วิญญาณ ตำนาน และความจริงแห่งธรรมชาติ ในภาพวาดของบู๊ซือ อาจอ

วิญญาณ ตำนาน และความจริงแห่งธรรมชาติ ในภาพวาดของบู๊ซือ อาจอ

คุยกับบู๊ซือ อาจอ ศิลปินสาวอาข่า งานศิลปะที่ส่งตรงจากจิตวิญญาณทั้งภายนอกและภายใน

ลายเส้นและการใช้สีอิสระของศิลปินสาวชาวอาข่า สะกดความสนใจเราได้ตั้งแต่แรกเห็น ทีแปรงและเรื่องราวผีสางจิตวิญญาณทำให้งานของเธอดูรุนแรง ใครเห็นอาจเข้าใจว่าศิลปินคงทุกข์เหลือใจ แต่ความโหดที่เห็นคือความซื่อตรงเข้าขั้นบริสุทธิ์

เมื่อได้มาพบตัวจริงของ บู๊ซือ อาจอ ก็ยิ่งมั่นใจว่าใจของเธอตรงไปตรงมาอย่างที่สุด

Busui_Ajaw_1

บู๊ซือเป็นชาว “อาข่า” ที่มีความหมายว่า “คนไกล” เธอเติบโตมาใน อ. แม่จัน จ.เชียงราย ครอบครัวกระจัดพรัดพรายกันไปในบางช่วง จึงเป็นลูกคนเดียวในบรรดา 6 คนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในพม่า อันอุดมด้วยธรรมชาติสมบูรณ์ ต่อเมื่อมาอยู่แม่จัน ก็ยังใกล้ชิดกับแม่น้ำป่าเขา ความทรงจำที่เธอถ่ายทอดส่งต่อภาพความเขียวขจีของต้นไม้สูง และเสียงน้ำไหลให้ความรู้สึกสงบ

“บู๊ซือเรียนรู้จากธรรมชาติ แต่ก่อนธรรมชาติสมบูรณ์ มีแม่น้ำติดบ้าน มีปลาในแม่น้ำ มีก้อนหินแม่น้ำสวย น้ำดี เราก็ไปเก็บก้อนหินสวยมา เอามาให้พ่อ แล้วก็เอาไปขายได้ด้วย อาจเกี่ยวกับที่เราชอบศิลปะ ก็เลยทำให้เรามองอะไรไม่เหมือนคนอื่นเท่าไหร่”

ชาวอาข่านับถือผี ต่อมาก็ถือคริสต์ตามการเผยแพร่ บู๊ซือได้ศึกษาทั้งพระคัมภีร์ทั้งใหม่และเก่า โตขึ้นมาเธอก็ได้รู้จักศาสนาพุทธ บู๊ซือไม่ได้บอกว่าเธอนับถือศาสนาอะไร แต่ความดีของทุกศาสนาและความจริงของธรรมชาติน่าจะเป็นแก่นความคิดของเธอ

สิ่งที่หล่อหลอมบู๊ซือมาคือแนวคิดเรื่องผีและจิตวิญญาณ เพราะเป็นเด็กช่างจินตนาการ “ตอนเด็กๆ ไม่ค่อยอยู่ในโลกของความเป็นจริงเท่าไหร่” นอกจากมีมุมมองต่างจากเด็กทั่วไป และยังสื่อสารกับจิตวิญญาณได้อีก เธอเล่าบางประสบการณ์ที่ทำให้เธอกลัวให้ฟัง และนั่นก็มีผลต่อการทำงานศิลปะของเธอ

Busui_Ajaw_Art_1

“รูปภาพที่ออกมาก็ไม่เกี่ยวกับชีวิตจริง จะออกแนวจิตวิญญาณมากกว่า คือมองคนที่ภายในไม่ใช่ภายนอก เป็นไปตามความจริงของธรรมชาติ รูปวาดจะออกเป็นแนวนี้ทั้งหมด เราจะพูดว่า มนุษย์เรายิ่งอยากได้มาก ก็ยิ่งทุกข์มาก ไม่ได้หมายความว่าเราวาดรูปเกี่ยวกับเพศ บู๊ซือจะวาดรูปเปลือย แต่จะไม่เห็นชัด แต่เราไม่ได้หมายความว่าเราชอบสิ่งนี้มาก แต่เรามองเห็นสิ่งนั้น เรายิ่งอยากก็ยิ่งเดือดร้อน ทุกวันนี้ก็แย่งชิงกัน ลูกก็เกิดเยอะๆ เพราะเราอยากได้ลูกน่ารักๆ เรามีความโลภขึ้นมา สุดท้ายลูกเรา รวยแค่ไหนคุณก็ได้ลำบาก ได้ทุกข์ใจ หนีความทุกข์ไม่ได้ มันเป็นความจริง”

