ทีมแล็บ บอร์เดอร์เลส พิพิธภัณฑ์ศิลปะไร้พรมแดน

ทีมแล็บ บอร์เดอร์เลส พิพิธภัณฑ์ศิลปะไร้พรมแดน

ศิลปะไม่มีกำแพงขวางกั้น ความไม่เข้าใจของคนเราต่างหากที่ก่อกำแพงล้อมรอบตัวเอง

บ่อยครั้งที่เราได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ศิลปะนั้นสูงส่งจนเอื้อมไม่ถึง” “ศิลปะเป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าจะเข้าใจ” ความไม่เข้าใจไม่ใช่สิ่งผิด เพราะว่า ศิลปะ เป็นสิ่งที่ยากอธิบายเป็นคำพูด แต่ถ้าเราเปิดใจแล้วปล่อยให้ความรู้สึกสัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่า “ศิลปะ” เราจะพบว่าศิลปะไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินจนต้องมาสร้างกำแพงขวางกั้นระหว่างกัน

ในขณะที่บ้านเรากำลังมีการถกเถียงถึงความสำคัญของหอศิลป์ หากที่ญี่ปุ่นบทบาทของศิลปะไปไกลกว่านั้นมาก ล่าสุดเมื่อวันที่ 21มิถุนายนที่ผ่านมา ทีมแล็บ และ โมริ บิลดิ้ง ร่วมมือกันเปิดพิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัลที่ไม่เคยมีมาก่อนในนาม โมริ บิลดิ้ง ดิจิทัลอาร์ตมิวเซียม :ทีมแล็บ บอร์เดอร์เลส (MORI Building DIGITAL ART MUSEUM : TeamLab Borderless)

Sub_Untitled_takihana (Large)

Photo:teamlab

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรแห่งแรกของทีมแล็บ บนพื้นที่ขนาด 10,000 ตารางเมตร จัดแสดงผลงานศิลปะดิจิทัลมากกว่า 50 ชิ้น โดยใช้คอมพิวเตอร์ในการควบคุมทั้งหมด 520 เครื่อง และโปรเจคเตอร์ในการฉายภาพ 470 เครื่อง คุณไม่ต้องเข้าใจ ไม่ต้องทำการบ้านก่อนเข้าชม เพราะพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทำหน้าที่เสมือไทม์แมชชีนที่นำไปสำรวจงานศิลปะผ่านประสบการณ์ล้ำลึกเหนือจินตนาการ

คำแนะนำพื้นฐานก่อนเข้าชม คือ งดรองเท้าส้นสูง สวมรองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าที่กระชับเดินสบาย เพราะด้านในมีพื้นที่ให้เราปีนป่าย (มีตู้สำหรับเก็บสัมภาระและรองเท้าให้บริการ) เดินไปตัวเปล่าๆพร้อมกับโทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป มุ่งหน้าเข้าไปในประตูทางเข้าสีดำมืด ไม่มีแผนที่ ไม่มีผู้นำทาง ปล่อยอารมณ์ลื่นไหลไปกับศิลปะไร้ขอบเขตที่เชื่อมโยงและเชื่อมต่อกันได้อย่างน่าอัศจรรย์

“แนวคิดของเรา ตรงตามความหมายของเดอะ บอร์เดอร์เลส ซึ่งมีความหมายหลายอย่าง ถ้าเปรียบเทียบกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะโดยทั่วไปแล้ว พิพิธภัณฑ์ของเราจะไม่มีขอบเขต ทำให้คุณหลงทางได้ง่าย แต่หลังจากนั้นคุณจะพบกับประสบการณ์ใหม่ ผมไม่สามารถอธิบายถึงสิ่งที่เราทำได้เป็นคำพูด แต่อยากให้ผู้มาเยือนได้สัมผัส ได้รู้สึกถึงความงดงามของศิลปะที่ไม่มีขอบเขตระหว่างคนกับศิลปะ นี่คือเป้าหมายของเรา” ทาคาชิ คูโด Communication Director ทีมแล็บ บอกกับเรา

5 (Large)

