว้ตั้งบนโต๊ะทำงาน หรือบนชั้นวางตามมุมต่างๆ ในบ้าน คอนโดมิเนียมซึ่งมีพื้นที่จำกัด เพื่อสร้างความสดชื่นจากสีเขียวของธรรมชาติให้กับพื้นที่

กระถางเซรามิกใบเล็กๆ หาได้ทั่วไป แต่ณัฐพลสร้างความแตกต่างให้กับกระถางเซรามิก ‘ดินเดิม บ้านช่างปั้น’ ของเขา ด้วยการนำเทคนิค รากุ (raku) มาใช้ในกระบวนการผลิต

AA1

AA2

กระถางเซรามิกสำหรับปลูกต้นไม้ของแบรนด์ ‘ดินเดิม บ้านช่างปั้น’ ซึ่งเผาด้วยเทคนิค รากุ สร้างความสวยงามแปลกตา

รากุ เป็นเทคนิคการเผาเครื่องปั้นดินเผาแบบหนึ่งของญี่ปุ่น ได้รับการคิดค้นขึ้นในศตวรรษที่ 16 เพื่อใช้ทำ ‘ภาชนะ’ ในพิธีชงชา หลังจากที่ชาวญี่ปุ่นเริ่ม ‘อิ่ม’ กับรูปลักษณ์ภาชนะชงชาที่ดูลงตัวไม่มีที่ติของถ้วยชาแบบจีน 

เนื่องจากการเผาเครื่องปั้นดินแบบ ‘รากุ’ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับผู้เผาและความชำนาญ ว่าต้องการให้ชิ้นงานออกมาในลักษณะใด เช่น ทำให้ดินแห้งก่อนเข้าเตาเผา เมื่อเคลือบเสร็จแล้วก็นำเข้าเตาเผาที่อุณหภูมิ 1100 องศาเซลเซียส เมื่อคีบออกมาจากเตา อาจนำไปหมกในแกลบ รมควันด้วยใบไม้แห้ง รมควันด้วยกระดาษ หรือทำให้เย็นตัวอย่างรวดเร็ว สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีผลต่อชิ้นงาน เช่น เกิดสีสันใหม่ๆ เกิดเขม่าจับ เกิดรอยแตก รอยร้าว เห็นเนื้อดินที่ปริแตกเป็นบางส่วน หรือเกิดการไหลร่นของสีเคลือบไปตามรอยปริแตกบนชิ้นงาน บางทีตั้งใจอยากให้ชิ้นงานเป็นแบบนี้ แต่ได้ชิ้นงานอีกรูปแบบ

นี่คือเสน่ห์เฉพาะตัวของ ‘รากุ’ 

จุดด้อยที่กลายเป็นจุดเด่น ไม่มีอะไรแน่นอน ความงามจากความไม่สมบูรณ์ ของเทคนิค ‘รากุ’ ดูราวจะสะท้อนปรัชญาลัทธิเต๋า เซน และศาสนาพุทธ เข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้นคนทำงานศิลปะที่ใช้เซรามิกเป็นสื่อ มักใช้วิธีเผาแบบรากุสร้างสรรค์ผลงาน 

วันนี้ ณัฐพลนำเทคนิคการเผาแบบ ‘รากุ’ สร้างสรรค์เป็นกระถางต้นไม้ขนาดเล็กที่มีรูปลักษณ์เฉพาะตัวออกวางจำหน่ายเป็นอาชีพภายใต้ชื่อแบรนด์ ‘ดินเดิม บ้านช่างปั้น’ นำออกวางจำหน่ายทั้งสื่อออนไลน์และงานเทศกาลสินค้าเกี่ยวกับบ้าน งานหัตถกรรม งานออกแบบ งานศิลปะ ดึงดูดความสนใจจากผู้เข้าชมงานได้เป็นอย่างดี

ณัฐพล สุขโข สำเร็จการศึกษาด้านการออกแบบเซรามิกส์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และเป็นหนึ่งในผู้ได้รับการคัดเลือกเข้า โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการสำหรับศิษย์เก่าที่เรียนด้านการออกแบบเซรามิกเพื่อการประกอบอาชีพ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยและสนับสนุนให้ผู้สำเร็จการศึกษาด้านการออกแบบเซรามิกของมหาวิทยาลัยต่อยอดเป็นงานอาชีพได้ด้วยตนเอง ด้วยการให้ทุนสำหรับผลิตชิ้นงาน

AA6

เซรามิกคอลเลคชั่นกะลาสี แบรนด์ Wisawisny

ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนืออีกคนที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการฯ คือ วิศณี สิทธิพันธ์ ผลงานออกแบบเซรามิกของเธอเข้าตาศูนย์การค้าใหญ่ ได้รับเลือกให้วางจำหน่ายในโซน The Selected ของสยามเซ็นเตอร์ และร้าน O.D.S. ในสยามดิสคัฟเวอรี่

