เขาฝึกให้หนูเป็นสายลับ

เขาฝึกให้หนูเป็นสายลับ

ใครจะไปเชื่อว่า ระลอกคลื่นการตรวจสอบทุจริตเงินช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งที่ขยายไปสู่หลายๆ จังหวัดในตอนนี้ จะเริ่มต้นขึ้นที่ “นักศึกษาฝึกงาน” คนหนึ่ง

ระหว่างพื้นที่สื่อถูกช่วงชิงด้วยข่าวร้อนประเด็นแซ่บ ไหนจะนาฬิกาหรู 39 ล้าน ดราม่าหนักมากเพราะดาราเลิกกัน หรือจะคดียิงเสือดำโดยนักธุรกิจคนใหญ่คนโต แต่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น มีนักศึกษาคนหนึ่งที่กำลังยืนหยัดต่อสู้กับความถูกต้องเพียงลำพัง แม้กระทั่งสถาบันการศึกษายังไม่ยืนอยู่ข้างเธอ

เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ปนิดา ยศปัญญา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้าฝึกงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ระหว่างเดือนสิงหาคมจนถึงปลายเดือนกันยายน 2560

แค่วันแรก ก็เจอความไม่ชอบมาพากล ต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสาร ถูกสั่งให้ปลอมเอกสารราชการ กรอกข้อมูลโดยไม่มีการสอบสัมภาษณ์ หนำซ้ำยังให้เธอลงลายเซ็นรับเงินแทนอีกด้วย

เจอแบบนี้ ความไม่สบายใจก็ตามมา เพราะจำนวนเงินที่เบิกกันไปก็เฉียดๆ 7 ล้าน นักศึกษาคนอื่นอาจเงียบและตามน้ำ แต่สำหรับ ปนิดา เธอตัดสินใจรับบท “สายลับ” เก็บหลักฐานทุกเม็ด และหอบทุกอย่างไปร้องเรียนทั้งที่ ป.ป.ช. และเลขาธิการ คสช. 

เรื่องยิ่งบานปลาย เมื่อเธอถูกคุกคาม ตามหาที่หน้าบ้าน​ แถมยังตามไปถึงมหาวิทยาลัย จนสุดท้ายต้องร้องขอความคุ้มครอง ทั้งๆ ที่เธอบอกกับเราว่า ..หนูก็แค่อยากจะมาฝึกงานเท่านั้น

1131812

ตอนนี้สภาพจิตใจเป็นอย่างไรบ้าง

สบายใจขึ้นเยอะค่ะ ตั้งแต่เขาส่งคนมาดูแล 24 ชั่วโมง แล้วก็มีเพื่อนนักศึกษา (เครือข่ายนิสิตเพื่อปกป้องสิทธิและความยุติธรรม) ออกแถลงการณ์ปกป้องเรา มีสังคมช่วยด้วย ก็รู้สึกสบายใจขึ้นเยอะ

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มขึ้นตอนไหน

วันแรกที่ไปฝึกงาน (7 สิงหาคม 60) ตอนเช้าก็เป็นปฐมนิเทศธรรมดาๆ แต่พอตอนบ่าย ผอ.ขับรถมารับที่สำนักงาน บอกว่า ไปทำงานกัน ก็ขึ้นรถไป ปรากฏว่า เขาพาไปที่บ้าน ที่นั่นก็เจอครูภาคสนาม เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน ก็เห็นว่า มีเอกสารกองเต็มเลย เขาก็ให้จัดเรียงเอกสารเฉยๆ ให้เอาสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ใบสำคัญรับเงิน แล้วก็ใบสอบประวัติผู้ประสบปัญหาทางสังคมที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ใบสอบเคส มาเย็บรวมกัน เรียงตามรายชื่อที่เขาเรียงมาแล้ว

พอวันที่สอง เขาก็ให้กรอกเอกสาร ซึ่งทั้งหมดมันว่างเปล่า ส่วนในใบสำคัญรับเงิน บางแผ่นก็มีลายเซ็น บางแผ่นก็ไม่มี เราก็กรอกข้อมูลไปตามสำเนาบัตรเลย ชื่อ นามสกุล วันเดือน ปีเกิด เชื้อชาติสัญชาติ 

