ชีวิตติด‘ถ้ำ’ คนเก็บรังนกแห่งลิบง

ชีวิตติด‘ถ้ำ’ คนเก็บรังนกแห่งลิบง

เกาะคือบ้าน ถ้ำคือที่ทำงาน การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คือภารกิจไร้ค่าจ้างของทีมเก็บรังนกเกาะลิบง ตรัง

เชือกเส้นนั้นพาดผ่านโถงถ้ำด้วยเงื่อนปมตามแบบฉบับของคนเก็บรังนก ชายหนุ่มร่างสันทัดผูกตัวเข้ากับเชือกเส้นหลัก พร้อมเคลื่อนตัวไปในแนวดิ่งและขนานกับพื้นถ้ำอย่างคล่องแคล่ว...

ไม่มีอุปกรณ์เสริม ไม่มีระบบเซฟตี้ใดๆ ที่มากไปกว่าหัวใจกล้าๆ กับเชือก และไฟฉายที่คาดเหนือศรีษะ

 พวกเขาคือทีมเก็บรังนกแห่งเกาะลิบง ผู้เคยอาสาไปช่วยชีวิตเยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี แม่สาย ณ วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย

DSC_0381

 วันนี้แม้ความโด่งดังในฐานะฮีโร่ถ้ำหลวงจะค่อยๆ แผ่วเบาลงไป แต่ความทรงจำและความภาคภูมิใจ คือสิ่งที่พวกเขาหอบข้ามน้ำข้ามทะเลกลับมาบ้าน ‘เกาะลิบง’ จังหวัดตรัง และมันยังไม่เคยหายไปไหน เช่นเดียวกับอาชีพเก็บรังนกที่อยู่กับคนที่นี่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ อาชีพที่ทำให้เขามีทั้งความกล้าและทักษะพิเศษในการป่ายปีนโถงถ้ำด้วยมือเปล่า

 ตำนานคนเก็บรังนก

 เกาะแก่งในท้องทะเลไทย ไม่เพียงเป็นหมุดหมายทางการท่องเที่ยว แต่หลายแห่งยังเป็นแหล่งอาศัยของนกนางแอ่น ซึ่งรังของพวกมันได้ก่อเกิดอาชีพที่น่าตื่นตาตื่นใจของคนในพื้นที่ นั่นคือ ‘คนเก็บรังนก’ โดยชาวเกาะลิบงถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้สืบทอดภูมิปัญญานี้มาหลายชั่วอายุคน

 “บรรพบุรุษเราเก็บรังนกมาตั้งแต่เดิม เป็นร้อยปีมาแล้ว คือรังนกเมื่อก่อนมันเยอะในฝั่งทะเลตรัง เด็กส่วนใหญ่ 8-9 ขวบก็ตามพ่อแม่ไปเก็บแล้ว เพราะการเก็บรังนกบางทีมันมีรูแคบ เขาจะพาเด็กสะพายหลังขึ้นไป ให้เด็กลอดผ่านรูเล็กๆ ก็เลยจะมีความกล้า แล้วค่อยๆ มีความรู้ความชำนาญสะสมมาเรื่อยๆ พอพ่อเป็น ลูกก็เป็น”  อับดุลรอหิม ขุนรักษา กำนันเกาะลิบงวัย 49 ปี ย้อนความหลัง และว่าสมัยก่อนยังไม่มีเชือก ชาวบ้านจะใช้หวาย ซึ่งเหนียวกว่าแต่มีความยาวน้อยกว่าในการปีนและโรยตัวในถ้ำ ที่เหลือแทบไม่มีอะไรต่างไปจากเดิม ทั้งหมดขึ้นอยู่กับทักษะและความชำนาญของแต่ละคน

DSC_0291

 สำหรับเรื่องความปลอดภัย อะลิเฟน เทศนำ ผู้ใหญ่บ้านทรายแก้ว หมู่ 7 เกาะลิบง บอกว่า ทุกครั้งที่ปีนจะมีการผูกเชือกไว้ที่เอวและลอดหว่างขา โดยเชือกเส้นนี้จะมีทีมงานที่อยู่ด้านบนคอยช่วยดึงขึ้นมาได้ แต่หากพลาดจริงๆ... “ไม่ต้องถาม ส่วนใหญ่จะไม่อยู่”

 ด้วยสภาพการทำงานที่ค่อนข้างเสี่ยงนี้เอง ในอดีตจึงมีกฎข้อห้ามและความเชื่อมากมายที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา พิธีกรรมสำคัญอย่างหนึ่งก่อนการเก็บรังนก เรียกว่า ‘ปูหยาเกาะ’ เป็นพิธีที่จัดขึ้นบริเวณหอเฒ่าหอแก่บริเวณเกาะรังนกแต่ละแห่ง เพื่อขอให้รอดพ้นจากภยันตราย แต่ปัจจุบันเหลือแค่การนำแพะไปทำพิธีสวดมนต์ขอพรก่อนจะแกงกินกันเท่านั้น

