“บ้าน” แตกสาแหรกขาด 

“บ้าน” แตกสาแหรกขาด 

เมื่อบ้านไม่เป็นบ้าน และมองไม่เห็นวันพรุ่งนี้ พวกเขาจำต้องจากไป “ตายเอาดาบหน้า” และนี่เป็นสิ่งที่ผู้คนกว่า 65.6 ล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญอย่างไม่มีทางเลือก

 

ที่พักพิงและผ่านทาง

ประเทศไทย ถือเป็นประเทศทางผ่านและที่พักพิงชั่วคราวของ ผู้ขอลี้ภัย/แสวงหาที่ลี้ภัย (asylum seeker) และ ผู้ลี้ภัย (refugee) จากหลายประเทศ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นได้เป็นกลุ่มหลักๆ 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก เป็นผู้ลี้ภัยจากการสู้รบจากพม่า เช่น กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และกะเหรี่ยงแดงที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย (พื้นที่พักพิงชั่วคราว) ตามแนวชายแดนไทย-พม่า มากว่าสามศตวรรษ

กลุ่มที่สอง เป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่เดินทางเข้ามาขอสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ในลักษณะการอพยพเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มเล็ก และไม่ได้อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแต่อาศัยอยู่ในเขตเมืองหรือชานเมือง ซึ่งหลังได้รับการรับรองสถานะจาก UNHCR จะได้รับการช่วยเหลือต่อไป

กลุ่มที่สาม คือ ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในเขตเมืองที่เป็นกลุ่มเฉพาะ อย่าง ชาวโรฮิงญา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผ่านไปยังประเทศที่สาม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย จึงมักจะไม่ได้มุ่งมาขอสถานะผู้ลี้ภัยกับ UNHCR ในประเทศไทย

ผู้ลี้ภัย หมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง
เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหาร
หรือได้รับการคุกคามต่อชีวิต

20180620225924097

(ภาพ : AFP)

ผู้ลี้ภัยคือใคร

อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 ให้คำนิยาม และความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยว่า ผู้ลี้ภัย หมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติสมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง

ประเทศไทยข้องเกี่ยวกับ "ผู้ลี้ภัย” มาตั้งแต่ ช่วงสงครามอินโดจีน และเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมาร์ โดยรัฐบาลไทยอนุญาตให้ตั้งที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้อพยพได้

จนสถานการณ์ผู้ลี้ภัยของโลกที่ส่งผลกระทบถึงไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาทิ ชาวอุยกูร์ที่เดินทางมาจากประเทศจีน ชาวโรฮิงญาที่อพยพมาทางเรือจากเมียนมาร์ หรือบังคลาเทศ กลุ่มผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง อย่าง ชาวปากีสถาน ปาเลสไตน์ ที่หนีภัยสงคราม และเดินทางเข้ามาผ่านประเทศไทยซึ่งมีตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นั่นเป็นเพราะไทยเป็นประเทศทางผ่านสำหรับการเดินทางต่อไปยังประเทศจุดหมายปลายทางและยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติซึ่งทำงานในการออกเอกสารรับรองให้แก่ผู้ที่ขอสถานะผู้ลี้ภัยในเบื้องต้นด้วย จึงทำให้มีผู้ที่ต้องการขอสถานะผู้ลี้ภัย เดินทางผ่านเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น

หรือแม้แต่ “คนแปลกหน้า” ร่วมหมื่นชีวิต ที่เดินสวนกันไปมาในเมืองกรุงอย่างกลมกลืน ทุกคนก็ล้วนแต่ตามหา “บ้าน” ที่หายไปไม่ต่างกัน 

20180604125816515

ผู้ลี้ภัยที่อพยพมายังกรุงปารีส (ภาพ : AFP)

พระเจ้าคนละองค์

เขามักจะมายังที่กักเป็นประจำทุกวัน เพื่อเยี่ยมภรรยา

ใครๆ มักเรียกติดปากว่า “เกสด้า” ชายสูงอายุวัย 65 ปี ที่เดินทางจากปากีสถานมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว 

เมื่อคริสต์ไม่เหมือนอิสลาม หลังจากความตายของลูกชายที่ถูกสังหารในฐานะ “มารศาสนา” ของนักรบไอซิส (ISIS) เขา ภรรยา และลูกชายอีกคนที่เหลือต้องระหกระเหินออกจากปากีสถานมาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว จนจับพลัดจับผลูได้มาอยู่ที่ประเทศไทย

ถึงจะรอดตายจากมาตุภูมิ แต่การมาใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเมืองแปลกหน้าก็ไม่ง่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ 6,000 บาท หรือค่าต่อวีซ่าที่สูงถึง 15,000 บาท ทั้ง 3 คนต้องยอมแลก เขาได้ต่อวีซ่าเพียงคนเดียว ส่วนภรรยายอมถูกกักตัวมากว่า 3 ปีแล้ว ขณะที่ลูกชายต้องหาเงินแบบหลบๆ ซ่อนๆ เพราะอยู่แบบผิดกฎหมาย 

ตัวเขาเอง เท่าที่ทำได้ก็คือการหมั่นไปเยี่ยมภรรยา เพื่อให้เธอได้มีโอกาสออกมานอกพื้นที่กักวันละ 1 ชั่วโมง 

...ก็ยังดี

20180525101349713

ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาระหว่างอพยพมายังประเทศไทย (ภาพ : AFP)

จากดาวสู่ดิน

ที่โน่น เขาคือซูเปอร์สตาร์นักกีฬาชื่อดังที่มีดีกรีโอลิมปิกพ่วงท้าย มีชีวิตสุขสบาย อยู่บ้านหลังใหญ่ มีรถหลายคัน  

