การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ เมธิรา เกษมสันต์

การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ เมธิรา เกษมสันต์

บอกเล่าธรรมชาติผ่านข้อเขียนและการ์ตูนแบบง่ายๆ ลองตามอ่านความคิดของเธอคนนี้

 

 ถ้าจะเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเรื่องมากมายในโลกใบนี้ที่เรายังไม่รู้ ทั้งเรื่องที่มองเห็นและมองไม่เห็น

หากรู้จักเชื่อมโยงชีวิตเรากับธรรมชาติ ก็จะเข้าใจว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ไม่ใช่การพูดเล่นๆ

หรือกรณีเสือดำที่หายไป ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตพวกเราสักนิด แล้วทำไมคนค่อนประเทศเป็นเดือดเป็นแค้นที่มีคนล่าและฆ่าเสือดำ

ลองคิดดูสิว่า หากไม่มีเสือดำ สัตว์หรือพืชชนิดไหนจะหายไปบ้าง...

  [000063]

ถ้าอย่างนั้นการสื่อสารเรื่องราวในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คนเข้าใจแบบง่ายๆ โดยนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากงานวิจัยหรือผู้รู้มาบอกเล่าก็เป็นเรื่องที่ดี เหมือนเช่นที่ เมธิรา เกษมสันต์ ผู้วาดการ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ ซึ่งมีผลงานหนังสือเล่มล่าสุด สายใยที่มองไม่เห็น

“ถ้าหมาป่าหายไป กวางที่เคยหลบๆ ซ่อนๆ จะเดินเพ่นพานมากขึ้น มันจะกินหญ้าไปทั่ว จนกระทั่งต้นไม้ที่อยู่ข้างๆ และลำน้ำอาจหายไป ถ้าถึงตอนนั้นการกัดเซาะของแม่น้ำ จะทำให้เกิดแนวทางใหม่ของแม่น้ำ” เมธิรา เล่า และบอกว่าเธอไม่ใช่นักวาดการ์ตูนมืออาชีพ

เธอเรียนมาทางด้านวิศวะไฟฟ้า หลังจากเรียนจบ ทำงานสายอาชีพอยู่ครึ่งปี และไปสอนคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีสามปี จนค้นพบว่าไม่ใช่เส้นทางที่เธอชอบ เพราะชอบด้านการเขียนและการวาด

เมธิรา จึงหันมาทำงานเขียนหนังสือประจำกองบรรณาธิการนิตยสาร ค.คน อยู่พักหนึ่ง จนนิตยสารปิดตัว ล่าสุดเป็นฟรีแลนด์การเขียนด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเปิดเพจ Nature Toon

“ตอนที่ทำงานเป็นครูสอนหนังสือ ก็เหมือนการค้นหาตัวเอง อาศัยว่าชอบอ่านหนังสือ การเขียนและวาดการ์ตูนมาทีหลัง ทั้งๆ ที่ตอนเด็กๆ ไม่ชอบศิลปะ ตอนวาดภาพ ก็วาดง่ายๆ ตามยูทูบ เพื่อนำภาพมาประกอบเรื่องในนิตยสาร เราเล่าผ่านกระจิบน้อยร้อยเรื่องโลก มันก็จะบินไปคุยกับเสือกับปลา เราก็เขียนสั้นๆ ง่ายๆ เรื่องธรรมชาติ"

การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ เมธิรา เกษมสันต์ เมื่อไม่ได้ทำงานประจำ เธอจึงมีเวลาออกไปศึกษาธรรมชาติ ดูนกกับเพื่อนกลุ่มต่างๆ และนำมาเขียนบนเพจ

“เราเห็นว่าบทความเชิงวิชาการ อ่านเข้าใจยาก ไม่ค่อยสนุก ก็เลยคิดว่า ทำไงให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยย่อยข้อมูล ใช้การ์ตูนเล่าเรื่อง ปีที่แล้วได้ทุนจากมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ออกหนังสือสายใยที่มองไม่เห็น ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดว่าจะเป็นนักเขียนการ์ตูน วาดไม่ได้เก่ง ต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนที่วาดการ์ตูนเก่งๆ  ”