 และแม้วันนี้บนเกาะลิบงจะไม่มีรังนกให้เก็บแล้ว แต่ภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดต่อกันมายังคงเป็นอาชีพเสริมที่ทำรายได้ให้ไม่น้อย นอกเหนือจากการทำสวนยางและประมง

 “ตอนนี้การเก็บรังนกต้องได้รับสัมปทาน ซึ่งจะมีบริษัทมาประมูลอีกที แล้วบริษัทเขาก็จะมาจ้างชาวบ้านเราไปเก็บ ที่เกาะมีอยู่ประมาณ 30 คน ปีนึงจะเก็บกันประมาณ 3 รอบ รอบละ 7-8 วัน ส่วนใหญ่ไปเก็บแถวพัทลุง กระบี่ พังงา เพราะแถวตรังมีน้อยแล้ว” กำนันอับดุลรอหิม ให้ข้อมูล สอดคล้องกับรายละเอียดการสัมปทานรังนกที่ระบุว่า

 แต่ละปีจะมีการเก็บรังนก 3 ครั้ง ครั้งแรกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม จากนั้นจะทิ้งช่วงประมาณ 1 เดือนเพื่อให้นกทำรังเป็นครั้งที่ 2 แล้วค่อยเก็บเหมือนครั้งแรก หลังจากนั้นเว้นไปอีกประมาณ 3 เดือนเพื่อให้แม่นกวางไข่ก่อน รอจนลูกนกแข็งแรงพอที่จะบินออกไปหาอาหารจึงเก็บรังนกเป็นครั้งที่ 3 ทั้งนี้ผู้ได้รับสัมปทานจะต้องดูแลไม่ให้มีการรบกวนนกและอนุรักษ์ดูแลสภาพแวดล้อมอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อจำนวนนกนางแอ่นซึ่งหมายถึงรายได้ในปีต่อๆ ไป

 “การเก็บรังนกมันไม่เหมือนเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้เขาไม่ให้เอาของเข้าไปเยอะ เพราะเศษอาหารมันจะขึ้นกลิ่น นกมันจะหนีหมด ไฟฉายก็ใช้แบบชาร์ต ขยะก็เก็บมาทิ้งข้างนอก” มะแอน กงเหลา คนเก็บรังนกวัย 51 ปี เล่าถึงลักษณะการทำงานที่มีกฎระเบียบมากขึ้น โดยหลังจากเก็บรังนกได้ เจ้าของสัมปทานจะส่งคนมาตรวจคัดแยกเกรดและประเมินราคา ถ้าเป็นรังนกสีขาวจะได้ราคาดีที่สุด ซึ่งทีมเก็บจะได้ค่าจ้างตามจำนวนและคุณภาพของรังนก จากนั้นนำมาหักค่าใช้จ่ายแล้วจัดสรรไปตามความรับผิดชอบและความยากในการทำงานของแต่ละคน โดยเฉลี่ยอยู่ที่หลักพันถึงหมื่นบาทในแต่ละรอบ

“ตอนนี้คนเก็บรังนกก็ไม่ได้ลดลงนะ วัยรุ่นเริ่มมาทำเป็นอาชีพเสริม เพราะไปครั้งนึงถ้าเก่งๆ ก็ได้หมื่นกว่าบาท เขาก็มาเก็บกันอยู่ มันไม่ได้ลงทุนอะไร ดูจากคนที่ทำมาก่อนแล้วก็ค่อยๆ ฝึกไป ใจกล้าๆ หน่อย”

แค่พูดอาจจะยังไม่เห็นภาพ ว่าแล้วหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ทีมรังนกหัวใจอาสาก็ใช้หน้าผาและโถงถ้ำ ‘บาตูปูเต๊ะ’ จุดชมพะยูนที่ดีที่สุดบนเกาะลิบงเป็นสถานที่สาธิตการปีนป่ายโรยตัวเก็บรังนก รวมถึงวิธีหย่อนตัวลงไปในโพรงลักษณะเดียวกับที่ถ้ำหลวง ภารกิจท้าทายครั้งล่าสุด

  DSC_0286

วันวานที่ถ้ำหลวง

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2561 หลังข่าวทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 ชีวิตหายเข้าไปในถ้ำหลวงถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ชาวบ้านบนเกาะลิบงรวมถึงทีมเก็บรังนกซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุนับพันกิโลเมตรต่างรู้สึกเป็นห่วงและพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการช่วยเหลือ

