'รักษ์' แม่พวก

'รักษ์' แม่พวก

เสียงหวูดรถไฟที่ดังอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นเสมือนส่วนหนึ่งของกิจวัตรที่ชาวแม่พวกจะได้ยินและอยู่ร่วมกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

แม้ปัจจุบันสถานีรถไฟแม่พวกจะถูกลดระดับลงเป็นที่หยุดรถไฟ แต่นี่คือโอกาสที่ประชาชนจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ คุณค่า และวิถีชีวิตของชาวบ้านแม่พวกผ่านอาคารรถไฟที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

หลังจากขนจักรยานลงจากขบวนรถไฟสายกรุงเทพฯ-เด่นชัย ระยะทางเพียงเล็กน้อยเหมาะกับปั่นจักรยานเล่นสบายๆ บวกกับเส้นทางที่ค่อนข้างดี มีเนินบ้างพอหอมปากหอมคอ เดิมทีผมมักจะบอกว่าผมให้ความสำคัญกับ ‘ระหว่างทาง’ มากกว่าปลายทาง แต่ครั้งนี้ ‘ปลายทาง’ ที่ ‘แม่พวก’ สำคัญที่สุด

แน่นอนว่าแลนด์มาร์คของที่นี่ ณ ปัจจุบัน คือ อาคารหยุดรถไฟแม่พวก เสน่ห์ของอาคารสถานีรถไฟสุดคลาสสิกเคยเริ่มถูกท้าทายจากนโยบายการสร้างรถไฟทางคู่ เพราะผลพวงที่ตามมาคือสถานีรถไฟเก่าหลายแห่งจะถูกรื้อเพื่อหลบให้การพัฒนาที่คล้ายว่ามีเงื่อนงำ

37381221_1854655837926553_3570316204750929920_o

ในปี พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เซอร์แอนดรู คล้าก และบริษัทปันชาร์ด สำรวจเพื่อก่อสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ โดยในปี พ.ศ. 2454 กรมรถไฟหลวง ได้เปิดการเดินรถไฟมายังสถานีแม่พวก

เมื่อ 5 ปีก่อน ผศ.ปริญญา ชูแก้ว อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เริ่มเข้าไปทำกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์อาคารสถานีรถไฟทั่วประเทศไทย โดยที่ตอนนั้น ‘แม่พวก’ ยังไม่อยู่ในการรับรู้ของเขา จนกระทั่งวันหนึ่งได้เห็นภาพถ่ายอาคารหลังหนึ่งที่เขาบอกว่า “โคตรสวย” ซึ่งนั่นก็คืออาคารหยุดรถไฟแม่พวกนี่เอง

37361208_1854656687926468_6443231180643893248_o (1)

เอกลักษณ์ของที่นี่คือมีลักษณะเป็นอาคารสองหลังแล้วเชื่อมกันด้วยโถงด้านล่าง ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในประเทศที่เป็นอย่างนี้ หลังจากตกหลุมรักแล้วก็เริ่มทำงานต่างๆ ร่วมกับชาวบ้านอย่างละเอียดลออ ไม่ใช่เพียงการทำงานเอาหน้า เอาภาพ หรือทำเพื่อขึ้นหิ้ง ได้ผลงานแล้วกลับบ้าน ทิ้งทุกอย่างไว้ให้ชาวบ้านรับผิดชอบต่อเองแต่อย่างใด โดยที่ก้าวต่อไปเพื่อการอนุรักษ์มีทั้งประสานความร่วมมือกันในชุมชน สื่อมวลชนที่สนใจประเด็นนี้ กอปรกับผู้นำชุมชนเข้มแข็ง ทำให้แม่พวกโตทีละก้าวๆ

ก้าวที่เดินมาถูกทางแล้วคือการพัฒนาของดีในชุมชนตั้งแต่การดูแลรักษาสถานที่สำคัญอย่างอาคารหยุดรถไฟ, วัดวาอาราม, สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ, แหล่งประวัติศาสตร์สำคัญ, ผืนป่าและพื้นที่เกษตร ซึ่งทั้งหมดนี้คือจุดแข็ง

