ใต้ฟ้าเดียวกัน

ใต้ฟ้าเดียวกัน

ฟ้าไม่เคยให้แสงสีซ้ำเก่า และแม้เราทุกคนจะอยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน ก็ยังรับรู้ถึงอารมณ์ฟ้าในมุมที่ต่างออกไป นับประสาอะไรกับคนกลุ่มหนึ่งซึ่งถึงจะล้วนมาด้วยเหตุเดียวกัน คือ “หนีภัย” ทว่าผลลัพธ์ในบั้นปลายกลับต่างกัน..

“ตอนเด็กๆ จำได้ว่า พอถึงเวลาจ่ายค่าเช่าบ้าน แต่เราไม่มีเงิน แม่ก็ไปขอเงินที่โบสถ์แต่เขาไม่ให้ ตอนนั้นเรากลัวมาก กลัวไม่มีบ้านอยู่ กลัวไม่มีอะไรกิน แม่นั่งร้องไห้ทั้งคืน พวกหนูก็นอนไม่หลับ ทุกคนนั่งร้องไห้ด้วยกัน” จีวี่ หญิงสาวจากศรีลังกาวัย 22 เล่าถึงความหลังด้วยภาษาไทยที่ชัดแจ๋ว เพราะอยู่เมืองไทยตั้งแต่ 4 ขวบ

เป็นเวลา 18 ปีแล้วที่เธอกินอยู่หลับนอนบนผืนดินไทย

..เป็น 18 ปีที่เต็มด้วยคราบน้ำตาทั้งด้วยความกลัว และความหิว

ขณะที่คนเป็นพ่อกระเสือกกระสนจนไปถึงประเทศออสเตรเลียและได้สถานะ “ผู้ลี้ภัย” รับความช่วยเหลือเบื้องต้นที่พอจะเจียดเงินครึ่งหนึ่งส่งมาให้ครอบครัวที่เมืองไทยได้บ้าง ความที่ทั้งอายุมากและโรคประจำตัวพะเรอเกวียน กลับกลายเป็นเรื่องดีเพราะช่วยให้เข้าใกล้การได้รับสิทธิเป็นพลเมืองออสเตรเลียมากขึ้นอีก

จะเพราะสงสารหรืออะไร​ก็ช่างเถอะ.. ขอเพียงได้ “สัญชาติ” อีก 6 ชีวิตที่รออยู่ก็จะพอมีทางได้ย้ายมาอยู่ด้วยกัน ให้บ้านได้เป็นบ้านอีกครั้งหนึ่ง

แต่ความจริงไม่ได้สวยอย่างที่ฝัน “พ่อต้องรอไปเปลี่ยนสัญชาติก่อนถึงจะรับเราไปอยู่ด้วยกันได้ แต่ทางออสเตรเลียบอกว่า พ่อเข้าเมืองผิดกฎหมาย ก็เลยยังให้สัญชาติไม่ได้ ต้องรอไปก่อน ซึ่งจริงๆ เขาจะต้องได้สัญชาติตอนปี 2014 แต่พอถึงเวลาที่ทุกคนรอ ปรากฏว่า เขาเปลี่ยนกฎหมายใหม่ ก็จบเลย หลังจากนั้น เราก็ได้แต่หวังไปแต่ละวันๆ” จีวี่เล่า

แม้ประเทศไทยจะประกาศนโยบาย Education for All 
ที่พร้อมให้การศึกษาแก่เด็กๆ ทุกคนบนผืนดินไทย
แต่เรื่องไม่ได้ง่ายแบบนั้น เพราะในเมื่อเด็กอย่างเธอ
รวมถึงผู้ลี้ภัยอื่นๆ ไม่รู้ภาษาไทย 

ทุกวันนี้ จีวี่และครอบครัวต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เพราะเคสการยื่นเรื่องขอเป็นผู้ลี้ภัยที่ไทยถูกปิดลง

"เขาให้เหตุผลว่า สถานการณ์ที่ศรีลังกาสงบแล้ว" เธอบอกถึงเหตุผลที่ได้รับหลังถูกปฏิเสธสถานะผู้ลี้ภัยที่ขอไป