“ทีมงานเราปกติก็ขึ้นเขาลงถ้ำอยู่แล้ว พอนั่งดูข่าวหมูป่าติดถ้ำหลวงเห็นว่าเขามีการสำรวจปล่อง เราก็นั่งปรึกษาหารือกันว่ามีโอกาสอย่างไรบ้างเผื่อจะได้ไปช่วย” อะลีเฟน กล่าวถึงจุดเริ่มต้น ก่อนจะได้ข้อยุติในอีกหนึ่งชั่วโมงถัดมาว่าจะเดินทางไปถ้ำหลวงในเช้าวันรุ่งขึ้น โดยรวบรวมเงินกันเองและได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในพื้นที่อีกส่วนหนึ่ง

 8 ชีวิต ที่มีแค่ไฟฉายกับสัมภาระส่วนตัวอีกเล็กน้อย นั่งเรือจากเกาะมายังฝั่ง จากนั้นโดยสารรถไปที่สนามบินตรังเพื่อขึ้นเครื่องไปยังจังหวัดเชียงราย พวกเขาไม่มีความมั่นใจแม้แต่น้อยว่าจะได้รับอนุญาตให้ร่วมภารกิจนี้

“เขารู้มั้ยเราเก่งด้านนี้ เขาจะให้ทำมั้ย ผู้ว่าฯเขาจะฟังเรามั้ย ก็ถกเถียงกันไปตลอด” อับดุลรอหิม เล่าถึงความกังวล แต่หลังจากการประสานงานผ่านไปด้วยดี ในที่สุดทีมเก็บรังนกลิบงก็ได้รับมอบภารกิจแรก คือการค้นหาปล่องหรือโพรงถ้ำร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร

DSC_0412

“พอไปถึงเป้าหมาย พื้นที่มันต่างกัน ที่นี่เรามีเป้าหมายชัดเจนคือการเก็บรังนก แต่ที่โน่นเราต้องไปค้นหา เพราะว่ามันเป็นป่าเขาใหญ่มาก แล้วหินในพื้นที่มันเป็นหินปูนมันเปราะง่าย เราก็ต้องระมัดระวังในการทำงาน เพราะถ้าเกิดอันตรายขึ้นมามันเสี่ยงถึงชีวิต” อะลีเฟน กล่าวถึงสภาพการทำงานในพื้นที่

เขาว่า ทุกวันจะออกเดินทางตอน 8 โมงเช้า ใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมงกว่าจะถึงเป้าหมาย ต้องเดินเท้าระยะทางประมาณ 10-15 กิโลเมตรในแต่ละวัน จากนั้นค่อยปีนเขาขึ้นไปที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตร และแม้ว่าทีมงานทั้งหมดจะเป็นมุสลิม ต้องปฏิบัติศาสนกิจระหว่างวัน ก็ไม่ได้ยากลำบากอะไร

“ตอนหลังเราไปพักที่โรงแรมกรีนวิลล์ เจ้าของก็เป็นมุสลิมเหมือนกัน เขาดูแลให้หมดทั้งห้องพักและอาหาร ไม่คิดค่าบริการสักอย่าง แม้แต่ไปซื้อยาในตลาดเขาไม่คิดตังค์เลยครับ ผมก็ได้แต่ขอบคุณ ขนาดไปที่ตลาด ถนนคนเดิน พอเขารู้ว่าทีมรังนกตรัง เขารู้ว่าเป็นอิสลามด้วยกันหิ้วของมาพะรุงพะรังหมด”

ตลอดระยะเวลา 11 วัน กับทีมงานชุดแรกและที่มาเพิ่มอีก 2 รอบ รวม 16 ชีวิต สำรวจโพรงถ้ำไปกว่า 40 โพรง แม้ว่าหลายครั้งจะลงไปได้ลึกหลายร้อยเมตร แต่กลับไม่มีจุดใดเลยที่สามารถเชื่อมต่อกับทางเดินภายในถ้ำได้

“ทีแรกเราคิดว่ามันต้องมีโพรงที่เข้าไปได้สักโพรง แต่เอาเข้าจริงที่เข้าไปทั้งหมดไม่มีเลย เพราะว่าภูเขามันใหญ่ แล้วเราไม่รู้ว่าพิกัดอยู่ตรงไหน” กำนันอับดุลรอหิม มองว่าความยากในการสำรวจครั้งนี้คือ ไม่สามารถทดลองด้วยการใช้ควันไฟหรือพลุสีได้ อุปกรณ์ที่ทางกลุ่มถูกกำหนดให้ใช้คือ สีผสมอาหาร-สีแดง โดยถ้าเจอน้ำให้เอาสีเทลงไป แต่จนถึงวันสุดท้ายก็ยังไม่ปรากฎว่ามีจุดไหนที่ทะลุถึงกัน

 “ผมว่าถ้าให้สำรวจหน้าแล้ง เจอแน่นอน หลังจากนี้น่าจะสำรวจไว้ เผื่อจะมีเหตุการณ์อีก”