37547941_1854656197926517_5543558144858259456_o

ที่ฝั่งตรงข้ามของอาคารหยุดรถไฟแม่พวกเป็นที่ตั้งของสวนสักปลูกแห่งแรกของประเทศไทย โดยในปี พ.ศ. 2453 ทางกรมป่าไม้ ได้กำหนดให้มีการปลูกสวนสักขึ้นและได้เลือกบ้านแม่พวกแห่งนี้เป็นที่ปลูกต้นสัก บนพื้นที่ 133 ไร่ ปัจจุบันสวนสักปลูกแห่งนี้ มีต้นสักอยู่ถึง 1,779 ต้น

และอีกจุดแข็งที่ชาวแม่พวกไม่ต้องพยายามทำ คือ วิถีชีวิต เป็นมาอย่างไรให้เป็นไปอย่างนั้น เราเห็นความพังทลายของชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวมามากมายแล้ว และแม่พวกก็ไม่ควรจะต้องเป็นรายต่อไปที่ทุกคนพุ่งเป้าไปที่ตัวเลข ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว ทั้งจำนวนเงินสะพัดในพื้นที่ นั่นหมายความว่านอกจากชาวบ้านจะต้องเข้มแข็ง หัวหน้าชุมชนต้องมุ่งมั่น นักท่องเที่ยวเองต้องตระหนักเสมอว่าทุกพื้นที่มีเจ้าของ ชาวบ้านแม่พวกคือเจ้าของพื้นที่แม่พวก คนนอกจึงจำเป็นต้องเคารพและให้เกียรติอย่างที่สุดเท่าที่จะทำได้

หนึ่งในวิถีทางการให้เกียรติที่ทำได้ง่ายที่สุด คือ การไม่คาดหวังกับทุกสิ่ง เมื่อเปิดใจรับทุกสิ่งที่เป็นอยู่ของชุมชน การท่องเที่ยวชุมชนจะสนุก ได้ประโยชน์ และรู้สึกคุ้มค่าที่จะเข้ามาเรียนรู้ความเป็นแม่พวกขนานแท้

ประโยคหนึ่งที่ ผศ.ปริญญา นิยามไว้อย่างถูกต้องน่าสนใจ คือ “แม่พวกไม่ได้ถูกดีไซน์มาเพื่อให้ทุกคนต้องประทับใจทุกจุด” เพราะฉะนั้นการท่องเที่ยวชุมชนแบบที่หลายคนกำลังพยายามพุ่งเป้าไป ไม่ว่าจะไปเรียนรู้หรือแม้กระทั่งไปตักตวงผลประโยชน์ อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด ถึงขั้นต้องระมัดระวังให้มากที่สุด

37373979_1854655924593211_2753734607001092096_o

ณ วันนี้แม่พวกกำลังเดินทีละก้าว ช้าๆ ค่อยๆ พัฒนาไปพร้อมกับรักษาของดี เช่น หลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2, ป่าไม้สักผืนใหญ่ ตลอดจนสิ่งที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ด้วยกายแต่รับรู้ด้วยหัวใจอย่างอุปนิสัยใจคออย่างใสซื่อ ย่อมดีกว่าการเร่งรีบเพื่อจะก้าวสู่ชุมชนท่องเที่ยวในเร็ววัน หรือต้องการงบประมาณจากหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้เข้ามา จะลืมไม่ได้ว่าหากมีงบประมาณเข้ามาหมายถึงมีการลงทุน ทั้งแรงกดดัน ผลกำไร อาจทำให้แม่พวกเสียศูนย์ ไม่ยั่งยืน ตัวอย่างมีให้เห็นมากมายที่ ‘โตไวแล้วตายไว’

วันเวลาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จวบจนวันนี้ ไม่ใช่น้อยๆ นอกจากคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่อาคารหยุดรถไฟและพื้นที่มีเต็มเปี่ยม ลมหายใจที่คุ้นเคยของคนแม่พวกก็มีคุณค่าไม่แพ้กัน แม่พวกจึงน่าเที่ยวในทุกมิติ แต่จะหลงลืมไม่ได้ว่าพวกเขาเป็นอย่างไร อยู่อย่างไร การเปลี่ยนแปลงมีทั้งผลดีและผลเสีย ถ้าดีก็ดีไป ทว่าถ้าเสียเมื่อไร คนที่รับกรรมก็เป็นคนในพื้นที่ทุกที

แม่พวกจึงไม่ได้มีแค่ให้รักและเข้าไปชื่นชม แต่ต้อง ‘รักษ์’ อย่างอ่อนน้อมและเคารพอย่างถึงที่สุดด้วย แล้วค่อยพูดถึงเรื่องความยั่งยืน

37381681_1854656351259835_205099501726203904_o