ซิกาแรต การ์ด คูลเจ.ขวัญ-วรงค์พร

ซิกาแรต การ์ด คูลเจ.ขวัญ-วรงค์พร

ความสุขของคนเราคือได้ครอบครองสิ่งของที่มีค่าต่อจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นเพชร ทอง นาฬิกา กระเป๋า รองเท้า แม็คเน็ต สะสมมาทุกสิ่ง รวมทั้ง "ซิกาแรต" ถือเป็นของล้ำค่าสำหรับ คูลเจ ขวัญ-วรงค์พร

นอกจากนาฬิกา Patek Philippe หลากหลายรุ่น เริ่มเก็บแม็กเน็ตติดตู้เย็นครั้งอยู่ที่อเมริกาปัจจุบันมีมากมายเป็นหมื่นชิ้น มีทั้งซื้อเอง และมีคนซื้อมาฝากแล้ว คูลเจ. ขวัญ-วรงค์พร วิชัยดิษฐ์ แห่ง คูลฟาเรนไฮ (จัดรายการวันจันทร์-ศุกร์ 12.30-15.00 น. ) ยังสะสม ซิกาแรต การ์ด  เพราะเธอชอบในความสวย เห็นแล้วปิ๊งราวกับรักแรกพบ

2.

คูลเจ.ขวัญกล่าว หากพูดคำว่า ยาซิกาแรต คนสมัยนี้อาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าไปค้นคำว่า ซิกาแรต การ์ด  เมื่อร้อยกว่าปีก่อนทำให้รู้สึกทึ่งว่า โลกของเรามีคำว่าโปรโมชั่นเกิดขึ้นตั้งแต่ในสมัยนั้น เป็นเทคนิคส่งเสริมการขายของบริษัทบุหรี่ สมัยก่อนจะบรรจุบุหรี่มาในกระป๋อง หรือซอง และซองที่ใส่บุหรี่สมัยนั้นบางมาก จึงมีการใส่กระดาษแข็งลงไปเพิ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้บุหรี่หัก เสียรูปทรง ทว่ามีคนหัวใสคิดส่งเสริมการขาย โดยพิมพ์รูปภาพสวยๆลงไปในกระดาษแข็งเหล่านั้น เช่นรูปนักกีฬา รูปดารา พอคนเริ่มให้ความสนใจ ก็เริ่มเพิ่มกิมมิคโดยสร้างเป็นคอลเลคชั่น บางคอลเลคชั่นมีถึง 25-30-50 -100 ภาพ ให้ลูกค้าได้ติดตามเก็บสะสม

8

                “ความฉลาดของเค้าก็คือ 1 กล่อง หรือ 1 ซองมีเพียงรูปเดียว ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด บางคนเก็บรูปคอลเลคชั่นเกือบครบขาดอีกดวงเดียว ก็ต้องไปเสาะหาจนเจอ หรือไม่ก็มีการผลิตซ้ำออกมาในตลาด คนก็จะคอยติดตามซื้อมาเก็บให้ครบ เหมือนกับสมัยนี้ที่แมคโดนัลด์ทำ แต่นี่เกิดมาเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ประเทศแรกๆที่เริ่มทำแข่งกันมาก็คืออังกฤษ กับอเมริกา ของเหล่านี้เข้ามาเมืองไทยเมื่อชาวต่างชาติเริ่มเข้ามาสมัยรัชกาลที่ 5 และลูกหลานไทยเริ่มไปเรียนหนังสือเมืองนอกรับวัฒนธรรมการดูดบุหรี่กลับมาด้วย

11.

บริษัทบุหรี่ในเมืองไทยเห็นว่าโปรโมชั่นนี้น่าสนใจ ก็เลยทำบ้างเพื่อส่งเสริมการขาย  บุหรี่ไทย ที่ทำโปรโมชั่นพิมพ์ภาพไทยๆออกมาเพื่อส่งเสริมการขาย และบุหรี่ต่างประเทศที่พิมพ์ภาพอารมย์คล้ายๆ เอเซียๆ และยาซิกาแรตที่อิมพอร์ตมาจากต่างประเทศ  ช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 นี่ถือว่าบูมสุดถึงขั้นมีตลาดนัดที่วัดโพธิ์ เอาไว้ซื้อขายแลกเปลี่ยน นัดเจอกัน พอถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นจุดสิ้นสุด เพราะกระดาษเริ่มหายาก สิ้นเปลืองงบประมาณ อีกอย่างรัฐบาลเริ่มเห็นว่าบุหรี่เป็นอะไรที่ได้กำไร จึงขอผลิตบุหรี่เอง เอกชนก็ต้องเลิกผลิตไปโดยปริยาย”

7.