แม้ภารกิจช่วยชีวิตทีมหมูป่าจะสิ้นสุดลงโดยไม่บรรลุเป้าหมายในการค้นหาโพรงถ้ำ แต่ทีมเก็บรังนกก็เดินทางกลับเกาะลิบงด้วยหัวใจพองโต ติดค้างไว้แค่ความเสียดายเล็กๆ นั่นคือ พวกเขายังไม่ได้ถ่ายรูปกับ ‘คนแปลกหน้าที่ทุกคนอยากเจอ’ อย่างที่หวังไว้แต่แรก

DSC_0422

 จิตอาสาแห่งลิบง

ข่าวคราวที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ทำให้ทีมเก็บรังนกเกาะลิบง จังหวัดตรัง กลายเป็นฮีโร่ชาวบ้านที่มีเพียงสองมือกร้านๆ กับหนึ่งหัวใจอันงดงาม สำหรับพวกเขาแล้ว..นี่ไม่ใช่ความสำเร็จ แต่เป็นแค่อีกเรื่องหนึ่งที่พวกเขาไม่อาจเพิกเฉย

“เราไปในนามจิตอาสาของชุมชน ปกติแล้วพื้นที่ตรงนี้ เวลาใครเดือดร้อนเราก็ช่วยกัน อย่างเมื่อวันก่อนรถแมคโครติดโคลนที่หน้ามัสยิดหมู่ 4 บริเวณริมทะเล เราก็หาเชือกมาช่วยดึง มีชาวบ้านเกือบ 500 คน ช่วยกันจนสามารถลากขึ้นมาได้ แล้วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เคยมีชาวสวีเดนเรือแตก ชาวบ้านก็มาช่วยกัน เพราะปกติแล้วในชุมชนเราอยู่แบบพี่น้อง ทุกคนมีอะไรก็ช่วยเหลือ ไม่มีค่าจ้างเราก็จะช่วยกัน ใครถนัดด้านไหน ก็ช่วยด้านนั้นเลย” ผู้ใหญ่อะลีเฟน กล่าว ขณะที่กำนันอับดุลรอหิม เสริมว่า

“ชุมชนมุสลิมเป็นชุมชนที่เราอยู่กันเป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่ตอนเช้าๆ ก็มานั่งกินน้ำชากัน ไม่ใช่ว่าจะไปช่วยแต่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ชุมชนเราบริบทมันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว พอมีอะไรเกิดขึ้นมา ความเดือดร้อนทุกอย่าง เราก็รู้สึกว่าต้องช่วยกัน พอเราเห็นในข่าวก็คิดว่าถ้าเป็นลูกเราบ้างจะเป็นอย่างไร ยิ่งรู้สึกว่าต้องช่วย”

เขาว่า ที่จริงทุกคนอยากจะไปช่วยแต่ติดขัดเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางจึงส่งตัวแทนไปกลุ่มแรก 8 คน และตามไปสมทบอีก 8 คน โดยมีสายการบินช่วยสนับสนุนค่าเดินทางให้ในภายหลัง และแม้จะไม่ใช่ทีมที่ช่วยเด็กออกมาจากถ้ำ แต่ภารกิจนี้ก็ทำให้ได้เพื่อนใหม่มากมายทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ได้เรียนรู้การทำงานของทีมอื่นๆ รวมทั้งได้เห็นน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ที่มีให้กันในยามยากลำบาก ซึ่งเป็นเรื่องน่าประทับใจและดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งนี้

ทว่า สิ่งที่ทำให้มีความสุขที่สุด นอกจากการได้เห็นทุกคนปลอดภัย กลับเป็นความรู้สึกเต็มตื้นเมื่อได้กลับมา ’บ้าน’ บนเกาะที่สมบูรณ์สวยงามด้วยทรัพยากรทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ใช้ชีวิตในวิถีเดิมๆ ที่เรียบง่าย แต่ไม่เคยขาดแคลน ‘น้ำใจ’

ในฐานะผู้ใหญ่บ้านแห่งเกาะลิบง อะลีเฟน บอกว่าต่อแต่นี้สิ่งที่เขาหวังก็คือให้ชาวบ้านโดยเฉพาะคนเก็บรังนกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นแนวทางหนึ่งที่เขาอยากเสนอให้การสาธิตเก็บรังนกบนเขาบาตูปูเต๊ะเป็นหนึ่งในแพ็คเกจท่องเที่ยวเกาะลิบง เพื่อให้ทีมงานมีรายได้ตลอดทั้งปี

แต่ไม่ว่าจะมี หรือไม่มีสิ่งที่คืนกลับสำหรับการเดินทางไกลของพวกเขาในครั้งนั้น หัวใจอาสาของคนเกาะลิบงก็ยังคงทำหน้าที่ของมันเสมอ