ขบวนการแก้จน ‘แม่ฮ่องสอนโมเดล’

ขบวนการแก้จน ‘แม่ฮ่องสอนโมเดล’

เมื่อภาควิชาการจับมือชาวบ้านใช้ฐานงานวิจัยพาแม่ฮ่องสอนไปให้พ้นจากกับดักรายได้ต่ำ

ติดอันดับจังหวัดที่มีคนจนมากที่สุดในประเทศต่อเนื่องมาหลายปี ทั้งที่มีทรัพยากรต้นทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรมเหลือเฟือ และแม้ว่าผลการสำรวจด้านความสุขของคนในพื้นที่จะยืนยันว่า ‘แม่ฮ่องสอนยังยิ้มได้’ แต่หลายหน่วยงานก็เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปลดล็อคความจนให้คนที่นี่ยิ้มกว้างกว่าเดิม

“ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่หรือ ‘แม่ฮ่องสอนโมเดล’ เพื่อแก้ปัญหาตามการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน และผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี บนฐานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สกว.ในฐานะภาควิชาการจึงได้มีการจัดประชุมหารือกับเครือข่ายผู้เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ ปัญหา ศักยภาพของพื้นที่และคน รวมถึงความรู้และงานวิจัย สู่การกำหนดเป้าหมายและบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาแม่ฮ่องสอนร่วมกันต่อไป”

รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ กล่าวถึงการระดมสมองครั้งล่าสุดเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ที่ถูกมองว่าเป็นเมืองชายแดนของประเทศ ชายขอบของสังคมไทย

ระดมสมอง

เข้าใจข้อจำกัดด้านกายภาพ

ถ้าวัดกันตามขนาดของพื้นที่ แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดใหญ่อันดับ 3 ของภาคเหนือ และเป็นอันดับ 8 ของประเทศ ทว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นป่าไม้ถึงร้อยละ 87.12 หรือ 7 ล้านไร่ มีพื้นที่เกษตรกรรมเพียง 4 แสนไร่ หรือร้อยละ 5.08 เท่านั้น และด้วยสภาพภูมิประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ทำให้เมืองนี้มีสายหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี จนถูกขนานนามว่า ‘เมืองสามหมอก’

ความพิเศษของธรรมชาติและวัฒนธรรมแม้จะเพิ่มแรงดึงดูดในการด้านการท่องเที่ยวรวมถึงการลงทุน แต่ด้วยความคดเคี้ยวและยากลำบากในการเดินทาง บวกกับข้อจำกัดหลายอย่างทั้งการขนส่งสินค้า สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ส่งผลให้เศรษฐกิจของแม่ฮ่องสอนยังมีขนาดเล็กที่สุดในประเทศ และมีรายได้เฉลี่ยต่ำสุดในภาคเหนือ

สำหรับรายได้หลักของคนที่นี่อยู่ที่ภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว ทว่า กลับไม่ได้สร้างและกระจายรายได้อย่างที่ควรจะเป็น ภาคการเกษตรมีปัญหาเรื่องราคาและการกระจายสินค้า ส่วนการท่องเที่ยวก็กระจุกตัวอยู่ในหมู่ผู้ประกอบการซึ่งมักไม่ใช่คนในพื้นที่

อรุณี เวียงแสง ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดแม่ฮ่องสอน แสดงความเห็นว่าหากต้องการจะพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้ยั่งยืนต้องเริ่มต้นจาก ‘คน’ ขับเคลื่อนด้วยการวิจัยเพื่อท้องถิ่น เพื่อให้คนแม่ฮ่องสอนมีศักยภาพในการเข้าถึง จัดการและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทรัพยากรของตนเอง

“คนแบบไหนที่จะมาเป็นกลไก ใช้ปัญญาและความรู้นำในการขับเคลื่อนบนฐานการจัดการทรัพยากร เมื่อคนได้ประโยชน์จากป่าก็ต้องรักษาป่าด้วย และต้องทะลุทะลวงข้อจำกัดด้านการตลาดเพื่อสนับสนุนชาวบ้านและเครือข่ายเกษตรกร ที่สำคัญคือต้องมีการบูรณาการอย่างแท้จริงระหว่างภาครัฐและท้องถิ่น”