ซิกาแรต การ์ด ชุดแรกๆมาจากประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ.2418 รูป ส่วนที่ได้รับความนิยมในเมืองไทยก็คือ ภาพที่เกี่ยวกับอักษรไทย นาฎศิลป์ไทย วรรณคดีไทยเช่น รามเกียรติ์ ขุนช้างขุนแผน ดารา การแต่งกาย ราชวงศ์ สุภาษิต ทำนายฝัน ฯลฯ

6

คูลเจ.ขวัญเล่าว่า “ปีแรกที่ผลิตถ้าจำไม่ผิดเป็นปี 1875 โดยบริษัท Allen and Ginter ออก Cicarette Card เป็นครั้งแรก นิยมสุดก็จะเป็นชุด 25 แผ่น พิมพ์ภาพลงบนไหม แล้วนำไปแปะบนแผ่นกระดาษ มูลค่านี่ตอบไมได้ จุดแรกที่ทำให้ขวัญเริ่มสนใจสะสมก็มาจากไปเห็นที่ ร้านสเต็กนิลส์เทเวิร์นเรสเตอร์รองท์ ( Neil’s Tavern Restaurant)  ในซอยร่วมฤดี เค้าใส่กรอบรูปแขวนไว้เต็มผนังร้าน เห็นสวยดีก็เลยไปถามว่ามันคืออะไร เริ่มเก็บเองเมื่อปี 2531 อายุใกล้ๆ 20 พยายามไปเดินจตุจักร กับท่าพระจันทร์ รู้สึกว่ามันแพงมากในสมัยนั้น กว่าจะสะสมให้ได้จนเต็มผนังแบบร้านสเต็กก็น่าจะไกลเกินเอื้อมแล้วก็เลิกสะสมไปเมื่อปี 2542 เพราะว่าไปเรียนต่อที่อเมริกา ทั้งหมดถูกเก็บในห้องเก็บของ 5 ปีกลับมาก็เสียหายไปเยอะ เพราะโดนความชื้น อันที่สวยจริงๆ เก็บใส่กรอบไปเรียบร้อยแล้ว”

4.

เธอว่า ซิกาแรต การ์ด แผ่นแรกได้มาจากหีบเหล็กของคุณทวด (พ่อของคุณปู่) สมัยก่อนเป็นหีบสีเขียว ฝาโค้งๆ วันหนึ่งว่างๆ เธอไปเปิดหีบสมบัติของคุณทวดดู ไปเจอสมุดจดของคุณทวด บางชิ้นดูหนาๆ เปิดดูพบว่ามี “ซิกาแรต การ์ด” รู้สึกตกใจ ดีใจ เหมือนเจอคลังสมบัติที่กำลังตามหา

3.

“คุณทวดคงจะสูบบุหรี่แล้วเอาซิกาแรต การ์ดมาแปะๆไว้ในสมุด บางอันมีลายมือคุณทวดด้วย ก็เลยไปลุยห้องเก็บของตามบ้านต่างๆ เช่นบ้านพ่อ บ้านแม่ ปู่ย่า ตายาย แล้วก็ไปเจอที่บ้านป้า ไปถามว่ามีลังอยู่ใต้บันไดหรือเปล่า คราวนี้ได้มาอีกเยอะเลย มีตั้งแต่ปี 2471 มูลค่าตอบไม่ได้ เพราะสภาพไม่สมบูรณ์ ไม่ครบชุด บางอันมีมอดกิน แต่เราเก็บไว้เพราะชอบ มีความสุขที่จะเก็บไว้ดู แต่ตัวที่ถูกบันทึกไว้ว่าแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ ดวงเดียว 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขายต่อไปในราคา 2.8 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 80 ล้านบาทไทย เป็นสแตมป์ในปี 1909 เป็นรูปนักเบสบอลที่มีชื่อเสียงของสหรัฐ บริษัทบุหรี่พิมพ์ภาพเค้าโดยไม่ขออนุญาติมีการฟ้องร้องกัน สั่งเก็บให้หมด แต่มีอันหนึ่งหลงเหลือและถูกเก็บอย่างดี ก็เลยขายได้ราคาสูงลิ่ว”

5.

ต่อมามีคนเริ่มทำฟุตบอลการ์ด เบสบอลการ์ด ถือว่าจุดเริ่มต้นมาจากซิกาแรตการ์ดนั่นเอง ปัจจุบันไม่มีการผลิตแล้ว ทว่ามีการก็อปปี้ออกมาเพื่อการสะสมจากบริษัทต้นสังกัด เพราะหมดยุครุ่งเรืองไปตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  

10.

9.

สำหรับ “ขวัญ-วรงค์พร” มีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นภาพสวยๆ บน “ซิกาแรต การ์ด” ถือว่าได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ได้เห็นสยามในวันวาน ได้เห็นธงชาติไทยในอดีต ได้เห็นเจ้านายยุคนั้นๆ ฯลฯ ที่แน่ๆ สิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นสมบัติของต้นตระกูลที่ตีมูลค่าไม่ได้ ได้เห็นลายมือคุณทวด นั่งอ่านว่าท่านเขียนอะไรไว้บ้าง ถือโอกาสได้รู้จักท่านไปด้วยในตัว