เป็นเด็กไม่ชอบเรียนหนังสือ และแม้จะรักวาดรูปมาตลอด แต่บู๊ซือไม่เคยรู้จักคำว่าศิลปะเลย โรงเรียนเล็กๆ เมื่อตอนเด็กๆ ก็ไม่มีวิชาศิลปะ เธอมาได้ยินคำนี้จาก อาจารย์ สยาม พึ่งอุดม อาจารย์ศิลปินชาวเชียงรายผู้ได้มาพบภาพวาดของบู๊ซือเมื่อเธอทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟ

“บู๊ซือไม่อยากเรียนต่อ เลยตามแม่มาทำงานรับจ้างทั่วไปในเมือง เป็นแม่บ้าน เด็กขายรองเท้า ทำทุกอย่าง ตอนนั้นเราทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟอยู่ที่ร้านข้าวแกง ก็ได้เจออาจารย์สยาม เขาก็เห็นเราชอบวาดรูป เพราะบู๊ซืออยู่ที่ไหนก็จะวาดรูปตลอด อาจารย์พูดภาษาอาข่าได้ด้วย ก็เลยคุยกัน อาจารย์บอกว่าเราวาดรูปสวย ก็เลยเอาสีชอล์คกับกระดาษมาให้ เราก็วาดเยอะเลย”

บู๊ซือเล่าเรื่องเมื่อราว 10 ปีก่อน ที่เธอได้จับสีชอล์คเป็นครั้งแรก องค์ประกอบศิลป์ ทฤษฎีสีใดๆ เธอไม่เคยรู้จัก มีแต่ถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ออกมาจากใจ อาจารยฺสยามบอกว่า “นี่คือศิลปะ” ยิ่งได้สีใหม่มาเล่นก็ยิ่งตื่นเต้น บนกระดาษ บนผ้าม่านเก่าๆ เธอก็วาดลงไปหมด จนมีงานเยอะมาก

“อาจารย์เอางานไปบอกว่าขายงานได้ 500 บาท เราก็ดีใจ เพราะทำงานเสิร์ฟ ล้างจานทั้งวันได้ 100 แต่นี่กระดาษเล็กๆ แค่นี้ได้ตั้ง 500 เราก็วาดใหญ่เลย จริงๆ อาจารย์ไม่ได้ขายได้หรอก เขาแค่อยากให้เราวาดรูป ก็เลยช่วย ให้กำลังใจ”

Busui_Ajaw_2

สุดท้ายก็ไม่ได้จบแค่กำลังใจ เมื่ออาจารย์สยามนำเรื่องและงานของบู๊ซือมาเล่าให้ศิลปินอีกคน อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ฟัง ก็เกิดเป็นงานนิทรรศการภาพวาดของบู๊ซือครั้งแรกในปี 2008 ซึ่งสามารถขายงานได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอาจารย์ศิลปินชื่อดังมากมายที่ประทับใจงานของเธอ ทั้ง คามิน เลิศชัยประเสริฐ, สมยศ หาญอนันทสุข, ศักด์วุฒิ วิเศษมณี และเทพศิริ สุขโสภา เพราะงานของเธอมีบางอย่างที่น่าประทับใจ

ความน่าประทับใจของถ่ายทอดอย่างซื่อตรง ตรงไปตรงมา สีตัดกันเปี่ยมไปด้วยอารมณ์รุนแรง งานในช่วงนั้นค่อนข้างเกี่ยวกับจิตวิญญาณ เพราะเธอใช้วิธีสื่อสารกับสิ่งที่มองไม่เห็น

“เราไม่เข้าใจเรื่องสีอยู่แล้ว แต่เป็นคนที่ติดต่อกับวิญญาณได้ ช่วงนั้นจะเป็นแนวนี้ หลับตาแล้วคิด คนไหนอยู่แถวนี้อยากอยู่ในรูปเราก็บอก อยากให้ใส่สีอะไร หน้าตาเป็นอย่างไร ตอนนั้นจะพูดประมาณนี้เลย บางทีก็เป็นการวาดสดๆ ไม่ได้ออกมาจากจิตของเราด้วยซ้ำ เหมือนเรารับรู้มาจากใครที่เรามองไม่เห็น คนดูภาพเราก็บอกว่ามันแปลกๆ”

งานในช่วงปี 2008 จะเป็นการที่จับพู่กันแล้วปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไป เธอยกตัวอย่างภาพวาดของ “อมามาตะ” แม่คนแรกในตำนานของชาวอาข่า บู๊ซืออยากรู้เรื่องของอมามาตะ สิ่งที่เธอทำก็คือหลับตาแล้วเชื่อมโยงกับอมามาตะ และปรากฏออกมาเป็นข้อมูลที่เธอสัมผัสได้ เช่น สัญญะบางอย่างที่ซ่อนในเครื่องแต่งกายของชาวอาข่า

“หมวกของชาวอาข่าจะมีแผ่นเงินกลมๆ ห้อยเรียงกันลงมา บู๊ซือเห็นว่ากลมๆ นั้นจริงๆ แล้วเป็นหัวกะโหลกของสามีที่อมามาตะกินไปนำมาร้อยไว้” ใครอยากเห็นภาพอมามาตะชิ้นนี้ของบู๊ซือให้ไปชมที่พิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยม จ.เชียงใหม่ ส่วนตำนานของอมามาตะ ลองสอบถามชาวอาข่าดูได้

