สัญชาติไทย เรื่องไม่หมู (ป่า)

สัญชาติไทย เรื่องไม่หมู (ป่า)

ฝันที่ยังไม่เป็นจริงของหมูป่าไร้สัญชาติ ความท้าทายและความหวังของเด็กไร้รัฐอีกนับแสนในประเทศไทย

ภารกิจการกู้ภัยที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย จบลงแล้วท่ามกลางเสียงชื่นชมยินดีจากทั่วโลก ทว่า ชีวิตของเด็กๆ ทั้ง 12 คน รวมทั้งผู้ช่วยโค้ชแห่งทีมหมูป่าอะคาเดมี แม่สาย กำลังเผชิญกับมรสุมลูกใหม่ที่อาจเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาไปไม่มากก็น้อย

และหนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาท่ามกลางคำถามมากมายเกี่ยวกับปฏิบัติการกู้ภัยในถ้ำหลวง ก็คือสถานะทางทะเบียน ซึ่งเจ้าหน้าที่จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ออกมาระบุว่า

“ในทีมหมูป่าที่ติดถ้ำหลวงฯมีเด็ก 3 คน โค้ช 1 คน มีสถานะเป็นกลุ่ม Stateless คือคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เด็ก 3 คนมีแต่หลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ ซึ่งได้รับการสำรวจตามมติครม. เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในประเทศไทย แต่มีสถานะไม่ชัดเจนว่าเป็นใคร”

สรุปภาษาชาวบ้านก็คือ ณ วันนี้ทั้ง 4 คนยังเป็นคนไร้สัญชาติ แต่มีโอกาสที่จะได้รับสัญชาติไทยหากข้อเท็จจริงพิสูจน์ได้ว่า พวกเขาเกิดในประเทศไทย

เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายการทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง อธิบายต่อว่า “ตอนนี้เรารู้แล้วว่าพ่อแม่ของเขาไม่ใช่คนสัญชาติไทย การที่เขาจะได้สัญชาติจากสายโลหิตที่พ่อหรือแม่เป็นคนไทยมันก็จบแล้ว เหลืออีกหลักเดียวคือหลักดินแดน เด็กเป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทยหรือเปล่า ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นที่ได้มาจากการสำรวจ พบว่าเด็ก 3 คนนี้เกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้แจ้งการเกิด จึงไม่มีสูติบัตร ไม่มีใบเกิด ผู้ปกครองต้องมาพิสูจน์ว่าลูกของเขาเกิดในประเทศไทย ถ้าไม่มีเอกสารก็ต้องมีพยานรู้เห็น พยานบุคคลละแวกใกล้เคียงที่เด็ก 3 คนนี้เกิดมารับรอง นายทะเบียนถึงจะกล้าออกหนังสือรับรองให้

พอมีหนังสือรับรองว่าเกิดในราชอาณาจักรแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการพิจารณาต่อว่าเด็กจะได้สัญชาติโดยหลักดินแดนไหม มันมีขั้นตอนของมัน ไม่ใช่เรื่องพิเศษหรือเร่งรัดอะไรนะ นี่คือขั้นตอนปกติ เด็กทุกคนที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกับเด็ก 3 คนนี้ ก็จะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกัน”

หมูป่า สถานะบัตร ‘0’

ไม่ใช่แค่ 4 คน แต่มีถึง 10 คนในทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายกว่า 50 ชีวิต ที่ยังไร้รัฐไร้สัญชาติ เพียงแต่ 4 คนที่ประสบภัยในถ้ำหลวงคือยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมาให้สังคมได้รับรู้

สมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย บอกว่าการได้สัญชาติไทยมี 2 หลักการ ได้แก่ หลักดินแดน คือเกิดในประเทศไทย และหลักสายเลือด คือมีพ่อแม่เป็นคนไทย ซึ่งจากการตรวจสอบหมูป่าทั้ง 4 คนที่เป็นข่าว คือ เอกพล จันทะวงษ์, พรชัย คำหลวง, ด.ช.มงคล บุญเปี่ยม และ ด.ช.อดุลย์ สามออน พบว่า