..เหตุผลที่จีวี่และครอบครัวรู้อยู่เต็มอกว่า มันไม่จริง

เมื่อกลับก็ไม่ได้ จะไปต่อก็ยังมองไม่เห็นทาง ทุกคนก็จำใจฝากชีวิตไว้ที่ไทยต่อไป

สำหรับจีวี่เอง ก่อนหน้านี้ เธอฝันอยากเป็นหมอ แต่ต้องหยุดฝันไว้เพียงแค่นั้น เพราะแค่การศึกษาขั้นพื้นฐาน​เธอก็ยังไม่มีสิทธิ แม้ประเทศไทยจะประกาศนโยบายEducation for All ที่พร้อมให้การศึกษาแก่เด็กๆ ทุกคนบนผืนดินไทย แต่เรื่องไม่ได้ง่ายแบบนั้น เพราะในเมื่อเด็กอย่างเธอ รวมถึงผู้ลี้ภัยอื่นๆ ไม่รู้ภาษาไทย 

“หนูกับพี่ชาย 2 คน พี่สาว 1 คน แล้วก็น้องชาย 1 คน เราได้ไปเรียนที่ BRC (Bangkok Refugee Center) เรียนได้ 5 ปี ก็รู้สึกว่า ไม่ได้อะไรเท่าไหร่ ก็เปลี่ยนมาลองเรียนด้วยตัวเองจากอินเทอร์เน็ต เรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองผ่านคอร์สออนไลน์ แต่มันก็ยังยากอยู่”

กับคำถามว่า มองอนาคตตัวเองไว้ยังไง​? เธอตอบว่า 

“คิดว่าทุกอย่างมันจบแล้ว เราคงเรียนต่อมหาวิทยาลัยไม่ได้ เพราะถ้าจะเข้ามหา’ลัย ก็ต้องจบไฮสคูลก่อน ที่ผ่านมาเราพยายามเรียนด้วยตัวเองมาตลอด พยายามทุกๆ วัน แต่มันก็แค่ผ่านไปๆ”

20180523180812961

เด็กผู้ลี้ภัยในประเทศกรีซ (ภาพ : AFP)

เมื่อเด็กชายเริ่มโตขึ้น แม้อายุจะไม่ถึงสิบขวบดี แต่ก็ต้องจากอกแม่
ถูกแยกออกไปกักไว้ที่ห้องกักชาย
ซึ่งขัดต่อหลักปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
ซึ่งประเทศไทยก็ได้ร่วมลงนามด้วย

แต่อีกครอบครัวหนึ่งชีวิตเหมือนละคร หลังเด็กน้อยสองคน ชาย-หญิง ถูกผู้เป็นแม่หอบหิ้วจากเวียดนามข้ามพรมแดนมาสู่ประเทศไทยเพื่อหนีตาย เหตุเพราะความต่างของ “ศาสนา” และถูกย่ำให้จมลงอีกด้วยสถานะ “ไร้สัญชาติ” ที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์อย่างพวกเขาไร้การรับรองใดๆ จากผืนดินเกิดและเหยียบยืน

มาถึงเมืองไทย เรื่องร้ายยังกระหน่ำเมื่อถูกจับในวันหนึ่ง แน่นอนว่า พวกเขาถูกตั้งข้อหา “หลบหนีเข้าเมือง” และถูกส่งตัวไปยังห้องกักที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู)

เริ่มแรกยังดี ที่เด็กๆ ได้อยู่ในอ้อมอกแม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เด็กชายเริ่มโตขึ้น แม้อายุจะไม่ถึงสิบขวบดี แต่ก็ต้องจากอกแม่ ถูกแยกออกไปกักไว้ที่ห้องกักชาย ซึ่งขัดต่อหลักปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งประเทศไทยก็ได้ร่วมลงนามด้วย

“เด็กต้องไปอยู่ในห้องกักชายโดยไม่มีผู้ปกครองดูแล พอเราทราบข่าวก็กังวลมากเลยพยายามหาทางช่วยเขาออกมา” วีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิไทยเพื่อคนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล หรือ TCR เอ่ยถึงเคสครอบครัวชาวเวียดนาม ซึ่งมีความเปราะบางเพราะเด็กถูกแยกออกจากผู้ปกครอง

ทางมูลนิธิฯ จึงไปเป็นนายประกัน ทั้งครอบครัวออกมา พร้อมจัดหาที่อยู่ให้ และติดต่อขอทุนจากโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งเพื่อให้เด็กสามารถรับการศึกษาขณะที่รอให้ทาง UNHCR พิจารณาคำร้องขอไปประเทศที่สาม

ถึงแม้รัฐบาลไทยจะดำเนินนโยบาย Education for all แต่ในความเป็นจริง เมื่อเขาไม่รู้ภาษาไทย ก็ไม่สามารถเรียนร่วมกับเด็กไทยได้ โดยส่วนใหญ่จะต้องไปเข้าเรียนที่ BRC เพื่อเรียนภาษาไทย การใช้ชีวิตในประเทศไทย ปรับพื้นฐานเตรียมความพร้อม ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอย่าลืมว่า เขาเหล่านี้มีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย การจะขยับตัวเดินทางหรือทำอะไรแต่ละคราวนั้น ล้วนมีความเสี่ยง 

