'ธีรภาพ โลหิตกุล' : ความป่วยไข้, ยุคสมัย และนักเขียน

'ธีรภาพ โลหิตกุล' : ความป่วยไข้, ยุคสมัย และนักเขียน

เขาเคย ‘สั่น’ ด้วยอาการรุนแรงที่สุดของโรคพาร์กินสัน แต่เขา ‘สู้’ จนวันนี้กลับมาได้ด้วยศรัทธาในสามสิ่ง การงาน, ตัวเอง และคนที่เขารัก

อาการป่วยจากโรคพาร์กินสัน เคยทำร้ายนักเขียนสารคดีคนหนึ่งจนแทบจะหายไปจากหน้ากระดาษ ชื่อของ ธีรภาพ โลหิตกุล เกือบจะไม่ปรากฏในสิบกว่าคอลัมน์ที่เขาเคยเป็นผู้จรดปากกา

            นานนับปีที่ความเจ็บป่วยรุกราน ผ่านวินาทีที่ดำดิ่งที่สุดทั้งร่างกายและจิตใจ กระทั่งวันที่เขากลับมาเขียนหนังสือได้อีกครั้ง แต่ในศักราชนี้ที่ไม่ได้มีพรมแดงปูทางให้งานสารคดี การต่อสู้ของเขาจึงเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่ผลิตสารคดีแบบเดิม หรือเอาชนะโรคที่รุมเร้า แต่ยังต้องยืนหยัดให้ได้ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ปัจจุบันอาการเป็นอย่างไร
            “อาการพาร์กินสันยังมีอยู่ มันไม่หายขาด เพียงแต่ว่าอาการที่เคยรุนแรงถึงขั้นนอนติดเตียง ลุกขึ้นไม่ได้ ขาไม่มีแรง นอนสั่นเกร็ง นอนไม่หลับ ตอนนี้อาการเหล่านี้ก็ทุเลาไป 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังมีบ้าง หลักๆ ตอนนี้นอนหลับได้ บางวันก็มีเรี่ยวแรงพอสมควร ยกเว้นช่วงรอยต่อของการกินยา อาจมีอาการรุนแรงบ้าง คนเป็นพาร์กินสันนี่หมอเขาเขียนเป็นคลื่นเลยนะครับ (วาดรูปคลื่นให้ดู) ช่วงกินยาเรี่ยวแรงจะมาดี (อยู่ช่วงบนของคลื่น) พอยาจะหมดฤทธิ์แรงก็จะตกลงมา ช่วงนั้นเราต้องรู้ตัวเองแล้ว เราต้องพัก กินยาสักพักหนึ่งแรงก็จะมา เพราะฉะนั้นทุกๆ 3 ชั่วโมงผมก็จะกินยา”

แปลว่าฟื้นได้ด้วยยา?

            “ใช่ครับ เพราะว่ายาที่เรากินเป็นสารโดพามีน (Dopamine) มันไม่ใช่ยาแก้ปวด แก้อาการความดัน มันคือกินสารที่เราขาด สารโดพามีน สารนี้ทำให้เราเคลื่อนไหวได้ ถ้าไม่มีสารนี้เราเคลื่อนไหวไม่ได้ เหมือนว่าโรงงานผลิตสารโดพามีนฝั่งซ้ายของผมมันหยุดไปเฉยๆ โดยไม่มีสาเหตุ เพราะฉะนั้นฝั่งซ้ายไม่มีสารโดพามีน ผมเลยควบคุมฝั่งซ้ายไม่ได้ เราเลยต้องกินสารโดพามีนเข้าไป เพราะฉะนั้นขณะนี้อย่างไรเราก็ต้องกิน แล้วก็ฝังเข็ม อาจจะช่วยแก้พาร์กินสันได้ไม่ขาดหาย แต่ว่าช่วยฟื้นฟูอวัยวะสำคัญ ตับ ไต ม้าม ปอด หัวใจ”