แต่เพราะศรัทธาที่แตกต่าง ได้ผลักโชคชะตาให้พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อกลุ่มไอซิสพุ่งเป้ามาที่เขา ขู่บังคับให้เปลี่ยน “พระเจ้า” เมื่อคำตอบคือ “ไม่” ทุกอย่างจึงถูกทำลายย่อยยับ 

ที่นี่ เขาจึงเป็นใครก็ไม่รู้ มากกว่า “บ็อกเซอร์”

ถึงจะมีทุนรอนติดมือมาให้พออยู่ได้ระหว่างรอหาทางไปต่อ แต่เมื่อได้พบเจอกับผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ในฐานะเพื่อนมนุษย์เขาก็อดยื่นมือเข้าช่วยไม่ได้ อย่างน้อย อาหารการกิน หรือโรงเรียนสำหรับผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ที่ทำให้ ภรรยาของเขาจะถูกเจ้าหน้าที่ไทยกักตัวในเวลาต่อมา

ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ยืนยันว่า หากมีโอกาสได้ช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่เดือดร้อนก็ไม่รีรอที่จะทำ ทุกวันนี้ แม้ตัวเขาจะไม่มีรายได้ แต่ก็ดิ้นรนหา “อาหารถุง” ไปเยี่ยม “ผู้ต้องกัก” คนอื่นๆ อยู่เสมอ 

เพราะพระเจ้าของเขาสอนให้รักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง 

หญิงสาวจากพนมเปญ

เธอยังจำน้ำตาในวันที่ต้องออกจากบ้านมาได้ดี เพราะมันเต็มไปด้วยคำถาม และความไม่เข้าใจ 

เริ่มจากพ่อที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่คนหนึ่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติกัมพูชาไปขัดหูขัดตาผู้มีอำนาจ จึงถูกข้อหากบฎ จนตัวเขาหายหน้าไปจากบ้านกว่า 3 ปีถึงค่อยได้ข่าว 

แม่ เธอ และน้องสาวถูกตามติด และข่มขู่ทุกวัน บางครั้งถึงขั้นลงไม้ลงมือ ถี่ขึ้นเรื่อยๆ จนครอบครัวเธอต้องหนีออกมาในคืนวันหนึ่ง 

จากบ้านเดี่ยวที่มีรั้วรอบขอบชิด เหลือแค่ห้องเล็กๆ ที่อยู่กัน 4 คนพ่อแม่เธอ และน้องสาว และอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ มาโดยตลอด

เฉียดถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับก็หลายครั้ง รอดจากจารชนที่ถูกส่งมาตามล่าก็หลายหน แม้วันที่เธอไปติดต่อขอลี้ภัย พวกเขายังตามไปถึงหน้าสำนักงาน

โชคชะตายังไม่ถือว่าร้ายมากนัก เพราะน้องสาวได้ลี้ภัยไปก่อนหน้านี้แล้ว ตอนนี้ที่หวังก็คือให้พ่อและแม่ที่อายุมากแล้วได้ไปประเทศปลายทางก่อน เธอจึงฝ่าฟันความกลัว และหวาดระแวงในเมืองแปลกหน้า (ถึงแม้จะเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงก็ตาม) ทำงานเท่าที่ความรู้ความสามารถจะทำได้ หาค่าใช้จ่ายมาจุนเจือที่บ้าน 

จนกว่าจะถึงวันที่ความหวังของเธอเป็นจริงขึ้นมา   

ความฝันบนลายปัก

หญิงสาวชาวกระเหรี่ยงทุกคนต้องทอผ้าเป็น ไม่ว่า “เสื้อเม็ดเดือย” หรือ “ผ้าถุง” บวกกับคำชมในฝีมือที่เกินตัว ทุกวันหลังเลิกเรียน เธอจึงใช้เวลาอยู่กับการทอผ้าเสียเป็นส่วนใหญ่ 

บางผืน ใช้เวลาไม่กี่วัน ขณะที่บางผืน ใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะเสร็จ

มีอยู่ผืนหนึ่ง เธอทอเอาไว้ใช้เอง ผ้าผืนนี้ตั้งใจเป็นพิเศษ ลวดลายเกี่ยวกระหวัดเป็นเรื่องราวตามจินตนาการไปยังโลกอันกว้างไกลที่เธออยากออกไปพบเจอ ออกไปเห็นให้มากกว่าริมรั้วลวดหนามริมถนนใหญ่ตรงนั้น

เธอใช้เวลาหลายปีอยู่เหมือนกันเพื่อที่จะรู้ว่า ชีวิตของตัวเองนั้นกว้างไกลกว่าบ้าน กว้างไกลกว่าโรงเรียน หรือสนามเด็กเล่นที่อยู่หลังรั้วลวดหนาม

แต่ฝันก็ยังคงเป็นฝัน ยิ่งเมื่อได้รู้ว่า ผ้าของเธอสามารถส่งต่อไปให้ “คนข้างนอก” ได้สวมใส่ เธอจึงไม่รีรอที่จะทำมันอย่างตั้งใจที่สุด เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกลงไป ขณะเดียวกันผ้าทอส่วนตัวก็ยังก่อร่างสร้างตัวอยู่เงียบๆ 

วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า ก็ไม่เคยหยุดทอ และเมื่อวันนั้นมาถึงมันจะกลายเป็นผ้าผืนโปรดที่จะเอาไว้สวมออกไปเห็นโลกกว้าง

ลายบนผ้าผืนนั้นเธอเรียกว่า “อิสรภาพ”