ผู้ต้องกักและผู้ลี้ภัยในเขตเมือง 101

ผู้ต้องกักและผู้ลี้ภัยในเขตเมือง 101

จุดประกาย Documenseries เสนอสกู๊ปพิเศษ ชุด “The Stranger – ชีวิต ‘คนนอก’ ผู้ลี้ภัยในเมืองใหญ่” เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก 20 มิถุนายน เพื่อขยายเรื่องของผู้ลี้ภัยในเขตเมือง ฉายภาพชีวิตบางแง่มุม กฎหมาย กรณีศึกษา ไปจนถึงความพยายามหาทางออก

ผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในเขตเมืองที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที มีชีวิตราวกับอยู่ในโลกคู่ขนานที่มองไม่เห็น ไม่เป็นที่ต้องการ ทั้งที่พวกเขาเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากใครๆ แต่ด้วยเหตุบีบคั้นในประเทศบ้านเกิด ผู้ลี้ภัยจึงลี้ไปสู่ประเทศต่างๆ ลดระดับความฝัน เหลือเพียงการมีชีวิตรอด การใช้ชีวิตใต้เงาในประเทศแปลกหน้าย่อมทำให้เกิดปัญหาทับซ้อนมากมาย เมื่อไม่รู้เราก็เอาแต่รังเกียจ “คนนอก” หากความกระจ่างอาจสร้างท่าทีที่เหมาะสม หรือสามารถเป็นส่วนหนึ่งของแสงสว่างเล็กๆ ในอุโมงค์มืดนี้ได้

ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยกว่า 99,000 คน

มีผู้ลี้ภัยในเขตเมืองราว 7,000 คน จาก 45 ประเทศทั่วโลก

*ข้อมูล ณ เดือนเมษายน พ.ศ 2561 จาก UNHCR 

รู้จักผู้ลี้ภัยในเขตเมือง

ที่จริงแล้วประเทศไทยไม่มี “ผู้ลี้ภัย” อย่างเป็นทางการ เพราะไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2924 ( The 1951 Refugee Convention) และพิธีสาร พ.ศ. 2510 ของ UNHCR ซึ่งระบุถึงสิทธิของผู้ลี้ภัย ที่รัฐบาลผู้ทำสัญญาจะต้องปฏิบัติตาม จึงไม่มีการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยที่ชัดเจน แต่เราเรียกรวมว่าผู้ลี้ภัย เพื่อความเข้าใจตรงกัน ซึ่งจริงๆ แล้วอาจหมายถึงผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (Asylum Seeker) มากกว่า

ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (Asylum Seeker) หมายถึง บุคคลต่างด้าวที่หนีภัยจากประเทศของตนมายังประเทศอื่น และอยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาสถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งมีหลายกรณี เช่น รอการสัมภาษณ์ รอผลหลังการสัมภาษณ์ หรือถูกปฏิเสธสถานะผู้ลี้ภัยแล้ว เเต่อยู่ในระหว่างการร้องคำร้องใหม่ ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยต่างจากผู้ลี้ภัยเพราะผู้ลี้ภัยผ่านการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยแล้วนั่นเอง

DSCN3207

ภาพประกอบจาก Asylum Access Thailand

นอกจากผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายตามตะเข็บชายแดนแล้ว ยังมีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ในเมืองมากมาย ทั้งในสถานกักกัน และอยู่อย่างหลบซ่อนตามมุมเมืองต่างๆ

ผู้ลี้ภัยในเขตเมือง (Urban Refugee) หมายถึง บุคคลต่างด้าวที่หนีภัยประหัตประหารจากประเทศของตนมายังประเทศอื่นและได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยโดยรัฐที่ให้ลี้ภัยหรือโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติแล้ว และไม่ได้พำนักอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยหรือในพื้นที่พักพิงชั่วคราว แต่อาศัยอยู่ในเขตเมืองหรือชานเมือง

พ.ร.บ. เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในประเทศไทย        

การจับกุมคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ใช้พ.ร.บ. ตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคแรก “คนต่างด้าวผู้ใดเข้ามา หรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการอนุญาตนั้นสิ้นสุด หรือถูกเพิกถอนแล้ว หนักงานเจ้าหน้าที่จะส่งตัวคนต่างด้าวผู้นั้นออกไปนอกราชอาณาจักรก็ได้”