เป็นตั้งแต่เมื่อไร
            “สแกนสมองพบว่าเป็นมาตั้งแต่ปี 2547 แต่อาการไม่แสดงออก หรือแสดงออกแต่ว่าคนอื่นไม่รู้ จนปี 2559 หนักสุดคือไม่มีแรงเดิน เป็นบางช่วง บางช่วงกินยาแล้วก็แรงไม่มา นอนไม่หลับทั้งๆ ที่ง่วงนะ แต่ว่ามันมีอาการสั่นและเกร็ง ก็เลยนอนไม่ได้ ทดลองยานอนหลับหลายประเภทแล้วก็ไม่ได้ผลนะครับ ทั้งสมุนไพร ยาจีน ยาฝรั่ง จนกระทั่งไปได้ยาของคนที่เป็นโรคลมชัก โดยหมอที่ศิริราชแนะนำ ทำให้ตอนนอนเราไม่สั่นเกร็ง เราผ่อนคลายก็หลับ ผมกินยาตัวใหม่นี่มาปีกว่าแล้ว เป็นช่วงที่เราเริ่มทำงานได้ แล้วก็ตั้งสำนักพิมพ์ใหม่ (เรือนพิมพ์แม่ชอบ) ”

ช่วงอาการหนักที่สุด?

            “ช่วงรอยต่อปี 2559-2560 มันแย่มาก ถึงขั้นที่คนทั้งบ้านป่วยไปด้วย เพราะว่าเรานอนไม่หลับ จะเข้าห้องน้ำก็ต้องให้คนมาดึงเราขึ้นมา ช่วงนั้นทำอะไรแทบไม่ได้เลย แล้วอาการนี้ก็จะนำไปสู่สภาวะซึมเศร้า หลายคนที่เป็นโรคนี้แล้วถ้าอยู่คนเดียวก็อาจฆ่าตัวตาย อย่างเช่น โรบิน วิลเลียมส์”

มีความคิดฆ่าตัวตายบ้างไหม

            “ยังไม่มีความคิดนั้น เพราะเรามีคนที่ช่วยเราอยู่ ทั้งแฟน ทั้งพี่เลี้ยงเด็กที่เขาเข้าใจเรา อยู่กับเรามานานคอยช่วยอยู่ เวลาที่เรามีอาการลงต่ำสุด แรงไม่มีเลยเราก็มักจะคิดในทำนองหดหู่ ซึมเศร้า เราก็จะคุยกับเขา ก็จะชวนคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ไป ก็ดีขึ้น ทำให้ไม่เกิดภาวะซึมเศร้า”

ช่วงที่แย่ที่สุดกระทบกับชีวิตอย่างไรบ้าง

            “ทำงานไม่ได้เลย นั่งไม่ได้เพราะขาไม่มีแรง บางทีนั่งอยู่แล้วลุกขึ้นมา ขาหนักเหมือนคนเอาหินมาทับไว้ ขายังรู้สึก หยิกก็เจ็บ แต่ว่าขามันไม่ไป ใจไปแต่ขาไม่ไป ตอนนั้นเหมือนคนแก่ ถ้าเราฝืนเราจะล้ม ก็ต้องตั้งสติสักอึดใจหนึ่งถึงจะก้าวไปก้าวหนึ่ง”

เกิดอะไรกับสภาวะจิตใจบ้าง

            “มันกำลังจะพาเราไปสู่ความซึมเศร้า เราไม่สามารถทำในสิ่งที่เราทำมาทั้งชีวิตได้ เราเขียนหนังสือ เราถ่ายภาพ แต่เราไปไหนไม่ได้เลยตอนนี้ คนก็แนะนำให้หยุดพัก เราก็บอกเขาว่าทำน้อยลงแล้วละ แต่ถ้าไม่ให้เราทำเลยนี่มันจะยิ่งแย่ ช่วงไหนพอมีแรงบ้างก็พยายามเขียนอะไรบ้างเพื่อไม่ให้มีความรู้สึกว่าเราไม่มีคุณค่า เพราะนอกจากทำอะไรไม่ได้แล้วยังต้องรบกวนคนอื่นอีก เวลากลางคืนนอนไม่หลับ ปวดปัสสาวะผมต้องกดกริ่งเรียกคนมาดึงผมลุกขึ้นมา ตอนตี 2 ตี 3 เขานอนอยู่ต้องลุกขึ้นมาดึงเรา หลังเขาก็แย่เหมือนกัน ลูกก็พาลจะป่วยไปด้วย”