โจทย์เดียวกันนี้ นิติศักดิ์ โตนิติ ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดแม่ฮ่องสอน เสนอว่า ต้องใช้การรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อพัฒนาคน โดยยกตัวอย่าง “สาละวินโมเดล” ว่าเป็นโครงการวิจัยที่มุ่งพัฒนาโรงเรียนแม่ฮ่องสอนในมิติใหม่ เพื่อช่วยเหลือครูและนักเรียนบนดอยห่างไกลให้ข้ามผ่านอุปสรรคทั้งในด้านการเดินทาง ไฟฟ้า การสื่อสาร และสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ไม่เอื้ออำนวย รวมถึงงบประมาณที่จำกัด

“ประเด็นหลักคือ ต้องมีการจัดการศึกษาบนฐานชีวิตของคนในชุมชน การจัดการทรัพยากรและการผลิตให้มีอยู่มีกิน การแบ่งปัน ดูแลสุขภาพ เด็กไม่มีโอกาสเรียนต่อหลังจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จึงต้องมีทักษะวิชาการ ทักษะวิชาชีพ และทักษะชีวิต เพื่อให้มีอยู่มีกิน มีรายได้ และดูแลทรัพยากรน้ำ-ป่า ให้เด็กมีพื้นฐานที่จะไปต่อได้ และมีระบบประเมินเพื่อหนุนเสริมผู้เรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งต้องการภาคส่วนต่างๆ มาร่วมสนับสนุน เชื่อมชุมชน หน่วยงาน และองค์ประกอบอื่นๆ เข้าด้วยกัน”

เข้าถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น

นอกจาก ‘คน’ แม่ฮ่องสอน ซึ่งมาจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และระบบนิเวศอันสมบูรณ์ คือรากอันแข็งแรงของแม่ฮ่องสอนที่จำเป็นต้องได้รับการรื้อฟื้นต่อยอด รศ. ดร.รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ชี้ชัดว่าแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่ถือเป็นสุดยอดของภูมิภาคและโลก

“ในด้านความหลากหลายทางชีวภาพก็เช่น หอยทากจิ๋ว กล้วยไม้จิ๋ว พืชพันธุ์ต่างๆ สุดยอดด้านโบราณคดี เรามีงานวิจัยมนุษย์โบราณอันเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์ภูมิภาคนี้ ส่วนด้านวัฒนธรรมมีมรดกที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นที่มีความสัมพันธ์กันตั้งแต่สมัยล้านนา ก่อเกิดเป็นความผูกพันต่อพื้นที่และสำนึกในความเป็นเจ้าของ หวงแหนสิ่งที่ตกทอดอยู่บนแผ่นดินที่อาศัยอยู่”

เหตุนี้แม่ฮ่องสอนจึงเป็นเมืองที่รุ่มรวยในศิลปวัฒนธรรมและเจริญในแบบของตนเอง การพัฒนาต้องมองให้ถึงความสัมพันธ์ในระดับท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาค ประเทศ และระดับโลก

“เราพบว่าแม่ฮ่องสอนไม่เคยโดดเดี่ยว มีเส้นทางเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและเปิดประตูการค้าตั้งแต่อดีต แต่เหตุใดจึงยอมรับว่าเป็นเมืองชายขอบและยากจน จากนี้ไปแม่ฮ่องสอนจะพัฒนาไปในทิศทางใด มนต์เสน่ห์แห่งขุนเขาพร้อมรับการอพยพของคนจากที่อื่นหรือไม่ บนเส้นทางแพรไหมทางบกตามยุทธศาสตร์ของจีน เรารู้จักตัวเองดีพอหรือยัง และจะวางตำแหน่งของแม่ฮ่องสอนอย่างไร เพื่อไปสู่เมืองที่ร่ำรวยทางมรดกธรรมชาติและวัฒนธรรม”