Photo :teamLab

“ เดอะ บอร์เดอร์เลส มีหลายความหมาย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคุณเข้ามาชมนิทรรศการของเรา จะพบกับดอกไม้เคลื่อนไหวอยู่รอบตัว ถ้าคุณจับไปที่ดอกไม้มันจะตาย คุณก็จะเป็นส่วนหนึ่งของผลงานศิลปะ ในขณะเดียวกันถ้ามีคนอื่นๆเข้ามาในพื้นที่ที่คุณอยู่ดอกไม้ก็จะค่อยๆเบ่งบานขึ้นมาใหม่ และสวยงามมากกว่าเดิม เพราะว่าคุณกำลังสร้างโลกขึ้นมาใหม่ร่วมกับคนอื่นๆ” ทาคาชิ คูโด กล่าวถึงความหมายที่ซ่อนไว้ผ่านงานศิลปะ

โลกงดงามเพราะว่าเราไม่ได้อยู่เพียงลำพัง

ข้อความนี้ ยังพบในงานศิลปะอีกหลายๆชิ้นที่เชื่อมโยงต่อกันได้โดยยังแสดงเอกลักษณ์ของแต่ละชิ้นงานได้อย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นป่าแห่งโคมไฟ ทันทีที่เราไปยืนอยู่ใกล้ๆ โคมไฟจะส่องแสงสว่างเป็นสีต่างๆ จากนั้นโคมไฟถัดไปอีก 2 อันจะส่องแสงสีเดียวกัน ก่อนที่โคมถัดไปจะส่องแสงตามกันเป็นลูกคลื่น หากมีแสงสว่างเกิดขึ้นจากอีกฟากหนึ่งของห้อง แปลว่ามีผู้มาเยือนใหม่ ทำให้เรารู้ว่าไม่ได้อยู่คนเดียวในพื้นที่นี้

Main_Forest of Resonating Lamps_01 (Large)

"ป่าแห่งโคมไฟ" Photo : teamlab

ระเบิดกำแพงเดิมๆที่คุ้นชินกับคำว่าห้ามจับ ห้ามชมชิ้นงานศิลปะอย่างใกล้ชิด ทำลายมันออกไปให้หมด เพราะที่นี่เปิดโอกาสให้เราขยับแขนขาได้อย่างอิสระ สามารถจับต้องได้ มีปฏิสัมพันธ์กับงานศิลปะได้อย่างเป็นอิสระ แน่นอนว่าเชื่อมโยงกับคนอื่นๆด้วย

เราเดินผ่านผนังที่เต็มไปด้วยดอกทานตะวัน สนุกกับความเปลี่ยนแปลงของดอกไม้ที่เรานำมือไปสัมผัส เพลินไปกับความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้คิดถึงการเสื่อมสลายที่นำไปสู่สิ่งใหม่ จนมาถึงประตูแคบๆที่นำไปสู่ทางเดินยวบๆที่ต้องเกาะเกี่ยวไปกับสะพานเชือกเชื่อมไปสู่ตาข่ายทรงกลมขนาดใหญ่

เราเลือกที่จะเอนกายลงแล้วมองไปที่เพดาน แสงกำลังทำหน้าที่แทนฝีแปรงที่ตวัดวาดเส้นด้วยความรวดเร็วไปพร้อมกับเสียงเพลงที่ทำให้รู้สึกราวกลับหลุดเข้าไปในจักรวาลอันยิ่งใหญ่ ซึ่งมนุษย์เราเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตขนาดผงธุลีดิน คิดว่าประทับใจห้องนี้มากแล้ว หากเมื่อไปยังห้องต่อไปความรู้สึกกลับพีคขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ว่าจะเป็นคลื่นสีดำ คลื่นขนาดยักษ์ที่ถาโถมแสดงพลังธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ เพียงแค่ได้นอนนิ่งๆอยู่บนเบาะเรากลับรู้สึกถึงความสงบและผ่อนคลายในจิตใจจนอยากจะนอนอยู่ในห้องนี้นานๆ

6 (Large)

"คลื่นสีดำ"  Photo : teamlab

2 (Large)