ผ่านจุดแย่สุดมาอย่างไร

            “ถ้าผมมีแรงก็จะออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ถ้านอนไม่หลับ ไม่มีแรง สั่นเกร็งมันทำอะไรไม่ได้เลย ก็หาข้อวินิจฉัยอื่นๆ ก็หาคุณหมออื่น จนกระทั่งไปที่ศิริราช ปิยราชการุณย์หมอบอกว่ายังมียานอนหลับอีกหลายชนิดที่คุณไม่ได้กิน หมอจะให้ลองกินตัวนี้ดู ผมก็บอกกินอีกแล้วเหรอ ผมกินมาเยอะแล้วทั้งยาจีน ไทย แกงขี้เหล็กที่ว่ากินแล้วหลับก็ไม่ได้ผล แถมท้องเสียอีก หมอเขาให้มากิน เราก็รับยามาด้วยความที่ไม่มีหวังเลย แต่หมอให้ลองเราก็ลอง แต่ว่ากินแล้วอาการสั่นเกร็งหายไป แล้วหลับชนิดที่ว่า 9 โมงเช้าแฟนผมต้องเอาน้ำมาฉีดหน้า เพราะสงสัยว่าทำไมผมยังไม่ตื่น โทรหาหมอว่าทำไมกินยานี้แล้วไม่ตื่น ตั้งแต่นั้นก็กินยาตัวนั้นมาทำให้ไม่สั่นเกร็งและหลับ ตอนเช้าก็มีแรง พอถึงเวลากินยาเสร็จแล้วสักพักแรงก็มา ก็เลยกลับไปทำงานใหม่”

ฟื้นฟูร่างกายแล้ว ได้ฟื้นฟูจิตใจหรือเปล่า
         
“ผมสวดมนต์ โดยเฉพาะเวลาก่อนนอนเราจะลดยาพาร์กินสัน เพราะเราจะนอนแล้ว ไม่ต้องใช้แรงอะไรแล้ว แล้วก็กินยานอนหลับ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่อารมณ์ความรู้สึกจะตกต่ำมากเพราะแรงน้อย และจะตามมาด้วยความวิตกกังวล รับงานมาแล้วจะทำได้หรือเปล่า กระทรวงให้งบมาแล้วเราจะทำสำเร็จไหม มันจะเข้ามารุมเร้าตอนนั้น ผมก็ต้องใช้วิธีการสวดมนต์ โดยเฉพาะตอนที่พระพุทธเจ้าสู้กับพญามาร คือบทพาหุงฯ ความรู้สึกกังวลเราก็รู้สึกเหมือนพญามาร เพราะฉะนั้นสวดจนกระทั่งกลายเป็นความเคยชินว่า ถ้าไม่สวดมันไม่หลับ พอสวดแล้วความรู้สึกกังวลจะคลายลง นิ่งขึ้น แล้วก็นอนหลับได้ ถ้าวันไหนมีเวลาเยอะก็สวดหลายบทหน่อย”

ความวิตกกังวลที่ว่า มีมาก่อนจะป่วยหรือเปล่า

            “สมัยก่อนก็มี แต่มันไม่กลัวนี่ เพราะเราแข็งแรง วันนี้อยู่ดึกหน่อย ส่งงานให้ทัน แต่พอเป็นพาร์กินสัน 6 โมงเย็นคุณต้องปิดเครื่องแล้วนะ ทุ่มหนึ่งอย่างมาก ถ้า 2-3 ทุ่มยังนั่งเขียนต้นฉบับอยู่ คุณเสร็จแน่ ประสาทจะค้างเลย นอนไม่หลับ ฉะนั้นคนเป็นพาร์กินสันจะมีปัญหาเรื่องความวิตกกังวลตอนที่ร่างกายมันอ่อนแรง ฉะนั้น หนึ่งสวดมนต์ สองถ้ากังวลเรื่องอะไรจดไว้เลย เราจะได้ไม่กังวล เช่น เดี๋ยวพรุ่งนี้เราจะลืมโน่นนี่หรือเปล่า ก็จดไว้ จดแล้วคือจบกัน ไม่เอามาคิดอีก ถ้าไม่จดเดี๋ยวพรุ่งนี้จะลืมไหม สักพักคิดอีกแล้ว เพราะฉะนั้นจดเลย หรือไม่ก็บอกแฟนว่า เจน ผมไม่มีแรงจดแล้วนะ แรงหมดแล้ว คุณช่วยใส่ไว้ใน inbox ผมหน่อย อะไรอย่างนี้

            คนที่อยู่ด้วยจึงสำคัญมากครับ ขอเพียงความเข้าใจ ถ้าผมไม่มีแรง บางทีเขาก็ไม่เข้าใจนะว่าเขาคุยเรื่องสนุกสนานทำไมผมไม่มีอารมณ์ร่วมเลย ก็ต้องบอกเขาว่าตอนนี้ผมไม่มีแรงเลย เขาก็เข้าใจ”