นี่คือคำถามที่สอดคล้องกับมุมมองของหัวหน้าทีมวิจัยโครงการ ‘พิพิธภัณฑ์มีชีวิต’ ผศ. ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่บอกว่าภูมิสังคมของแม่ฮ่องสอนมีอัตลักษณ์เฉพาะ แต่ถึงปัจจุบันสิ่งที่มองเห็นคือแก่นของปัญหายังดำรงอยู่

“งานวิจัยเป็นหลักในการสร้างกระบวนการใหม่ให้คนในพื้นที่สามารถเปล่งเสียงของตัวเอง โดยมีหัวใจสำคัญเริ่มต้นจากความเป็นมนุษย์ โอกาสของแม่ฮ่องสอนมีหลายปัจจัยมาก แต่ปัญหาความเปราะบางคือท้องถิ่นไม่มีโอกาสได้เลือก สิ่งที่ท้าทายจึงอยู่ที่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดกระบวนการพัฒนา”

20171224214439571

เรื่องนี้ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สกว. ขยายความต่อว่างานวิจัยมุ่งเป้าในพื้นที่ต้องมองมิติด้านคนและความเป็นอยู่บนวิถีวัฒนธรรมเป็นสำคัญ มีข้อมูลมากพอเพื่อวางแผนการตัดสินใจ โดยมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าจากสิ่งที่มีอยู่ การจัดการป่าไม้เชิงบูรณาการให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม การวิเคราะห์คุณภาพดิน น้ำ ป่าไม้ ปัญหาและมลภาวะในการทำการเกษตร การส่งเสริมเพิ่มเติมองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อประยุกต์ใช้ในการจัดการเกษตรอินทรีย์ ระบบการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงมีหุ้นส่วนในการพัฒนาเพื่อสร้างความร่วมมือและเป็นพี่เลี้ยงในการสร้างอาชีพใหม่

“จุดเน้นสำคัญคือความยั่งยืนและชุมชนที่ต้องคงอยู่โดยใช้งานวิจัยที่มีแกนวิชาการประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งสรุปได้เป็น 7 มิติคือ เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เกษตร ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี การค้าชายแดนและความมั่นคง การศึกษา นโยบายรัฐบาล สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ”

พัฒนามุ่งหน้าสู่ความยั่งยืน

หลายปีที่ผ่านมามีงานวิจัยมากมายที่พยายามศึกษาหาแนวทางยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในพื้นที่ หนึ่งในนั้นคือพัฒนาสินค้าชุมชนสู่ 'แม่ฮ่องสอนไซเบอร์มอลล์' ในชื่อ ‘เฮ็ดก๊อเหลี่ยว’

“เฮ็ดกอเหลี่ยว แปลว่า ทำเองกับมือ โดยนักวิจัยได้รวบรวมสินค้าในชุมชนทั้ง 7 อำเภอกว่า 50 กลุ่ม พบว่ามีสินค้าที่มีตัวตนและขายได้จริงเพียง 22 กลุ่ม จึงได้ทำการยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำวิจัยและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ควบคู่กับการจัดทำเว็บไซต์ ในส่วนของแม่ฮ่องสอนนั้นมีโจทย์ว่าทำอย่างไรจึงจะพัฒนาจากผู้ผลิตให้เป็นนักการตลาด รู้จักสร้างตลาดเองด้วยตัวเองได้ หาอัตลักษณ์ของสินค้าชุมชนและยกระดับสินค้าให้มีมาตรฐาน พัฒนาแอปพลิเคชั่นของจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว และใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อแปรรูปสินค้าให้มีคุณภาพ” อ.เกษม กุณาศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ให้ความเห็นถึงความเป็นไปได้ในการก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมๆ

 ขณะที่ด้านการท่องเที่ยว ผศ.ดร.จิตศักดิ์ พุฒจร จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงผลการศึกษาความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวท่ี่มีต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเพศหญิงสนใจเข้ามาเที่ยวมากขึ้น มีการวางแผนท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากขึ้นโดยอาศัยข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ โดยกลุ่มนี้จะชอบทำกิจกรรมที่เน้นเรื่อง ‘ชาติพันธุ์ ธรรมชาติ อิสระ ผจญภัย’