และวรรคสามระบุว่า “ในกรณีที่มีคำสั่งให้ส่งตัวคนต่างด้าวกลับไปนอกราชอาณาจักรแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอนุญาต ให้ไปพักอาศัยอยู่ ณ ที่ใด โดยคนต่างด้าวนั้นต้องมาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด โดยต้องมีประกันหรือหลักประกัน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะกักตัวคนต่างด้าวนั้นไว้ ณ สถานที่ใด เป็นเวลานานเท่าใด ตามความจำเป็นก็ได้ ค่าใช้จ่ายในการกักตัวนี้ ให้คนต่างด้าวผู้นั้นเป็นผู้เสีย”

ส่วนการส่งตัวต่อไปประเทศที่ 3 มีทั้งการยื่นคำร้องผ่าน UNHCR และไม่ผ่านด้วยการดำเนินงานของกระทรวงต่างประเทศ ในกรณีต่างๆ ซึ่งผู้ลี้ภัยที่ได้สถานะผู้ลี้ภัยและผ่านการส่งตัวไปยังประเทศที่ 3 นั้น มีอยู่น้อย อัตราส่วนราว 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

จับกุมแล้วไปไหน

ผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายส่วนหนึ่งจะถูกนำไปกักไว้ที่ สถานกักตัวคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สวนพลู กรุงเทพฯ

  • คนต่างด้าวที่ถูกคุมตัวที่นี่เรียกว่า “ผู้ต้องกัก” ไม่ใช่ “ผู้ต้องขัง”
  • เป็น 1 ในสถานกักกัน 13 แห่งทั่วประเทศ มีผู้ต้องกักราว 1,000 คน
  • 80 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวปากีสถานที่นับถือศาสนาคริสต์ และหนีภัยการคุกคามจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงมาเมืองไทย
  • อีก 20 เปอร์เซ็นต์ หลากประเทศ เช่น คองโก โซมาเลีย ลาว เขมร พม่า ประเทศตะวันตกมีบ้าง แต่น้อยมาก
  • มีห้องกักราว 20 ห้อง แต่ละห้องมีผู้ต้องกักอยู่ราว 70 - 80 คน แยกชายหญิง และเมื่อเด็กอายุถึง 10 ขวบ ก็ต้องแยกจากพ่อแม่ ผู้กักกันคนละห้องไม่สามารถพบกันได้
  • ผู้ต้องกักสามารถติดต่อกับญาติหรือทนายความได้ บุคคลภายนอกก็สามารถมาเยี่ยมได้เช่นกัน ผู้เข้าเยี่ยมต้องแสดงหลักฐานประจำตัว โดยทราบชื่อ สัญชาติ เพศ และหมายเลขประจำตัวของผู้ต้องกักด้วย
  • หากไม่มีผู้มาเยี่ยม ผู้ต้องกักก็ไม่สามารถออกจากห้องกักได้เลย
  • สถานกักกันมีเครื่องแบบ ให้บริการอาหาร 3 มื้อ และการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน หากป่วยหนักเฉพาะทาง ต้องไปโรงพยาบาลต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
  • ผู้ต้องกักสามารถเดินทางกลับประเทศตัวเองได้หากต้องการ โดยออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางเอง รวมถึงจ่ายค่าปรับการอยู่ในประเทศไทยเกินเวลาที่กำหนดด้วย                

ทำไมต้องเยี่ยมผู้ต้องกัก?

โต้ง - ศักดิ์ดา แก้วบัวดี นักแสดงภาพยนตร์อิสระ ไม่ต่างจากเราส่วนใหญ่ที่ไม่รู้เรื่องผู้ต้องกักในสถานกักกันที่สวนพลู

เมื่อราวปีกว่าก่อนหน้านี้ มีเพื่อนชาวฝรั่งเศสของศักดาขอให้ศักดิ์ดาไปเยี่ยมเพื่อนชาวคองโกของเขาที่ถูกหลอกมาทำงานที่เมืองไทย โดยถูกลอยแพทันทีที่มาถึงกรุงเทพฯ “เอริค” กู้หนี้ยืมสินทุ่มเงินเพื่อมาหางานที่เมืองไทย จะกลับคองโกก็ไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน และมีมาเฟียตามขู่อยู่ที่บ้านเกิด เขาถูกจับเมื่อวีซ่านักท่องเที่ยวหมด และถูกกักตัวอยู่ที่สถานกักกัน สวนพลู

หลังจากได้รู้เรื่องของผู้ต้องกักเป็นครั้งแรก ศักดิ์ดาก็ไม่อาจวางเฉยได้ จากครั้งแรกก็มีครั้งต่อไป ขยายไปถึงคนอื่นๆ ในห้องกักเดียวกัน

TOPSHOT - In this photograph taken on May 21, 2018 an internally displaced Afghan child looks on from a windows in her temporary home at a refugee camp on the outskirts of Herat.  AFP PHOTO  HOSHANG HASHIMI