ที่บอกว่าป่วยเป็นพาร์กินสันโดยไม่รู้สาเหตุ ปัจจุบันแพทย์วินิจฉัยหรือไม่ว่าเกิดจากอะไร

            “ในวงการแพทย์ของโลก รู้เพียงว่าคนเป็นพาร์กินสันเกิดจากการที่หน่วยผลิตสารโดพามีนมันหยุดผลิต ผู้ที่ค้นพบก็คือ ดร.พาร์กินสัน อย่างกรณีของ มูฮัมหมัด อาลี เป็นพาร์กินสันเพราะโรงงานผลิตโดพามีนของเขาโดนทำลาย เวลาที่ก้มหลบหมัด หมัดคู่ต่อสู้เข้าตรงนี้ (ชี้ที่ข้างท้ายทอย) ก้านสมองคือที่ตั้งของโรงงานผลิตสารโดพามีนที่ทำให้เราเคลื่อนไหวได้ ทั้งซ้ายและขวา ของผมหมอบอกว่าฝั่งซ้ายผมหยุดผลิตไปแล้ว ผมถามหมอว่าเพราะอะไร หมอบอกไม่ต้องคิดมากเพราะพ่อคุณก็เป็น คำตอบเลยกลายเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ แต่ผมคิดว่ามันไม่น่าจะใช่ แต่ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร”

หรือเพราะการทำงานหนักมาเกือบทั้งชีวิต?

          “อาจมีส่วนนะครับ แต่ว่าคนทำงานหนักก็เป็นโรคอื่นหลายโรค ไม่ได้เป็นพาร์กินสัน ตอนนี้มีข้อวินิจฉัยหนึ่งซึ่งผมคิดว่าอาจเป็นสาเหตุหนึ่ง คือการรับสารเคมีจากอาหาร มีข้อวิจัยเลยนะครับว่า เป็นสาเหตุหนึ่งของพาร์กินสัน มีช่วงหนึ่งเวลาผมกินข้าวต้องมีผักเป็นกล่องๆ วางไว้ แต่โดยที่ผมไม่ได้สนใจว่าผักนั้นมาจากไหน กินเป็นสิบปี เดี๋ยวนี้ก็ยังกินผักอยู่แต่ต้องรู้ที่มาที่ไป มีวิธีการในการกำจัดสารเคมีอย่างเข้มงวด”

32293899_1767575053301299_1354740475952627712_o

คิดอย่างไรเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน นิสัยคนอ่านเปลี่ยน ความละเมียดละไมในการเสพสารคดีน้อยลง

            “มันเป็นภาวการณ์ที่เราต้องยอมรับ สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง แต่ว่าการเปลี่ยนครั้งนี้มันทำเอาคนนึกไม่ถึง แม้แต่คู่สร้างคู่สมซึ่งยอดจำหน่ายและสมาชิกสูงก็ยังอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องยอมรับและปรับตัว เขียนให้สั้นลงแต่ยังคงนำเสนอประเด็นเนื้อหาสาระที่ถูกต้องแม่นยำ ในความสั้นไม่ได้หมายความว่าห้วน สั้นแต่ก็เขียนให้สละสลวยได้ โดยใช้เครื่องมือสื่อสารในโลกปัจจุบันใช้ คือสื่อโซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊ก ฉะนั้นก็ต้องปรับตัว เขียนให้สั้นลง แต่ยังคงความสละสวยและให้ความสำคัญกับ fact ที่อ้างอิงได้ ไม่มั่ว”

มองคนทำสารคดีรุ่นใหม่อย่างไร

            “ก็มีหลายคนที่เข้าถึงรสนิยมของคนรุ่นใหม่ แต่ก็ยังมีที่อาจจะให้ความสำคัญกับการค้นคว้าข้อมูลน้อยไปหน่อย ทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน หรือไปเอาข้อมูลที่เขียนตามๆ กันมา แม้ข้อมูลในวิกิพีเดียก็ยังรอการตรวจทานให้ถูกต้อง แต่ว่าบางทีเราไม่ได้ดับเบิ้ลเช็ก อยากรู้อะไรก็เสิร์ชกูเกิ้ลมาแล้วเขียนเลย มันก็จะมีอาการเพี้ยน ฉะนั้นยุคสมัยเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม เราอาจจะเปลี่ยนวิธีการนำเสนอ แทนที่จะเสนอประเด็นใหญ่ทั้งหมด ก็แยกประเด็นย่อยออกมา เขียนให้สั้นลง นำเสนอภาพที่น่าสนใจ แต่สิ่งที่เราต้องทำด้วยคือการตรวจสอบข้อมูล ค้นคว้าข้อมูล และการลงไปเห็น”

ที่ทางของสารคดีในประเทศไทย?