“แต่สิ่งที่สะท้อนจากนักท่องเที่ยวคือ การขนส่งสาธารณะยังไม่ครอบคลุม ไม่เชื่อมโยงตัวเมืองกับพื้นที่อื่นๆ ธุรกิจนำเที่ยวยังพึ่งพาจากเชียงใหม่ ดังนั้นแนวทางทำการตลาดควรมีสินค้าและบริการที่เป็นตลาดเฉพาะ สร้างแบรนด์ของตัวเองที่มีความเป็นตัวตนของแม่ฮ่องสอน โดยช่วยกันคิดช่วยกันทำ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง”

นอกเหนือจากนั้นในส่วนของการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน ผศ. ดร.ธงชัย ภูวนาถวิจิตร จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการวิจัยภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สกว. กระทรวงการต่างประเทศ และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ ‘เปิดพรมแดนห้วยต้นนุ่นสู่รัฐคะยา’ 

“ในอนาคตหากมีการเปิดด่านถาวร แม่ฮ่องสอนจะไม่เงียบเหงา มีประชากรหลากหลาย เชื่อมโยงพื้นที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง ทั้งในรัฐคะยาและรัฐต่างๆ ในเมียนมา และจะเป็นโอกาสมหาศาลของการเปิดพรมแดนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สำคัญคือเราต้องกำหนดนโยบายเชิงรุกที่ทั้งเขาและเราร่วมมือกันทำอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โอกาสและข้อจำกัดที่มีมากมาย ให้เป็นพรมแดนการค้า การลงทุน การพัฒนาสู่ความยั่งยืนร่วมกัน”

 แม้จะมีตัวอย่างงานวิจัยหลายชิ้นที่สามารถใช้เป็นฐานสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของแม่ฮ่องสอนได้ แต่ข้อจำกัดก็มีมากมายเช่นกัน โดยเฉพาะกระบวนการมีส่วนร่วมที่รัฐต้องเปิดโอกาสให้ ‘คนใน’ มีบทบาทอย่างแท้จริง

 “ความสำเร็จของการพัฒนา หัวใจสำคัญคือการสานพลังบูรณาการกับคนในพื้นที่ การวางเป้าหมายร่วมกันและหาแนวทางการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราจะมองไปข้างหน้าอย่างไร ปฏิบัติการครั้งนี้จะมาชวนชาวแม่ฮ่องสอนเชื่อมโยงให้ครบทุกด้าน ทั้งท่องเที่ยว การศึกษา ป่าไม้ อย่างไรก็ดีการพัฒนาสู่ความยั่งยืนนั้นจะอาศัยแต่เพียงความรู้และประสบการณ์ของคนในพื้นที่อย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีความรู้และข้อมูลจากงานวิจัยมาหนุนเสริมทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพในการประเมินสถานการณ์ รวมทั้งกระบวนการขับเคลื่อนจากภาคส่วนต่างๆ” รศ. ดร.ปัทมาวดี กล่าวในที่สุด

ทั้งนี้ ผลจากการระดมความคิดสรุปว่า 3 อันดับแรกที่ควรดำเนินการเพื่อพัฒนาแม่ฮ่องสอนสู่ความยั่งยืน คือ 1.ความมั่นคงอาหารและเกษตรอินทรีย์ 2.ระบบการศึกษาเพื่อผลิตคนที่มีศักยภาพและรู้เท่าทัน 3.สิทธิในการจัดการทรัพยากรตลอดจนกฎหมายที่เป็นธรรม ซึ่งถ้าถามใจชาวแม่ฮ่องสอนแล้ว พวกเขาขอขีดเส้นใต้ไว้ตรง “การปลูกข้าวให้เพียงพอ จัดเขตการศึกษาพิเศษ และสิทธิชุมชนให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้”

20171224214439448

และไม่ว่าจะพัฒนาแม่ฮ่องสอนไปทางไหน จะปลดล็อคความจนได้หรือไม่ สำคัญคือสิทธิเสียงของพวกเขาในการกำหนดชะตากรรมของตนเองต้องไม่หายไปไหน