“ใช้เวลาดำเนินการราวๆ 3 ปีกว่า จนได้ไปอเมริกาทั้งครอบครัว”

..เรายังมีเด็กทารกอายุไม่กี่วันแต่ต้องถูกเลี้ยงดูภายในห้องกัก

..เรายังมีเด็กเล็กที่ต้องอยู่ในห้องแคบๆ ชนิดลืมพื้นที่วิ่งเล่นไปได้เลย เพราะแค่จะกินนอนให้เป็นสัดส่วนอย่างมีสุขอนามัยก็ยังทำไม่ได้

 

นี่คือ ตัวอย่างการให้ความช่วยเหลือที่เกิดจากการบูรณาการหลายหน่วยงาน ทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อหาทางออกร่วมกัน

แม้ตอนจบของเรื่องจะน่ายินดีที่ทั้งครอบครัวได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างถูกต้อง แต่นี่ก็ไม่ใช่บรรทัดฐานที่จะเกิดขึ้นกับทุกเคสเสมอไป

..เรายังมีเด็กทารกอายุไม่กี่วันแต่ต้องถูกเลี้ยงดูภายในห้องกัก

..เรายังมีเด็กเล็กที่ต้องอยู่ในห้องแคบๆ ชนิดลืมพื้นที่วิ่งเล่นไปได้เลย เพราะแค่จะกินนอนให้เป็นสัดส่วนอย่างมีสุขอนามัยก็ยังทำไม่ได้

สำหรับความต่างระหว่าง “ห้องขัง” และ “ห้องกัก” นั้น ศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ร่วมให้ข้อมูลว่า ห้องกักถูกออกแบบมาเพื่อการควบคุมตัวชั่วคราวรอการส่งกลับ

“ถ้าคิดถึงเรือนจำ มันจะมีสัดส่วนต่างๆ มีโรงกิน โรงนอน ห้องน้ำ ห้องอาหาร ฯลฯ แต่ห้องกักจะไม่มีแบบนั้นอย่างห้องกักที่ภาคใต้ คุณจะต้องใช้ชีวิตที่ห้องกักทั้งวันทั้งคืน กิน นอน อาบน้ำ ขับถ่าย ที่เดียวในห้องนั้นตลอด

ถามว่า มีปัญหาไหม.. แน่นอนว่า มี โดยตัวเลขเฉลี่ยที่ผ่านมา คือ มีผู้เสียชีวิตในห้องกักรวมแล้วปีละประมาณสิบคน แต่ถ้าถามหาบันทึกตามหลักฐานจะไม่มีคนตายในห้องกัก เพราะเขาจะส่งออกไปที่โรงพยาบาลก่อน และมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล

กรณีของเด็ก แม้จะยังไม่พบการตายที่สวนพลู แต่พบการตายเกิดขึ้นที่สงขลาสองครั้ง เป็นเด็กโรฮิงญาหนึ่งคน (2559) และเด็กชาวอุยกูร์หนึ่งคน (2557) มีปัญหาสุขภาพแน่ๆ แต่ที่สวนพลู มีข้อดีภายใต้ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ มีการทำห้องเลี้ยงเด็กชั่วคราวเอาไว้ใกล้ๆ ตม. ผลัดเอาเด็กมาไว้ที่ห้อง เฉลี่ย อาทิตย์ละวัน ที่เด็กจะได้ออกจากห้องกักมาอยู่ในห้องที่จัดไว้สำหรับเด็ก ซึ่งถึงแม้มันจะดีกับเด็ก แต่สำหรับคนที่ทำงานขับเคลื่อนด้านนี้ ก็ยังเห็นว่า มันคือมาตรการชั่วคราว เพราะยังไงเขาก็ต้องกลับไปในห้องกักอยู่ดี” ศิววงศ์กล่าว

แน่นอนว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคนไหนชอบใจกับสภาพที่เหล่าผู้ลี้ภัยต้องทนอยู่ แต่ก็ติดขัดด้วยกฎหมายหลายอย่าง โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2522 ผ่านมาเกือบสี่สิบปี แทบไม่มีการแก้ไขเนื้อหาใด ขณะที่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ก็ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้อย่างเต็มที่ 