“น้องสองคนเกิดในเขตเทศบาลเวียงพางคำ น้องอีกคนเกิดในเขตเทศบาลแม่สาย ส่วนโค้ชเอกเกิดที่เทศบาลเวียงพางคำ บางคนยังไม่ได้ไปติดต่อที่เทศบาล เจ้าหน้าที่บอกไปแล้วว่าต้องเตรียมเอกสาร แต่ยังได้มาไม่ครบ”

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การเกิดในประเทศไทยของหมูป่าไร้สัญชาติทั้งสี่คนน่าจะเป็นข้อเท็จจริงที่ก่อตั้งสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิด เพียงแต่คนทั้งสี่คนต้องพิสูจน์การเกิดในประเทศไทยให้ได้

ที่สำคัญคือ หมูป่าทั้งสี่คนถือบัตร 0-89 ถือว่าอาศัยอยู่ในไทยมานานแล้วจึงถือสิทธิเสมือนคนไทย ทรงสิทธิในหลักประกันสุขภาพแบบได้เปล่าหรือ ‘ท.99’ ทั้งยังมีเสรีภาพที่จะเดินทางภายในจังหวัดเชียงราย ออกจากอําเภอแม่สายโดยไม่ต้องขออนุญาต แต่หากเป็นการออกนอกจังหวัดเชียงรายหรือออกนอกประเทศไทยจะต้องขออนุญาตก่อน

สำหรับสิทธิการศึกษา อ.พันธุ์ทิพย์ ยืนยันว่า คนถือที่ถือบัตร 0-89 มีเสรีภาพที่จะศึกษาอย่างไม่มีข้อจํากัด เพียงแต่ไม่มีสิทธิกู้เงินจาก กยศ. และเมื่อจบการศึกษาจะมีสิทธิทํางานได้เสมือนคนไทย ทั้งนี้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2559

“จะเห็นว่าความยากลําบากของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยในวันนี้ลดลงจากในอดีตมากมาย แต่อย่างไรก็ตามมีคนไร้รัฐไร้สัญชาติจํานวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงสิทธิตามกฎหมาย ทั้งนี้เพราะความไม่รู้กฎหมายและนโยบาย หรืออาจเป็นเพราะอคติและการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐในบางพื้นที่ หรือบางช่วงเวลา”

ทั้งนี้ บัตรประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ซึ่งเป็นบัตรที่กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดชายแดนถืออยู่เป็นจำนวนมาก มีชื่อทางการว่า ‘บัตรประจําตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน’ โดยมีที่มาจากการที่คนเหล่านี้ประสบปัญหาไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร์ พวกเขาไม่เคยได้รับการรับรองจากรัฐใดในโลก แต่เมื่ออาศัยอยู่ในประเทศไทย รัฐไทยจึงต้องบันทึกในทะเบียนราษฎร์เพื่อขจัดปัญหาความไร้รัฐให้แก่พวกเขา คนเหล่านี้จึงแปรเปลี่ยนจาก ‘คนไร้สถานะทางทะเบียน’ เป็น ‘คนที่มีสถานะทางทะเบียน’

“อย่างไรก็ตาม ดูตลกดีที่กรมการปกครองไทยยังเรียกพวกเขาว่า ‘บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน’ ก็เลยถูกเข้าใจผิดว่ารัฐไทยไม่ยอมรับเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล ทั้งที่คนดังกล่าวได้รับการรับรองสิทธิและสถานะของมนุษย์ ซึ่งเป็นราษฎรของรัฐไทย แต่อาจมีเงื่อนไขอันเนื่องมาจากความเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทย เราจะเห็นว่าน้องหมูป่า โค้ชเอกหรือแม้แต่น้องหม่อง ทองดี ซึ่งเป็นที่รักของคนไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ทุกคนถือบัตรเลข 0 ต่างก็เรียนหนังสือในประเทศไทยโดยงบประมาณค่าหัวการศึกษาจากกระทรวงการคลังไทย และได้รับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานดังมนุษย์ทุกคนพึงมี”