แต่พอมาถึงจุดที่ต้องกรอกข้อมูลอื่นๆ ซึ่งเราไม่ได้ไปสัมภาษณ์เอง ก็ไม่สามารถเขียนคำตอบลงไปได้ เลยไปถามเขาว่า พี่คะ อันนี้ต้องกรอกยังไง ปรากฏว่า เขาฟิกซ์คำตอบไว้ให้หมดเลย รายได้ต่อเดือนต้องกรอกว่าไม่เกินเท่าไหร่ วุฒิการศึกษาแค่ไหน สถานะการเงิน ที่อยู่อาศัย เขาฟิกซ์ไว้ให้ บางคำถามก็แค่ไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ ก็ให้เราใส่เอาเอง

เริ่มงง ว่าทำไมถึงทำแบบนี้ แล้วเขาก็ให้เราเขียนใบสำคัญรับเงิน ประทับตราปั๊มชื่อโครงการ และตราปั๊มเงิน เป็นจำนวนเงิน สองพัน กับ สามพันบาท แล้วก็ให้เราเซ็นชื่อลงไปในช่องลายเซ็นในใบที่ไม่ได้มีลายเซ็นมา 

ตอนนั้นเอะใจแล้วหรือยัง

ก็งงๆ เลยถามเขาว่า นี่พี่เอาไปแจกเขาจริงหรือเปล่าคะ เขาก็ตอบว่า แจกเงินไปหมดแล้ว อันนี้มาทำเอกสารย้อนหลังเฉยๆ เป็นบริการอย่างหนึ่ง เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้สูงแล้วก็ไม่รู้หนังสือ 

ตอนนั้นก็ยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่ก็แอบขยำเอกสารทิ้งไปส่วนหนึ่ง เพราะมันเป็นลายเซ็นเรา (หัวเราะ) แล้วก็คุยกับเพื่อนๆ ว่า ทำไมต้องเซ็นชื่อแทนคนอื่น แต่ก็พูดอะไรมากไม่ได้ เราอยู่บ้านเขาน่ะ แต่ก็แอบถ่ายรูปมา แล้วพอกลับไปที่สำนักงาน พี่เจ้าหน้าที่เขาก็ถามว่า ไปไหนมา พอรู้ว่า ไปทำงานที่บ้านผอ. เขาก็ตกใจว่า ไม่ได้นะ มาฝึกงาน ก็ต้องมาทำงานที่สำนักงานสิ ทีนี้พอเล่าให้เขาฟัง พี่เขาก็เลยบอกให้พยายามเก็บหลักฐาน ถ่ายรูปมาให้เยอะๆ

จากนักศึกษาฝึกงาน เลยกลายเป็นสายสืบเลย

(หัวเราะ) ค่ะ.. ก็ประมาณนั้น ซึ่งระหว่างนั้น หนูยังต้องไปทำเอกสารให้เขาอยู่ เพราะไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่พอไป ก็จะแอบถ่ายมาให้เยอะที่สุด ถ่ายบุคคลที่กำลังปลอมลายเซ็น เก็บหลักฐานมาหมด ทุกคนที่มาทำเอกสารที่นั่น หนูถ่ายมาหมด เพราะตอนนั้นค่อนข้างมั่นใจแล้วว่า เขาไม่ได้เอาเงินไปให้คนจนจริงๆ 