"บ้านชา"  Photo : teamlab

หรือ บ้านชา ส่วนหนึ่งในผลงานศิลปะในชุดที่ให้ความสำคัญในเรื่องการเรียนรู้ (ในส่วนของเด็กๆมีด้วยกันหลายชุด ได้แก่ โบอิ้ง โบอิ้ง ยูนิเวิร์ส ปีผาไต่หินเรืองแสง โลกกลับด้าน เมืองแห่งตัวต่อที่เชื่อมกัน เป็นต้น) ดอกไม้เบ่งบานในจักรวาลไม่มีสิ้นสุดอยู่ในถ้วยชา คือประสบการณ์อันงดงามที่เราได้รับในบ้านชา ชาเขียวสูตรใหม่ที่คิดค้นและเพาะพันธุ์ในย่านฮิเซ็น ในนาม EN Tea ชากลิ่นหอมรสดีเสิร์ฟแบบเย็นในถ้วยชาที่สุดอัศจรรย์

ทันทีที่ถ้วยชาตั้งอยู่ตรงหน้า ดอกไม้จะค่อยๆเบ่งบานอยู่ในถ้วยชา ดอกแล้วดอกเล่า ครั้นเมื่อเรายกถ้วยชาขึ้นมาจิบ (เป็นชาที่หอมและมีรสชาติดีมาก) บริเวณที่เคยวางถ้วยชาจะปรากฏรูปกลีบดอกไม้ที่แตกสลายกระจายตัว (ภาพยังคงงดงาม) เมื่อเราวางถ้วยชาลง ณ ที่เดิม ดอกไม้ก็จะเบ่งบานอีกครั้งในถ้วยชา เป็นช่วงเวลาที่จับใจมากทีเดียว

3 (Large)

"บ้านชา" Photo : teamlab

ปล่อยให้ร่างกายทำงานอย่างที่มันเคยเป็น เพราะว่าร่างกายไม่ได้รับคำสั่งจากสมองแต่อย่างเดียว ร่างกายของเราคือระบบเครือข่ายข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอวัยวะและเซลล์ต่างๆทำหน้าที่แลกเปลี่ยนข้อมูลแบบพลวัติ กล้ามเนื้อและกระดูกมีหน้าที่เคลื่อนไหวร่างกาย ขณะเดียวกันก็มีส่วนช่วยพัฒนาสมองส่วนฮิปโปแคมปัส(ส่วนที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ การรับรู้มิติสัมพันธ์ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม)

พักการสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟนลงบ้าง ให้เวลาแบ่งปันประสบการณ์ครีเอทีฟที่เคยทำคนเดียว มาเปลี่ยนเป็นกิจกรรมที่ทำกับคนรอบข้างได้ คือ อีกหนึ่งความมุ่งหมายที่ทีมแล็บต้องการสื่อสารโดยใช้ “ศิลปะ”นำทาง

“นิทรรศการครั้งนี้ อาจไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูด ประสบการณ์ที่คุณได้รับต่างหากที่มีคุณค่ามากกว่าคำพูดและแนวคิด คุณอาจมองเห็นสิ่งที่สวยงาม ผมหวังว่าประสบการณ์ครั้งนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้คุณสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ” ทาคาชิ คูโด กล่าวทิ้งท้าย

ศิลปะ ไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้ เป็นคำกล่าวที่ เราก็เห็นด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย หากรู้สึกว่าได้รับพลังบางอย่างจากประสบการณ์ครั้งนี้อย่างอิ่มเอมใจ

 

หมายเหตุ : โมริ บิลดิ้ง ดิจิทัล อาร์ท มิวเซียม: ทีมแล็บ บอร์เดอร์เลส

ที่อยู่: พาเลทท์ ทาวน์ เมืองโอไดบะ 1-3-8 อาโอมิ แขวงโคโต โตเกียว ญี่ปุ่น

จันทร์ – พฤหัส 11.00 – 19.00 ศุกร์ และ วันหยุดราชการ 11.00 – 21.00 เสาร์ 10.00 – 21.00 อาทิตย์ และ วันหยุด 10.00 – 19.00

บัตรเข้าชม: ผู้ใหญ่ นักเรียน และ นักศึกษา 3,200 เยน เด็กระดับมัธยมต้นลงไป 1,000 เยน // ให้เข้าฟรีสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี (ค่าบัตรรวมภาษีแล้ว)

https://www.teamlab.art/

https://borderless.teamlab.art/

 

Forest of Resonating Lamps