เมื่อคุยเรื่องการสื่อสารความหมายของธรรมชาติ เธอยกตัวอย่างงานวิจัยที่อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน อเมริกา ซึ่งคนส่วนใหญ่คงไม่อ่าน โดยเอามาเขียนและตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ถ้าที่นั่นหมาป่าหายไปจะมีผลต่อระบบนิเวศน์อย่างไร

“เหมือนที่กล่าวมา ถ้าหมาป่าหายไปอะไรจะเกิดขึ้น ทำให้มีโครงการปล่อยหมาป่าคืนถิ่น เพื่อช่วยควบคุมประชากรกวาง ทำให้ต้นไม้ สัตว์ที่กินพืชเป็นอาหาร นกก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้ห่วงโซ่อาหารอุดมสมบูรณ์”

เธอนำสิ่งเหล่านี้มาสื่อความหมายด้วยการ์ตูนลายเส้นง่ายๆ และข้อความสั้นๆ นอกจากยังทำออกมาในรูปการ์ดเกม ยกตัวอย่างคัดเลือกนกเด่นๆ 85 ชนิด เล่าแบบเปรียบเปรยให้คนอ่านนึกถึงคุณลักษณะของนกแต่ละชนิด ยกตัวอย่างนกที่เธอตั้งฉายาว่า นกหมวกกันน็อต เพราะสีของมันเหมือนหมวกกันน็อต หรือมาเฟียแห่งพื้นทะเล เป็นนกที่แย่งอาหารนกชนิดอื่น

“ถ้าเป็นวิศวกรแห่งผืนป่า ก็ต้องนกหัวขวาน หรือนกปลูกป่าแห่งพงไพร นั่นก็คือ นกเงือก เราก็เขียนไว้ในหนังสือ เด็กก็อ่านดี ผู้ใหญ่ก็อ่านได้ หรือเรื่องการผสมเกษรผึ้ง เราก็ยกตัวอย่างงานวิจัยที่บอกว่า ถ้าไม่มีผึ้ง ลมจะผสมเกษรแทนได้ไหม” เธอ เล่าและบอกว่า มีงานวิจัยที่ลองเอาถุงมาคุมดอกไม้ไม่ให้ผึ้งบินมาผสมเกษร แต่ให้ลมผ่านได้ สุดท้ายผลออกมาว่า การผสมเกษรโดยผึ้งได้ผลผลิตดีกว่าการผสมแบบอื่น หรือการปลูกไร่กาแฟในป่าที่มีนกอาศัยอยู่ ผลกาแฟก็จะโดนแมลงกินน้อยกว่า ทำให้ผลผลิตดีกว่า 

"อย่างเราดื่มกาแฟ เมล็ดกาแฟก็มาจากผึ้งที่ช่วยผสมเกษร กลายเป็นดอกกาแฟและผลกาแฟ เราก็เอาความรู้เหล่านี้มาย่อย เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ของสัตว์ในระบบนิเวศน์ พวกมันต่างมีหน้าที่ของมัน และชีวิตต่างๆ ก็เชื่อมโยงกับมนุษย์”

ล่าสุดเธอได้ทุนมาฝึกงานการดำน้ำเชิงอนุรักษ์ที่เกาะเต่า จ. สุราษฎร์ธานี ของมูลนิธิรักสัตว์ป่า  ซึ่งความรู้เหล่านั้น จะนำมาสื่อสารง่ายๆ ในเพจของเธอ

 “มนุษย์ไม่สามารถอยู่กับเทคโนโลยีอย่างเดียว ทุกวันเราต้องพึ่งพาสิ่งมีชีวิตรอบตัวโดยไม่รู้ตัว อย่างอ๊อกซิเย่นที่เราหายใจ มากกว่าครึ่งมาจากแพลงก์ตอนในทะเล เป็นพืชที่สังเคราะห์แสง ช่วยผลิตอ๊อกซิเย่นให้โลก" เธอ เล่าและเชื่อมโยงห่วงโซ่อาหารว่า ปลาใหญ่ก็กินปลาเล็ก  สัตว์น้ำหลายชนิดและฉลามวาฬกินแพลงก์ตอนในทะเล 

“เราต้องขอบคุณมหาสมุทรที่ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้อุณหภูมิในโลกไม่ร้อนเกินไป กระแสน้ำก็หมุนเวียนเอาความร้อนจากเส้นศูนย์สูตรไปที่ขั้วโลก แล้วเอาน้ำเย็นจากขั้วโลกมา เหมือนเป็นเครื่องปรับอากาศของโลก หรือในนาข้าวมีแมลงควบคุมกันเองตามธรรมชาติ มีแมงมุม แมลงปอช่วยกำจัดหนอน  นกปากห่างช่วยกินหอยเชอรี่ในนา  ซึ่งเป็นวงจรธรรมชาติควบคุมกันเอง”

เพราะสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว เมธิรา เล่าต่อว่า เสือไม่ได้อยู่ในป่าตรงนั้น เพื่อเดินไปเดินมาอย่างเดียว

“เสือก็มีหน้าที่บางอย่าง ไม่ต่างจาก ฉลาม ถ้ามันหายไป อาหารทะเลบางอย่างก็จะหายไป เนื่องจากสัตว์ผู้ล่าขนาดกลางมีจำนวนเพิ่มขึ้น มันก็จะกินปลาเล็กปลาน้อยอาหารของมนุษย์ นอกจากนี้ยังทำให้สัตว์ที่กินปะการังมีจำนวนเพิ่มขึ้น ความสมบูรณ์ของปะการังลดลง และมีปลาบางชนิดเป็นนักตัดหญ้าแห่งผืนทะเล สัตว์บางชนิดเป็นเสมือนเครื่องดูดฝุ่นแห่งผืนทะเล หรือบางชนิดเป็นเครื่องกรองน้ำ ”

เมื่อก่อน เธอก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ช้างป่าก็แค่เดินไปเดินมา แล้วมีความสำคัญต่อผืนป่ายังไง

“ช้างเป็นเสมือนกรมทางหลวงแห่งผืนป่า จะเดินตามกันเป็นแถวยาว ทำให้เกิดทางด่านช้าง เป็นนักบุกเบิกอาหารให้สัตว์ประเภทอื่น จมูกมันดมกลิ่นได้ดีมาก ช่วงหน้าแล้ง มันจะเอางวงและงาขุดหาน้ำใต้ดินตื้นๆ สัตว์อื่นๆ ก็ได้ใช้ และบุกเบิกดินโป่ง ทำให้สัตว์อื่นๆ กินน้ำตามได้”

 นั่นเป็นเรื่องเล่าธรรมชาติ 

ส่วนเรื่องวิถีชีวิตกรีนๆ สไตล์คนรักธรรมชาติ ถ้าเดินทางไม่ไกลนัก เธอเลือกใช้จักรยานเป็นพาหนะ และเลือกที่จะหิ้วขวดน้ำ กล่องข้าว และใช้ถุงพลาสติกให้น้อยที่สุด

 “ปกติจะพยายามลดการใช้ถุงพลาสติก ไม่อยากให้เป็นขยะ เวลาซื้อผัก ก็หิ้วถุงผ้าไปเอง ส่วนใหญ่เราก็มีเพื่อนแนวเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะหิ้วกระบอกน้ำไปทุกที่ เราเคยเอากล่องไปซื้อไอติม หรือที่ไหนอาหารแพง แทนที่จะซื้อบะหมี่สำเร็จรูปเป็นซองๆ ก็กินผลไม้แทน ตอนอยู่กทม.ก็เดินทางด้วยจักรยานในรัศมี 5-6 กิโลเมตร ถ้าไกลกว่านั้นก็จอดไว้ แล้วต่อรถ"