Busui_Ajaw_Art_2

แต่งานในปัจจุบันเธอเน้นนำเสนอเรื่องของจิตวิญญาณภายใน ความโลภ ความหลงมากกว่าจิตวิญญาณภายนอก บางคนดูงานของบู๊ซือแล้วก็ไม่เข้าใจว่าหมายความว่าอะไร จริงๆ เธอใช้การสื่อด้วยสัญลักษณ์ที่เธอคุ้นเคยแต่เด็ก

“คนอาข่าไม่มีตัวหนังสือ ทุกอย่างเป็นสัญลักษณ์ อย่างลายในผ้าทอจะมีความหมาย (ยกปลายแขนเสื้อให้ดู) นี่คือลิ้นผีเสื้อ อันนี้คือตาเสือ นี่คือการเดินทาง คือทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมชาติแวดล้อม”

ธรรมชาติที่บู๊ซือเลือกนำเสนอคือความจริงที่ทุกคนไม่อยากรับรู้

“ไม่ได้อยากพูดว่าโลกเราโหดร้ายนะ บู๊ซือจะพูดถึงความจริงมากกว่า อย่างดอกไม้สวยงาม เราก็มองเห็น แต่สุดท้ายดอกไม้ที่บานก็ต้องแห้งเหี่ยวเป็นสีน้ำตาลอยู่ดี บู๊ซือจะมองเห็นสิ่งนั้น จึงเอามาใส่ในงาน คนเห็นงานบู๊ซือรุนแรงก็ถามว่าทุกข์มากไหม ไม่ใช่นะ แค่เอาความจริงออกมาให้ดู คุณอย่าพยายามเสพแต่ความสุข เพราะยิ่งคุณมองแต่สิ่งสวยงาม คุณจะหลุดพ้นจากสิ่งนั้นไม่ได้ อยากบอกอย่างนั้นมากกว่า”

Busui_Ajaw_Art_3

“บู๊ซือทำงานศิลปะ เพราะอยากให้โลกรู้ว่าศิลปะจริงๆ แล้วไม่ใช่สิ่งที่โกหก แต่เป็นความจริง ถึงเวลาที่ทุกคนต้องเห็นความจริง ต้องเห็นสิ่งนั้นแล้วคุณก็จะไม่มีความทุกข์

ปีหน้าบู๊ซือจะได้แสดงนิทรรศการเดี่ยวที่พิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยม ซึ่งเธอต้องเดินทางข้ามจังหวัดไปงานแสดงนั้น การไม่มีบัตรประจำตัวรับรองสัญชาติไทย ทำให้การเดินทางออกนอกจ.เชียงรายเป็นเรื่องยุ่งยาก ต้องทำเรื่องรายงานตัวที่อำเภอเพื่อขออนุญาต ซึ่งบางครั้งก็ติดขัด บู๊ซือจึงเลือกที่จะไม่ไปไหนเลย

“แค่ไปเชียงใหม่ยังยากเลย” เธอก็เคยไปพูดที่ใหม่เอี่ยมเกี่ยวกับผู้อพยพลี้ภัย การไม่มีบัตรรับรองคือการไม่มีสิทธิ์ ผู้คนเหล่านี้ทำงานหนัก แต่ได้ค่าตอบแทนต่ำ ความเป็นอยู่ไม่ดี อนาคตบู๊ซือจึงอยากรณรงค์ในเรื่องนี้เช่นกัน

“คนเหล่านี้ไม่มีบัตรประชาชน จริงๆ แล้วก็แค่พูดไม่ชัดเท่านั้น แต่เราก็เป็นคนไทย รักคนไทย ทำงานดีๆ ให้โลกรู้ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง”

Busui_Ajaw_Art_4

ในอนาคตบู๊ซือก็หวังว่างานของเธอจะสามารถเดินทางไกลไปปรากฏสู่สายตาของคนในวงกว้างมากขึ้น เมื่อก่อนเธอไม่อยากหารายได้จากงานศิลปะด้วยซ้ำ แต่เธอก็เรียนรู้แล้วว่าศิลปินก็ต้องมีรายได้เพื่อสร้างสรรค์งานต่อไป เพราะการวาดภาพและศิลปะเป็นชีวิตจิตใจของเธอ ช่วงไหนไม่ได้วาดภาพจะถึงขั้นไม่สบายเลยทีเดียว

หากงานของเธอจะเป็นที่นิยม จนได้ผลตอบแทนที่ดีก็เป็นสิ่งที่เธอคาดหวัง เพื่อนำเงินมาสร้างโรงเรียนให้เด็กชาวเขา ไม่ได้อยากได้เงินเพื่อประโยชน์ของตัวเอง

“ชีวิตนี้ถวายให้กับการทำงานของศิลปะ ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการทำงานศิลปะอีกแล้ว”