คำสารภาพของ...ยุวอาชญากร

คำสารภาพของ...ยุวอาชญากร

คำเตือน : ฆาตกรเด็กมีอยู่จริง แต่อย่าให้ความผิดพลาดของเมื่อวาน คอยตราหน้าให้พวกเขากลับไปเดินซ้ำรอย

“ผมตามไปซ้ำเขาที่โรงพยาบาลครับ” 

แววตา และสีหน้านั้นเรียบเฉย เมื่อเอ่ยถึงความตายของใครบางคนไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ไม่ได้ใส่หัวเข็มขัดสถาบันเดียวกัน และถูกนิยามให้เป็น “อริ”

ถึงจะไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มในครั้งนี้ แต่มันก็เป็นการกระทบกระทั่งกันตามประสาของก๊วนวัยรุ่นอื่นๆ ในละแวกนั้น

“ปกติเขาจะจำชื่อโรงเรียน แต่ตัวผมนี่เรียกชื่อได้เลยครับ” เขาดังระดับนั้น

เมื่อ “เล่น” กันบ่อย “ปืน” กระบอกนั้นจึงไม่ต่างจากยันต์คุ้มภัยที่ติดตัวเขาอยู่ตลอด 

จนเย็นนั้น...

ระหว่างกำลังเฮฮากับเพื่อนฝูงในร้านประจำ เสียงมอเตอร์ไซค์ไม่พึงประสงค์ก็แว่วเข้ามาในหู ก่อนเสียงปืนจะดังตามมา ราวๆ  7 นัดเห็นจะได้ พวกเขาถูลู่ถูกังหาที่หลบ รุ่นน้องในกลุ่มถูกยิง คนที่วิ่งตามมาไม่ทันก็กำลังโดนอีกฝ่ายไล่มาเล่นซ้ำ 

เหมือนถูกท้าทาย เขาจึงกระโจนออกไป ในมือพลางขึ้นลำกระสุนบ้าง 

“มึงจะเอาใช่ไหม!” คำรามนั้นเสียงดัง จนอีกฝ่ายจำได้ และทำท่าจะหนี แต่ไม่ทันทางปืน 

กระสุน...สาดหมดแม็กกาซีนที่มี ไม่ต่ำกว่า 5 นัด จนใครคนหนึ่งถูกหิ้วปีกส่งโรงพยาบาล

เขาตามไปซ้ำ และถูกตำรวจรวบตัวที่นั่น 

content_ugrozaut-nozom_1468480877_jpg_1944818438.jpg_539665225

ต่างคนต่างเสีย

ฟังดู มันเหมือนเป็นยุทธจักรนักเลงที่ทั้งโลดโผน และท้าทายอย่างยิ่ง สำหรับ โจ้ (นามสมมติ) ลูกผู้ชายที่ผ่านร้อนฝนมาเพียง 16 ปีเท่านั้น

“เอาตรงๆ นะครับ ผมก็เฉยๆ ไม่ค่อยมีความรู้สึกสงสารเขาด้วย แต่มีความรู้สึก โห แค่นี้เองนะ แล้วมาปากสดไว้ ที่ท้าอะไรไว้รุ่นพี่ รุ่นน้อง เพื่อนผม เหมือนกับได้ข่าวก็ เฮกันมา เฮ้ย ใจมึงได้ว่ะ อะไรอย่างนี้เป็นความภูมิใจเป็นการยอมรับด้วยครับ ถึงแม้เป็นการยอมรับแบบผิดๆ แต่ผมก็ได้มีคนภูมิใจในสิ่งที่ผมทำ”

แต่ถ้าถาม นุ (นามสมมติ) กระสุนนัดนั้นมันออกมาจากความจวนตัว และไม่ได้ตั้งใจให้คนอื่นเดือดร้อน เมื่อเขาโดนตามรังควานมาจนถึงที่ฝึกงาน 

“ถ้าผมไม่ทำเขาตอนนี้ผมโดนแน่ๆ เพราะเขาพารุ่นพี่เขามาจะกระทืบผมแล้ว” สุดท้ายมันจบลงด้วยความตายของหญิงสาวที่โดนลูกหลง จนทำให้เขากับเพื่อนต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปเกือบถึงชายแดน ก่อนจะตัดสินใจกลับมามอบตัว

ขณะที่ ศักดิ์ (นามสมมติ) ยอมรับว่า ความตายของใครบางคนที่เขาหยิบยื่นให้ไปนั้นไม่ได้เกิดจากเจตนา เพียงเพราะวัฒนธรรมการ “เล่น” กันระหว่างเด็กต่างสถาบัน ที่บางครั้งเลยเถิดเพราะฤทธิ์ความคะนอง และของมึนเมา สุดท้ายความสูญเสียก็ตามมา

เมื่อประตูบานหนึ่งถูกปิด ประตูอีกบานก็เปิดออก สถานพินิจ หรือที่ทั้ง 3 คนเรียกตรงกันว่า “คุกเด็ก” นั้น มันไม่ต่างจากฝันร้ายที่ยิ่งซ้ำเติมให้ทุกอย่างดูเลวร้ายมากขึ้นไปอีก 

prison

“ในนั้นเราแสดงให้ใครเห็นไม่ได้ว่าเราอ่อนแอครับ” โจ้ยืนยัน ความไม่อ่อนแอสำหรับเขา และคนอื่นๆ ก็คือ "ความรุนแรง" เพื่อเอาตัวรอด ท่ามกลาง เครื่องแบบ กำแพงสูง ลวดหนาม และรั้วไฟฟ้า

"ถ้าใครเห็นว่าเราอ่อนแอเขาจะกดขี่เรา" ศักดิ์ช่วยเสริม  

เรื่องราวที่เขาถ่ายทอดให้ฟัง มันไม่ต่างจากเรื่องราวของบรรดาหัวโจกวัยรุ่นคนอื่นๆ ที่ทำอนาคตตัวเองหล่นหายในสถานพินิจ โดยคนที่ทำงานคลุกคลีอยู่กับกลุ่มเด็กและเยาวชนมามากกว่า 20 ปีอย่าง ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ชี้ให้เห็นว่า นี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เด็กที่ผิดพลาดคนหนึ่งมีแนวโน้มการบ่มเพาะความเป็นอาชญากรให้แข็งแรงขึ้นจากการที่ได้เข้าไปอยู่ใน “แหล่งชุมนุมเทพ”

วัฏจักรที่ตามมาก็ไม่ต่างจากที่สังคมรับรู้กันก็คือ “สถานดัดสันดานไม่ต่างจากแหล่งเพาะโจรมืออาชีพ” ทั้งที่จริงๆ แล้ว พวกเขายังมีทางเดินย้อนกลับไปเป็นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งของสังคมได้ 

เปิดใจ และให้โอกาส

"ไม่ได้แปลว่าเราจะยอมรับว่าการฆ่าคนถูกต้อง" นั่นเป็นข้อเท็จจริงที่ "ป้ามณ" ของเด็กๆ บ้านกาญจนาย้ำอยู่เสมอ 

แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็รู้สึกว่า กว่าเด็ก 1 คนจะไปก่อคดีที่อุกฉกรรจ์จนกฎหมายไม่อาจอนุโลมได้จะต้องมีเรื่องราวหลายอย่าง ผลักเข้ามาในชีวิต แล้วเขาก็อาจจะมีข้อจำกัดในการรับมือกับมัน 

"เขาจึงไม่ใช่ผู้ก่ออาชญากรรมสำหรับเรา แต่เขาเป็นผู้แพ้ที่ต้องการการเยียวยา" 

ในทางกลับกัน การเติบโต และมีอยู่ของเหล่า “นักเรียนนักเลง” หรือ “ยุวอาชญากร” เหล่านี้ก็กลายเป็นข้อสังเกตถึงความล้มเหลวเชิงระบบโดยเฉพาะเรื่องของการศึกษาที่ทำให้เห็นหล่นหายไปจากการเติมเต็มทักษะชีวิตก่อนวัยอันควรอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง 

urban-1658436_1920

"มันก็มีระบบแฝงอยู่ด้วย มีเรื่องของอำนาจการตัดสินใจเชิงนโยบายของผู้ใหญ่ ที่ไม่ยอมตัดสินใจว่า ทิศทางการเรียนหนังสือของสังคมไทยจะเป็นอย่างไร เราจะจัดหลักสูตรที่ทำให้ถึงที่สุด ทุกคนถูกคัดออก แล้วก็ทิ้งคนไว้ข้างหลัง ข้างทางไว้แบบนี้ต่อไปใช่ไหม ซึ่งตรงนี้มันบ่งบอกถึงความล้มเหลวทางการศึกษามาตั้งนานแล้ว แต่ทุกคนก็ยังดีใจกับฟิสิกส์โอลิมปิก คณิตศาสตร์โอลิมปิก หรือว่าเด็กที่สอบได้ ขึ้นไวนิลหน้าโรงเรียน ก็ยังปลื้มกับตัวเลขแบบนั้นอยู่ แล้วเราก็ไม่เคยเหลียวมาดูคนที่เราทิ้งไว้ข้างหลังที่เป็นผู้ก่ออาชญากรรม" ทิชาอธิบาย 

เธอกำลังหมายถึงเด็กที่ถูกคัดออกจากระบบการศึกษาปีละไม่ต่ำกว่าแสนคน

อีกทั้งเมื่อย้อนดูความเปราะบางของเด็ก และเยาวชนในบ้านเราผ่านการสำรวจ ของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. ก็จะพบว่า ยังมีเด็ก และเยาวชนในอีกหลายๆ มิติที่ต้องได้รับการดูแล และการเยียวยา ไม่ว่าจะเป็น เด็กติดเชื้อ HIV ราว 50,000 คน เด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี 33,121 คน เด็กถูกบังคับให้ค้าประเวณีมากกว่า 25,000 คน เด็กถูกบังคับใช้แรงงาน 25,000 คน รวมทั้งเด็กที่ได้รับผลกระทบจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้อีก 6,094 คน

ยิ่งเมื่อเทียบเคียงกับรายงานจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เท่าที่มีการเก็บบันทึกตั้งแต่ปี พ.ศ.2554-2558 เด็กที่ก่อคดีนั้นมีสัดส่วนที่ “ทรงตัว” มาตลอด นั่นแสดงว่า ตัวเลขเด็กกว่า 3 หมื่นรายในกระบวนการยุติธรรม เป็นทั้งเครื่องยืนยันว่า อัตราอาชญากรเด็กอยู่ในสัดส่วนนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร หรือ นี่เป็นตัวเลขที่แสดงอย่างชัดเจนว่า การแก้ปัญหาเด็กก่ออาชญากรรมนั้นไม่เคยได้ผลตลอดมาหรือเปล่า 

 ความหวังในวันพรุ่ง 

“กระสุนนัดนั้นให้บทเรียนเยอะครับ” นุยอมรับ เมื่อถูกถามถึงความสูญเสียของเมื่อวาน แต่ถึงอย่างนั้น หากย้อนเวลากลับไปได้เขาก็ยังเลือกการเผชิญกับสถานการณ์จนนำมาสู่วันนี้อยู่ดี 

“ถ้าผมผ่านวันนั้นมาได้ แล้วผมไปทำเขาวันอื่น วันที่ผมโตขึ้นกว่านี้ ถลำตัวลงไปมากขึ้นกว่านี้ โอกาสที่จะกลับมายอมรับการกระทำผิดของตัวเอง และพร้อมที่จะเริ่มแก้ไขในชีวิตหลังจากนี้มันอาจจะไม่มีอีกแล้วก็ได้ครับ” เขาให้เหตุผล 

ทั้ง โจ้ และ ศักดิ์ ต่างก็มองเรื่องนี้ไม่ต่างกัน นั่นก็เพราะว่า หากความผิดพลาดของเขาไปอยู่ที่ “คุกใหญ่” สถานที่ที่เป็นต้นแบบของ “คุกเด็ก” แล้วล่ะก็ พวกเขาต่างรู้ดีว่า นั่นหมายถึงเส้นทางที่ไม่มีวันหวนกลับอีกแล้ว 

glass-1497227_1920

แน่นอนว่า “กระบวนการค่าย” กระบวนการจัดการความรู้สึกระหว่างเด็ก และครอบครัวที่บ้านกาญจนาก็ถือเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่ทำให้พวกเขากลับมามองเห็นคุณค่าของตัวเองผ่านเรื่องดีๆ ที่ออกไปทำให้กับสังคมได้ และถูกพิสูจน์ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 40 รุ่นแล้ว 