ภาพเงาเด็กผู้ลี้ภัยในอัฟกานิสถาน โดย HOSHANG HASHIMI, AFP PHOTO 

เหตุผลมีเพียงต้องการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ถ้าไม่มีคนมาเยี่ยม ผู้ต้องกักก็ไม่ได้ออกมาผ่อนคลายข้างนอกห้องเลย “ก็แค่ต้องการให้เขาได้ออกมาเป็นครั้งคราวเท่านั้น” จากการเยี่ยมที่สถานกักกัน ทำให้เขาได้รับรู้เรื่องราวของผู้ลี้ภัยอีกหลายชีวิต และให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่หลบซ่อนอยู่ตามมุมต่างๆ ของกรุงเทพด้วย

เรื่องของ “ซาเนีย”

ซาเนีย จากปากีสถานมาเมืองไทยพร้อมสามี เดิมทีซาเนียเป็นมุสลิม แต่มารักกับชายชาวคริสต์ เธอจึงเปลี่ยนศาสนาตามสามีและลักลอบแต่งงานกัน เมื่อทำเช่นนั้นครอบครัวก็ถือว่าซาเนียทำผิดกฎอย่างร้ายแรง จึงตัดขาดจากเธอโดยสิ้นเชิง

เมื่อรัฐบาลต้องการทำให้ปากีสถานเป็นรัฐอิสลามโดยสมบูรณ์แบบ ชาวคริสต์จึงถูกคุกคามอย่างหนักโดยมุสลิมหัวรุนแรง ชาวคริสต์ปากีสถานจำนวนมากจึงลี้ภัยออกนอกประเทศในช่วงปี 2014 ซาเนียกับสามีก็เช่นกัน

หลังจากวีซ่านักท่องเที่ยว 3 เดือนหมดลง ซาเนียกับสามีก็อยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ สามีของเธอลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย ด้วยค่าแรงต่ำยิ่งกว่าแรงงานขั้นต่ำ ซาเนียถูกบุกจับถึงห้องพักระหว่างสามีไปซื้อของ จากนั้นเธอก็ไม่ได้พบหน้าสามีอีก เพราะสามีของซาเนียจึงไม่อาจมาเยี่ยมภรรยาได้

“ถ้าฉันไม่รักกับเขา ชีวิตก็ไม่เป็นแบบนี้” ซาเนียอยู่ในสถานกักกันมา 2 ปี โดยไม่มีคนมาเยี่ยม ศักดิ์ดาทราบเรื่องของซาเนียตอนที่เขามาเยี่ยมผู้ต้องกักคนอื่น ตอนนี้มีเพื่อนของศักดิ์ดามาช่วยเยี่ยมซาเนียเป็นประจำแล้ว ศักดิ์ดาได้ไปเยี่ยมสามีของซาเนียข้างนอก เขาทำได้แต่ฝากจดหมายแสดงความรักมาถึงภรรยา

เรื่องของซาเนียคือหนึ่งในชีวิตที่ถูกแรงต้านในประเทศขับออกมา แม้ปากีสถานจะยืนยันว่าไม่มีความรุนแรงของศาสนาที่แตกต่างในประเทศ แต่ผู้ประสบเหตุโดยตรงกลับไม่สามารถอยู่ในประเทศตัวเองได้

และนี่คือเรื่องของผู้ต้องกักที่อยู่ “ข้างใน” เมื่อเทียบจำนวนผู้ลี้ภัยในเขตเมืองที่มีอยู่ราว 7,000 คน กับผู้ที่อยู่ในสถานกักกันราว 1,000 คน เท่ากับว่ามีผู้ลี้ภัยที่อยู่ “ข้างนอก” มากกว่าถึง 6 เท่า

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตของผู้ลี้ภัยในเขตเมืองที่สะท้อนความจริงในหลายแง่มุมของปัญหานี้ในสารคดีชุด “The Stranger – ชีวิต ‘คนนอก’ ผู้ลี้ภัยในเมืองใหญ่” 

ชีวิต ‘ธรรมดา’ ของผู้ลี้ภัยในเขตเมือง

ใต้ฟ้าเดียวกัน

“บ้าน” แตกสาแหรกขาด 

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

 

อ้างอิง:  

  • www.unhcr.or.th/news/general/647
  • วิทยานิพนธ์หลักสูตรมหาบัณฑิต “สถานะและสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ลี้ภัยในเขตเมือง” ของเผชิญวิชญ์ แสนดี
  • Asylum Access Thailand
  • บทสัมภาษณ์ ศักดา แก้วบัวดี