เหตุการณ์ครั้งนี้จึงไม่เพียงให้บทเรียนเรื่องการกู้ภัย แต่ยังช่วยให้สังคมได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายสัญชาติมากยิ่งขึ้น และช่วยกันสนับสนุนให้คนที่ยังประสบปัญหาสามารถเข้าถึงสิทธิอันชอบธรรมของตนเอง

“หากเราสร้างความเชื่อของสังคมในมนุษยนิยมด้านสัญชาติได้สําเร็จ การขจัดปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่คนที่กลมกลืนแล้วกับสังคมไทยก็จะทําได้เร็วขึ้น เพราะอุปสรรคของงานนี้มาจากอคติมากที่สุด” ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสัญชาติ กล่าวทิ้งท้าย

20180702112923248

เสียงจริงจากชายขอบ

แม้จะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย แต่ถ้าถามคนที่เคยถือบัตรเลข 0 ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ทั้งการเดินทาง การเรียน และการทำงาน แค่ไปเรียนต่างพื้นที่ก็ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย บางคนเรียนจนจบแล้ว แต่เวลาไปสมัครงานต้องเจอกับเงื่อนไขที่ระบุว่า ‘เป็นบุคคลสัญชาติไทย’ เท่านั้น

ตัวเลขกลมๆ จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่าปัจจุบันคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า 480,000 ราย ขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับเด็กไร้สัญชาติในจังหวัดเชียงรายบอกว่า เฉพาะพื้นที่นี้มีประมาณ 60,000 คน ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ลัวะ ไทลื้อ ว้า ไทใหญ่ ดาระอั้ง ฯลฯ ในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่มีสิทธิในสัญชาติไทยตามข้อเท็จจริง แต่ยังคงตกหล่นหรือติดขัดจากขั้นตอนทางทะเบียนราษฎร์ ซึ่งทั้ง 4 คนที่เพิ่งได้ชีวิตใหม่จากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน คือหนึ่งในนั้น

“จริงๆ เด็กในกลุ่มนี้เป็นเด็กมีรากเหง้า เป็นลูกครึ่งเยอะมาก บางคนพ่อเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่มีบัตร แม่เป็นคนไทย บางคนแม่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ พ่อเป็นคนไทย แต่ตัวเด็กเกิดในไทยทั้งนั้น ถามว่าทำไมไม่ได้สักที ก็เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดที่โรงพยาบาล ไม่ได้แจ้งเกิด ไม่มีสูติบัตร หรือไม่ก็ต้องรอให้พ่อหรือแม่ได้สัญชาติก่อน แต่ตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่แล้ว ถึงจะเกิดในไทยก็เกิดในป่าในเขาในหมู่บ้าน ไม่มีหลักฐานมายืนยันกับทางราชการ” ครูน้ำ นุชนารถ บุญคง ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านครูน้ำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เล่าถึงสภาพปัญหาในพื้นที่

เมื่อคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ยังไม่ได้สัญชาติไทย ลูกก็จะไม่ได้สัญชาติตามหลักสายโลหิต ส่วนหลักดินแดนนั้น ผู้ปกครองเด็กต้องหาหลักฐานมายืนยันการเกิดในประเทศไทย ซึ่งครูน้ำมองว่า ในแต่ละขั้นตอนล้วนเอื้อต่อการคอรัปชั่น

“คนกลุ่มนี้เขาไม่มีอำนาจในการต่อรอง เวลามีคนบอกว่าให้ไปหาหลักฐานหรือตัวบุคคลมา เขาคิดเลยว่าต้องมีเงินใต้โต๊ะ”