"ความรู้สึกที่เขาถูกแคร์ มันจะจัดสมดุลให้กับเขาว่าเขาควรจะทำอะไรไม่ควรจะทำอะไร ค่าความเสี่ยงเหล่านี้มันทำให้เราประเมินได้ว่า ถ้าเทียบกับค่าความควบคุมสูงมันยังให้คำตอบที่น่าพอใจอยู่" ผู้อำนวยการฯ บ้านกาญจนาคนเดิมยังยืนยันในหลักการนี้อยู่ 

อย่างศักดิ์เองก็ได้บอกเล่าถึงความผิดพลาดของตัวเองให้เป็นอุทาหรณ์สำหรับสังคม นอกจากจะเป็นการชดเชยสิ่งที่ค้างคาในใจตัวเอง กระบวนการเหล่านี้ยังช่วยให้เขาได้รับกำลังใจจากคนอื่นๆ ที่เข้ามาพูดคุย และสัมผัสเรื่องราวของเขา จนวันนี้ เขาก็กล้าพูดได้เต็มปากแล้วว่า จากนี้ ชีวิตจะไม่หวนกลับไปสู่วังวนของความเสี่ยงเหล่านั้นอีกอย่างแน่นอน และหวังใจว่า หลังจากพ้นโทษไปอีกไม่นานนัก เขาตั้งใจจะบวชขอขมาต่อความผิดพลาดที่ตัวเองทำลงไป 

“มันชดเชยชีวิตไม่ได้หรอกครับ แต่มันก็เป็นทางเดียวที่จะบอกเขาว่า วันนี้ผมไม่เหมือนเดิมแล้ว ผมอยากจะใช้ชีวิตให้ดี และขออโหสิกรรมให้ผมด้วย” 

หรืออย่างตัวของโจ้เอง ชีวิตวันนี้มันทำให้เขาตระหนักได้ว่า จริงๆ แล้ว คุณค่าของตัวเรานั้นอยู่ที่เราสร้างมันขึ้นมาเอง แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยจนใครอาจมองไม่เห็น แต่มันก็คือคุณค่าที่ตัวเองรู้อยู่แก่ใจ 

"จริงๆ ถ้าเราทำสิ่งดีๆ ถึงไม่มีคนยอมรับมันก็สบายใจเรานี่หว่า เราไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้ใครเห็นคุณค่าเราเลย เราเห็นตัวเองก็พอแล้ว พอผมมาทำที่นี่ มาอยู่ที่นี่ ผมไปช่วยงานสังคม ไปกวาด ไปทำความสะอาดวัด ไปซ่อมบำรุงโรงเรียนเด็กต่างจังหวัดอะไรอย่างนี้ เฮ้ย ทำดีแบบนี้มันสบายใจกว่า แถมคนยอมรับก็มี"

father-and-son-2258681_1920

ถ้าออกไปแล้ว มีคนมาบอกว่า เห้ย มึงกระจอกแล้วว่ะ ไม่เหมือนเดิมแล้ว ?

"ทุกวันนี้ที่ผมกลับบ้านไปผมก็เจอนะ ผมก้มหน้า แล้วผมยิ้มให้ผมเปลี่ยนไป เพื่อนผมบางคนบอกว่า เฮ้ย มึง กระจอกว่ะ ผมพูดแค่ว่า กูยอมกระจอก ให้กูได้อยู่กับแม่กู ยายกูน้องสาวกู ขอให้กูได้มีชีวิตอยู่กับคนที่กูรัก แค่นี้ก็พอแล้ว เขาไม่รู้หรอกว่า การที่อยู่ไกลจากคนที่รักแค่เอื้อมมือนึง แต่ไม่สามารถกอดเขาได้จะรู้สึกยังไง" 

ที่สุดแล้วความผิดพลาดในอดีต ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้คนๆ หนึ่งกลับไปผิดพลาดซ้ำ หรือ ย่ำรอยเดิม พวกเขาเพียงแค่ต้องการโอกาส และความเข้าใจเพื่อการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในฐานะสมาชิกคนหนึ่งอย่างเต็มภาคภูมิ

ที่สำคัญ เรื่องนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง หรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่มันคือความร่วมมือด้วยกันทุกฝ่ายเพื่อจะเอาเด็กๆ เหล่านั้น กลับคืนมา