“ตอน นายกฯ ไปรับปากที่นิวยอร์กไว้ว่าจะมีการเพิ่มมาตรการการดูแลผู้ลี้ภัยโดยรวม จนนำมาสู่มติ ครม. เมื่อ 10 มกราคม 2560 ว่า ไทยจะพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการคัดกรองผู้ลี้ภัยขึ้นมา รวมถึงการให้คำมั่นว่า จะยุติการกักเด็กในห้องกักตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี แต่เรากลับพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่ยุติการจับกุม ซึ่งเราก็เข้าใจ เพราะเขาก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของเขา แต่ที่เราห่วงคือ ทำไมจำนวนเด็กในห้องกักมันเพิ่มขึ้น จากเดิมมีไม่ถึงสิบคน จนกลางปีที่แล้วมีถึงเกือบ 50 คน ซึ่งมันสวนทางกับคำสัญญาของนายกฯ” ศิววงศ์ สุขทวี สะท้อนปัญหา

แน่นอนว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคนไหน
ชอบใจกับสภาพที่เหล่าผู้ลี้ภัยต้องทนอยู่
แต่ก็ติดขัดด้วยกฎหมายหลายอย่าง

ที่สำคัญ คือ เรื่องเฉพาะหน้าอย่าง​ “เด็กต้องกัก” ที่ไม่ควรต้องใช้ชีวิตในที่แบบนั้น โดยที่ผ่านมา แม้ในบางเคสจะมีการอนุโลมปล่อยตัวเด็กโดยไม่ต้องเสียเงินประกันตัว แต่ในทางปฏิบัติควรต้องได้รับการประกันตัวออกไปทั้งครองครัว เนื่องจากเด็กจำต้องมีผู้ดูแล และตัวพ่อแม่เองก็ไม่อยากให้ลูกห่างอก

“ข้อมูลเมื่อธันวาคมปีที่แล้ว มีเด็กอยู่ในห้องกักที่สวนพลู 52 คน มี 3 คนที่มาคนเดียว ที่เรียกว่า UAM (Unaccompanied Minor) อีก 49 คนไม่มากับแม่ก็มากับครอบครัว ตม.ก็บอกว่า เขาจะจับพ่อแม่ แต่ลูกติดมาด้วย

ล่าสุดที่เราเฟลมาก คือ เคสคนปากีสถานโดนจับ แล้วเครือข่ายก็เข้าไปช่วยเหลือในการสู้ในชั้นศาล โดยระหว่างนั้นก็ส่งเด็กไปพักอยู่กับญาติที่มีวีซ่า แต่พอสุดท้ายศาลพิพากษาให้มีความผิด และส่งตัวพ่อแม่ให้กับตม. พ่อแม่ก็ร้องขอเอาลูกไปอยู่ด้วยกันใน ตม. ซึ่งทีมงานก็ต้องยอมรับการตัดสินใจของเขา”

ด้วยความลักลั่นของข้อกฎหมายหลายๆ เรื่อง ส่งผลให้ความช่วยเหลือที่ผ่านมาเป็นไปในลักษณะเรียนรู้ไปร่วมกัน แม้กระทั่งทุกคำตัดสินของศาลก็ยังถือเป็นบทเรียนสำหรับครั้งต่อๆ ไป

“ที่ผ่านมา เรายังไม่มีคดีพื้นฐานที่นำมาอ้างได้ว่า มีข้อกฎหมายไหนเอามาปรับใช้ได้บ้าง สิ่งที่เราทำตอนนี้ คือ ทำให้เกิดคดีให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานนำมาปรับใช้ต่อไปได้” ศิววงศ์ เอ่ยถึงหนึ่งในภารกิจที่เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ พยายามทำอยู่

ส่วนในมุมของ TCR วีรวิชย์ ยืนยันถึงจุดยืนของมูลนิธิฯ ว่า ต้องการให้มีการแก้กฎหมาย

“เรื่องแรกที่สำคัญมาก คือ เราจะต้องไม่กักเด็กในห้องกัก เมื่อสามอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็มีความคืบหน้าที่ดี เพราะมีการตกลงกันเบื้องต้นว่า จะทำการส่งตัวเด็กไปให้ พม. ดูแล นอกจากนี้ เราก็พยายามเรียกร้องให้ไทยมีกฎหมายให้สิทธิในการลี้ภัยแก่ผู้ลี้ภัย อนุญาตให้เขาอยู่ชั่วคราวระหว่างรอ UNHCR พิจารณาคำร้อง และในระยะยาวที่อยากเห็นมากๆ ก็คือ การที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494”วีรวิชย์เอ่ย

..นี่จึงเป็นความพยายามของหลายหน่วยงานที่จะแก้ปัญหาเชิงนโยบาย เพื่อให้ทุกเคสได้รับการปฏิบัติบนหลักการเดียวกัน