เหมือนคำเปรียบเปรยที่ว่า ถ้ากลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ที่เหลือก็จะผิดตามๆ กันไป สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ จำนวนไม่น้อยจึงไม่ใช่เรื่องของการมีพ่อแม่เป็นคนต่าวด้าวหลบหนีเข้าเมือง แต่เป็นปัญหาการตกหล่นจากการลงรายการสัญชาติในทะเบียนราษฎร์ของไทย อันเป็นผลมาจากความห่างไกล อุปสรรคด้านภาษา และการไม่รู้สิทธิของตนเอง จนส่งผลต่อมายังรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งครูน้ำมองว่า หากจะแก้ปัญหานี้อย่างได้ผล ควรกลับไปแก้ไขที่สถานะของพ่อแม่ “ถ้าพ่อแม่ได้ ลูกก็มีสิทธิ”

ทั้งนี้ เนื่องจากการพิจารณาให้สัญชาติตามหลักดินแดนในมาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535 และ พ.ศ. 2551 มุ่งปฏิเสธสัญชาติของบุตรคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย และบิดาหรือมารดามีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือสถานะเข้าเมืองในลักษณะไม่ถาวร และแม้ว่าจะให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเฉพาะบุคคลที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น อยู่อาศัยจริงในราชอาณาจักรไทยโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์และเป็นผู้มีความประพฤติดี หรือทำประโยชน์ให้กับสังคม แต่ที่ผ่านมาการดำเนินการดังกล่าวก็เป็นไปด้วยความล่าช้าและไม่ครอบคลุม

ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาให้ตรงจุดควรเริ่มคลายปมตั้งแต่ต้นทาง คือการเร่งรัดกระบวนการให้สัญชาติกับคนรุ่นพ่อแม่ในกรณีที่พวกเขามีสิทธิตามข้อเท็จจริง หลังจากนั้นรุ่นลูกก็จะได้รับสัญชาติไทยตามหลักการสืบสายโลหิตโดยอัตโนมัติ

ที่สำคัญ ปัญหาเรื้อรังนี้จำเป็นต้องมองในภาพรวมไม่เฉพาะเจาะจงแค่ทีมหมูป่า เพราะยังมีเด็กอีกมากที่ถูกผลักให้เป็นเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ พวกเขาต้องเติบโตด้วยความยากลำบาก ขาดโอกาสในการพัฒนาตัวเอง ถือเป็นการลดทอนสิทธิเด็กอย่างชัดเจน

“ถ้ารัฐเปิดใจจับมือร่วมกันกับองค์กรที่ทำงานด้านเด็กในจังหวัดเชียงรายซึ่งมี 300 กว่าองค์กร มันจะส่งผลสะเทือนในวงกว้าง ไม่อยากให้กรณีนี้เป็นการให้แบบพิเศษ เพราะมันเป็นคนละเรื่องกับการแก้ปัญหาทั้งหมด” ครูน้ำบอก ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “ถึงอย่างไรครูก็ดีใจนะถ้าทีมหมูป่าจะได้สัญชาติ และควรให้ตั้งแต่พ่อแม่เขา”

มองอย่างมีความหวัง กรณีนี้น่าจะจุดประกายให้ภาครัฐหันกลับมาทบทวนกฎหมายสัญชาติที่มีปัญหาในทางปฏิบัติตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และมองให้กว้างขึ้นในประเด็นที่ว่าเราจะพัฒนาศักยภาพของคนในแถบชายแดน ตลอดจนคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้อย่างไร

สิทธิของเด็กเหล่านี้แผ่วเบามากจนน่าใจหาย อย่าบอกว่าเอาไว้ก่อน...ให้เด็กรอ เด็กรอได้ ครูน้ำวิงวอนไปถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ถ้าสิทธิเป็นของเขาโดยชอบธรรม ถ้าสัญชาติไทยเป็นไปตามข้อเท็จจริง อคติและขั้นตอนที่ยุ่งยาก คืออุปสรรคที่ต้องกำจัดออกไป