วิศณี สร้างบุคลิกให้กับงานเซรามิกของเธอด้วยการผูกเรื่องราวให้เกิดตัวละครชื่อ ลุงฌอนเจ้าของฟาร์ม หลานสาว เพื่อนบ้าน และสัตว์เลี้ยง เช่น หมี แมว เป็ด กระต่าย เธอวาดลวดลายต่างๆ เหล่านี้ด้วยสีสันสดใสและมีเอกลักษณ์ให้ปรากฏบนเซรามิกประเภทของใช้บนโต๊ะอาหาร ของใช้บนโต๊ะทำงาน โคมไฟ กระถางต้นไม้ แม่เหล็กติดตู้เย็น และล่าสุดกับเซตกะลาสีเรือ โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า Wisawisny (วิสาวิสนีย์) โดยเพิ่มประโยชน์ใช้สอยของชิ้นงานให้สามารถเป็นภาชนะสำหรับอบขนมได้จริง

วิศณีเล่าว่า เดิมทำงานเซรามิกขายออนไลน์เดือนละ 1 ครั้ง ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่คอยติดตามผลงานว่าจะมีงานอะไรใหม่ๆ ออกมา รวมทั้งออกงานแสดงสินค้า งานศิลปะ งานคราฟต์ที่มีจัดตามวาระต่างๆ

AA8

ความหลากหลายของงานเซรามิก แบรนด์ Wisawisny

AA7

กระถางเซรามิกสำหรับปลูกต้นไม้ขนาดเล็กคอลเลคชั่นลุงฌอน แบรนด์ Wisawisny

“คนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ที่ออฟฟิศ จึงอยากได้ของใช้แบบที่บ้าน มาไว้ดูที่ออฟฟิศบ้าง” วิศณีบอกว่านี่อาจเหตุผลหนึ่งที่ทำให้งานเซรามิกของเธอเป็นที่ติดตามของลูกค้า เพราะลวดลายที่เธอออกแบบมีความน่ารัก ดูแล้วสบายใจ เมื่อซื้อไว้ที่บ้านแล้ว ก็อยากมีไว้ที่ออฟฟิศด้วย เธอจึงออกแบบชิ้นงานเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ที่ทำงานเพิ่มเติม

วิศณีมีเตาเผางานเซรามิกเป็นของตัวเอง ขนาดเตาเผางานได้ครั้งและ 20-50 ชิ้น ขึ้นอยู่กับขนาดของชิ้นงาน

อีกหนึ่งแบรนด์เซรามิกที่สร้างความต่างให้กับตนเอง คือ rafuchaa ออกแบบและก่อตั้งแบรนด์โดย ชัชชญา หิรัญปุณณดา นักศึกษาสาขาการออกแบบเซรามิก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สำเร็จการศึกษาเมื่อปีพ.ศ.2559 ออกแบบและผลิตเซรามิกเป็นรูปสัตว์น่ารักเพื่อใช้ทำเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประดับ เช่น ต่างหู สร้อยคอ 

AA5

ต่างหูเซรามิกเขียนลายผ้าไทย แบรนด์ rafuchaa

ชัชชญาเคยมีโอกาสไปศึกษาดูงานและหาประสบการณ์การผลิตเซรามิกที่ ‘เปรมประชาคอลเลคชั่น’ โรงงานเซรามิกแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เห็นวิธีการสร้างสรรค์งานเซรามิกหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการนำ ‘ลายผ้า’ มาผสมกับงานเซรามิก ได้แรงบันดาลใจกลับมาทำงานตัวเอง 

เริ่มจากการใช้ ผ้าลูกไม้ญี่ปุ่น กดทับลงบนดินสำหรับทำเซรามิก จนเกิดลวดลายและเท็กซ์เจอร์บนผิวดิน 

ต่อมาจึงเพิ่มการใช้ ลายผ้าไทย กับงานเซรามิก และคิดลายขึ้นใหม่ รวมทั้งการใช้เทคนิคกดทับบนดิน การเพ้นท์สีคราม ใช้เข็มขูดและเขียนลาย เพ้นท์สีใต้เคลือบ การใช้น้ำดินสี เขียนลายคราม และชุบเคลือบ ได้ผลตอบรับที่ดีมาก ลูกค้าบอกเครื่องประดับเซรามิกของเธอเข้ากับการแต่งกายได้ดีและง่าย

AA4

AA3

ต่างหูเซรามิกผสมงานไม้ไผ่สาน แบรนด์ rafuchaa

ล่าสุดชัชชญาพัฒนางานไปอีกขั้นด้วยการใช้งาน ไม้ไผ่สาน จากจังหวัดอุตรดิตถ์ เช่น ตะกร้า-กระจาดขนาดจิ๋ว มาผสานกับงานเซรามิก ออกมาเป็นชิ้นงานเครื่องประดับใหม่ๆ อย่างเข็มกลัด แหวน จานขนม สร้อยคอ โดยพ่นเคลือบงานไม้ไผ่สานก่อนเพื่อป้องกันมอด

ชิ้นงานเซรามิกทั้ง 3 แบรนด์ เป็นตัวอย่างผลงานของนักศึกษาสาขาออกแบบเซรามิก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อสร้างผู้ประกอบการรายใหม่

ประสบความสำเร็จด้วยการสร้างแบรนด์ให้มีความแตกต่าง

------------------------------

หมายเหตุ :

ณัฐพล สุขโข  www.facebook.com/dindeimstudio

วิศณี สิทธิพันธ์  www.facebook.com/wisawisny

ชัชชญา หิรัญปุณณดา www.facebook.com/Rafuchaa