ทำไมถึงมั่นใจแบบนั้น

หนูเคยลงพื้นที่กับเขา ตอนไปจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เจอที่บ้าน ผอ. คนที่สั่งให้เราเซ็นเอกสาร เขาเป็นคนไปมอบ เราเห็นจะๆ เลยว่า เขาให้ชาวบ้านเซ็นใบสำคัญรับเงินที่ไม่ได้กรอกอะไรเลย แม้กระทั่งจำนวนเงิน ก็มั่นใจมาก เพราะตอนนั้นเป็นช่วงหลังจากที่ทำเอกสารเสร็จ เป็นช่วงเดือนกันยายน แล้วพอเราได้ข่าวว่า ผู้ตรวจฯ (ผู้ตรวจราชการของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ) จะลงมาตรวจ ก็เลยเอาเรื่องไปปรึกษากับอาจารย์ที่โรงเรียนเก่า เอาเอกสารหลักฐานไปให้ดู อาจารย์บอกว่า ‘ชัดเลย’ มั่นใจมากว่า เป็นการปลอมแปลงเอกสาร 

อาจารย์แนะนำให้ไปร้องเรียน ปกป้องตัวเองเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ เพราะถึงแม้ว่า เราเรียนจบออกไป ถ้าเกิดเขามีการร้องเรียนขึ้นมา มันก็จะมาถึงเรา เพราะมันเป็นลายมือเราทั้งหมดเลย

หนูถามอาจารย์ว่า เอายังไงดี เขาถามกลับว่า ในฐานะนักพัฒนาฯ คิดยังไงกับการที่คนจนไม่ได้เงินล่ะ ไปคิดเอา โตแล้ว.. ก็เลยตัดสินใจเอาเรื่องไปบอกผู้ตรวจฯ แต่เขาก็ได้แค่รับฟัง ไม่สามารถรับเรื่องได้ พี่เขาแนะนำให้ไปร้องเรียนที่ป.ป.ช. เพราะนี่เป็นคดีอาญา เราจะติดคุกที่ปลอมแปลงเอกสารได้

พอตัดสินใจว่า จะไปร้องเรียน เลยไปปรึกษากับพี่พนักงาน(เจ้าหน้าที่ที่ศูนย์คุ้มครองฯ) ปรากฏว่า พี่เขาก็เคยโดนมาก่อนหน้านี้ ก็เลยร่วมกันไปร้องเรียนกับ ป.ป.ช.​และ คสช.

ตอนนั้นได้คุยกับมหาวิทยาลัยบ้างไหม

คุยค่ะ.. ตั้งแต่ตอนที่ทำเอกสารที่บ้านผอ.เลย แล้วหลังจากทำเอกสารที่บ้านผอ.เสร็จ ก็คุย หลังจากที่ผู้ตรวจฯมา ก็คุยอีก แต่เขาก็เข้ามาไกล่เกลี่ยช่วงสุดท้าย และบอกว่า เราเข้าใจผิด ว่ามันไม่ใช่การปลอมแปลง ก็นั่นแหละค่ะ..​หนูไม่อยากพูดถึงมาก

กลัวว่าจะกระทบกับเรื่องเรียนบ้างไหม

คิดว่ามันกระทบนะ แต่นิสิตกลุ่มหนึ่ง เขาไปยื่นแถลงการณ์มา เราก็อุ่นใจขึ้น ก็คิดว่า ไม่น่าจะกระทบกับการเรียนมาก ขอให้จบก็พอ ได้เกรดอะไรก็เอาค่ะ (หัวเราะ)

แล้วเรื่องฝึกงานล่ะ

เขาเซ็นผ่านให้แล้วค่ะ แต่ตอนที่เขาเซ็นผ่าน เขาไม่รู้ว่า เราเป็นคนไปร้องเรียน คือเราร้องเรียนตั้งแต่ก่อนที่จะฝึกงานจบ หลังจากที่อาจารย์มาไกล่เกลี่ย เมื่อทางมหาวิทยาลัยช่วยอะไรหนูไม่ได้ หนูก็เลยจัดการเอง ตัดสินใจทำอะไรเองคนเดียว

เห็นว่า คุณแม่ซัพพอร์ทดีมาก

คุณแม่เขาก็สนับสนุนให้ไปร้องเรียนนะคะ เพราะเห็นว่า มันเป็นเรื่องร้ายแรง 

(คุณแม่ทำงานอะไร).. เป็นแม่บ้านค่ะ

คุณแม่ไม่กลัวเหรอ ให้ลูกไปมีเรื่องกับผู้หลักผู้ใหญ่

ไม่นะ.. แม่กลัวเราไม่มีงานทำมากกว่า (หัวเราะ) กลัวหนูจะมีคดีติดตัว ก็เลยบอกให้ไปร้องเรียน แต่ก่อนที่จะตัดสินใจร้องเรียน หนูก็ปรึกษาคนเยอะมาก ไม่ต่ำกว่า 7-8 คน

1132004

คิดยังไงจากสิ่งที่เราทำ และขยายไปใหญ่โตขนาดนี้

โห.. ไม่ได้คิดเลยค่ะว่า จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากขนาดนี้ เราคิดแค่ว่า ร้องเรียนตามสิทธิที่เรามี ไม่คิดว่า จะไปทั่วประเทศ ตอนนี้ก็รับเรื่องแล้ว ทั้งที่เชียงใหม่ บึงกาฬ กาฬสินธุ์ สุราษฎร์ธานี

ได้ยินว่า เราถูกคุกคามด้วย

พอหลังจากไปร้องเรียนแล้ว ผอ. เขาก็พยายามติดต่อหนู พยายามโทรหาคนรู้จักให้ช่วยพาไปหาที่บ้าน อยากขอพบหนู อยากพบพ่อแม่ สามสี่รอบ ตามไปถึงมหาวิทยาลัย ให้อาจารย์พาไปหาหนู ก็รู้สึกว่า โดนคุกคาม เพราะหนูพูดชัดมาก ปฏิเสธไม่ต้องการให้มาเจอ แต่เขาไม่หยุด แล้วยิ่งพอร้องสื่อ ก็เริ่มมีรถแปลกๆ มีคนมาถามหาเรา ก็รู้สึกไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไหร่ และไปแจ้งความไว้แล้ว

ทำไมถึงเลือกเรียนพัฒนาชุมชน

เป็นคนชอบลงพื้นที่ ชอบคุยกับชาวบ้านอยู่แล้ว พอถึงตอนจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็ไปเจอว่า มีสาขาพัฒนาชุมชนด้วย ก็เลยตั้งใจจะสอบเข้าคณะนี้ แต่จริงๆ ตอนสอบเข้าก็เลือกรัฐศาสตร์ไว้ด้วย แล้วก็ติดทั้งคู่ แต่เลือกเรียนพัฒนาชุมชน  เพราะรู้สึกชอบมากกว่า

พอมาเรียนแล้ว ใช่อย่างที่คิดไว้ไหม

ก็มีทั้งใช่ ทั้งไม่ใช่ค่ะ.. เอาจริงๆ ไม่ได้คิดว่า ต้องเรียนทฤษฎีเยอะขนาดนี้(หัวเราะ) แต่ตอนได้ปฏิบัตินี่ชอบมาก อย่างปีสาม ได้ปฏิบัติเยอะ ก็ใช้สิ่งที่เรียนมาทั้งหมดมารวมกัน ได้ไปลงพื้นที่ ไปคุยกับชาวบ้าน

1131966666669

เป้าหมายของเราอยากทำงานอะไร

แต่ก่อนก็อยากเป็นนักพัฒน์นี่แหละค่ะ แต่พอมาฝึกงานที่ศูนย์คุ้มครองฯ ก็เลยอยากทำงานที่นี่เลย เพราะถ้าเราไปเป็นนักพัฒน์ ก็อาจจะเข้าไปทำงานในชุมชน ซึ่งถ้าเป็นชุมชนที่เขามีอยู่มีกินแล้ว เราก็แค่เข้าไปพัฒนาให้เขาดีขึ้น แต่ที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เขาเป็นคนยากไร้จริงๆ เพราะมีทั้งขอทาน คนเร่ร่อน และคนไร้ที่พึ่ง ที่เขาต้องการความช่วยเหลือจริงๆ เราก็เลยเปลี่ยนความคิด อยากทำงานที่นี่

ตอนไปฝึกงาน ทำอะไรอีกบ้าง

ปกติที่ศูนย์ฯ​ ก็จะให้บริการคนไร้ที่พึ่ง ให้เข้ามาอยู่ชั่วคราว มีบ้านพักให้เป็นบ้านไม้หลังเล็กๆ แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะแบ่งเวรกัน เช่น วันนี้หมอนัดเคสคนไหน เราก็พาเขาไปโรงพยาบาล หรือถ้ามีใครโทรเข้ามาสายด่วน 1300 เช่นแจ้งว่า มีคนเร่ร่อนสร้างความเดือดร้อน ก็ต้องรีบไปลงพื้นที่ภายใน 1 ชั่วโมง

แล้วก็จะมีหน้าที่ทำกับข้าวให้เคสกิน ช่วงหลังๆ ก็มีนอนเวรด้วยที่สำนักงาน แต่บางวันไม่ได้นอนก็มี อย่างมีอยู่ครั้งนึง ตีหนึ่งแล้ว นอนอยู่ที่หอ แล้วมีเคสลมชัก พี่เขาโทรมาให้มาช่วยพาไปโรงพยาบาลด่วน เพราะไม่งั้นจะไม่มีใครเฝ้าที่สำนักงานแทน หนูก็ไม่คิดเลย คว้ากุญแจรถขับออกมา โทรเรียกรถพยาบาล ประสานเจ้าหน้าที่ ลุ้นตลอด กว่ารถพยาบาลจะพาเขาไปถึงหมอ ก็ไปนั่งรอจนตีห้ากว่าจะเสร็จเรื่อง ได้นอนชั่วโมงเดียวก็ต้องออกไปลงพื้นที่ต่อ

ฟังดูน่าจะเหนื่อย

เหนื่อยค่ะ แต่สนุกนะ

นักพัฒน์ในอุดมคติ พอมาเจอของจริงเป็นยังไง

ยังไงดีล่ะ.. คือ ครูภาคสนาม (เจ้าหน้าที่ศูนย์) เขาจะอยู่ฝ่ายสวัสดิการ จัดคนให้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้าน แต่พอมีโทรศัพท์มา เขาก็จดชื่อ จดเสื้อผ้า รูปพรรณสัณฐานของคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง หรือคนจน แล้วเขาก็บอกว่า จะไปเยี่ยมบ้านนะ จะรีบไป แต่สุดท้าย พอเขาวางสาย เขาก็ไม่ให้เราไป ทั้งๆ ที่เราตั้งหน้าตั้งตารอที่จะลงพื้นที่ หรืออย่างบางคนเขาอยากกลับบ้าน เราเป็นนักศึกษาฝึกงาน ก็ทำได้แค่สอบถามข้อมูลเขา แต่พอเราไปบอกข้อมูลกับครูภาคสนาม ให้เขาสืบหาที่อยู่ญาติ แต่เขาก็ไม่ทำ เหมือนเขาดองเคสไว้

1132005

เด็กใหม่ไฟแรงอย่างเรา พอเจอความจริงแบบนี้ คิดยังไง

ก็เอือมระอานะ ที่มันเป็นแบบนี้ ไม่นึกว่า หน่วยงานที่ต้องช่วยเหลือสังคมจะเป็นแบบนี้ได้ มาฝึกงานที่นี่ ก็ตั้งใจจะทำให้มันเต็มที่ที่สุด แต่สุดท้ายกลับหน้ามือเป็นหลังมือ คือเราตั้งตัวไม่ทันน่ะ พอมาเจอก็ช็อค แต่ยังไงก็ไม่เปลี่ยนเป้าหมายนะ อย่างน้อยก็ได้ดูแลเคสที่อยู่ภายในศูนย์

อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้

ก็แค่อยากเห็นรัฐบาลลงมาช่วยเหลือคนยากไร้จริงๆ แค่นั้น เราไม่ได้หวังอะไร หวังแค่ขอให้เขาเข้าถึงคนพวกนี้อย่างจริงจัง ให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้