ยอดรัก...นักช้อป อยากบอก

ยอดรัก...นักช้อป อยากบอก

ฟังเสียงจากบรรดานักช้อปที่อยากบอกกับบรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตเมืองไทยที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนสมัยใหม่อย่างแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้ ธุรกิจค้าปลีกถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองหลักที่มีส่วนกับเศรษฐกิจภาพใหญ่ระดับประเทศด้วยมูลค่าเม็ดเงินที่ไหลเวียนกว่า 2.2 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของจีดีพีของประเทศ 

  supermarket-507295_640

ด้วยขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของคนเราอย่างแนบชิด และยังมี “ผู้เล่นเจ้าใหญ่” อย่างเทสโก้โลตัส บิ๊กซี และแม็คโครที่มีมูลค่าการตลาดรวมกันกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งทำให้ “ห่วงโซ่อุปทาน” ในธุรกิจนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ของ “คุณภาพ” และ “ความยั่งยืน” 

เครือข่ายภาคประชาสังคมอย่าง เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิผู้บริโภค และพันธมิตรได้ร่วมกันทำ แคมเปญ “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” ขึ้นเพื่อประเมินนโยบายทางสังคม ที่เกี่ยวข้อง 4 ด้านคือ สิทธิแรงงาน สิทธิสตรี เกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย และความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยร่วมกับ 7 ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยในการทำรายงานประเมินครั้งนี้

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก ได้นำเสนอแนวโน้มการเติบโตอุตสาหกรรมค้าปลีกอาหารในระดับโลกและในประเทศไทย โดยมองถึงความสำคัญ และบทบาทของซูเปอร์มาร์เก็ตในการส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนว่า ตลาดค้าปลีกเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่

จากการสำรวจของทีมงานนั้นพบว่า ร้านค้าที่ขายทั้งของสด และสินค้าทั่วไปทั่วประเทศมีรวมกว่า 20,000 กว่าร้าน ขณะที่กว่า 3,000 ร้าน เป็นสาขาจากธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ 

วันนี้ นอกจากการเดินเข้าร้านแล้ว ช่องทางการจัดจำหน่ายของร้านค้าปลีกใหญ่ได้มีการพัฒนาเพื่อให้เข้าผู้บริโภคได้กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสั่งออนไลน์ การส่งตรง มีการสร้างแอพพลิเคชั่น

ในขณะเดียวกัน ห้างส่วนใหญ่ได้มีการหันมาทำ House Brand ในส่วนของอาหารมากขึ้น สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่พบว่า วันนี้ คนไทยใช้เงินซื้อของในห้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซูเปอร์มาร์เก็ตจึงมีความสำคัญในการเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภค 

"ขณะนี้ประเทศไทยมีเกษตรกรประมาณ 23 ล้านคน มีผู้บริโภค 65 ล้านคน มีผู้เล่นการกระบวนค้าอาหารไม่มากนัก แต่เชื่อมโยงผู้คนขนาดมหาศาลเข้าด้วยกัน บทบาทของผู้บริโภคที่เป็นผู้เชื่อมโยงมีความสำคัญมาก 

ผลการการสำรวจของ Oxfam ประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยตกอยู่ภาวะที่เรียกว่ามีความไม่มั่นคงทางอาหารค่อนข้างสูง หรือ มีอาหารไม่เพียงพอ ช่องว่างทางรายได้ของเกษตรกร ชาวประมง และแรงงาน มีภาวะความไม่มั่นคง ถ้าเราปรับส่วนแบ่งในห่วงโซ่อุปทาน จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้อย่างมหาศาลซึ่งมีงานวิจัยยืนยัน เพราะฉะนั้นนำมาสู่ความมุ่งมั่นและปรารถนาที่เราจะทำงานร่วมกัน" เธอขยายความไปถึงที่มาที่ไปของโครงการ 

supermarket-2384476_640

ธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย เปิดเผยถึงการประเมินที่พิจารณาจากนโยบายของบริษัทต่างๆ รวมไปถึงบริษัทแม่ ท่ีเผยแพร่ต่อสาธารณะซ่ึ่งคนทั่วไปสามารถตรวจสอบ และเข้าถึงได้เท่านั้น อย่างเว็บไซต์ รายงานประจำปี หรือรายงานต่างๆ 

"ข้อค้นพบสำคัญ คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยในภาพรวมยังเปิดเผยนโยบายทางสังคม และข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนค่อนข้างน้อย โดยด้านได้รับความสำคัญมากหน่อย คือ มิติด้านเกษตรกร และผู้ผลิตรายย่อย” 