          “มันไม่ได้เล็กลงเฉพาะสารคดี มันทุกๆ ประเภท ผมคิดว่าสารคดีไม่ตาย แต่โตช้าหน่อย และต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับยุคสมัย เช่น การจับประเด็นที่อยู่ในความสนใจ เขียนให้สั้นลง”

ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยกับโรคพาร์กินสัน สิ่งไหนกระทบกับชีวิตและการทำงานมากกว่ากัน

            “พาร์กินสันกระทบมากกว่านะ เพราะก็ยังมีคนขอให้ผมเขียนคอลัมน์อยู่ เพียงแต่ว่าอาการพาร์กินสันทำให้ผมเดินทางได้น้อยลง พอผมไม่ได้เดินทาง ผมก็ไม่มีแรงบันดาลใจในการสร้างประเด็น เพราะฉะนั้นอาการพาร์กินสัน แม้วันนี้จะดีขึ้นแต่ก็ไม่ถึงขั้นเดินทางไปต่างประเทศได้ เพราะถ้านั่งเครื่องบินนานๆ อาการจะกำเริบ ถ้ากินยาก็ดีขึ้นแต่ว่าจะช้า ถ้าผมต้องนั่งอยู่อย่างนี้ 4-5 ชั่วโมง พอลุกขึ้นมาก็ต้องใช้เวลาฟื้นสักระยะ ตอนนี้ขึ้นเครื่องบินไปในประเทศสักชั่วโมงหนึ่งยังได้ ถ้านั่งรถก็ต้องเป็นรถตู้เหยียดขาได้ เรามีเงื่อนไขการทำงานอันเกิดจากสุขภาพมากขึ้นทำให้เราเดินทางได้น้อยลง บางทีเดินทางถึงแล้วไม่มีแรงเลย ถ่ายรูปไม่ได้นะ”

คนรอบตัวมีส่วนช่วยให้ผ่านวิกฤตมาได้ มีอะไรบอกพวกเขาบ้างไหม?
            “ผมพ้นจากภาวะคนไข้ติดเตียงได้ เพราะคนรอบตัวนะครับ ไม่ว่าจะเป็นภรรยา ลูก พี่เลี้ยงของลูกที่เขาอยู่กับผมมานาน เป็นญาติพี่น้องกัน ต้องขอบคุณเขานะครับ คนเป็นพาร์กินสันถ้าอยู่คนเดียวมีแนวโน้มสูงมากที่จะซึมเศร้า ก็เคยมีเหมือนกันนะครับว่าบางช่วงอยากจะตะโกนออกมา ทีนี้พอคิดจะตะโกนเราก็สวดพาหุงฯ บ้าง หันไปคุยกับเขาบ้างว่า มีใครเขียนอะไรดีๆ ในเฟซบุ๊กอ่านให้ผมฟังหน่อยสิ ผมไม่มีแรงอ่านแล้ว เขาก็หาเรื่องดีๆ มาเล่าให้ฟัง ช่วงที่หนักมากนี่นะ ต้องยืดเหยียดขาตอนตี 2 ตี 3 ก็มีคนเหล่านี้ที่ช่วย ไม่อย่างนั้นเราก็จะยิ่งซึมเศร้า ก็ต้องขอบคุณคนรอบข้างที่ทำให้เรากลับมาพอจะทำงานได้บ้าง ไม่เป็นภาระ ไม่ต้องกดกริ่งปลุกเขาตอนตี 2 ตี 3”

            ถึงตอนนี้เขาจะยังต้องต่อสู้กับโรคพาร์กินสันในทุกวัน แต่ด้วยความอดทน ความเคารพในตัวเอง ทำให้เขากลับมายืนและทำอะไรต่อมิอะไรได้ ที่สำคัญทัศนคติ การวางตัว และผลงาน ทำให้เขาไม่ได้ยืนอย่างเดียวดาย มีแฟนสารคดีอีกมากมายเคียงข้างเป็นกำลังใจให้เสมอ