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของการประเมินชี้ให้เห็นว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยสามารถขยายมิติของ การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) มาครอบคลุมถึงประเด็นด้านแรงงาน ด้านเกษตรกรายย่อย ด้านสตรี และด้านความโปร่งใส่ของนโยบายในภาพรวมได้อีกมาก ซึ่งผลการประเมินในปีแรกนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการติดตามการพัฒนาของซูเปอร์มาร์เก็ตไทยในระยะยาว

ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิผู้บริโภค อธิบายถึงสิ่งที่ต้องการที่จะสื่อสารกับสังคมนั้น อยากให้ผู้บริโภคมีข้อมูลเพื่อตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้า โดยปกติผู้บริโภคจะคิดว่า เงินที่จ่ายไปคุ้มค่า หรือได้มาตรฐานมากน้อยแค่ไหน

แต่รายละเอียดที่ลึกลงไปกว่านั้น คือ ผู้บริโภคอาจจะพบว่า แม้จะได้สินค้าที่มีคุณภาพ และเหมาะสมกับเงินที่จ่ายแล้ว สิ่งที่ต้องคิดมากกว่านั้นคือเบื้องหลังสินค้าและบริการเหล่านั้น ได้เอาเปรียบใครหรือไม่ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจการเลือกซื้อสินค้าสิ่งที่สำคัญคือข้อมูล บางผู้ประกอบการที่ไม่ได้คะแนน เกิดจากการที่เข้าถึงข้อมูลไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทไม่ได้ตระหนักในมิติเหล่านี้ หรือว่าตระหนักแล้วแต่ว่าผู้บริโภคไม่รู้ เพราะว่าไม่สามารถเข้าข้อมูลได้

shopping-cart-1080837_640

“สิ่งที่อยากจะทำเป็นข้อเสนอสำหรับผู้จัดซื้อรายใหญ่คือ อยากให้เขาขยายในแง่ของมิติสิ่งแวดล้อม มิติเรื่องของแรงงาน ความโปร่งใสในการเสนอข้อมูล เรื่องของเกษตรรายย่อย และก็เรื่องสิทธิสตรี ซึ่งในปีต่อ ๆ ก็อาจจะได้คะแนนมากขึ้น ซึ่งสิ่งทางเราหวังและอยากจะเห็นในจุด ๆ นั้น อีกหนึ่งอย่างในส่วนของผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูล ทราบว่ามีบางบริษัทที่เข้าไปคุยก็ยินดีที่จะเปิดเผย ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี"

เธอยอมรับว่า อยากให้ผู้บริโภคใช้พลังให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่าไปคิดว่า คนซื้อเป็นคนตัวเล็กแล้วทำอะไรไม่ได้ 

"เราอยากให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่ใช้ในการประกอบการและเลือกใช้ข้อมูลในการที่จะทำให้สังคมของเรา สินค้าของเรามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูทางออนไลน์ได้ที่ เพจ ซูเปอร์มาณ์เก็ตที่รักได้”

เช่นเดียวกับข้อสังเกตเพิ่มเติมจาก กิ่งกร ที่คิดว่า ประเทศไทยไม่มีการวางข้อมลในที่สาธารณะ จะวางก็ต่อเมื่อมีเสียงสะท้อนที่ดังขึ้น เกิดการชี้เป้า ห้างจึงจะเริ่มเติมข้อมูลนี่คือประเด็นนึง เรื่องของการวางนโยบายสาธารณะ หากสามารถวางนโยบายที่ดีให้คนก็ตรวจสอบได้ ก็เป็นการสร้างความโปร่งใสที่ดีร่วมกัน

ต่อมา คือ กระบวนการทำงานของเกษตรกรค่อนข้างดี แต่ว่ามีกระท่อนกระแท่นบ้าง ถ้าได้รับการพัฒนาที่มากกว่านี้ ก็จะทำให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์มากยิ่งขึ้น 

"มันมีความเป็นไปได้ ซึ่งห้างเองของมีแนวโน้มที่จะทำ แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของผู้หญิง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในห่วงโซ่อุปทานมีผู้หญิงอยู่ค่อนข้างเยอะ ซึ่งผู้หญิงไม่ได้ถูกในความสำคัญซึ่งอาจจะต้องเติมกันในเรื่องนี้”

จนถึงวันนี้ นอกจากผลกำไรของการทำธุรกิจแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่ถูกมองมาควบคู่กับราคา และมาตรฐานนั้น ก็คือความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ยั่งยืน และเป็นธรรมนั่นเอง